วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

คดีคอมมิวนิสต์ ๙ นักศึกษากรรมกรอ้อมน้อย...กระแสขวาพิฆาตซ้าย...กับแม่ปฏิวัติ



คดีคอมมิวนิสต์ ๙ นักศึกษากรรมกรอ้อมน้อย...กระแสขวาพิฆาตซ้าย...กับแม่ปฏิวัติ
เพิ่มคำบรรยายภาพ

























คดี ๙   คอมมิวนิสต์อ้อมน้อย  ตำรวจห้ามเยี่ยมห้ามประกัน โดยขังนักศึกษาและบัณฑิต 4 คน(ชาย ๒ หญิง ๒) ที่โรงพักนครปฐม    ส่วนกรรมกรชายอีก 5 คนขังที่โรงพักสมุทรสาครเราสี่คนถูกขังในห้องหนึ่งของโรงพัก    คนงานทำอาหารมากมายมาเลี้ยงพวกเราทุกวัน    เราก็แบ่งกับข้าวให้ผู้ต้องขังทั้งหมดซึ่งมีทั้งชายและหญิง    กลางคืนดึกๆฉันเห็นและได้ยินการข่มขู่และซ้อมผู้ต้องหาของตำรวจบนโรงพักอย่างเต็มตา    แต่สำหรับพวกเราทุกคนแล้ว    ค่อนข้างเตรียมใจมายาวนานตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา    เพราะนักต่อสู้ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยติดคุกทั้งนั้น...ไม่ตายก็ถือว่าบุญแล้ว...สื่อมวลชนให้ความสนใจลงข่าวพวกเราติดต่อกันหลายเดือน   ช่วงนั้นมีการคุกคามนักศึกษาและชาวบ้านที่คัดค้านเขื่อนห้วยหลวง   ที่หนองบัวบาน อุดรธานี     และไม่นานนักวันที่ 9 พ.ค.19   ก็มีการจับนักเรียนนักศึกษาและชาวนา  9 คนที่จ.เชียงใหม่ ข้อหามีอาวุธไว้ในครอบครอง   แต่ได้ประกันตัวเร็วกว่าคดีเรา   และมาเยี่ยมพวกเราที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนด้วย






   ฉันและเพื่อนๆซาบซึ้งน้ำใจผู้คนมากมายที่เราไม่เคยรู้จัก     แต่มาเยี่ยมเยียนพวกเราตลอดช่วงเวลาที่ยุ่งยากนั้น    เรายังได้พบกับ"แม่ของประชาชน "อีกหลายคน ที่มีน้ำใจโดยไม่เคยหวังสิ่งใดตอบแทน  แม่กานดา  แม่เตือนใจ  แม่เล็ก  แม่ขาว  แม่วรรณา .หิ้วปิ่นโต  หม้อข้าว  ผักน้ำพริก  มาฝากพวกเราที่ในคุกทุกอาทิตย์ ทั้งที่ต้องนั่งรถเมล์และเดินไกลจากถนนวิภาวดีรังสิตเข้าไปกว่าจะถึงที่คุมขังของรร.พลตำรวจบางเขน   แม่ๆสงสารและรักใคร่พวกเราไม่แพ้แม่ของเราแต่ละคนทีเดียว 




   แม่กานดาและแม่ๆ  เริ่มต้นจากส่งข้าวคดีพวกเรา  เมื่อถึงยุคเผด็จการที่มีการจับกุมอีกมากมาย   แม่ทั้งหลายไม่เคยเหนื่อยหน่าย   ยังมอบความรักและความเป็นห่วงยาวนาน    ตราบจนคดีคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายได้พ้นจากคุก...   แม่ฉันเองก็ไปคอยเยี่ยมเยียนคดีอ้อมน้อยและคดี 6 ตุลาด้วย   หลังจากฉันเข้าป่าไปแล้ว   ฉันเขียนจดหมายจากคุกลงนสพ.เสียงใหม่     ด้วยความซาบซึ้งใจเช่นนี้     เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแม่ประชาชน   และเพื่อบอกแม่ของฉันเองไม่ต้องห่วงกังวลกับฉันนัก  เพราะฉันเป็นลูกของประชาชน...ในวันกรรมกร 1 พ.ค.มีการจัดงานใหญ่ที่ธรรมศาสตร์   มีคนมาเยี่ยมพวกเราเยอะมาก    และ 17 พ.ค.19  มีการจัดอภิปรายเรื่อง  เสรีภาพของประชาชนกับการจับกุมและตั้งข้อหา ที่หอใหญ่ธรรมศาสตร์   โดยชมรมนิติศึกษา   ประชาชนก็มาเยี่ยมประมาณ 200 คน คดีคอมมิวนิสต์อ้อมน้อยเป็นคดีแรกที่ผ่านกรมอัยการให้ยื่นฟ้อง  แต่เดิมขึ้นศาลทหารทั้งหมดโดยผ่านพนักงานอัยการของศาลทหาร     วันที่ 26มิถุนายน 2519  พวกเราก็ถูกส่งไปคุกลาดยาว      ฉันกับเหน่งไปคุกลาดยาวหญิง   เราถูกห้ามอ่านหนังสือ  ห้ามพูดคุยกับผู้ต้องหาและนักโทษอื่นด้วย     ยังมีปัญหาการเยี่ยมที่ไม่สะดวก   เนื่องจากเรือนจำสองแห่งกำหนดเวลาเยี่ยมไม่เหมือนกัน   ผู้ต้องหาหญิงเยี่ยมวันพุธ 9-10 น.  ผู้ชายแยกไว้แดน 2 กับแดน 6 อีก   ซึ่งแดน2 ให้เยี่ยมพฤหัส แต่แดน 6  วันศุกร์. ทำให้บรรดาแม่ๆและผู้มาเยี่ยมลำบากกันมาก    

