วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

คดีคอมมิวนิสต์ ๙ นักศึกษากรรมกรอ้อมน้อย...กระแสขวาพิฆาตซ้าย...กับแม่ปฏิวัติ



คดีคอมมิวนิสต์ ๙ นักศึกษากรรมกรอ้อมน้อย...กระแสขวาพิฆาตซ้าย...กับแม่ปฏิวัติ
เพิ่มคำบรรยายภาพ

























คดี ๙   คอมมิวนิสต์อ้อมน้อย  ตำรวจห้ามเยี่ยมห้ามประกัน โดยขังนักศึกษาและบัณฑิต 4 คน(ชาย ๒ หญิง ๒) ที่โรงพักนครปฐม    ส่วนกรรมกรชายอีก 5 คนขังที่โรงพักสมุทรสาครเราสี่คนถูกขังในห้องหนึ่งของโรงพัก    คนงานทำอาหารมากมายมาเลี้ยงพวกเราทุกวัน    เราก็แบ่งกับข้าวให้ผู้ต้องขังทั้งหมดซึ่งมีทั้งชายและหญิง    กลางคืนดึกๆฉันเห็นและได้ยินการข่มขู่และซ้อมผู้ต้องหาของตำรวจบนโรงพักอย่างเต็มตา    แต่สำหรับพวกเราทุกคนแล้ว    ค่อนข้างเตรียมใจมายาวนานตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา    เพราะนักต่อสู้ในประวัติศาสตร์การเมืองของไทยติดคุกทั้งนั้น...ไม่ตายก็ถือว่าบุญแล้ว...สื่อมวลชนให้ความสนใจลงข่าวพวกเราติดต่อกันหลายเดือน   ช่วงนั้นมีการคุกคามนักศึกษาและชาวบ้านที่คัดค้านเขื่อนห้วยหลวง   ที่หนองบัวบาน อุดรธานี     และไม่นานนักวันที่ 9 พ.ค.19   ก็มีการจับนักเรียนนักศึกษาและชาวนา  9 คนที่จ.เชียงใหม่ ข้อหามีอาวุธไว้ในครอบครอง   แต่ได้ประกันตัวเร็วกว่าคดีเรา   และมาเยี่ยมพวกเราที่โรงเรียนพลตำรวจบางเขนด้วย






   ฉันและเพื่อนๆซาบซึ้งน้ำใจผู้คนมากมายที่เราไม่เคยรู้จัก     แต่มาเยี่ยมเยียนพวกเราตลอดช่วงเวลาที่ยุ่งยากนั้น    เรายังได้พบกับ"แม่ของประชาชน "อีกหลายคน ที่มีน้ำใจโดยไม่เคยหวังสิ่งใดตอบแทน  แม่กานดา  แม่เตือนใจ  แม่เล็ก  แม่ขาว  แม่วรรณา .หิ้วปิ่นโต  หม้อข้าว  ผักน้ำพริก  มาฝากพวกเราที่ในคุกทุกอาทิตย์ ทั้งที่ต้องนั่งรถเมล์และเดินไกลจากถนนวิภาวดีรังสิตเข้าไปกว่าจะถึงที่คุมขังของรร.พลตำรวจบางเขน   แม่ๆสงสารและรักใคร่พวกเราไม่แพ้แม่ของเราแต่ละคนทีเดียว 




   แม่กานดาและแม่ๆ  เริ่มต้นจากส่งข้าวคดีพวกเรา  เมื่อถึงยุคเผด็จการที่มีการจับกุมอีกมากมาย   แม่ทั้งหลายไม่เคยเหนื่อยหน่าย   ยังมอบความรักและความเป็นห่วงยาวนาน    ตราบจนคดีคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายได้พ้นจากคุก...   แม่ฉันเองก็ไปคอยเยี่ยมเยียนคดีอ้อมน้อยและคดี 6 ตุลาด้วย   หลังจากฉันเข้าป่าไปแล้ว   ฉันเขียนจดหมายจากคุกลงนสพ.เสียงใหม่     ด้วยความซาบซึ้งใจเช่นนี้     เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแม่ประชาชน   และเพื่อบอกแม่ของฉันเองไม่ต้องห่วงกังวลกับฉันนัก  เพราะฉันเป็นลูกของประชาชน...