วันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ข้อเสนอเบื้องต้นของขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ต่อร่างรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอเบื้องต้นของขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) :

                  “ สิทธิเสรีภาพของบุคคล ชุมชน  ความเสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์       การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ            และการมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชนทุกเพศในทุกมิติทุกระดับ                                          ต้องเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ”
                                                            ..................................................
                        ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove) สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.ไทย) โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จัดเวที“เสียงประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมาจาก ทุกภาคทั่วประเทศในวันเสาร์ที่ ๓๐ และวันอาทิตย์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙ ที่รัฐสภา สนับสนุนโดย UN Women และ องค์กรอื่นๆ      ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งหวังให้สังคมไทยมีการเปลี่ยนผ่านช่วงแห่งความขัดแย้งและสถานการณ์การเมือง ที่ชะงักงัน  เพื่อก้าวต่อไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและการปฏิรูปประเทศที่มีประชาชนทุกเพศทุกวัยเป็นศูนย์กลาง  โดยมีรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นที่ยอมรับของประชาชน ประชาชนมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนว่า  ต้องการ รัฐธรรมนูญที่พัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ควรต้องให้ดีกว่ารัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐             หลังจากการรับฟังและวิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว  ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove)   สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.ไทย) โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มีข้อเสนอเบื้องต้นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
            ๑) ในบททั่วไปซึ่งเป็นเจตนารมณ์ชี้นำต่อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มาตรา ๔ :“ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความ คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”นั้น  ได้เปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญอย่างยิ่งจากรัฐธรรมนูญปี ​๒๕๔๐ และ๒๕๕๐ : ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง”   ซึ่งประชาชนและ สถาบันต่างๆในสังคมไทยได้มีกระบวนการเรียนรู้ความหมายของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  จนมีพัฒนาการ ที่หยั่งรากลึกเป็นจิตวิญญาณ  เป็นวัฒนธรรม  และได้ดูแลบุคคลทุกกลุ่ม ที่อยู่ในประเทศไทยโดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มี สัญชาติไทย  ดังนั้นจึงมีความหมายและความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องนำ มาตรา ๔ เดิมคืนมา รวมทั้งเพิ่มมาตรา ๕ (เดิม) ประชาชนชาวไทย ไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน”
            
๒) การบัญญัติถึงความผูกพันของประเทศไทยต่อกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐  และ ๒๕๕๐ ได้บัญญัติไว้ เช่น ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ “...ในการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไป ตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี...”  รวมถึงรัฐธรรมนูญ ชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ​๒๕๕๗ ได้มีการบัญญัติไว้ในมาตรา ๔  แต่ในร่างฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว        ๓) ต้องมีหลักประกันในการคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งในการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ  
                        ๓.๑) ในมาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖  ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังมีความไม่ชัดเจนในหลักทั่วไปนี้    ขอเสนอให้บัญญัติข้อความที่ชัดเจน โดยพิจารณาจากมาตรา ๒๖ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ อาทิ
            มาตรา ๒๘ บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศิลธรรมอันดีของประชาชน
            บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยก้เป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
            บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรอไว้แล้ว  ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
            บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามหมวดนี้”
                        ๓.๒)  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้นำบทบัญญัติส่วนใหญ่เรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคล และ ชุมชน  ไปบัญญัติไว้ในหมวด ๕ “หน้าที่ของรัฐ”  ซึ่งเป็นฐานคิดที่ขัดแย้งกับความมุ่งหวังของประชาชนที่ต้องการให้บัญญัติ เป็นสิทธิเสรีภาพ อันจะก่อให้เกิดความคุ้มครองและมีผลผูกพันโดยตรงต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล  รวมถึงองค์กร ตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ในการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง  และเป็นหลักประกันให้ประชาชนสามารถอ้างสิทธิต่างๆนี้ในการผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามสิทธิ  ทั้งนี้ การตระหนัก และปกป้องสิทธิของประชาชนเป็นหลักประกันพื้นฐานของการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในทุกมิติและทุกระดับ รวมถึงการมีจิตสำนึกที่จะเคารพและไม่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย
                        ดังนั้น  จึงควรที่จะนำบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ​๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐  มาอยู่ใน หมวดสิทธิเสรีภาพ และปรับปรุงเนื้อหาให้ดีกว่าเดิม  โดยอาจบัญญัติควบคู่เป็นหน้าที่ของรัฐ หรือแนวนโยบาย พื้นฐานแห่งรัฐด้วย