คุกลาดยาวหญิง : การถูกซ้อมในคุก
               เมื่อเราถูกส่งตัวไปวันแรก  ต้องไปที่แผนกกองกลางซึ่งอยู่ภายในคุก     คุกหญิงมีแต่เจ้าหน้าที่หญิงทั้งหมดจนถึงระดับผู้บัญชาการใหญ่ของเรือนจำ   ฉันกับเหน่งเดินเข้าไปอย่างแน่วแน่     ไม่วิตกกังวลอะไรทั้งสิ้นในฐานะเยาวชนนักสู้    เมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้เรานั่งลง   เรามองเห็นผู้ต้องขังทั้งเก่าและใหม่หลายคนนั่งลงกับพื้นขณะที่ผู้คุมนั่งอยู่บนเก้าอี้   ฉันแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้บอกว่าขอเก้าอี้นั่ง  เมื่อเจ้าหน้าที่มีท่าทีโมโหตวาดให้นั่งกับพื้น  ฉันก็ยืนพูดอย่างมั่นคงว่า  เราเป็นนักโทษการเมือง   ต้องปฏิบัติต่อเราอย่างมีศักดิ์ศรี   จะบังคับผู้ต้องขังคนอื่นก็ทำไป  แต่เราไม่นั่งกับพื้นเด็ดขาด
เจ้าหน้าที่คงคาดไม่ถึงว่า   ในคุกที่ไม่เคยมีใครกล้าเถียงเลยนี้   จะมีเยาวชนหญิงสองคนบังอาจเหลือเกิน   แต่เจ้าหน้าที่ก็หาเก้าอี้มาให้เรานั่งกรอกรายละเอียดและตอบคำถามต่างๆ
ฉันมาทราบทีหลังว่า   คนที่ฉันเถียงนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของเรือนจำทีเดียว     เรายังไม่คาดคิดว่าจะเกิดผลที่รุนแรงต่อมาอย่างไร...พอเปลี่ยนเป็นชุดเสื้อสีน้ำตาลผ้าถุงสีน้ำตาลเหมือนทุกคน   เราถูกพาไปแผนกตรวจภายในเพื่อค้นหายาเสพติด   ซึ่งจะทำต่อทุกคนที่เข้าใหม่  หรือกลับจากไปศาล    ฉันกับเหน่งยืนยันไม่ยอมให้ตรวจเช่นกันด้วยเหตุผลเดิมคือเราเป็นนักโทษการเมือง   ...เราจึงไม่ต้องตรวจภายในตลอดช่วงที่อยู่ในคุกลาดยาวครั้งแรกนี้...
ฉันกับเหน่งถูกขังที่เรือน 3 อยู่รวมกับผู้ต้องหาคอมฯหญิงอีกสองคน ชื่อป้าสุมล  คุรุทัศน์   และป้าถนอม  ปิ่นถาวร   ซึ่งถูกจับตัวมาพร้อมสามีและคณะตั้งแต่ปี 2515   ตอนนั้นคดีก็ยังไม่สิ้นสุด   ต้องขึ้นศาลทหารโดยไม่มีทนายความ เพราะเป็นระเบียบของศาลทหาร   แต่ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร   ก็ต้องติดคุกฟรีมาแล้ว 4  ปี    เราดีใจมากที่มีเพื่อนอยู่ด้วย    ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันเราได้เรียนรู้จิตใจที่เข้มแข็งและสุขนิยมที่ไม่เคยท้อแท้  สงบนิ่ง  ใจเย็น  เชื่อมั่นในประชาชนและความถูกต้อง    เปี่ยมด้วยความรักทางชนชั้นต่อเราสองคนตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน    เป็นความรักแห่งผู้คนในช่วงนั้นที่ต่อสู้ด้วยความใฝ่ฝันและอุดมการณ์เดียวกัน     โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักมาก่อนเลย     รวมทั้งได้ฝึกรำไท้เก๊กเป็นการออกกำลังเพื่อสุขภาพกับป้าทั้งสองคนด้วยเมื่อเราได้ประกันตัวออกไปและเข้าป่า       ป้าทั้งสองยังต้องต่อสู้คดีอีกยาวนานกว่าจะได้ปล่อยตัวออกมา    ฉันมีโอกาสพบป้าถนอมอีกครั้งในปี  2542  แต่ไม่เคยพบป้าสุมลอีกเลย ...เราถูกห้ามพูดกับใครๆทั้งสิ้น  และมีคำสั่งไม่ให้ผู้ต้องขังทั้งหมดพูดกับเรา  ห้องของเราอยู่ตรงกลางชั้นสองของเรือนนอน3  ข้างล่างเป็นโรงทอผ้า  มีคนอีสานอยู่มาก   ตรงข้ามซึ่งมีสนามหญ้าและถนนคั่นกลาง   เป็นเรือนนอนของแดนยาเสพติด    สมัยนั้นยังเป็นเรือนไม้เกือบทั้งหมด
แล้วเราก็เข้าสู่บรรยากาศของกระแสขวาพิฆาตซ้ายจากภายนอก ที่เริ่มขมึงเกลียวดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ    รวมทั้งผลจากความไม่ยอมอ่อนข้อให้กับผู้คุม-เจ้าแม่แห่งอำนาจในคุกหญิง-   ก็เริ่มสำแดงฤทธิ์ของมัน    ผู้ต้องขังแดนยาเสพติดร้องเพลงหนักแผ่นดินทุกวันอยู่ตรงข้ามแดนเรา      เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปยุ่งกับผู้คุมและผู้ต้องขังทั้งสิ้นถ้าไม่จำเป็นเช้าวันที่ 4 ก.ค.19   ผู้ต้องหาคนอีสานชื่อทองใสเดินเข้ามาคุยกับฉันถามไถ่เรื่องคดี    เธออยู่เรือนนอนเดียวกับเรานั่นเอง   ผู้ต้องขังแดนยาเสพติดเรียกกันว่าแก๊งม้าลายหรือขาใหญ่ที่ผู้คุมเอาไว้ใช้สอยช่วยควบคุมผู้ต้องขัง   กำลังจับกลุ่มอยู่พอดีประมาณ10 คน    พวกเธอกวักมือเรียกทองใสให้ไปหา   ทองใสกลัวมากแต่ก็ต้องเดินข้ามไปหา   ฉันวิ่งตามไปด้วยความเป็นห่วง  พวกเธอข่มขู่ว่าทองใสทำผิดที่มาคุยกับผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์   ฉันช่วยชี้แจงว่าทองใสไม่ได้ทำผิดอะไร... แค่นั้นก็โดนกำปั้นสองทีที่กกหูและหน้าอก...เหน่ง  ป้าสุมลและป้าถนอม  วิ่งตามมาถึงพอดี   ประกอบกับผู้ต้องขังส่งเสียงเอะอะกัน     ผู้คุมจึงวิ่งเข้ามา   ผู้คุมพาฉันและผู้ต้องขังกลุ่มนั้นไปที่กองกลาง  บอกว่าจะลงโทษให้    ฉันยืนต่อหน้าพวกเธอซึ่งท่าทีดุดันรูปร่างแข็งแรงนั่งอยู่บนศาลานั้นประมาณ 10  คน     ฮด์ปาร์คด้วยความรู้สึกเต็มเปี่ยมที่อยากจะอธิบายให้พวกเธอเข้าใจร่วมกันว่า...   เราต่างอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน   ไม่ควรแบ่งแยกและเข้าใจผิดต่อกัน    ดังนั้นฉันให้อภัยและขอไม่ให้ลงโทษใครทั้งสิ้น...      ก็ไม่ได้หวังอะไรนัก   แต่ก็คิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้พูดคุยกับพวกเธอบ้างวันรุ่งขึ้น  มีคำสั่งให้ฉันกับเหน่งในฐานะเข้าใหม่ไปรับฟังการอบรมของอนุศาสนาจารย์      ซึ่งเป็นผู้ชายคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาได้    ป้าทั้งสองเตือนให้เราระวังตัว  เพราะเราต้องเดินไปอีกเรือนหนึ่ง    ทันทีที่เข้าไปถึงเรือนที่จัดเป็นที่ฝึกอบรม   สัญชาตญาณเตือนฉันว่าต้องมีอะไรผิดปกติแน่นอน   โดยทั่วไปต้องมีผู้คุมอยู่ทุกเรือน  ปรากฏว่า  วันนั้นไม่เห็นผู้คุมเลยตั้งแต่เดินจากเรือนนอนจนถึงเข้าห้องอบรม   ฉันกระซิบกับเหน่งว่า   พออบรมเสร็จเราต้องรีบกลับเรือนนอนให้เร็วที่สุดมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้น  พอเลิกเราก็รีบเดินออกมา   ทันใดนั้นกลุ่มที่ก่อเรื่องเมื่อวานดักรออยู่หน้าห้องแล้วนับสิบคน     ก็บุกเข้ามารุมทำร้ายเราสองคน ต่อหน้าอนุศาสนาจารย์นั่นเองอาจจะเป็นโชคดีของเรา   ดูท่าทีแล้วคงหวังให้เราสลบคาที่     แต่บังเอิญฉันสามารถเตะถีบป้องกันตัวและต่อสู้ไปได้บ้าง  ทำให้เวลาล้มลงไม่ถูกกระทืบอย่างเต็มที่  เหน่งที่ใส่แว่นสายตาสั้นตลอดเวลา  แว่นตาแตกและหลุดกระเด็นหายไป    ในเวลานั้นความรู้สึกฉันช่างเนิ่นนานเสียเหลือเกิน   กว่าที่จะมีผู้คนร้องเอะอะ  และที่สุดผู้คุมค่อยปรากฏตัวออกมาฉันลุกขึ้นมาได้ก็บอกผู้คุมทันทีทั้งที่เนื้อตัวมอมแมมว่า   ขอใช้สิทธิโทรศัพท์หาพี่ทองใบ  ทองเปาด์  ทนายคดีของเรา   ผู้คุมพาฉันไปที่โทรศัพท์อย่างไม่อิดเอื้อน    เมื่อกลับมาที่ห้อง  ป้าสองคนร้องไห้ด้วยความสงสารเราสองคน   ฉันหาเศษไม้ท่อนเล็กๆได้อันหนึ่ง   บอกเหน่งว่า   กลางวันที่ป้าสองคนไปศาลต้องระวังที่พวกนั้นจะบุกเข้ามา   เพราะห้องขังจะไม่มีกลอนประตูให้ใส่ ต้องเปิดไว้ตลอดเวลา  เราเตรียมสู้เต็มที่เท่าที่จะพอทำได้  บาดแผลของเราปรากฏในวันต่อมาด้วยรอยฟกช้ำที่ขอบตา  ต้นแขน    และความเจ็บปวดที่ไม่เห็นบาดแผลชัดเจนบริเวณชายโครงและหน้าอก...ทนายทองใบ  ทองเปาด์  ทนายสุทธิพงษ์  เล้าเจริญ และสุชีลา ตันชัยนันท์  ในฐานะรองเลขา ศนท.   แถลงข่าวทันทีที่ได้เข้ามาเยี่ยมเรา    หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวใหญ่หน้า 1หลายฉบับในวันที่ 9กรกฎาคมที่น่าเศร้าแกมน่าขำไปด้วยคือ   ขณะที่มีข่าวว่าม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมชนายกรัฐมนตรี สั่งสอบเรื่องนี้ด่วนในวันรุ่งขึ้น   แต่ขณะเดียวกันมีข่าวพาดหัวว่า อธิบดีราชทัณฑ์ว่า   ธรรมดา  ตบตีกันประสาหญิง   โดยนายประดิษฐ์  พานิชการ  อธิบดีฯว่า  ได้รับรายงานแล้วว่า  คืนเกิดเหตุตามกฎเรือนจำต้องมีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและยืนทำความเคารพพระมหากษัตริย์  แต่ผู้ต้องหาทั้งสองกลับยืนเฉยๆ  ในขณะที่นักโทษทั้งหมด 840คนยืนทำความเคารพ...นักโทษคนอื่นต่อว่าและเกิดการโต้เถียงจนกระทั่งมีการทำร้ายกันขึ้น  ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองก็ไม่ติดใจเอาความ แต่ทนายทองใบเอาเรื่องมาเปิดเผย..เรื่องนี้ไม่เป็นเรื่องใหญ่ระดับนโยบาย  เป็นเพียงเรื่องเบ็ดเตล็ดระดับปกครองเท่านั้น ..บาดเจ็บเพียงเล็กน้อย  แต่เรื่องไปใหญ่  เพราะสองคนนี้แกเป็นคนมีชื่อเสียงหน่อย (ประชาธิปไตย 10ก.ค.)   


วันที่ 11 ก.ค.เพียงบ่ายสามโมงผู้คุมก็ให้ผู้ต้องขังขึ้นเรือนนอนใส่กุญแจทั้งหมด    ทั้งที่ปกติจะขึ้นห้องประมาณห้าโมงเย็น   ฉันมารู้ภายหลังว่า  วันนั้นมีนักศึกษาประชาชนนั่งรถสองแถวมาถึง16 คัน  ชูป้ายผ้าเป็นแถวยาวว่า  ก่อนจับบอกว่ามีหลักฐาน   หลังจับก็บอกว่ากำลังรวบรวมหลักฐาน   จงอย่าขังลืมผู้บริสุทธิ์’  จากนั้นจึงไปชุมนุมที่หน้าบ้านพัก มรว.เสนีย์  ปราโมช  และส่งตัวแทนยื่นข้อเรียกร้อง 1)ให้รัฐบาลวางมาตรการมิให้เกิดการซ้อมเช่นนี้อีก  2) ให้รัฐบาลดำเนินคดีด้วยความจริง   ถ้าไม่มีหลักฐานก็ขอให้ปล่อยตัวไป   (ประชาธิปไตยและประชาชาติธุรกิจ 12 ก.ค.19)  สุกัญญา พี่สาวฉัน เป็นนักข่าวนสพ.ประชาธิปไตย   ขณะที่กำลังยืนสังเกตการณ์หน้าบ้านนายกฯ     ระหว่างตัวแทนนักศึกษากรรมกร เข้าไปเจรจา    รู้สึกว่าถูกลักลอบบันทึกภาพจากนายพิทักษ์  คันธจันทร์ นสพ.ดาวสยาม   จึงเข้าไปถามว่าถ่ายภาพไปทำไม   ควรจะถ่ายภาพเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นข่าว  หลังจากนั้นสุกัญญาได้แยกตัวห่างออกมา 4 เมตรพร้อมทั้งผู้สื่อข่าวประชาชาติ  และศานต์สยาม  นายพิทักษ์ได้ตรงเข้ามาต่อยที่ใบหน้าด้านขวาของสุกัญญาสองครั้งติดต่อกัน  ต่อหน้าตำรวจประมาณ  20 นาย   ซึ่งรักษาการณ์อยู่หน้าบ้านนายกฯและช่างภาพนักข่าวจำนวนมาก
    วันนั้นแม่ของฉันมาที่หน้าคุกลาดยาวด้วย   ที่ชุมนุมให้แม่เล่าถึงฉัน   เมื่อมีเรื่องพี่สาวถูกต่อยหน้าเพิ่มมาเป็นข่าวอีก รายการข่าวยามเช้าของสมหญิงที่คอยวิพากษ์ขบวนนักศึกษาประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่องก็ด่าว่าแม่ฉันเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วยอีก    ที่เลี้ยงลูกสาวสองคนเป็นคอมมิวนิสต์...
พลังแห่งความรักความห่วงใยที่นักศึกษาประชาชน   รวมทั้งกรรมกรมีต่อเราสองคนในสถานการณ์ที่โดดเดี่ยวในคุก   แม้ภายนอกพวกเขาจะถูกกระแสคุกคามการต่อสู้ของขบวนอย่างหนักหน่วงตลอดเวลาด้วยเช่นกัน   ทำให้เราสองคนตื้นตันและซาบซึ้งใจอย่างมาก      ถ้าไม่มีกระแสการเคลื่อนไหวเหล่านี้     ฉันกับเหน่งคงไม่มีโอกาสได้ประกันตัว    เพราะถูกค้านการประกันตัวมาโดยตลอด   และถ้าไม่มีจิตใจที่เสียสละอย่างใหญ่หลวงของผู้หญิงที่เป็นนักธุรกิจหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง   เสียสละโฉนดที่ดินมูลค่าสี่แสนบาทมาประกันตัวเราสองคน    เราคงไม่มีปัญญาได้ประกันตัวเช่นกัน     ทั้งนี้ด้วยการประสานงานอย่างเข้มแข็งและอดทนของวิชัย  บำรุงฤทธิ์    ที่เราต้องขอบคุณวิชัยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่สาวคนนี้เป็นพิเศษ ช่วงเวลานั้นในคุกก็เปลี่ยนท่าทีต่อฉันกับเหน่ง   เราได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับผู้ต้องขังชาวต่างประเทศ    ไปซื้ออาหารและไปห้องสมุดได้    ผู้คุมก็พูดกับเราแบบสุภาพขึ้นมาก
แล้วในที่สุด17 น.ของวันที่ 21 ก.ค. ศาลก็มีคำสั่งให้ประกันตัวเราสองคนในวงเงินคนละสองแสนบาท  แต่ต้องมารายงานตัวทุก 15 วัน   นักศึกษาประชาชนประมาณ 100 คนไปรอรับเราที่หน้าคุกลาดยาว  เราได้ปล่อยตัวออกมาเวลา 19.15 น.  แม่และพี่ชายฉันก็ไปรับด้วย  ขบวนที่ไปรับปรบมือให้กำลังใจเราสองคน   ฉันตื้นตันใจมาก(ประชาธิปไตย และประชาชาติธุรกิจ  ,๒๒ ก.ค.๑๙)พอถึงเวลายื่นประกันตัวคนอื่นๆ ก็เห็นได้ชัดว่า  ถ้าไม่มีกระแสประชาชนมาช่วยเมื่อเราถูกซ้อมในคุก  เราคงไม่ได้ประกันตัว   เพราะเมื่อรตท.สัญญา  กระจ่างศรี  ได้นำโฉนดที่ดินราคา  650,000 บาทมายื่นประกันกลุ่มแรกคือ   สุภาพ      พิสิษฐ์     วิมุตติ  ซึมรัมย์       แต่ศาลกลับไม่อนุมัติให้ประกัน  โดยนายพิชัย   รัชตะนันท์   อธิบดีศาลอาญา ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเมื่อวันที่ 26 ก.ค.   โดยให้เหตุผลว่าผู้ต้องหานอกจากจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมฯแล้ว     ยังถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ      ควรรอฟังผลการสอบสวนต่อไปอีกระยะ    หากอัยการไม่ยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับจาก 25 เมย. ทางศาลจะพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือให้ประกันตัวต่อไป   (ประชาชาติธุรกิจ, 27-28 ก.ค.19)                                                การล้อมปราบ  6 ตุลา 19