ในวันกรรมกร 1 พ.ค.มีการจัดงานใหญ่ที่ธรรมศาสตร์   มีคนมาเยี่ยมพวกเราเยอะมาก    และ 17 พ.ค.19  มีการจัดอภิปรายเรื่อง  เสรีภาพของประชาชนกับการจับกุมและตั้งข้อหา ที่หอใหญ่ธรรมศาสตร์   โดยชมรมนิติศึกษา   ประชาชนก็มาเยี่ยมประมาณ 200 คน คดีคอมมิวนิสต์อ้อมน้อยเป็นคดีแรกที่ผ่านกรมอัยการให้ยื่นฟ้อง  แต่เดิมขึ้นศาลทหารทั้งหมดโดยผ่านพนักงานอัยการของศาลทหาร     วันที่ 26มิถุนายน 2519  พวกเราก็ถูกส่งไปคุกลาดยาว      ฉันกับเหน่งไปคุกลาดยาวหญิง   เราถูกห้ามอ่านหนังสือ  ห้ามพูดคุยกับผู้ต้องหาและนักโทษอื่นด้วย     ยังมีปัญหาการเยี่ยมที่ไม่สะดวก   เนื่องจากเรือนจำสองแห่งกำหนดเวลาเยี่ยมไม่เหมือนกัน   ผู้ต้องหาหญิงเยี่ยมวันพุธ 9-10 น.  ผู้ชายแยกไว้แดน 2 กับแดน 6 อีก   ซึ่งแดน2 ให้เยี่ยมพฤหัส แต่แดน 6  วันศุกร์. ทำให้บรรดาแม่ๆและผู้มาเยี่ยมลำบากกันมาก    

คุกลาดยาวหญิง : การถูกซ้อมในคุก
               เมื่อเราถูกส่งตัวไปวันแรก  ต้องไปที่แผนกกองกลางซึ่งอยู่ภายในคุก     คุกหญิงมีแต่เจ้าหน้าที่หญิงทั้งหมดจนถึงระดับผู้บัญชาการใหญ่ของเรือนจำ   ฉันกับเหน่งเดินเข้าไปอย่างแน่วแน่     ไม่วิตกกังวลอะไรทั้งสิ้นในฐานะเยาวชนนักสู้    เมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้เรานั่งลง   เรามองเห็นผู้ต้องขังทั้งเก่าและใหม่หลายคนนั่งลงกับพื้นขณะที่ผู้คุมนั่งอยู่บนเก้าอี้   ฉันแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้บอกว่าขอเก้าอี้นั่ง  เมื่อเจ้าหน้าที่มีท่าทีโมโหตวาดให้นั่งกับพื้น  ฉันก็ยืนพูดอย่างมั่นคงว่า  เราเป็นนักโทษการเมือง   ต้องปฏิบัติต่อเราอย่างมีศักดิ์ศรี   จะบังคับผู้ต้องขังคนอื่นก็ทำไป  แต่เราไม่นั่งกับพื้นเด็ดขาด
เจ้าหน้าที่คงคาดไม่ถึงว่า   ในคุกที่ไม่เคยมีใครกล้าเถียงเลยนี้   จะมีเยาวชนหญิงสองคนบังอาจเหลือเกิน   แต่เจ้าหน้าที่ก็หาเก้าอี้มาให้เรานั่งกรอกรายละเอียดและตอบคำถามต่างๆ
ฉันมาทราบทีหลังว่า   คนที่ฉันเถียงนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของเรือนจำทีเดียว     เรายังไม่คาดคิดว่าจะเกิดผลที่รุนแรงต่อมาอย่างไร...พอเปลี่ยนเป็นชุดเสื้อสีน้ำตาลผ้าถุงสีน้ำตาลเหมือนทุกคน   เราถูกพาไปแผนกตรวจภายในเพื่อค้นหายาเสพติด   ซึ่งจะทำต่อทุกคนที่เข้าใหม่  หรือกลับจากไปศาล    ฉันกับเหน่งยืนยันไม่ยอมให้ตรวจเช่นกันด้วยเหตุผลเดิมคือเราเป็นนักโทษการเมือง   ...เราจึงไม่ต้องตรวจภายในตลอดช่วงที่อยู่ในคุกลาดยาวครั้งแรกนี้...