                        ๓.๓) ในหมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ  มาตรา ๖๐ ที่บัญญัติว่า... “เป็นแนวทางให้รัฐดำเนินการ ตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน  ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องรัฐ”  มีผลให้หมวดแนว นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไม่มีนัยสำคัญใดๆที่ผูกพันรัฐ  จึงขอเสนอให้ใช้ตามรัฐธรรมนูญเดิม :
                        “มาตรา ๘๕...ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องชี้แจง ต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่า จะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐาน แห่งรัฐ และต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค เสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง”
            ๔) ประเด็นห่วงใยในมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ และความเสมอภาคด้านอื่น ซึ่งเป็นหลักการที่ปรากฏ อยู่ในรัฐธรรมนูญปี ​๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ และได้ขาดหายไป เช่น                         ๔.๑)ความเสมอภาคและการไม่ถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในมาตรา ๒๗  ซึ่งตัดทอนเหตุแห่งความแตกต่าง ๑๒ ประการในมาตรา ๓๐ เดิม ซึ่งเป็นมาตราหลักที่สำคัญเรื่องความเสมอภาคของคนหลากหลายกลุ่ม   จึงควรที่จะ บัญญัติตามเดิม และควรเพิ่ม“การคุ้มครองสิทธิของบุคคลทุกเพศสภาพ” นอกจากนี้ มาตรการที่รัฐกำหนด ขึ้นเพื่อ ขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น จะมีความหมายกว้างไปถึง ทุกกลุ่มมากกว่าการกำหนดเฉพาะเจาะจง “...ให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส  ...”  จึงขอเสนอดังนี้:
                        บุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน                                                         หญิง ชาย และบุคคลทุกเพศสภาพ  มีสิทธิเท่าเทียมกัน                                                                                     การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ  เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล  ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม  ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้                                มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”                                                                                                                       
                        ๔.๒) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม  ซึ่งประชาชนต้องการสิทธิพื้นฐานนี้อย่างยิ่ง   เพราะประกัน ความยุติธรรมต่อคนทุกกลุ่มทั้งที่มีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติไทย    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐธรรมนูญ ​๒๕๕๐ มาตรา ๔๐(๖)  ได้บัญญัติชัดเจนว่า “ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง ในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมในคดีที่เกี่ยวกับ ความรุนแรงทางเพศ”
                        ข้อเสนอเพิ่มเติมคือ...  “ในคดีที่เกี่ยวกับการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ความรุนแรงเพราะเหตุแห่งเพศ ตลอดจนป้องกันแก้ไขเยียวยาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว  โดยกระบวนการพิจารณาคดีต้องให้ผู้กระทำผิด หรือจำเลยมีหน้าที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง...”
                        ๔.๓) สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการ ปกป้องคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนและมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อผู้หญิงในชุมชน   ขอให้นำมาตรา ๕๗ มาตรา ๖๖ และมาตรา ๖๗ ในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐และปี ๒๕๕๐ ที่ต้องมีองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 
                        ๔.๔) หลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและชุมชนซึ่งมีทิศทางการปฏิรูปในภาพรวมชัดเจนว่า  “ต้องลดอำนาจรัฐส่วนกลาง เพิ่มอำนาจประชาชนและท้องถิ่น”  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นอิสระ  รัฐกำกับดูแล เท่าที่จำเป็น และอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ  และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งรัฐต้องสนับสนุนจังหวัดที่ประชาชนมีเจตนารมณ์ต้องการ เป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ทั้งจังหวัดตามความพร้อมและตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น  ขอให้ยึดหลักที่ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง  โดยคณะผู้บริหารท้องถิ่นต้องมีสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกัน
                        ๔.๕) สิทธิในสวัสดิการสังคมที่เคยบัญญัติในหมวดสิทธิเสรีภาพ  เช่น  การศึกษา สาธารณสุข  เด็ก เยาวชน  สตรี ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ ฯลฯ  แต่ร่างใหม่นี้บัญญัติในหมวด “หน้าที่ของรัฐ” และไม่ครบถ้วน ขอให้นำไป บัญญัติในหมวดสิทธิเสรีภาพเช่นเดิม  โดยบางสิทธิจำเป็นต้องดูแลทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย  และต้องมีทิศทางการบริหารจัดการการคลังเพื่อสังคม
                        ๔.๖) สิทธิแรงงาน  ไม่มีบทบัญญัติใดๆในหมวดสิทธิและเสรีภาพ  รวมทั้งการไม่บัญญัติถึงการผูกพัน และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี   เพียงแต่มีในแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา ๗๐ : รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานโดยเหมาะสมกับศักยภาพและวัย และพึงคุ้มครองผู้ใช้ แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยในการทำงาน โดยได้รับสวัสดิการ รายได้ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การ ดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน”                                                              ขอให้เพิ่มเติมทั้งในหมวดสิทธิและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม อาทิ “มาตรา ๔๔(เดิม)บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกัน ในการ ดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงาน และเมื่อพ้นภาวะการทำงาน..”