ฉันไปช่วยพี่สาวซึ่งเป็นหัวหน้าข่าวกองบรรณาธิการนสพ. อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตฯ     ซึ่งกำลังถูกคุกคามเช่นกันแทบไม่มีใครรับพิมพ์ให้     ช่วงสุดท้ายทั้งไปพิมพ์และไปตั้งสำนักงานที่โรงพิมพ์มาตุคาม ของพี่กรองแก้ว  เจริญสุข หญิงเหล็กที่ต่อมาต้องเข้าไปอยู่ในคุกลาดยาว    เมื่อฉันมาเป็นแม่ลูกอ่อนคนคุกในปี 2530   พี่กรองแก้วก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คอยช่วยดูแลฉันกับลูกอย่างมีน้ำใจอบอุ่น   ทั้งที่ไม่ได้คุ้นเคยกันมาก่อน   [1]
สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นเมื่อสามเณรถนอมกลับเข้ามาในประเทศ  ขบวนนักศึกษาประชาชนรู้ว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกปราบปราม    แต่ในจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย   ไม่อาจปล่อยให้ชนชั้นปกครองกระทำย่ำยีตามใจชอบ      ขบวนนักเรียนนักศึกษาประชาชนจึงชุมนุมคัดค้านครั้งใหญ่ที่ธรรมศาสตร์      และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดที่วิปโยคและโหดเหี้ยมที่สุดของประวัติศาสตร์ไทยฉันไปช่วยงานที่อธิปัตย์ และไปร่วมการชุมนุมทุกวัน  คืนวันที่ 5 ตุลา [11] พวกเราที่กองบก.ตั้งใจจะเข้าไปธรรมศาสตร์ตอนดึกหลังจัดทำต้นฉบับให้เรียบร้อย   ได้ยินข่าวสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก    แต่ประมาณเที่ยงคืน   น้องๆในธรรมศาสตร์ก็โทรศัพท์มาบอกพวกเราว่า...อย่าเข้ามาในธรรมศาสตร์   ตอนนี้มีทหารตำรวจล้อมไว้...    เมื่อย้อนไปถึงตอนนั้น  เรารู้สึกถึงน้ำใจและความเข้มแข็งของพวกเราทุกคนในธรรมศาสตร์   แทนที่พวกเขาจะห่วงตัวเอง    กลับห่วงมาถึงพวกเราภายนอก
พวกเราประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่า  ความเป็นห่วงของพวกน้องๆสอดคล้องกับความเป็นจริง   เพราะอธิปัตย์กำลังถูกจับตาจากฝ่ายขวาและเตรียมที่จะปราบปราม   ตกลงกันว่า  เราจะทำต้นฉบับวันต่อไปให้เสร็จสมบูรณ์     ขณะที่ให้ทำลายเอกสารที่เกี่ยวข้องกับใครต่อใครและอาจเป็นอันตรายถ้าระบอบเผด็จการปราบปรามประชาชนจริงๆ   ในช่วงเวลานั้น    ฉันตระหนักถึงความเข้มแข็งและรักใคร่กันของทุกคน
เนื่องจากฉันไม่ใช่กองบก.โดยตรง   ในสภาพที่ทุกคนกำลังยุ่งยากเช่นนั้น    ฉันจึงอาสาเป็นหน่วยยามปฏิบัติการพิเศษ   ก่อนหน้านั้นไม่นานมิตรสหายที่หวังดีได้จัดหาปืนเล็กๆสองกระบอกไว้ป้องกันตัว    แม้ฉันจะไม่เคยใช้มาก่อน  ฉันก็รับเป็นหนึ่งในสองคนของด่านหน้าที่ถือปืนไว้    ทุกคนเห็นด้วยกันว่า    ถ้าตำรวจบุกเข้ามาจับเราจะยอมให้จับโดยดี   แต่ถ้าเป็นพวกกระทิงแดงหรืออันธพาลกลุ่มใดก็ตาม    เราจะสู้ตาย    เพราะรู้ดีถึงความโหดเหี้ยมของพวกนี้... [2]
ประมาณตีห้าพวกเราเสร็จภารกิจที่จำเป็น  ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่นี่    แต่เรารู้ชัดแล้วว่ามีการล้อมปราบครั้งใหญ่ในธรรมศาสตร์แน่นอน   เราตกลงแยกย้ายกันหลบภัยก่อน ฉันและพี่สาวตกลงใจที่จะต้องเข้าไปเขตป่าเขา  ฉันพอรู้เลาๆว่าควรจะไปที่ไหน   เพราะหลังออกจากคุกมีการประเมินสถานการณ์ว่า    ชนชั้นปกครองน่าจะปราบปรามครั้งใหญ่อย่างแน่นอน   มีบางคนแนะนำให้รู้จักจุดที่พอพึ่งพิงได้ในยามคับขันที่จ.อุดรธานี  แม้ฉันจะไม่เคยไป   แต่เราก็ต้องลองเสี่ยงดู  
เหน่งและพี่สาว  รวมทั้งรุ่นน้องอีกคนในกองบก.อธิปัตย์   ขอไปกับฉันและพี่สาวด้วย   เราไม่มีเวลาคิดอะไรมาก   นัดแนะกันแล้วต่างรีบกลับไปเก็บของที่จำเป็นที่บ้าน     ฉันและพี่สาวอยากไปดูเหตุการณ์ด้วยตัวเอง   เราตัดสินใจนั่งแท็กซี่ไปที่สนามหลวง   ขณะนั้นกำลังมีการเผาอย่างโหดเหี้ยมแล้ว...  บรรยากาศที่เห็นแม้จะไม่ได้เข้าไปถึง ที่เกิดเหตุอย่างใกล้ชิด     ก็ทำให้เราเศร้าสลดเหลือเกิน    ฉันอยู่ระหว่างประกันตัวอยู่ด้วย    ถ้าช้าไปคงถูกถอนประกันแน่นอน    ถ้ากลับเข้าคุก    ในยุคที่มืดสนิทอย่างนี้ คงเป็นเรื่องที่ไม่มีหนทางต่อสู้จริงๆ...ฉันนึกถึงพี่สาวที่แสนดีต่อเรา   แม้เราจะไม่เคยรู้จักมาก่อนก็ตัดสินใจเสี่ยงภัยและเงินทุนมาประกันให้เราสองคนถึงสี่แสนบาท   ตอนเราได้ประกันตัวออกมา เราได้ไปขอบคุณพี่สาวที่ทำงานของเธอ   ประทับใจในความคิดของเธอ   เธอต้อนรับเราอย่างอบอุ่น   ฉันรู้สึกปลาบแปลบในใจไม่น้อย   เมื่อคิดว่า  อะไรจะเกิดขึ้นกับเธอเมื่อเราสองคนหนีภัยไป...  เธอจะมีอันตรายไหม?   ศาลคงยึดเงินทั้งหมดของเธอไป?   ฉันเศร้าใจมาก  แต่เมื่อนึกถึงความโหดเหี้ยมที่กำลังเกิดขึ้นต่อเบื้องหน้า     และสถานการณ์ที่ไม่มีทางสู้ของฉันเอง   ฉันตัดสินใจว่า    ขอรักษาชีวิตตนเองไว้ก่อน     เพื่อไปต่อสู้ต่อไป   สักวันหนึ่งถ้าฉันไม่ตาย   คงได้กลับมาทดแทนบุญคุณของเธอบ้าง...พอไปถึงบ้านเราบอกแม่กับพี่ชายว่าจำเป็นต้องไปป่า  แม่คัดค้าน  บอกว่าแม่จะอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟังเองถ้าเขาจะมาจับลูก  จะบอกว่าลูกสาวของแม่เป็นคนดี   เราเข้าใจความรู้สึกของแม่และพี่ชายดี   เขาเสียสละเพื่อเราสองคนมายาวนาน   บัดนี้ เรายังจะทิ้งเขาไปอีกและเสี่ยงภัยโดยไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองได้เลย   หลังจากถกเถียงกันพักใหญ่   เราตัดสินใจหักหาญน้ำใจของแม่และพี่ชาย   เร่งรีบออกจากบ้านไปตอนสายของวันที่ 6 ตุลา    มุ่งหน้าไปบ้านเพื่อนของสุกัญญา  อีกไม่กี่ชั่วโมงก็มีทหารมาที่บ้าน เมื่อไม่พบเราสองคนก็จับพี่ชายข้อหาภัยสังคม  ทำร้ายน้องผู้หญิงที่มาช่วยขายหนังสือ  และขนหนังสือทั้งหมดในร้านขายหนังสือของครอบครัวเรา  รวมทั้งหนังสือส่วนตัวของเราสองคนจำนวนมากไปเผาที่สนามหลวง  พี่ชายต้องมาแบกภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นอีกนานทีเดียว
เราห้าคนนัดกันที่นั่น  หลบฟังข่าวอยู่สองสามวัน   ในวันที่ 9 ตุลาคม เราก็เป็นหน่วยแรกที่เข้าป่าเขตงานภูซาง  จ.อุดรธานี(จ.หนองบัวลำภูในปัจจุบัน) เป็นผู้หญิงล้วนทั้งห้าคน     ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนจากจุฬาฯคนนี้    ช่วยหาเสื้อผ้าแบบสาวๆนักท่องเที่ยว   เครื่องสำอางแต่งหน้าให้ดูแปลกตา  และจัดหาเงินติดกระเป๋า   รวมทั้งผ้าถุง  ของใช้ที่จำเป็นให้พวกเรา   พาเราไปส่งขึ้นรถทัวร์ไปอุดรธานี    ถ้าไม่ได้เพื่อนชมรมอนุรักษ์จุฬาฯคนนี้    เราคงจะขลุกขลักกว่านี้อีกมากเราจากลาครอบครัว    ทอดทิ้งเพื่อนๆในคดีอ้อมน้อยให้เผชิญชะตากรรมต่อไป        อย่างโดดเดี่ยว     ความเป็นห่วงเพื่อนพ้องน้องพี่ท่วมท้นใจพวกเรา    แต่ขอได้โปรดรับรู้ว่า          เป็นการตัดสินใจไปที่ไม่รู้ว่าจะเผชิญกับชะตากรรมอย่างไรเช่นกัน ...

