วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558


ชมคลิป ประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่­” วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ ตอนที่ ๑
ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เสนอแนวคิดเรื่อง การแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรมอย่างไร ?
ส่วน นางสาวฉันทนา เจริญศักดิ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงสาระสำคัญการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษอย่างไร ?
https://www.youtube.com/watch?v=MvLs9tEz9Dk



ชมคลิป ประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่” ตอนที่ ๒ 
ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอผลการศึกษา เรื่อง “การพัฒนากระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงานในระบบไต่สวน” มีข้อเสนอว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในศาลแรงงานปัจจุบันนั้นจะต้องปรับปรุงกระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงาน อย่างไร ? 
นายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เสนอประเด็นการแก้ไขกฎหมายคดีแรงงาน ต้องพิจารณาว่าเมื่อแก้ไขแล้วจะทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้หรือไม่ ? และสิ่งที่ศาลยุติธรรมเสนอตั้งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษนั้นจะตอบโจทย์กระบวนยุติธรรมทางด้านแรงงานได้อย่างไร ?
https://www.youtube.com/watch?v=OoNRVolYy_Q


ชมคลิป ประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่” ตอนที่ ๓
ศาสตราจารย์ ดร.ไพศิษฎ์ พิพัฒนกุล ประธานคณะกรรมการกฤษฎีการคณะที่ 9 มีความเห็นว่า ยกร่างกฎหมายจัดตั้งของศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ประเด็นทำอย่างให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรม รวมถึงความรู้ความเชี่ยวชาญด้านแรงงานของผู้พิพากษา อย่างไร ?
ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ กรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 9 และอดีตผู้พิพากษาอาวุโส ศาลแรงงานกลาง เสนอแนวคิดแบบศาลคู่ อย่างไร ?
https://www.youtube.com/watch?v=irMajIJtVZI

ชมคลิป ประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่” ตอนที่ ๔
ช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทางภาคเอกชนนั้น นายชัยปิติ ม่วงกูล กรรมการกฎหมายสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอว่า หากจะมีการปฏิรูปกระบวนการแรงงานนั้น ควรทำอย่างไร ?
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิ อารมณ์ พงศ์พงัน มีความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอนี้อย่างไร ? 
https://www.youtube.com/watch?v=mFc9gHd9Bsk

ชมคลิป ประชุมรับฟังความคิดเห็น เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่” ตอนที่ ๕
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและตอบข้อซักถาม
ศาสตราจารย์ เกษมสันต์ วิลาวรรณ กรรมการกฤษฎีกาคณะที่ ๙ 
นางสาวฉันทนา เจริญศักดิ์ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม
https://www.youtube.com/watch?v=Z_hRSJUoyxQ









ร่างประมวลกฎหมายแรงงาน และ ร่างพ.ร.บ.การบริหารแรงงาน โดย คปก

3 กุมภาพันธ์ 2558- คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิต่อการจัดทำ “ร่างประมวลกฎหมายแรงงาน และร่างพระราชบัญญัติการบริหารแรงงาน” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมอภิปราย อาทิ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 9 ศ.ดร.ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล ศ.เกษมสันต์ วิลาวรรณ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสศาลแรงงานกลาง ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน รวมทั้งสภาองค์การนายจ้างฯ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาองค์การลูกจ้างฯ ผู้แทนแรงงานทั้งในและนอกระบบ
           นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาด้านกฎหมายแรงงานที่ทำให้กำหนดแผนงานยุทธศาสตร์เรื่องการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงาน และ ร่างพ.ร.บ.บริหารแรงงาน เนื่องจากมีกฎหมายแรงงานหลายฉบับ นิยาม”ลูกจ้าง” “นายจ้าง”ไม่ตรงกัน และแคบ ทำให้ตีความไม่ตรงกัน อีกทั้งกฎหมายไม่ทันสถานการณ์การจ้างงานปัจจุบันที่ซับซ้อน ไม่มีแนวคิดดูแลแรงงานทั้งระบบ ทั้งการคุ้มครองดูแลสวัสดิการ และต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องให้มีกระบวนการมีส่วนร่วม และให้กฎหมายสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ รวมถึงระบบแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาแก้ไขความขัดแย้งและพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและสังคมร่วมกัน ระหว่างผู้จ้างงาน ผู้ทำงานและการบริหารภาครัฐไม่บูรณาการ ดังนั้น จึงได้จัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงานและร่างพระราชบัญญัติการบริหารแรงงานทั้งสองฉบับนี้ โดยคณะอนุกรรมการด้านแรงงาน คปก.ได้ศึกษาวิจัยและมีการรับฟังจากทุกภาคส่วนมาเป็นเวลานาน และในวันนี้เป็นการรับฟังร่างกฎหมายที่ร่างเป็นรายมาตราแล้วทั้งสองฉบับเป็นครั้งแรก โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ องค์การนายจ้างและองค์การลูกจ้าง สิ่งที่เห็นตรงกันชัดเจนในเชิงหลักการว่ากฎหมายนี้เป็นความจำเป็นต้องมีประมวลกฎหมายแรงงาน เป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ และมีทิศทางที่ถูกต้อง ทุกฝ่ายเห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนนิยามมาเป็นผู้จ้างงานกับคนทำงาน และมีการจัดวางบทบาทของรัฐและผู้ประกอบการ กับคนทำงานที่ชัดเจน ให้คุ้มครองดูแล ส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดูแลฐานสวัสดิการสังคม และการพัฒนาฝีมือแรงงาน