ฉันกับเหน่งถูกขังที่เรือน 3 อยู่รวมกับผู้ต้องหาคอมฯหญิงอีกสองคน ชื่อป้าสุมล  คุรุทัศน์   และป้าถนอม  ปิ่นถาวร   ซึ่งถูกจับตัวมาพร้อมสามีและคณะตั้งแต่ปี 2515   ตอนนั้นคดีก็ยังไม่สิ้นสุด   ต้องขึ้นศาลทหารโดยไม่มีทนายความ เพราะเป็นระเบียบของศาลทหาร   แต่ไม่ว่าศาลจะตัดสินอย่างไร   ก็ต้องติดคุกฟรีมาแล้ว 4  ปี    เราดีใจมากที่มีเพื่อนอยู่ด้วย    ตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกันเราได้เรียนรู้จิตใจที่เข้มแข็งและสุขนิยมที่ไม่เคยท้อแท้  สงบนิ่ง  ใจเย็น  เชื่อมั่นในประชาชนและความถูกต้อง    เปี่ยมด้วยความรักทางชนชั้นต่อเราสองคนตลอดเวลาที่อยู่ด้วยกัน    เป็นความรักแห่งผู้คนในช่วงนั้นที่ต่อสู้ด้วยความใฝ่ฝันและอุดมการณ์เดียวกัน     โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักมาก่อนเลย     รวมทั้งได้ฝึกรำไท้เก๊กเป็นการออกกำลังเพื่อสุขภาพกับป้าทั้งสองคนด้วยเมื่อเราได้ประกันตัวออกไปและเข้าป่า       ป้าทั้งสองยังต้องต่อสู้คดีอีกยาวนานกว่าจะได้ปล่อยตัวออกมา    ฉันมีโอกาสพบป้าถนอมอีกครั้งในปี  2542  แต่ไม่เคยพบป้าสุมลอีกเลย ...เราถูกห้ามพูดกับใครๆทั้งสิ้น  และมีคำสั่งไม่ให้ผู้ต้องขังทั้งหมดพูดกับเรา  ห้องของเราอยู่ตรงกลางชั้นสองของเรือนนอน3  ข้างล่างเป็นโรงทอผ้า  มีคนอีสานอยู่มาก   ตรงข้ามซึ่งมีสนามหญ้าและถนนคั่นกลาง   เป็นเรือนนอนของแดนยาเสพติด    สมัยนั้นยังเป็นเรือนไม้เกือบทั้งหมด
แล้วเราก็เข้าสู่บรรยากาศของกระแสขวาพิฆาตซ้ายจากภายนอก ที่เริ่มขมึงเกลียวดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ    รวมทั้งผลจากความไม่ยอมอ่อนข้อให้กับผู้คุม-เจ้าแม่แห่งอำนาจในคุกหญิง-   ก็เริ่มสำแดงฤทธิ์ของมัน    ผู้ต้องขังแดนยาเสพติดร้องเพลงหนักแผ่นดินทุกวันอยู่ตรงข้ามแดนเรา      เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปยุ่งกับผู้คุมและผู้ต้องขังทั้งสิ้นถ้าไม่จำเป็นเช้าวันที่ 4 ก.ค.19   ผู้ต้องหาคนอีสานชื่อทองใสเดินเข้ามาคุยกับฉันถามไถ่เรื่องคดี    เธออยู่เรือนนอนเดียวกับเรานั่นเอง   ผู้ต้องขังแดนยาเสพติดเรียกกันว่าแก๊งม้าลายหรือขาใหญ่ที่ผู้คุมเอาไว้ใช้สอยช่วยควบคุมผู้ต้องขัง   กำลังจับกลุ่มอยู่พอดีประมาณ10 คน    พวกเธอกวักมือเรียกทองใสให้ไปหา   ทองใสกลัวมากแต่ก็ต้องเดินข้ามไปหา   ฉันวิ่งตามไปด้วยความเป็นห่วง  พวกเธอข่มขู่ว่าทองใสทำผิดที่มาคุยกับผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์   ฉันช่วยชี้แจงว่าทองใสไม่ได้ทำผิดอะไร... แค่นั้นก็โดนกำปั้นสองทีที่กกหูและหน้าอก...