 ขอแต่เพียงมีโอกาสเลือกที่จะมีชีวิตและอิสรภาพ  เผื่อจะสามารถจับปืนขึ้นสู้    แก้แค้นแทนทุกคน  และมีโอกาสสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่านี้... ถ้ายังมีชีวิตรอดอยู่


ก้าวต่อไปด้วยความศรัทธา

เพลง แสงดาวแห่งศรัทธา  ของ จิตร ภูมิศักดิ์     ช่วยจรรโลงใจเราก้าวต่อไปบนเส้นทางที่ดูมืดสนิทในวันนั้น  ....
                        พร่างพรายแสงดวงดาวน้อยสกาว           ส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล
                        ดั่งโคมทองส่องเรืองรุ่งในหทัย                เหมือนธงชัยส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
                        พายุฟ้าครืนข่มคุกคาม                          เดือนลับยามแผ่นดินมืดมน
                        ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน              ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย....  
 
6 ตุลา 19 : เผด็จการไม่อาจลบเลือนจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ของผู้หญิง

ขบวนนักศึกษาประชาชนต้องต่อสู้กับกระแสความพยายามฟื้นชีพของเผด็จการ[3]         และเผชิญความโหดร้ายที่สุดแห่งประวัติศาสตร์การต่อสู้ร่วมกันทุกคน   จากการล้อมปราบ 6 ตุลา...   ไม่มีคำว่าหญิงหรือชาย..    สมาชิกกลุ่มผู้หญิงทุกรุ่นต่างได้รับผลแห่งเผด็จการนี้

    สมาชิกกลุ่มผู้หญิงจำนวนหนึ่งถูกจับในธรรมศาสตร์   ไม่น้อยที่ต้องแปรบทบาทไปเป็นทหารหญิงแดงเหมือนฉัน [4]   แต่ที่เจ็บปวดใกล้ตัวกลุ่มผู้หญิงที่สุด  คือการเสียสละชีวิตของภรณี   จุลละครินทร์  (รุ่น 17) ในวันนั้น     ซึ่งมีผลให้ผู้หญิงหลายคน  โดยเฉพาะ วิมล  หวังกิตติพร    รุ่นพี่ที่พาภรณีไปสอนหนังสือกรรมกรอ้อมน้อยเป็นเวลาถึงปีกว่าด้วยกัน    สะเทือนใจจนต้องตัดสินใจเข้าป่าแม้ว่าจะไม่ แดงก็ตาม
แม่เซียมเกียง   จุลละครินทร์   เล่าว่า  ...           
ญาติพี่น้องไม่ยอมให้แม่ดูศพ  กลัวจะเป็นอะไรไปอีกคน ...ตอนหลังมีเพื่อนของภรณีเล่าให้ฟังว่าเขาพยายามเข้าไปห้าม...เขาเห็นตอนยิงเลย   พอภรณีล้มลง     คนยิงก็เอาด้ามปืนตีเสียแขนหักขาหักเลย   ทำไมต้องทำรุนแรงขนาดนี้   เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งเท่านั้นเอง  แม่ถูกกล่าวหาว่าเลี้ยงลูกให้เป็นคอมมิวนิสต์   เราก็บอกว่าเป็นคอมฯได้อย่างไรกลับมาก็ช่วยทำงานบ้านทุกอย่าง    บางคนก็ว่าเป็นเวียดนาม    ตามที่นสพ.ในช่วงนั้นกล่าวหา  จะเป็นเวียดนามได้อย่างไร  ก็เขาเป็นคนบ้านบึง  เป็นลูกของเรา   
หลังงานศพสองสามวัน  มีตำรวจมาค้นบ้าน  เขาบอกว่าบ้านนี้เป็นคอมมิวนิสต์...   ลูกเราเป็นคนเรียบร้อย น่ารัก  ทำไมต้องตีเขาถึงขนาดนี้   แม่ร้องไห้มาตลอด  20 ปี  ไม่มีใครมารับผิดชอบ  เรียกว่าสูญไปเปล่าๆเลยลูกสาวคนหนึ่ง  แม่ไม่รู้จะไปคุยหรือเรียกร้องกับใคร
ไม่มีใครมาถามเลย  ไม่มี...”(ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2544  :114-115)

สมาชิกทุกรุ่นโดยเฉพาะปี 18 และ 19  ที่ยังคงอยู่ในเมือง  ก็แสดงศักยภาพของเธอตามเงื่อนไขที่อำนวย   ร่วมมือกับนักต่อสู้หญิงทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องที่ยังสามารถอยู่ต่อไปได้   ด้วยจิตวิญญาณของผู้รักเสรีภาพและความเสมอภาค  เช่น   การก่อตั้งชุมนุมผู้หญิงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม     กรรมการนักศึกษาของคณะ   รวมทั้งการประสานงานและช่วยดูแลครอบครัวของเพื่อนๆพี่ๆที่เข้าไปสู้รบในเขตป่าเขา[5]    หลัง 6 ตุลา กลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์และกลุ่มผู้หญิงทุกสถาบันอาจจะไม่มีอีกต่อไป       แต่จิตวิญญาณที่ถูกหล่อหลอมร่วมกันมาไม่ได้สูญสลายไปอย่างแน่นอน  ...  การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคหญิงชายหรือ อุดมการณ์เฟมินิสต์    ซึ่งได้พัฒนาเติบโตขึ้นอย่างมาก  ในเงื่อนไขแห่งการมีระบอบประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา ก็ปิดฉากการต่อสู้แบบขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างเปิดเผย   ที่เชื่อมโยงทั้งเฟมินิสต์   ประชาธิปไตย  และการต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น   ในช่วงหลัง 6  ตุลา
ต่เป็นเพียงการชะงักงันลงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น    จิตวิญญาณที่หล่อหลอมทุกคนไม่ได้สูญสลายลงไปด้วย    แต่กลับยิ่งย้ำเตือนสัจจธรรมที่ว่า   ที่ใดมีการกดขี่   ที่นั่นมีการต่อสู้...สำหรับฉันเอง   ประสบการณ์ตั้งแต่วัยเด็กผ่านชีวิตและการตัดสินใจของแม่   ทำให้ฉันซาบซึ้งและมุ่งมั่นกับการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของหญิงชาย ซึ่งมีหลากหลายมิติ   ตั้งแต่ทัศนคติแห่งการเลี้ยงดูลูกสาว   ที่มิได้ให้โอกาสและสนับสนุนการเรียนหนังสือ  การแต่งงานแบบคลุมถุงชน   ความรุนแรงในครอบครัว    โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงต้องยอมจำนน  ทั้งจากทัศนคติที่ปลูกฝังมา      และการที่ระบบสังคมมิได้ให้โอกาส   ในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ    กฎหมายหย่า  กฎหมายนามสกุล    กระทั่งไม่มีนโยบายที่เข้าใจมิติหญิงชาย     โดยเฉพาะต่อผู้หญิงคนเล็กๆที่อยู่ตามซอกหลืบของสังคมอย่างโดดเดี่ยว    อุดมการณ์แห่งเฟมินิสต์ในความหมายที่ฉันเรียนรู้   เมื่อผ่านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย     คัดค้านเผด็จการ  จึงยิ่งลึกซึ้งและพัฒนาหนักแน่นขึ้น  ตระหนักเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ว่าพลังแห่งผู้หญิงและพลังแห่งสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงการกดขี่เหล่านี้ได้    ก็ต่อเมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น  
และฉันยิ่งเข้าใจเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างการกดขี่ทางเพศกับการกดขี่ทางชนชั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงกรรมกร  ชาวนาและคนยากคนจน    ดังนั้น  สำนึกร่วมแห่งปัญหาผู้หญิง   จึงพัฒนาจิตสำนึกที่จะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ  การเมือง   เพื่อแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น  และยังลึกซึ้งไปถึงความผูกพันร่วมกันกับผู้หญิงทั่วโลก  รวมถึงคัดค้านการเหยียดผิว   ที่ละเมิดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งนั้นด้วย








[1] ดู  แก้วภานีย์,  ออกจากคุกมาเขียน (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์เลมอนที พิมพ์ครั้งที่2, 2545 )   [2] มีหนังสือที่พูดถึง 6 ตุลาจำนวนมาก  ในที่นี้คือคำบอกเล่าของอ.อมรสิริ  สัณห์สุรัติกุล   อาจารย์ธรรมศาสตร์.ก.พ.ปี 18 ( ปัจจุบันเรียน.ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส มธ.) :                -วันที่ 6 ตุลา  ดิฉันคิดว่ากระทิงแดงนะคะ ก็คือพวกวัยรุ่นเข้ามากระชากตัวแล้วก็ตบตีดิฉัน  บอกว่าดิฉันเป็นนักศึกษา แต่นักศึกษาแพทย์รีบเข้ามาบอกว่าไม่ใช่    เป็นนักศึกษาพยาบาลมาด้วยกันกับเขา  มาช่วยรักษาคนเจ็บ    แต่ว่ามีผู้ชายคนนึงเข้ามาดึงผม   แล้วบอกว่าไม่ใช่    ใส่แว่นอย่างนี้หน้าตาอย่างนี้ต้องเป็นนักศึกษา   ดิฉันทำอะไรไม่ได้เลย   ร้องไห้อย่างเดียว...                นศ.แพทย์เห็นดิฉันสภาพไม่ดี   เขาก็เลยบอกว่าคุณอย่าอยู่ที่นี่เลยดีกว่า  คุณขึ้นไปกับคนเจ็บบนรถพยาบาลจะดีกว่า...บนรถก็จะเป็นคนที่มีอาการเจ็บหนักทั้งนั้น   ...มีผู้หญิงคนหนึ่งก็มีอาการเยอะมากที่ไหล่...มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย..                  คิดว่าเหตุการณ์ ๖ ตุลาก็ให้สิ่งนี้กับดิฉันด้วย ว่าความเป็นมนุษย์คืออะไร   ดิฉันว่ามันมีค่ากับดิฉันมาก และคิดว่าดิฉันผูกพันกับธรรรมศาสตร์ก็เพราะเหตุนี้ด้วย  ไปไหนไม่รอด เพราะคิดว่ามันเป็นโรงเรียนที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับชีวิตของดิฉัน...คิดว่ามีชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้ ก็เพราะจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์   คือพอใจในสิ่งที่ตัวเองทำ    แล้วก็มีความสุขในชีวิตโดยที่ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรมากมาย (ต่อมาไปทำป.เอกที่ฝรั่งเศส 4ปี  กลับมาปี 43)   (ชลธิรา,2545 :65-73)                  [3] เวลาไปชนบท   นักเรียนนักศึกษาจะถูกก่อกวนต่อต้านมากจากกระแสขวาพิฆาตซ้ายที่เริ่มจากปี 18    ในการไปออกค่ายของกลุ่มผู้หญิงต้นปี19 ก็ถูกทหารมาล้อม  บอกไม่ให้พวกเราเข้ามาอีกและให้ออกไปเลย  ปกติเราไปกันครั้งละสิบกว่าวัน   เป็นค่ายฝึกฝนตัวเอง  ไปเรียนรู้จากชาวบ้านฝึกความอดทน   ค่ายนั้นเข้าไปลึกมาก   มีผู้ชายและนักศึกษาต่างชาติหนึ่งคนร่วมด้วย
     [4]ที่บาดเจ็บคือสายพิรุณ  บุญสมภพ  ที่ถูกจับวันนั้นจะมีหลายคน  เช่น กาญจลักษณ์  ไพรินทร์  นันทนา  ติ๋ว(16) ส่วนที่เข้าป่าก็มีไม่น้อย เช่น ส.กุหลาบ  ส.ฝน  ส.ทาง(เลขากลุ่มฯ ปี 15)   ส.มด(รุ่น 17)   อรไท  ที่ไปทำละครตะวันเพลิง  ที่สุราษฎร์    ไพรินทร์  ไปเข้าทางจ.ตาก   [5] กาญจลักษณ์ เล่าถึงบรรยากาศที่ส่งพี่ๆเข้าป่า  เช่น ไพรินทร์ พลายแก้ว  และวิมล  หวังกิตติพร และการประสานงานกับนงลักษณ์ในการทำงานต่อมา   ส่วนนงลักษณ์  เทวะศิลชัยกุล สามีไปอยู่ที่สกลนครบ้านเกิด  ถูกจับ  ต่อมาถูกยิงเสียชีวิตที่ยังจับใครไม่ได้   เธอต้องเลี้ยงลูกสองคนตามลำพัง