               ศาสตราจารย์ ดร.ไพศิษฎ์ พิพัฒนกุล ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 9 กล่าวว่า การยกร่างประมวลกฎหมายแรงงานของคปก.เป็นเจตนารมณ์ที่ดี และสนับสนุน อย่างไรก็ตาม เห็นว่าหากร่างกฎหมายมีรายละเอียดข้อกำหนดในเรื่องต่างๆมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย อันจะนำไปสู่การเกิดข้อพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาล จึงควรกำหนดบทบัญญัติต่างๆ โดยมุ่งให้นายจ้างและลูกจ้างทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับข้อเสนอการตั้ง ”คณะกรรมการบริหารภาครัฐด้านแรงงาน หรือ คณะกรรมการ บ.ร.ร.” เห็นว่าคณะกรรมการชุดนี้จะมีภารกิจหน้าที่ที่หนักมากและจะถูกฟ้องคดี จึงเสนอให้กำหนดเฉพาะเรื่องนโยบาย และให้มีคณะกรรมการหลายชุด ในการบังคับใช้ ส่วนองค์ประกอบของคณะกรรมการไม่เห็นด้วยที่กำหนดให้เป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เกรงจะเกิดปัญหาความต่อเนื่องของการทำงานได้
         
                 ศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ กรรมการกฤษฎีกาคณะที่ ๙ และอตีตผู้พิพากษาอาวุโส ศาลแรงงานกลาง  กล่าวว่า กฎหมายแรงงานที่บังคับใช้อยู่ในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่เป็นจำนวนมาก การที่คปก.มีความพยายามในการยกร่างกฎหมายแรงงานนั้นนับเป็นเจตนารมณ์ที่ดีและนับเป็นความอุตสาหะอย่างยิ่ง เห็นด้วยกับนิยาม”ผู้จ้างงาน” กับ”ผู้ทำงาน” เช่น ในปัจจุบันเรื่องการเลิกจ้าง มีนิยามอยู่ในกฎหมายถึง 6 ฉบับแต่นิยามวิธีการคุ้มครองลูกจ้างตามกฎหมายเหล่านั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก ส่งผลให้นายจ้างปฏิบัติไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ เรื่องการใช้สิทธิเรียกร้อง บางเรื่องลูกจ้างต้องไปยื่นต่อภาคส่วนที่ต่างกัน จึงควรจะมีองค์กรเดียวให้ลูกจ้างยื่นการใช้สิทธิเรียกร้องได้ นอกจากนี้ กฎหมายไม่มีการกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องของลูกจ้างไว้อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม กฎหมายแรงงานที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้นมีความซับซ้อนและขัดแย้งกันเองค่อนข้างมาก ประมวลกฎหมายแรงงานที่เกิดขึ้นควรมีลักษณะเป็นการแก้ไขกฎหมายและปรับปรุงปัญหาที่มีอยู่ โดยกล้าๆตัดกฎหมายเดิมที่มีปัญหา และควรเพิ่มเติมเรื่องใหม่ๆให้ทันสมัยไปเสียเลย ทั้งนี้เห็นว่ากฎหมายแรงงานที่ดีควรจะเกิดจากความเข้าใจและความรับรู้ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตบางประการว่า การร่างประมวลกฎหมายแรงงานที่ดีนั้นต้องคำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับการบังคับใช้กฎหมายฉบับก่อนๆ ด้วย รวมถึงบทบัญญัติต่างๆ จะต้องไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่นายจ้างมากเกินไป เพราะจะทำให้นายจ้างใช้วิธีหลีกเลี่ยงกฎหมายในรูปแบบอื่นๆ
นอกจากนี้ เห็นว่าควรมีการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาข้อพิพาทหรือคดี รวมถึงควรกำหนดอายุความการเรียกร้องฟ้องร้องสิทธิเรียกร้องหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของลูกจ้างให้มีอายุความ 2 ปี โดยเห็นว่าเป็นอายุความที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานเดิม อีกทั้งมีความใกล้เคียงกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศอีกด้วย
ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ควรมีการให้ความคุ้มครองลูกจ้างกรณีที่นายจ้างมักจะกำหนดในสัญญาจ้างว่า เมื่อสิ้นสุดการจ้างงานแล้วห้ามไม่ให้ลูกจ้างไปทำงานในที่ทำงานอันมีลักษณะเป็นการแข่งขันกับงานของนายจ้าง ซึ่งไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ลูกจ้างเสียเปรียบ จึงเห็นว่าจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานในการบังคับใช้สัญญาเช่น 1. เงื่อนไขเฉพาะกรณีที่ลูกจ้างได้รับประโยชน์เป็นพิเศษ หรือรู้ความลับทางการค้าของนายจ้าง 2. เงื่อนไขด้านระยะทาง ถ้าลูกจ้างทำงานคนละพื้นที่กับนายจ้างเดิมไม่ควรนำข้อสัญญาลักษณะดังกล่าวมาบังคับใช้ 3. ควรกำหนดไว้ให้เป็นระยะเวลาที่แน่นอน