เหน่ง  ป้าสุมลและป้าถนอม  วิ่งตามมาถึงพอดี   ประกอบกับผู้ต้องขังส่งเสียงเอะอะกัน     ผู้คุมจึงวิ่งเข้ามา   ผู้คุมพาฉันและผู้ต้องขังกลุ่มนั้นไปที่กองกลาง  บอกว่าจะลงโทษให้    ฉันยืนต่อหน้าพวกเธอซึ่งท่าทีดุดันรูปร่างแข็งแรงนั่งอยู่บนศาลานั้นประมาณ 10  คน     ฮด์ปาร์คด้วยความรู้สึกเต็มเปี่ยมที่อยากจะอธิบายให้พวกเธอเข้าใจร่วมกันว่า...   เราต่างอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน   ไม่ควรแบ่งแยกและเข้าใจผิดต่อกัน    ดังนั้นฉันให้อภัยและขอไม่ให้ลงโทษใครทั้งสิ้น...      ก็ไม่ได้หวังอะไรนัก   แต่ก็คิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้พูดคุยกับพวกเธอบ้างวันรุ่งขึ้น  มีคำสั่งให้ฉันกับเหน่งในฐานะเข้าใหม่ไปรับฟังการอบรมของอนุศาสนาจารย์      ซึ่งเป็นผู้ชายคนเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาได้    ป้าทั้งสองเตือนให้เราระวังตัว  เพราะเราต้องเดินไปอีกเรือนหนึ่ง    ทันทีที่เข้าไปถึงเรือนที่จัดเป็นที่ฝึกอบรม   สัญชาตญาณเตือนฉันว่าต้องมีอะไรผิดปกติแน่นอน   โดยทั่วไปต้องมีผู้คุมอยู่ทุกเรือน  ปรากฏว่า  วันนั้นไม่เห็นผู้คุมเลยตั้งแต่เดินจากเรือนนอนจนถึงเข้าห้องอบรม   ฉันกระซิบกับเหน่งว่า   พออบรมเสร็จเราต้องรีบกลับเรือนนอนให้เร็วที่สุดมีผู้เข้าร่วมอบรมประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้น  พอเลิกเราก็รีบเดินออกมา   ทันใดนั้นกลุ่มที่ก่อเรื่องเมื่อวานดักรออยู่หน้าห้องแล้วนับสิบคน     ก็บุกเข้ามารุมทำร้ายเราสองคน ต่อหน้าอนุศาสนาจารย์นั่นเองอาจจะเป็นโชคดีของเรา   ดูท่าทีแล้วคงหวังให้เราสลบคาที่     แต่บังเอิญฉันสามารถเตะถีบป้องกันตัวและต่อสู้ไปได้บ้าง  ทำให้เวลาล้มลงไม่ถูกกระทืบอย่างเต็มที่  เหน่งที่ใส่แว่นสายตาสั้นตลอดเวลา  แว่นตาแตกและหลุดกระเด็นหายไป    ในเวลานั้นความรู้สึกฉันช่างเนิ่นนานเสียเหลือเกิน   กว่าที่จะมีผู้คนร้องเอะอะ  และที่สุดผู้คุมค่อยปรากฏตัวออกมาฉันลุกขึ้นมาได้ก็บอกผู้คุมทันทีทั้งที่เนื้อตัวมอมแมมว่า   ขอใช้สิทธิโทรศัพท์หาพี่ทองใบ  ทองเปาด์  ทนายคดีของเรา   ผู้คุมพาฉันไปที่โทรศัพท์อย่างไม่อิดเอื้อน    เมื่อกลับมาที่ห้อง  ป้าสองคนร้องไห้ด้วยความสงสารเราสองคน   ฉันหาเศษไม้ท่อนเล็กๆได้อันหนึ่ง   บอกเหน่งว่า   กลางวันที่ป้าสองคนไปศาลต้องระวังที่พวกนั้นจะบุกเข้ามา   เพราะห้องขังจะไม่มีกลอนประตูให้ใส่ ต้องเปิดไว้ตลอดเวลา  เราเตรียมสู้เต็มที่เท่าที่จะพอทำได้  บาดแผลของเราปรากฏในวันต่อมาด้วยรอยฟกช้ำที่ขอบตา  ต้นแขน    และความเจ็บปวดที่ไม่เห็นบาดแผลชัดเจนบริเวณชายโครงและหน้าอก...ทนายทองใบ  ทองเปาด์  ทนายสุทธิพงษ์  เล้าเจริญ และสุชีลา ตันชัยนันท์  ในฐานะรองเลขา ศนท.   