สามประสาน :นักศึกษา กรรมกร ชาวนา หลัง๑๔ ตุลา














สามประสาน :นักศึกษา  กรรมกร  ชาวนา

หลัง14 ตุลา  ฉัน  กลุ่มผู้หญิงและกลุ่มอิสระต่างโลดแล่นไปกับกิจกรรมรณรงค์ประชาธิปไตยในต่างจังหวัดกันทั่วประเทศ   และเริ่มเรียนรู้การประสานกับกรรมกร  ชาวนา   หาบเร่   ที่ได้รับผลจากบรรยากาศประชาธิปไตย     ทำให้มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ในขอบเขตทั่วประเทศหลัง 14 ตุลา  เพียงไม่กี่เดือนมีการประท้วงของกรรมกรในปี 2516 ถึง 501ครั้ง   กรรมกรเข้าร่วม 177,887 คน  จากปี 2515  ที่มีการประท้วงเพียง 34 ครั้ง    กรรมกรเข้าร่วม 7,803 คน และต่อเนื่องไปถึงปี 2519 ก่อน 6  ตุลา     ก่อเกิดการเริ่มต้นบรรยากาศสามประสาน   ที่โดดเด่นจากการชุมนุมของกรรมกร 7  วัน  7 คืนที่สนามหลวง 


ในการสัมมนายุทธศาสตร์แรงงานสตรีข้ามกาลสมัย  ณ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย[1]     ซึ่กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี จัดขึ้นเมื่อวันที่  30 มี.ค. 46  เชิญผู้นำกรรมกรหญิงหลายรุ่น   รวมทั้งฉันและวนิดา   ตันติวิทยาพิทักษ์ในฐานะนักศึกษาปัญญาชนที่ทำงานกรรมกรในช่วงก่อน 6 ตุลา         ฉันช่วยประสานงานเชิญ ป้าเลื่อน  แถวเที่ยง ผู้นำกรรมกรหญิงรุ่นบุกเบิกจากสหภาพแรงงานทอผ้ากรุงเทพที่โด่งดังในยุคปี 2500  พี่แตงอ่อน  เกาฎีระ(พี่น้อย)   และ  พี่สงวนศรี     จาก สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าสมุทรสาคร (อ้อมน้อย)ซึ่งเป็นแกนหลักในช่วงหลัง14 ตุลา 
                ในวันนั้นพี่แตงอ่อน เชื่อมโยงถึงการต่อสู้ไปถึงสมัยป้าเลื่อน   และช่วยให้ภาพที่เห็นพลังของกรรมกรหญิงชัดเจนว่า... 
  “ เข้าไปทำงานปี 2498 ที่โรงงานทอผ้าบางซ่อน  ปี 2499มีการสไตร๊ค์ครั้งใหญ่  ไปชุมนุม   กันที่สนามหลวงสมัยจอมพลป.  ในนามสหภาพแรงงานทอผ้ากรุงเทพ   ตอนนั้นสู้เรื่องเวลาทำงาน   เพราะเราทำงานกันวันละ12 ชั่วโมงถูกขูดรีดมาก  ไม่มีวันหยุดเลยนะ  ทานข้าว 5 นาที... สู้เรื่องระบบ สาม-แปดให้มันเหลือ 8 ชั่วโมง  จากเข้า 6โมงเช้าออก 6โมงเย็น  เข้า 6 โมงเย็นก็ต้องไปออก 6 โมงเช้า  ลาก็ไม่ได้  หยุดตัดเงินลาตัดเงิน   ทำงานเหมาเนี่ยเค้าบีบบังคับมาก  และพอคนท้องเค้าให้ออกเลยนะ ...พอยุคจอมพลสฤษดิ์  เราทำอะไรไม่ค่อยได้มากใช่ไหม   คนงานเราก็ไม่ค่อยเข้าใจปัญหาการต่อสู้    ก็ย้ายกันไปเรื่อยๆเพราะโรงงานเกิดขึ้นมาเยอะ   ย้ายไปที่ไหนก็ไปเจอเพื่อนเก่า ๆ  ไปที่ไหนเค้าสไตร๊ค์ทุกที่   พอไปทำงานที่อ้อมน้อยก็เหมือนกัน   ทำงานแบบเหมาค่าแรงมีแต่ลดไม่มีเพิ่ม    ถ้าเค้าขายของได้ไม่ดีเค้าก็ไม่จ่ายค่าแรงให้นะ  ค่าแรงเราก็ไม่มีแล้วเราเอาอะไรกินล่ะ    เค้าให้ข้าวเปล่ากินอย่างเดียวไม่มีกับข้าว  มันรู้สึกอึดอัดมากคนงานเค้าก็รวมตัวกัน เอาไงก็เอาซิทีนี้   ถ้าเค้าสู้เราก็สู้    ถึงยังไงก็ตายด้วยกันไม่ยอมถอย  ถ้าได้สู้ขึ้นมาแล้วผู้ใช้แรงงานจะเป็นแบบนี้  ต่อมาเราก็ยื่นข้อเรียกร้อง 12 ข้อ  ประเด็นหลักคือค่าแรงขั้นต่ำ   ตอนนั้นมันแค่ 12-13 บาทเท่านั้น
พอปี 17 เรามาชุมนุมกันที่สนามหลวง   เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำจากกฎหมายกำหนด 16 บาทเป็น 25 บาท  แล้วก็มีทางนครปฐมมาร่วมด้วย   พระประแดง  ดาวคะนอง  มากันเยอะเต็มสนามหลวง ตอนแรกชุมนุมกันที่อ้อมน้อย 1 คืน  เจ้าของที่เค้ามาไล่  เค้ากลัวมาก   เราก็ย้ายโดยเดินขบวนจากอ้อมน้อยไปถึงพระประแดงไปค้างที่วัดครุ 1  คืน   ไปรอคนงานลัคกี้เทกซ์ไทล์ที่เค้าเสนอว่าจะไปร่วมต่อสู้ด้วย  แล้วก็พากันเดินมา ค้างที่กรมแรงงาน 1 คืน   แล้วก็เห็นท่าไม่ดีกลัวเค้ามาไล่อีก   ก็ออกมาที่สนามหลวงเพราะเห็นว่ามันใกล้ธรรมศาสตร์     พวกนักศึกษาก็จะออกมาช่วย   เราสู้จากอ้อมน้อย 1 คืน  วัดครุ 1คืน   กรมแรงงานอีก 1  คืนเป็น3 คืนแล้วนะ แล้วก็สนามหลวงอีก 8วัน 7 คืน  เราก็ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ20 บาท   ต่อมาอีกปีหนึ่งค่อยได้ 25บาท  ..พวกเราร้องไห้ก็มีนะตอนนั้น  อยู่มาตั้งนานเค้ายังไม่ยอมสักที.... ตอนนั้นมาในนามสหภาพฯนะ  โชคดีมากเลยที่ฝนไม่ตก  อยู่กันกลางสนามหลวงไม่ได้ไปไหนเลย    ฉันก็ไม่กล้าไปไหนห่วงเพื่อนๆกลัวเค้าไม่เห็นเราเค้าจะใจเสีย    อยู่กองกลางก็มีนักศึกษามาช่วย    พอเงินไม่มีก็เข้าไปยืมที่สหพันธ์นักศึกษาในธรรมศาสตร์     ก็ไปซื้อข้าวมา   สู้กันเสร็จแล้วก็กลับ   เงินที่เหลือเราก็ให้ทางนักศึกษาไป.... 

พี่สงวนศรี  ประธานสหภาพฯทอผ้าสมุทรสาครในปี2518    ก็เรียนรู้จากโรงงานทอผ้าบางซ่อน  กว่าจะมาถึงการชุมนุมครั้งนี้   และอยู่ในสถานการณ์ที่เข้มข้นต่อมา :  
 “ ทำงานปี 2495 ก็ร่วมขบวนการกับพี่เลื่อนที่บางซ่อน ...    ตอนบางซ่อนสไตร๊ค์ยังจำได้

  ติดหูติดตาเลย    ตอนนั้นมีนายตำรวจ  ณรงค์  มหานนท์  มนต์ชัย  พันธุ์คงชื่น    มาขู่นะ   ว่าเด็กๆต้องเข้าไปทำงาน   ไม่เข้าไปจะจับนะ  เราก็บอกไม่กลัวออกไปยืนเถียงกับตำรวจ
จนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์    พวกพี่ก็โดนไล่ออก  แตกกระจายกันไปพักหนึ่งก็ไม่ได้เจอกัน... ไปอยู่ไทยเกรียงได้ ๑๐ เดือน   ก็ไปอยู่เพชรเกษม(โรงงานทอผ้าที่อ้อมน้อย)     ต่อมาร่วมกันทำงานสหภาพฯกับคุณประสิทธิ์  ไชโย    จนมีการมาชุมนุมที่สนามหลวงมิถุนายน17คนเป็นหมื่นๆ หุงข้าวกันวันหนึ่งสามลูก     สมัยนั้นข้าวสารก็หายากต้องไปเข้าแถวต่อคิว
ใครมีทองติดตัวต้องเอาออกจำนำกันหมดเลย   เอาไปซื้อกับข้าว   มีคนถามว่าพี่เอาทองให้เขาทำไม   ก็มันไม่มีเงินซื้อแล้วเพื่อนๆเราจะกินอะไรกัน       ชุมนุมกันเต็มสนามหล แล้วเด็กเค้าก็มาช่วยด้วยใจ  ไม่มีการศึกษา   รู้อย่างเดียวว่ามาต่อสู้แล้วมันจะได้ของตัวเองและพวกพ้อง   ก็มากันโดยไม่รู้ว่าจะอยู่ซักกี่คืนกี่วัน  
แต่พอ9 วันสำเร็จ   พวกเราก็น้ำตานองหน้า    พอจากนั้นมันก็มีอะไรให้สู้ตลอด.".


ส่วน วนิดา  ตันติวิทยาพิทักษ์  ที่ปรึกษาในการต่อสู้ของกรรมกรฮาร่า  ที่ยืดเยื้อและเจ็บปวด   สุดท้ายได้ยึดโรงงานมาทำการผลิตเองอยู่ช่วงหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของกรรมกรไทย  ก่อนที่จะถูกจับกุม   เธอสรุปบทเรียนว่า...