                         ด้านดร.เอกพร รักความสุข อดีตประธานยกร่างประมวลกฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ในการยกร่างประมวลกฎหมายแรงงานในปี พ.ศ.2548 กล่าวว่า ปรัชญาในการยกร่างประมวลกฎหมายแรงงานในครั้งนั้น เน้นปรับกระบวนทัศน์ สร้างทัศนคติระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นลักษณะหุ้นส่วนกัน แต่เมื่อมาถึงคปก.ถือเป็นยุคที่เปลี่ยนกระบวนทัศน์และความเข้าใจไปในทิศทางที่ดีขึ้น นับตั้งแต่คำนิยาม ซึ่งเปลี่ยนนิยามจาก “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” เป็น “ผู้จ้างงาน” และ “คนทำงาน” เพื่อให้เกิดทัศนคติการเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างคนทำงานอย่างแท้จริง นอกจากนี้ มีการแยกส่วนการบริหารแรงงานไว้รวมกัน เป็นร่างพรบ.การบริหารแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องทางกฎหมายมหาชน และจะเป็นการช่วยลดภาระของศาลแรงงานและลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้เป็นอย่างมาก โดยกำหนดให้คณะกรรมการบริหารภาครัฐด้านแรงงาน หรือ คณะกรรมการ บ.ร.ร. เป็นผู้ดำเนินการ
                 นายวาทิน หนูเกื้อ กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกำหนดบทลงโทษทางอาญาจะกระทบกับนายจ้างหรือผู้ประกอบการเป็นต่างชาติ ทำให้มีความผิดที่ไม่สามารถประกอบกิจการในประเทศได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง ดังนั้นควรมีมาตรการเสริมทางอาญาแทนการลงโทษทางอาญา และมีกฎหมายอาญาสามารถลงโทษกรณีทำผิดทางอาญาได้อยู่แล้ว
                  นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่ากฎหมายบริหารแรงงาน บูรณาการหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน กรมสรรพากร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม การเขียนบทบาทรัฐในร่างกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ได้เพียงใด หลักการต้องสร้างสำนึกทางเศรษฐกิจคือฐาน และการคุ้มครองคือหลังคา การคุ้มครองแรงงาน สวัสดิการสังคม ชีวอนามัย ยังมีการบังคับใช้กฎหมายน้อย ค่าตอบแทนการทำงานควรเป็นไปตามสัญญาจ้างงาน มาตรฐานค่าแรงขั้นต่ำมีไว้อ้างอิง ส่วนค่าชดเชยไม่ควรมากเกินไป จะเป็นปัญหากับลูกจ้างเอง ในกรณีเกิดภัยธรรมชาติ หลายประเทศมีการเสนอให้เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลกลางมากกว่านายจ้าง ไม่ควรให้เป็นภาระนายจ้างที่ได้รับความเสียหาย
                     ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้ร่วมกันอภิปรายแสดงความคิดเห็นต่อร่างประมวลกฎหมายแรงงานและร่างพรบ.การบริหารภาครัฐด้านแรงงานในรายละเอียด โดย นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวสรุปว่า กระบวนการจัดทำร่างประมวลกฎหมายแรงงานเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของคปก. ที่จะสร้างประมวลกฎหมายแรงงาน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ข้อพิพาทระหว่างผู้จ้างงานและคนทำงานสามารถยุติลงได้โดยเร็วและลดปริมาณคดีที่จะไปสู่ศาลได้เป็นอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญของคปก.ด้านกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานที่คปก.เสนอให้มีการแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม ทั้งนี้ คปก.จะรวบรวมข้อเสนอและปรับปรุงแก้ไขในรายละเอียดแต่ละมาตรา รวามทั้งรับฟังเพิ่มเติมอีก ก่อนนำเสนอ คปก.เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอส่งให้คณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาต่อไป