แถลงข่าวทันทีที่ได้เข้ามาเยี่ยมเรา    หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวใหญ่หน้า 1หลายฉบับในวันที่ 9กรกฎาคมที่น่าเศร้าแกมน่าขำไปด้วยคือ   ขณะที่มีข่าวว่าม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมชนายกรัฐมนตรี สั่งสอบเรื่องนี้ด่วนในวันรุ่งขึ้น   แต่ขณะเดียวกันมีข่าวพาดหัวว่า อธิบดีราชทัณฑ์ว่า   ธรรมดา  ตบตีกันประสาหญิง   โดยนายประดิษฐ์  พานิชการ  อธิบดีฯว่า  ได้รับรายงานแล้วว่า  คืนเกิดเหตุตามกฎเรือนจำต้องมีการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีและยืนทำความเคารพพระมหากษัตริย์  แต่ผู้ต้องหาทั้งสองกลับยืนเฉยๆ  ในขณะที่นักโทษทั้งหมด 840คนยืนทำความเคารพ...นักโทษคนอื่นต่อว่าและเกิดการโต้เถียงจนกระทั่งมีการทำร้ายกันขึ้น  ซึ่งผู้ต้องหาทั้งสองก็ไม่ติดใจเอาความ แต่ทนายทองใบเอาเรื่องมาเปิดเผย..เรื่องนี้ไม่เป็นเรื่องใหญ่ระดับนโยบาย  เป็นเพียงเรื่องเบ็ดเตล็ดระดับปกครองเท่านั้น ..บาดเจ็บเพียงเล็กน้อย  แต่เรื่องไปใหญ่  เพราะสองคนนี้แกเป็นคนมีชื่อเสียงหน่อย (ประชาธิปไตย 10ก.ค.)   


วันที่ 11 ก.ค.เพียงบ่ายสามโมงผู้คุมก็ให้ผู้ต้องขังขึ้นเรือนนอนใส่กุญแจทั้งหมด    ทั้งที่ปกติจะขึ้นห้องประมาณห้าโมงเย็น   ฉันมารู้ภายหลังว่า  วันนั้นมีนักศึกษาประชาชนนั่งรถสองแถวมาถึง16 คัน  ชูป้ายผ้าเป็นแถวยาวว่า  ก่อนจับบอกว่ามีหลักฐาน   หลังจับก็บอกว่ากำลังรวบรวมหลักฐาน   จงอย่าขังลืมผู้บริสุทธิ์’  จากนั้นจึงไปชุมนุมที่หน้าบ้านพัก มรว.เสนีย์  ปราโมช  และส่งตัวแทนยื่นข้อเรียกร้อง 1)ให้รัฐบาลวางมาตรการมิให้เกิดการซ้อมเช่นนี้อีก  2) ให้รัฐบาลดำเนินคดีด้วยความจริง   ถ้าไม่มีหลักฐานก็ขอให้ปล่อยตัวไป   (ประชาธิปไตยและประชาชาติธุรกิจ 12 ก.ค.19)  สุกัญญา พี่สาวฉัน เป็นนักข่าวนสพ.ประชาธิปไตย   ขณะที่กำลังยืนสังเกตการณ์หน้าบ้านนายกฯ     ระหว่างตัวแทนนักศึกษากรรมกร เข้าไปเจรจา    รู้สึกว่าถูกลักลอบบันทึกภาพจากนายพิทักษ์  คันธจันทร์ นสพ.ดาวสยาม   จึงเข้าไปถามว่าถ่ายภาพไปทำไม   ควรจะถ่ายภาพเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นข่าว  หลังจากนั้นสุกัญญาได้แยกตัวห่างออกมา 4 เมตรพร้อมทั้งผู้สื่อข่าวประชาชาติ  และศานต์สยาม  นายพิทักษ์ได้ตรงเข้ามาต่อยที่ใบหน้าด้านขวาของสุกัญญาสองครั้งติดต่อกัน  ต่อหน้าตำรวจประมาณ  20 นาย   ซึ่งรักษาการณ์อยู่หน้าบ้านนายกฯและช่างภาพนักข่าวจำนวนมาก
    วันนั้นแม่ของฉันมาที่หน้าคุกลาดยาวด้วย   ที่ชุมนุมให้แม่เล่าถึงฉัน   เมื่อมีเรื่องพี่สาวถูกต่อยหน้าเพิ่มมาเป็นข่าวอีก รายการข่าวยามเช้าของสมหญิงที่คอยวิพากษ์ขบวนนักศึกษาประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่องก็ด่าว่าแม่ฉันเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วยอีก    ที่เลี้ยงลูกสาวสองคนเป็นคอมมิวนิสต์...