เป็นนักศึกษาปี 1 เข้าไปก็ทำงานกับมวลชน  ครั้งแรกไปร่วมสไตร๊ค์กับกรรมกรรถเมล์    ตอนชุมนุมเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ไปร่วมด้วย  ชาวนาก็มาเรื่องค่าเช่านา  จำได้ว่ามีพี่น้องกรรมกรหรือชาวนาเข้าไปอยู่ในทำเนียบ     ประท้วงกันอยู่ในทำเนียบเลย  ทำกับข้าวในนั้น    ตัวเองก็เข้าไปช่วยชาวบ้านอยู่ในนั้นนั่นแหละ... 
กรรมกรฮาร่าอายุสูงสุดประมาณ 20 ปี  เฉลี่ย 15 ปี ที่สู้เป็นผู้หญิงทั้งหมด   สมัยนั้นไม่ใช่สไตร๊ค์กันได้ง่ายๆ  บางทีนายจ้างก็ให้อันธพาลยกพวกมาเล่นงาน   ส่วนใหญ่การนัดหยุดงานก็จะใช้วิธีปิดเครื่องจักรยึดโรงงานเอาไว้    ไม่ใช่ว่ามาอยู่นอกโรงงาน... กรรมกรฮาร่าเล่าว่า   เวลามีเจ้าหน้าที่มาตรวจคนงานก็จะไปซ่อนในโอ่ง  เพราะอายุมันน้อยผิดกฎหมาย  แล้วก็ทำหน้าที่คนรับใช้ไปในตัว    ขณะที่สินค้าของฮาร่ามีชื่อเสียง   ไปซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วก็ขยายโรงงาน...
ฮาร่าทางฝั่งตรอกจันทร์หยุดงานและยึดเครื่องจักรเอาไว้  หยุดงานวันแรก นายจ้างก็เอาอันธพาลเข้าไปตีเลย  คนงานหญิงก็สู้    สไตรค๊ยืดเยื้อ   หลังจาก 3 เดือนมันทนกันไม่ไหวลำบากไม่มีจะกินกันแล้ว เป็นลูกหลานคนจีนส่วนใหญ่   คนจีนที่ยากจนเป็นกรรมกรก็เยอะ   เถ้าแก่ก็เป็นนายทุนมาจากไต้หวัน   มีการคุกคามตลอดเวลา  คนงานผู้หญิงจะต้องถือไม้เฝ้าโรงงานนะ   พอฝ่ายโน้นมาก็ตีกัน   สมัยก่อนกระทิงแดงเห็นมีสไตร๊ค์ที่ไหนก็เอาระเบิดพลาสติกไปขว้าง  ข่มขู่คนงานให้กลัวทุกคืน  ฮาร่าก็โดน   หลังจากนั้นก็ตัดสินใจว่าคนทำงานควรจะได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต    ก็เลยยึดโรงงาน...กรรมกรเอาผ้าที่กองอยู่ในโรงงานเยอะๆเย็บเป็นเสื้อผ้ามาขายเลย  คนมาซื้อถึงโรงงานตั้งแต่ตีห้า   เพราะเราขายถูกไง  แต่ก่อนหน้านั้นเราก็ไปติดโปสเตอร์ทั่วเมือง   ประกาศว่าต้นทุนกางเกงฮาร่าไม่กี่สตางค์   ต้นทุนแรงงานยิ่งเหลือตัวหนึ่งตกไม่ถึงห้าสิบตังค์    เพราะฉะนั้นไอ้ที่ขายน่ะขูดรีดทั้งนั้น   เราก็ขายในราคาร้อยกว่าบาท    ขณะที่นายทุนขาย 400-500  บาท   ขายได้เงินมาก็มาแบ่งกันเป็นค่ากับข้าวค่าอะไร  ปรากฏว่าได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ   ก็ทำอย่างนี้อยู่ประมาณสองเดือนก็ถูกสลายการชุมนุม” [2] .

ชีวิตกรรมกรทอผ้า  :   สามเดือนก็ซาบซึ้ง

อีกหนึ่งเดือนหลัง  8 มีนา 2517 ฉันก็จบมหาวิทยาลัย   กลุ่มผู้หญิงและ ผู้หญิงรุ่น 14 ตุลาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ    เข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในรูปแบบต่างๆกัน      บ้างไปเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์รายวันรายสัปดาห์   บางรายไปทำงานธนาคาร   เป็นข้าราชการ    แต่เราก็ยังเกี่ยวข้องกับงานของผู้หญิงในมิติต่างๆ  วนเวียนพบเจอกันแถวธรรมศาสตร์และการชุมนุมต่างๆเป็นประจำ   รวมทั้งในการประท้วงของกรรมกรชาวนา  และการคัดค้านฐานทัพอเมริกันฉันเป็นนักข่าวนสพ.มหาชน รายสัปดาห์ของคุณปีย์  มาลากุล ที่เพิ่งเปิดใหม่     มีรัศมี(พี่ป้อม)  เผ่าเหลืองทอง เป็นบรรณาธิการ  ส่วนใหญ่ทำข่าวการประท้วงของนักศึกษากรรมกรชาวนา    แต่นสพ.อยู่ได้ประมาณ 1ปีก็ยุติลง   พี่สาวสุกัญญา พัฒนไพบูลย์ เป็นนักข่าวที่ นสพ.เสียงใหม่กับปราโมทย์  พิพัฒนาศัย     ปฏินันท์  สันติเมทนีดล และ กัญญา  ลีลาลัย (ฤดี)   ทุกคนทำงานด้วยอุดมคติมีเงินเดือนเพียง 900บาทแต่งานหนักมาก   ฉันทำนสพ.มหาชนยังได้ 1,500 บาท    ยุคนั้นยังมีนสพ.ประชาธิปไตยรายวันที่มีธีรนุช   ตั้งสัจจพจน์   อัมพา  เลี่ยวชวลิต (สันติเมทนีดล)จากวารสารศาสตร์  ต่อมาหลังจากเสียงใหม่ยุติบทบาทลง  พี่สาวและเพื่อนๆหลายคนก็ไปสมทบที่นสพ.ประชาธิปไตย
กระแสเรียกร้องให้นักศึกษาประสานกรรมกรชาวนา  ทำให้นักเรียนนักศึกษาปัญญาชนทั้งหญิงชาย ต่างโถมตัวเข้าไปในรูปแบบต่างๆ   ฉันตัดสินใจเข้าไปเรียนรู้ชีวิตกรรมกรทอผ้าที่โรงงานเทยิ่นดอนเมืองซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ประมาณสองพันคน   ส่วนใหญ่ผู้หญิง   ฉันใช้วุฒิ ม.6 เข้าไปสมัครเป็นคนงานคุมเครื่องทอและนอนในหอพักโรงงาน    ได้ค่าแรงประมาณเดือนละ 600 บาท
ชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยของคนงานทอผ้าที่อ่านในหนังสือหรือฟังจากคนงาน     ก็ยังไม่ซาบซึ้งเท่ากับชีวิตจริงที่ต้องเผชิญด้วยตัวเอง   ฉันคุมเครื่องทอหกเครื่อง    ต้องคอยเติมให้กระสวยด้ายพุ่งในเครื่องทอที่เร็วจี๋นั้น   ให้ทอผ้าต่อเนื่องสม่ำเสมอ  ที่สำคัญคือต้องไม่มีรอยยุ่งเหยิงของด้ายที่ทอไม่เรียบเกิดขึ้นบนผืนผ้า    เท่ากับว่าฉันต้องเดินเร็วๆอยู่ตลอดเวลาการทำงานแปดชั่วโมงในกะๆหนึ่ง     หยุดไม่ได้    เพราะเครื่องทอเร็วมาก  กระสวยด้ายหมดอยู่ตลอดเวลา  ตาของฉันก็ต้องคอยจ้องมองจังหวะของการทอ  ไม่ให้ด้ายยุ่ง  เมื่อเห็นปุ๊บต้องรีบปิดเครื่องนั้นและแก้ไขด้ายที่พันกันอย่างรวดเร็วที่สุด   โอ้เอ้ไม่ได้  เพราะปิดได้เครื่องเดียว  เครื่องที่เหลือไม่ได้หยุดรอฉันด้วย   กระสวยเดินหน้าต่อไปอย่างรวดเร็วเช่นเดิม...อาทิตย์แรกฉันปวดเมื่อยไปทั้งตัว   ตาก็แสบระริก   ต่อมาฉันก็คงเหมือนกรรมกรหญิงคนอื่นๆคือเริ่มชินและถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ  ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไมคนงานหญิงโรงงานทอผ้ามักต้องใส่แว่นสายตา   แสงไฟที่สะท้อนใส่ผ้าที่ทอ    และการต้องเพ่งตลอดเวลา    ทำให้สายตาเสียง่ายมาก   ยังมีฝุ่นฝ้ายที่กระจายซ่อนเร้นอยู่ในทุกอณูของอากาศ    ที่ทำให้คนงานทอผ้าเป็นโรคปอดได้ง่ายเราเปลี่ยนกะหมุนเวียนกันทุกอาทิตย์ เพราะเครื่องจักรทำงานยี่สิบสี่ชั่วโมง    ฉันพักอยู่กับกรรมกรหญิงคนหนึ่งที่นิสัยดีมาก   คอยแนะนำช่วยเหลือ   กรรมกรหญิงรอบตัวทุกคนก็สนิทสนมกับฉันดี   เวลาออกกะเราก็ไปกินข้าวด้วยกันในโรงอาหาร   มีข้าวเปล่าให้แต่ซื้อกับข้าวกินเอง           ปัญหาหนักที่สุดก็คือ   เวลาจะไปเข้าห้องน้ำ    เราต้องรีบเร่งอย่างที่สุดแม้จะไม่มีใครมาคุมก็ตาม  เพราะห่วงด้ายจะยุ่งช่วงเราไม่อยู่   กลับมาเราอาจจะดูไม่ทัน   ถ้าส่งไปแล้วผ้ามีตำหนิ     จะโดนหัวหน้าว่าและอาจจะหักค่าแรงได้   กรรมกรจึงทุ่มโถมพลังของตนอย่างสุดฤทธิ์     เพื่อแลกกับเงินวันละ 20-25 บาทนั้น  โรงงานนี้ร่วมทุนญี่ปุ่นกับคนไทย    ถือว่าเป็นโรงงานทันสมัยมากแห่งหนึ่ง  ตอนฉันไปทำงานกับกรรมกรที่อ้อมน้อย  โรงงานทอผ้าแถบนั้นยังให้กรรมกรคุมเครื่องทอเพียงสองเครื่องเท่านั้น    ยังเป็นเครื่องรุ่นเก่าอยู่ 
ทำงานได้สักสามเดือน    คืนหนึ่งก็มีเสียงประกาศตามสายให้ฉันไปพบหัวหน้างาน   ซึ่งบอกว่า   ผู้จัดการใหญ่ให้ฉันไปพบที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทที่หลานหลวง    พรุ่งนี้จะมีรถมารับตอนออกกะ    ฉันนึกในใจว่าสงสัยโรงงานจะรู้ว่าฉันเป็นใครกระมัง... เพราะคนงานตัวเล็กๆคนหนึ่งคงไม่มีเรื่องให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ต้องพบเป็นแน่  แต่ฉันก็ไม่นึกกลัวอะไรแม้ว่าจะต้องเดินทางไปคนเดียวก็ตาม   วันรุ่งขึ้นฉันนั่งรถของโรงงานไปสำนักงานที่หลานหลวงในชุดเสื้อสีฟ้า   กางเกงสีกรมท่าซึ่งเป็นชุดของคนงาน  ฉันถูกพาไปพบคุณเดช   บุญหลง กรรมการผู้จัดการใหญ่    คุณเดชถามว่าจบธรรมศาสตร์แล้วทำไมจึงมาเป็นกรรมกร    ฉันหัวเราะขณะที่ตอบว่าฉันเรียนเศรษฐศาสตร์   ฉันต้องการรู้ชีวิตจริงในโรงงานจึงลองมาทำดู    คุณเดชท่าทางไม่เชื่อ แต่ก็พูดจาด้วยดี     บอกว่าต่อไปนี้ให้มาทำที่สำนักงานใหญ่นี้จะหางานที่เหมาะสมให้ทำ    ไม่ต้องไปเป็นกรรมกรอีก...[3]  