                        และ มาตรา ๘๔(๗)(เดิม) “ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบ แรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน  รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงาน ที่มีคุณค่าอย่าง เดียวกันได้รับค่าตอบแทนสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติ”
                        ๔.๗) สถาบันการเมืองและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  มีข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่ง ปราบปรามและป้องกันการทุจริตโดยเน้นที่นักการเมืองเป็นสำคัญ  ขณะที่การทุจริตในสังคมไทยมีความเชื่อมโยง และสลับซับซ้อน ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และกลุ่มทุนขนาดใหญ่   ที่สำคัญคือการปราบปรามและป้องกันการ ทุจริตที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มมีความเข้มแข็งและมีบทบาทในการตรวจสอบ การทุจริตทุกมิติทุกระดับ         
                        กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ซึ่วเป็นองค์กรสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ  ขอเสนอให้ยืนยันองค์ประกอบของกรรมการที่ต้องคำนึงถึงผู้แทนจากองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน และให้สำนักงานเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น
                        ประเด็นที่สำคัญคือการขาดหายไปในอำนาจหน้าที่  เช่น ในการตรวจสอบที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณี ระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี  การเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และการฟ้อง คดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหาย การส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานกับองค์กรของรัฐและเอกชน  และในกรณี ที่ไม่มีการดำเนินงานตามที่เสนอ  ให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
                        ๔.๘) หลักความเสมอภาคระหว่างเพศซึ่งเป็นการจัดสรรปันส่วนอำนาจเพื่อความเสมอภาค ต่อ เจ้าของอำนาจอธิปไตย ในฐานะที่ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายถึง ๒ ล้านคน   ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ได้เสนอให้มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกันในการตัดสินใจในทุกมิติทุกระดับมาอย่าง ต่อเนื่อง  และให้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ  ทั้งในการส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง  การกำหนด ผู้บริหารในองค์กรปกครองท้องถิ่น  การสรรหากรรมการองค์กรอิสระ  องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรต่างๆ คณะกรรมการระดับต่างๆของรัฐ  รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา ๘๗(เดิม)ในรัฐธรรมนูญ​๒๕๕๐  ที่ให้มีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
การตัดสินใจทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ฯลฯ  โดยบัญญัติว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรานี้ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงและชายที่ใกล้เคียงกัน”
            นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณที่เป็นเครื่องมือสำคัญนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรและบริหารงานภาครัฐ อย่างเสมอภาคและเป็นธรรมในสังคม ต้องคำนึงถึงหลักความเสมอภาคระหว่างเพศ( Gender Budgeting )และความ เสมอภาคด้านอื่น อันเป็นหลักการสากลที่มีการดำเนินการในหลายประเทศ  เพื่อสร้างความสมดุลและเป็นการป้องกัน ปัญหาความไม่เท่าเทียม
            บทสรุป  ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)   ขอเสนอหลักการสำคัญต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ใน เบื้องต้น  และกำลังมีการจัดเวทีระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง  ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้   รวมทั้งเวที ระดับชาติ ครั้งที่ ๒ เพื่อให้เรียนรู้และวิเคราะห์ร่วมกันถึงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  และเกิดความ ตระหนักร่วมกันในสังคมไทย  ถึงความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคระหว่าง เพศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับ และการขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็น ธรรมในสังคม   เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ  และทิศทางการปฏิรูปประเทศเพื่อประโยชน์สุข ของประชาชนต่อไป
                                                                                   


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น