พลังแห่งความรักความห่วงใยที่นักศึกษาประชาชน   รวมทั้งกรรมกรมีต่อเราสองคนในสถานการณ์ที่โดดเดี่ยวในคุก   แม้ภายนอกพวกเขาจะถูกกระแสคุกคามการต่อสู้ของขบวนอย่างหนักหน่วงตลอดเวลาด้วยเช่นกัน   ทำให้เราสองคนตื้นตันและซาบซึ้งใจอย่างมาก      ถ้าไม่มีกระแสการเคลื่อนไหวเหล่านี้     ฉันกับเหน่งคงไม่มีโอกาสได้ประกันตัว    เพราะถูกค้านการประกันตัวมาโดยตลอด   และถ้าไม่มีจิตใจที่เสียสละอย่างใหญ่หลวงของผู้หญิงที่เป็นนักธุรกิจหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง   เสียสละโฉนดที่ดินมูลค่าสี่แสนบาทมาประกันตัวเราสองคน    เราคงไม่มีปัญญาได้ประกันตัวเช่นกัน     ทั้งนี้ด้วยการประสานงานอย่างเข้มแข็งและอดทนของวิชัย  บำรุงฤทธิ์    ที่เราต้องขอบคุณวิชัยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่สาวคนนี้เป็นพิเศษ ช่วงเวลานั้นในคุกก็เปลี่ยนท่าทีต่อฉันกับเหน่ง   เราได้รับอนุญาตให้พูดคุยกับผู้ต้องขังชาวต่างประเทศ    ไปซื้ออาหารและไปห้องสมุดได้    ผู้คุมก็พูดกับเราแบบสุภาพขึ้นมาก
แล้วในที่สุด17 น.ของวันที่ 21 ก.ค. ศาลก็มีคำสั่งให้ประกันตัวเราสองคนในวงเงินคนละสองแสนบาท  แต่ต้องมารายงานตัวทุก 15 วัน   นักศึกษาประชาชนประมาณ 100 คนไปรอรับเราที่หน้าคุกลาดยาว  เราได้ปล่อยตัวออกมาเวลา 19.15 น.  แม่และพี่ชายฉันก็ไปรับด้วย  ขบวนที่ไปรับปรบมือให้กำลังใจเราสองคน   ฉันตื้นตันใจมาก(ประชาธิปไตย และประชาชาติธุรกิจ  ,๒๒ ก.ค.๑๙)พอถึงเวลายื่นประกันตัวคนอื่นๆ ก็เห็นได้ชัดว่า  ถ้าไม่มีกระแสประชาชนมาช่วยเมื่อเราถูกซ้อมในคุก  เราคงไม่ได้ประกันตัว   เพราะเมื่อรตท.สัญญา  กระจ่างศรี  ได้นำโฉนดที่ดินราคา  650,000 บาทมายื่นประกันกลุ่มแรกคือ   สุภาพ      พิสิษฐ์     วิมุตติ  ซึมรัมย์       แต่ศาลกลับไม่อนุมัติให้ประกัน  โดยนายพิชัย   รัชตะนันท์   อธิบดีศาลอาญา ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันเมื่อวันที่ 26 ก.ค.   โดยให้เหตุผลว่าผู้ต้องหานอกจากจะถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมฯแล้ว     ยังถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ      ควรรอฟังผลการสอบสวนต่อไปอีกระยะ    หากอัยการไม่ยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับจาก 25 เมย. ทางศาลจะพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือให้ประกันตัวต่อไป   (ประชาชาติธุรกิจ, 27-28 ก.ค.19)                                                การล้อมปราบ  6 ตุลา 19

ฉันไปช่วยพี่สาวซึ่งเป็นหัวหน้าข่าวกองบรรณาธิการนสพ. อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตฯ     ซึ่งกำลังถูกคุกคามเช่นกันแทบไม่มีใครรับพิมพ์ให้     ช่วงสุดท้ายทั้งไปพิมพ์และไปตั้งสำนักงานที่โรงพิมพ์มาตุคาม ของพี่กรองแก้ว  เจริญสุข หญิงเหล็กที่ต่อมาต้องเข้าไปอยู่ในคุกลาดยาว    เมื่อฉันมาเป็นแม่ลูกอ่อนคนคุกในปี 2530   พี่กรองแก้วก็เป็นอีกคนหนึ่งที่คอยช่วยดูแลฉันกับลูกอย่างมีน้ำใจอบอุ่น   ทั้งที่ไม่ได้คุ้นเคยกันมาก่อน   [1]
สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นเมื่อสามเณรถนอมกลับเข้ามาในประเทศ  ขบวนนักศึกษาประชาชนรู้ว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกปราบปราม    แต่ในจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย   ไม่อาจปล่อยให้ชนชั้นปกครองกระทำย่ำยีตามใจชอบ      ขบวนนักเรียนนักศึกษาประชาชนจึงชุมนุมคัดค้านครั้งใหญ่ที่ธรรมศาสตร์      และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดที่วิปโยคและโหดเหี้ยมที่สุดของประวัติศาสตร์ไทยฉันไปช่วยงานที่อธิปัตย์ และไปร่วมการชุมนุมทุกวัน  คืนวันที่ 5 ตุลา [11] พวกเราที่กองบก.ตั้งใจจะเข้าไปธรรมศาสตร์ตอนดึกหลังจัดทำต้นฉบับให้เรียบร้อย   ได้ยินข่าวสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก    แต่ประมาณเที่ยงคืน   น้องๆในธรรมศาสตร์ก็โทรศัพท์มาบอกพวกเราว่า...อย่าเข้ามาในธรรมศาสตร์   ตอนนี้มีทหารตำรวจล้อมไว้...    เมื่อย้อนไปถึงตอนนั้น  เรารู้สึกถึงน้ำใจและความเข้มแข็งของพวกเราทุกคนในธรรมศาสตร์   แทนที่พวกเขาจะห่วงตัวเอง    กลับห่วงมาถึงพวกเราภายนอก
พวกเราประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่า  ความเป็นห่วงของพวกน้องๆสอดคล้องกับความเป็นจริง   เพราะอธิปัตย์กำลังถูกจับตาจากฝ่ายขวาและเตรียมที่จะปราบปราม   ตกลงกันว่า  เราจะทำต้นฉบับวันต่อไปให้เสร็จสมบูรณ์     ขณะที่ให้ทำลายเอกสารที่เกี่ยวข้องกับใครต่อใครและอาจเป็นอันตรายถ้าระบอบเผด็จการปราบปรามประชาชนจริงๆ   ในช่วงเวลานั้น    ฉันตระหนักถึงความเข้มแข็งและรักใคร่กันของทุกคน
เนื่องจากฉันไม่ใช่กองบก.โดยตรง   ในสภาพที่ทุกคนกำลังยุ่งยากเช่นนั้น    ฉันจึงอาสาเป็นหน่วยยามปฏิบัติการพิเศษ   ก่อนหน้านั้นไม่นานมิตรสหายที่หวังดีได้จัดหาปืนเล็กๆสองกระบอกไว้ป้องกันตัว    แม้ฉันจะไม่เคยใช้มาก่อน  ฉันก็รับเป็นหนึ่งในสองคนของด่านหน้าที่ถือปืนไว้    ทุกคนเห็นด้วยกันว่า    ถ้าตำรวจบุกเข้ามาจับเราจะยอมให้จับโดยดี   แต่ถ้าเป็นพวกกระทิงแดงหรืออันธพาลกลุ่มใดก็ตาม    เราจะสู้ตาย    เพราะรู้ดีถึงความโหดเหี้ยมของพวกนี้... [2]
ประมาณตีห้าพวกเราเสร็จภารกิจที่จำเป็น  ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่นี่    แต่เรารู้ชัดแล้วว่ามีการล้อมปราบครั้งใหญ่ในธรรมศาสตร์แน่นอน   เราตกลงแยกย้ายกันหลบภัยก่อน ฉันและพี่สาวตกลงใจที่จะต้องเข้าไปเขตป่าเขา  ฉันพอรู้เลาๆว่าควรจะไปที่ไหน   เพราะหลังออกจากคุกมีการประเมินสถานการณ์ว่า    ชนชั้นปกครองน่าจะปราบปรามครั้งใหญ่อย่างแน่นอน   มีบางคนแนะนำให้รู้จักจุดที่พอพึ่งพิงได้ในยามคับขันที่จ.อุดรธานี  แม้ฉันจะไม่เคยไป   แต่เราก็ต้องลองเสี่ยงดู  