คดีคอมมิวนิสต์อ้อมน้อย : การปราบนักศึกษาประชาชนอย่างต่อเนื่อง
การต่อสู้ของกรรมกรชาวนา   การเดินขบวนคัดค้านฐานทัพอเมริกัน และการคัดค้านการจะกลับมาของถนอม-ประภาส     ทำให้ขบวนการต่อสู้ของประชาชนดุเดือดแหลมคมยิ่งขึ้นทุกขณะ   เริ่มมีกระแสขวาพิฆาตซ้าย   มีการขว้างระเบิดใส่ที่ชุมนุม   โดยเฉพาะในการคัดค้านฐานทัพอเมริกันวันที่ 21มี.ค.19   ซึ่งแม่ของฉัน   แม่วรรณา(แม่ของวิชัย บำรุงฤทธิ์)  และบรรดาแม่ๆของนักกิจกรรมทั้งหลายก็มาเดินขบวนกันด้วย    ระเบิดตกไม่ห่างจากแม่ๆมากนักตรงย่านสยามสแควร์      มีคนตายถึง 4 คน  บาดเจ็บกว่า 100  คน  นี่เป็นบรรยากาศหลัง14 ตุลาซึ่งพวกเรามักจะชวนพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวมาร่วมกิจกรรมกันด้วย     ทำให้เกิดพ่อแม่ของประชาชนจำนวนมาก     การชุมนุมของกรรมกรถูกก่อกวนคุกคาม   มีการเสียชีวิตที่มีเงื่อนงำมากมายและไม่เคยจับใครได้   ตั้งแต่นิสิต  จิรโสภณ   แสง  ร่งนิรันดรกุล   บุญสนอง  บุณโยทยาน     ผู้นำชาวนาถูกลอบฆ่านับสิบคน    กรรมกรหญิงชื่อ  สำราญ คำกลั่น  ก็ถูกยิงเสียชีวิต    ขบวนนักเรียนนักศึกษาที่ไปชนบททั่วไปก็โดนขัดขวางก่อกวนในพื้นที่  [4]
ในที่สุดแกนหลักของศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ เช่น  เสกสรรค์  ประเสริฐกุล    เทิดภูมิ  ใจดี   ประสิทธิ์   ไชโย(เขตอ้อมน้อย)และอดีตผู้นำนักศึกษาหลายคน   ก็ตัดสินใจไปเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตชนบท    โดยเดินทางออกนอกประเทศไปก่อนที่จะย้อนกลับเข้ามาในประเทศ    เพราะประเมินสถานการณ์แล้วคงจะโดนปราบปรามแน่นอน   [5]                    
สหภาพฯอ้อมน้อยเป็นกำลังหลักและมีการต่อสู้ที่ดุเดือดในขณะนั้น  พี่สุภาพ   (แป๊ะ)      พิสิฐพัฒนเสรี (บัง)  จากศูนย์ประสานงานกรรมกรเป็นที่ปรึกษาอยู่   ฉันก็อยู่ในศูนย์ฯเมื่อไม่ได้เป็นกรรมกรแล้วจึงไปเป็นที่ปรึกษาสมทบด้วย    พี่สงวนศรีเป็นแกนนำแทนประสิทธิ์  ไชโย   โดยมีสงวนศรี  เบญจางจารุ(เหน่ง) นักศึกษาปี1จากศูนย์ศึกษาปัญหากรรมกร  เกษตรศาสตร์ไปร่วมด้วย  
ช่วงนี้ทางครอบครัวฉันตัดสินใจมาเช่าตึกหน้าหอสมุดแห่งชาติที่เทเวศร์ เปิดเป็นร้านขายหนังสือ เพื่อให้แม่ไม่ต้องไปเย็บผ้าอีก  ฉันช่วยขายบ้าง  แปลหนังสือได้เงินบ้าง  เวลาไปอ้อมน้อยก็ไปครั้งละหลายวัน   คนงานจะหุงข้าวเลี้ยงพวกเรา   ซึ่ง กินอยู่กันอย่างง่ายๆ    ถ้าจำเป็นจริงๆฉันก็เคยขอเงินค่ารถกลับบ้านจากบรรดาพี่ๆแกนนำสหภาพเหมือนกัน
ฉันและเหน่งเข้าไปสอนกฎหมายแรงงานในโรงงานเพชรเกษม เวลาที่คนงานออกกะ   เรากลมกลืนไปกับคนงานจนไม่มีใครสงสัย   มีการประท้วงเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สหภาพฯต้องเข้าไปเป็นที่ปรึกษา    ฉัน  พี่แป๊ะ  บังและเหน่ง  ก็ไปร่วมด้วยบางครั้ง   วงดนตรีกรรมาชนของมหิดลมาเล่นให้คนงานที่ประท้วงบ่อยๆ   เป็นจังหวะดนตรีและบทเพลงที่ปลุกเร้าใจกรรมกรมาก     คาราวานก็เป็นวงโปรดของพวกเรามากเช่นกัน    เวลาขากลับดึกๆพวกเราต้องระวังตัวกันมาก[6]
เจ้าของบ้านเช่าที่สหภาพฯอ้อมน้อยอยู่มานานถูกข่มขู่       จนขอให้พวกเราย้ายออกไป   สหภาพฯไปหาที่เช่าใหม่ไม่ไกลจากนั้นแต่อยู่ในเขตอ้อมใหญ่    เย็นนั้นพวกเรากลับจากการไปร่วมชุมนุมประท้วงของคนงาน      ก็เลยไปนอนเฝ้าที่ทำการใหม่ของสหภาพฯ     ข้าวของเครื่องใช้ยังเกะกะเต็มไปหมด   ฉัน  เหน่ง  บังและพี่แป๊ะ   นอนหลับด้วยความเหนื่อยเพลีย...  ไม่รู้ตัวกันเลยว่า   เช้าวันรุ่งขึ้นจะถูกจับคดีคอมมิวนิสต์    พร้อมกับกรรมกรอีก 5 คน  ที่ถูกจับในเวลาเช้ามืดวันเดียวกันที่อำเภอกระทุ่มแบน   คือวิมุตติ์    ซึมรัมย์    วันทา  รุ่งฟ้า    ทองเหลือ    มงคลอาจ    พรหมา  นานอก     นรินทร์  อาภรณ์รัมย์ ในข้อหาคดีเดียวกับเรา[7]                             
      ขบวนนักศึกษาประชาชน  กรรมกร   คณาจารย์และผู้รักความเป็นธรรม  ต่างติดตามมาเยี่ยมเยียน และให้สัมภาษณ์วิจารณ์การจับกุมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก อ.ป๋วย   อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า:  “ การจับในข้อหาความผิดอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือกบฏภายในนั้น    กินความกว้างเกินไปหากว่าใช้หนังสือเป็นหลักฐาน  เพราะจะนำอะไรไปวัดได้ว่า   หนังสือเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการกบฏ   และย้ำว่าการที่นศ.ออกไปช่วยกรรมกรเป็นสิทธิของนักศึกษา    การต่อสู้แต่ละครั้งกรรมกรก็หวังพึ่งนักศึกษา... (ประชาชาติธุรกิจ 31มี.ค.19)

              
               นายอุทัย  พิมพ์ใจชน  ประธานสภาผู้แทนราษฎร   ให้ข้อคิด ... อย่าขังลืม ...   ผลเสียของการตั้งข้อหาตามพรบ.คอมฯที่ผ่านมาคือในตอนจะไปจับ  จะอ้างว่ามีหลักฐานพร้อมและชัดเจนทุกราย    แต่ตอนที่จะส่งฟ้องศาล  กลับอ้างว่าหลักฐานยังไม่พร้อม   ยังต้องสอบสวนเพิ่มเติม     ขอถามว่านี่มันเป็นเพราะอะไร..(ประชาธิปไตย 2 เม.ย.19)[8]    


    

   [1] ฉันได้บันทึกการถอดเทปโดยละเอียดซึ่งตอนท้าย     ป้าเลื่อนได้กล่าวสรุปอย่างน่าประทับใจไว้ว่า..ภาระหน้าที่ของเราผู้ใช้แรงงานมีเกียรติแต่ว่ายากลำบากยาวนาน ถ้าเราดูจากอดีตถึงปัจจุบัน  ก็นับว่าการต่อสู้ของแรงงานโดยเฉพาะสตรีไม่ได้หยุด  ทั้งในการต่อสู้ก็ได้รับชัยชนะมาเป็นขั้นๆเหมือนกัน   ถ้าเราดูในทางการเมืองนะ  เราต่อสู้ในยุคเผด็จการ มาสู่ยุคประชาธิปไตย    เดี๋ยวนี้เรายังอยู่ในยุคปฏิรูปการเมือง   จะพิสูจน์ว่าประชาชนได้อะไรอย่างแท้จริงหรือไม่...แต่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี   นี่คือการกีดกันประชาชนผู้ใช้แรงงาน.. การเลือกตั้งแต่ละครั้งฉันยังเสียใจนะ    ประชาชนผ่านการต่อสู้มามาก   กรรมกรก็มีการจัดตั้งอย่างกว้างขวาง      แต่เลือกผู้แทนแต่ละครั้ง   ทำไมได้แต่พวกที่เป็นพรรคการเมืองที่เป็นชนชั้นนายทุน
             ...เรามีสิทธิตั้งสหภาพแรงงานก็นับว่าดีกว่าแต่ก่อนที่ไม่มีสิทธิ   แต่เราจะใช้สหภาพอย่างไรนี้เป็นปัญหาที่ต้องค้นคว้า    ใช้ยังไงให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน   บางคนเข้าสหภาพฯ  บางคนไม่เข้าฯ  เกิดขัดแย้งกันเอง  พวกที่ไม่ได้เข้าก็ว่าเป็นพวกนายจ้าง   เราต้องเข้าใจนะว่า   นายจ้างจะใช้นโยบายการแบ่งแยกแล้วปกครอง   คือทำให้เราขัดแย้งและแตกแยกกันเอง  ไม่สามัคคีกัน  เราต้องใช้นโยบายสามัคคีกันให้เหนียวแน่นสู้กับเขา.....การเป็นผู้นำถ้าไม่มีอุดมการณ์นะ  การขายตัวง่าย   เพราะไปเป็นผู้นำมีพลัง นายทุนซื้อผู้นำแล้วก็แล้วเลย   ผู้นำก็ไปหลอกกรรรมกร   เราจะทำให้สหภาพฯเกิดประโยชน์ที่สุด   ต้องมีอุดมการณ์...  
           

[2] วนิดา  (มด) เล่าเพิ่มเติมว่า... การหยุดงานครั้งแรกไปหยุดที่นครปฐมก่อน   นัดหยุดงานกันหมดเลย 200-300 คนและยึดโรงงานไว้   พอ ไม่มีการเจรจา7-8วัน  ก็เอาเสื้อผ้า  ฮาร่าไม่ว่าเป็นเสื้อ กางเกง  ตอนนั้นเสื้อตัวละ100-200บาท   กางเกง 400-500บาท  ถือว่าแพงมาก    โยนออกมาจากโรงงานเลยกองไว้...หลังจากนั้นโรงงานก็ปิด แล้วก็ลอยแพคนงานชุดนั้นหมด 200   คน   ซึ่งมีจากตรอกจันทน์มาร่วมด้วย... มันมีกลยุทธ์นี้ด้วย   พอสไตร๊ค์ปุ๊บ สั่งปิดโรงงานแล้วก็รับคนงานใหม่เข้ามาทำงาน  จะถือโอกาสประกาศไล่คนงานเก่าออก   ถ้ าไม่ออกจะผิดกฎหมาย   ตำรวจก็จะมาใช้เงื่อนไขนี้มาเคลียร์คนงานเก่าออกจากโรงงาน   วิธีตั้งแถวก็ตำรวจถือโล่ถือกระบองอยู่ข้างหน้า     คนงานใหม่ก็อยู่ข้างหลังคือมาเปิดทางให้   เหมือนกรณี คนงานสแตนดาร์ดฯถูกปราบ  แล้วผู้หญิงเกือบทั้งหมดก็ไม่ยอมก็ไปยืนขวางกัน  เป็นการปะทะกันครั้งแรก  

..ถ้าเรามองย้อนไปสมัยนั้นเราก็ทำเกินไปเหมือนกันในการยึดโรงงานมาผลิตขายเอง   เพราะว่ามันกลายเป็นแบบอย่าง    คนอื่นจะเอาอย่างด้วย   ซึ่งนายจ้างก็ตกใจ   ผู้ปกครองก็ตกใจ   แต่เราก็ไม่รู้หรอกเพราะว่าเรายังเด็ก ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำมันล่อแหลม   แหลมคม  ..หลัง 6 ตุลา   กรรมกรก็เข้าป่ากันเยอะ    ฮาร่าเข้าป่า 10 กว่าคน    ปรากฎว่าในกองที่ตัวเองอยู่ชุดทหารเป็นชุดที่สวยมาก    เพราะมีกรรมกรที่เก่งเรื่องตัดเย็บเสื้อผ้าเข้าไปตัดเย็บชุดให้ทหารป่า...  

   [3]ฉันกลับมาที่โรงงานแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงานอีก    ฉันนอนอยู่หอพักโรงงานอีกสองสามวัน   และตัดสินใจชวนคนงานที่ฉันคุ้นเคยประมาณ 10 คนมานั่งคุยกัน   บอกความจริงให้รู้ว่าฉันเป็นใคร   ทำไมฉันต้องออกจากงาน  อธิบายถึงกฎหมายแรงงาน   สิทธิในการตั้งสหภาพแรงงานและการต่อสู้ของคนงานที่อื่นๆให้ฟังบ้าง     มีคนหนึ่งชื่อพี่เปี๊ยกที่ฉันสังเกตว่าชอบอ่านหนังสือมาก  เมื่อฉันจากมาไม่นานก็ได้ยินข่าวว่า  พี่เปี๊ยกคนนี้ได้ร่วมกับเพื่อนคนงานจัดตั้งสหภาพเทยิ่น     หลัง 6 ตุลา 19 พี่เปี๊ยกก็เข้าไปในเขตชนบท    ฉันมาเจอพี่เปี๊ยกอีกครั้งในฐานะผู้นำชาวนาที่กาฬสินธุ์ ประมาณปี  2539    พี่เปี๊ยกเข้าป่าแล้วไม่ได้กลับไปในฐานะคนงานอีกเลย....   [4]มีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้คนและเรื่องราวเหล่านี้จำนวนมา เช่นประจักษ์ ก้องกีรติ,2545  ฉันกับวิชัย  บำรุงฤทธิ์ยังได้ไปช่วยทำหนังสือ ของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย  : ชาวนาไทยเขาถูกบังคับให้จับปืน  รวบรวมการต่อสู้และการเสียชีวิตของผู้นำชาวนาหลายสิบคน   และ  ปุถุชน    รายเดือนฉบับที่ 6  ได้รวบรวมผู้เสียสละในบทที่ชื่อว่า พลิกแฟ้มนักต่อสู้ของประชาชน : ดวงไฟที่ไม่รู้ดับ  มี ชวินทร์  สระคำ(นักเขียน-ร้อยเอ็ด) เมตตา  เหล่าอุดม(ชลบุรี)  แสง    รุ่งนิรันดรกุล(ผู้นำนักศึกษารามฯ)  สะอิ้ง  มารังกูร(นักการเมือง)  สนอง  บัญชาญ(กรรมกรเทมโก้)  นิสิต    จิรโสภณ(ผู้นำนักศึกษา-หัวหน้าข่าวนสพ.อธิปัตย์)   โหง่น  ลาววงศ์(ผู้นำชาวนาหนองบัวบาน)  เกลี้ยง   ใหม่เอี่ยม        (ผู้นำชาวนาพิษณุโลก)  มานะ  อินทรสุริยะ(นร.ราชสีมาวิทยาลัย) จา  จักรวาล(ผู้นำชาวนาเชียงใหม่) อินถา  ศรีบุญเรือง(ผู้นำชาวนาเชียงใหม่) สำราญ คำกลั่น(กรรมกรหญิงที่กระทุ่มแบน)   
     สำราญ คำกลั่น  อายุเพียง 15ปี อยู่โรงงานวัฒนาวินิลไทล์    ขณะกำลังนัดหยุดงานถูกยามของโรงงานยิงเข้ามากลางกลุ่มคนงาน  เธอเสียชีวิต   เพื่อนกรรมกรบาดเจ็บสาหัสอีก 8 คน   เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ เขียนกลอนรำลึก  ต่อมาเป็นบทเพลงขับขานด้วย(ประวัติศาสตร์แรงงานไทย(น.106)                                                            กระทุ่มแบน                        เมื่อความเลวความร้ายเข้าครองโลก           ความวิโยคก็จะเยือนทุกหย่อมหญ้า                        คนกับคนที่เคยอยู่คู่กันมา             คนกับคนก็หันหน้าฆ่ากันเอง                        อำนาจความเลวร้ายในวันนี้                      อัปยศกดขี่และข่มเหง                        เหมือนยักษ์มารไม่เคยกลัวไม่เคยเกรง         คอยแต่เร่งให้ร้อนรุมทุ่มให้แบน                        เธอตายเพื่อจะปลุกให้คนตื่น                    เธอตายเพื่อผู้อื่นอีกหมื่นแสนเธอคือดินก้อนเดียวในดินแดน                  แต่จะหนักและจะแน่นเต็มแผ่นดิน
   [5] อ่านในเสกสรรค์  ประเสริฐกุล    ที่เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการเข้าป่าของเขากับคณะ
   [6]เพลงฮิตติดปากทุกคนคือ  ศักดิ์ศรีกรรมกร    ที่ขอบันทึกไว้ ณ ที่นี้ด้วย ...            (สร้อย)   เสียงครวญของมวลกรรมกร                    ใช่เสียงอ้อนวอนขอความปรานี                        แต่เป็นเสียงเพื่อสิทธิเสรี                           ที่ถูกย่ำยีกดขี่มานาน...                        อาบเหงื่อแทนน้ำเช้าค่ำ                            ทนลำบากยากเข็ญชีวิตเราแสนเศร้าลำเค็ญ                          มองไปไม่เห็นเหมือนเช่นคน            ผอมซูบโซโอ้อับจน                                  ผองเราทุกคนต่อสู้เพื่อเสรี    (สร้อย)            ทำงานทุกวันขันกล้า                                ค่าเลี้ยงชีพไม่พอ            ลูกและเมียร้องเพลียหาพ่อ                       หิวข้าวตัวงอระงมไปหากดวงดาวพราวสดใส                           แม้สอยกินได้จะสอยไว้ให้ลูกกิน  (สร้อย)หยาดเหงื่อไหลรินสรรค์สร้าง                     ทั่วโลกกว้างงามตาปวงนายทุนขุนศึกศักดินา             กดขี่บีฑากินเลือดเราทำเท่าไหร่ได้พวกเขา                                เอ้า...เอา พวกเราเรียกร้องกันเถิดเอย(สร้อย)(ซ้ำ)     กรรมกรจงรวมกันเข้า        ร่วมกันกล่าวปฏิญาณ             สามัคคีน้องพี่คนงาน      ร่วมแรงฝ่าฟันไม่พรั่นใด                                    แอกบนบ่าปลดออกไป     สร้างความเป็นไทสดใสนิรันดร   (สร้อย)    (ซ้ำ)
  [7] มีแถลงการณ์กรรมกรอ้อมน้อยต่อการจับกุมพวกเรา "๙ คอมมิวนิสต์นักศึกษากรรมกรอ้อมน้อย:"  เรื่องคอมมิวนิสต์เป็นอย่างนี้หรือ? (ประชาธิปไตย,3เม.ย.19)     [8] -นายสวาย  อุดมเจริญชัยกิจ  รองเลขาศนท.–“ข้อหาเหล่านี้คงจะไม่มีใครนำมาใช้อีกแล้ว   ในระยะที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง   จึงคิดว่าน่าจะเป็นการสร้างสถานการณ์ของบางคนมากกว่า...การจับกุมก็เพื่อให้กรรมกรลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านการจับกุม     แล้วอ้างสถานการณ์เพื่อทำรัฐประหาร.. (ประชาธิปไตย 1 มี.ค.19)               -สหพันธ์นักกม.แห่งประเทศไทย  ออกแถลงการณ์วิเคราะห์กรณีการจับกุมว่า... 
               1) การค้นและการจับกุมผู้ต้องหานั้น  เจ้าพนักงานมิได้แสดงความบริสุทธิ์ใจก่อนที่จะค้นและจับกุม   พยานหลักฐานที่ตำรวจอ้างว่าได้มานั้น จึงเป็นที่น่าสงสัย    ทั้งผู้ต้องหาก็ปฏิเสธว่า   พยานหลักฐานบางอย่างที่นำออกแสดงต่อสื่อมวลชนนั้น   มิได้เป็นของผู้ต้องหาแต่อย่างใด                2) ตามพรบ.คอมฯมาตรา3  บัญญัติไว้ว่า  การกระทำอันเป็นคอมฯต้องเป็นการกระทำเลิกล้มระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข   หรือการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของประเทศอันทำให้กรรมสิทธิของทรัพย์สินหรือปัจจัยกรรมสิทธิ์ของเอกชนตกเป็นของรัฐ      โดยการริบหรือโดยวิธีการอื่นอันมิได้มีการทดแทนที่เป็นธรรม     แต่ตามพยานหลักฐานที่ตร.อ้างและนำออกแสดงต่อประชาชน  ส่วนใหญ่เป็นหนังสือ  ซึ่งเป็นเสรีภาพวิชาการ               -อ.ทวี  หมื่นนิกร  คณะเศรษฐฯ  ธรรมศาสตร์ อดีตผู้ต้องหา ๑๓ กบฏรธน.–“หลังจากดูเอกสารหลักฐานที่ตร.ยึดได้เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย  เมื่อเทียบกับการกระทำของกลุ่มอันธพาลกวนเมืองที่มีระเบิดคอยสังหารปชช.เมื่อวันที่ 20-21 มีค.19 และว่า...   น.ส.นิภาพรรณที่ถูกจับกุมด้วยนั้นเป็นลูกศิษย์และรู้จักเป็นการส่วนตัว ซึ่งเคยอ่านงานเขียนที่ตีพิมพ์ลงในวารสารต่างๆของน.ส.นิภาพรรณเสมอ...ผมเห็นว่านิภาพรรณเป็นผู้ที่รักความเป็นธรรม  จึงพยายามช่วยเหลือบุคคลอื่น  ผมภูมิใจในลูกศิษย์ของผม  ที่เป็นคนมีความสำนึกและช่วยเหลือผู้ที่เสียเปรียบในสังคม                -พิเชียร  อำนาจวรประเสริฐ  นายกอมธ.สุรชาติ  บำรุงสุข  อุปนายก จุฬาฯ  ประพิมพรรณ  สุดชูเกียรติ   รองนายกเกษตรฯ นายสงวน  นิตยารัมภ์พงศ์  นายกมหิดล,  ธงชัย  วินิจจะกุล  รองนายกอมธ.,  อเนก  เหล่าธรรมทัศน์  นายกส.จ.ม ร่วมกันแถลงในนามองค์การนศ.5สถาบัน ว่า     :เป็นแผนทางการเมืองอย่างแน่นอนเพื่อต้องการปลุกผีคอมฯ   อันจะเป็นประโยชน์ในการเลือกตั้งของบางกลุ่ม   และเพื่อทำลายภาพพจน์ขบวนนศ.ที่ออกไปช่วยชาวนาชาวไร่และกรรมกร  ขอถามพี่น้องประชาชนว่า ผิดหรือที่นักศึกษาออกไปช่วยเหลือกรรมกรชาวนาและคนยากจน