เหน่งและพี่สาว  รวมทั้งรุ่นน้องอีกคนในกองบก.อธิปัตย์   ขอไปกับฉันและพี่สาวด้วย   เราไม่มีเวลาคิดอะไรมาก   นัดแนะกันแล้วต่างรีบกลับไปเก็บของที่จำเป็นที่บ้าน     ฉันและพี่สาวอยากไปดูเหตุการณ์ด้วยตัวเอง   เราตัดสินใจนั่งแท็กซี่ไปที่สนามหลวง   ขณะนั้นกำลังมีการเผาอย่างโหดเหี้ยมแล้ว...  บรรยากาศที่เห็นแม้จะไม่ได้เข้าไปถึง ที่เกิดเหตุอย่างใกล้ชิด     ก็ทำให้เราเศร้าสลดเหลือเกิน    ฉันอยู่ระหว่างประกันตัวอยู่ด้วย    ถ้าช้าไปคงถูกถอนประกันแน่นอน    ถ้ากลับเข้าคุก    ในยุคที่มืดสนิทอย่างนี้ คงเป็นเรื่องที่ไม่มีหนทางต่อสู้จริงๆ...ฉันนึกถึงพี่สาวที่แสนดีต่อเรา   แม้เราจะไม่เคยรู้จักมาก่อนก็ตัดสินใจเสี่ยงภัยและเงินทุนมาประกันให้เราสองคนถึงสี่แสนบาท   ตอนเราได้ประกันตัวออกมา เราได้ไปขอบคุณพี่สาวที่ทำงานของเธอ   ประทับใจในความคิดของเธอ   เธอต้อนรับเราอย่างอบอุ่น   ฉันรู้สึกปลาบแปลบในใจไม่น้อย   เมื่อคิดว่า  อะไรจะเกิดขึ้นกับเธอเมื่อเราสองคนหนีภัยไป...  เธอจะมีอันตรายไหม?   ศาลคงยึดเงินทั้งหมดของเธอไป?   ฉันเศร้าใจมาก  แต่เมื่อนึกถึงความโหดเหี้ยมที่กำลังเกิดขึ้นต่อเบื้องหน้า     และสถานการณ์ที่ไม่มีทางสู้ของฉันเอง   ฉันตัดสินใจว่า    ขอรักษาชีวิตตนเองไว้ก่อน     เพื่อไปต่อสู้ต่อไป   สักวันหนึ่งถ้าฉันไม่ตาย   คงได้กลับมาทดแทนบุญคุณของเธอบ้าง...พอไปถึงบ้านเราบอกแม่กับพี่ชายว่าจำเป็นต้องไปป่า  แม่คัดค้าน  บอกว่าแม่จะอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟังเองถ้าเขาจะมาจับลูก  จะบอกว่าลูกสาวของแม่เป็นคนดี   เราเข้าใจความรู้สึกของแม่และพี่ชายดี   เขาเสียสละเพื่อเราสองคนมายาวนาน   บัดนี้ เรายังจะทิ้งเขาไปอีกและเสี่ยงภัยโดยไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองได้เลย   หลังจากถกเถียงกันพักใหญ่   เราตัดสินใจหักหาญน้ำใจของแม่และพี่ชาย   เร่งรีบออกจากบ้านไปตอนสายของวันที่ 6 ตุลา    มุ่งหน้าไปบ้านเพื่อนของสุกัญญา  อีกไม่กี่ชั่วโมงก็มีทหารมาที่บ้าน เมื่อไม่พบเราสองคนก็จับพี่ชายข้อหาภัยสังคม  ทำร้ายน้องผู้หญิงที่มาช่วยขายหนังสือ  และขนหนังสือทั้งหมดในร้านขายหนังสือของครอบครัวเรา  รวมทั้งหนังสือส่วนตัวของเราสองคนจำนวนมากไปเผาที่สนามหลวง  พี่ชายต้องมาแบกภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นอีกนานทีเดียว
เราห้าคนนัดกันที่นั่น  หลบฟังข่าวอยู่สองสามวัน   ในวันที่ 9 ตุลาคม เราก็เป็นหน่วยแรกที่เข้าป่าเขตงานภูซาง  จ.อุดรธานี(จ.หนองบัวลำภูในปัจจุบัน) เป็นผู้หญิงล้วนทั้งห้าคน     ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนจากจุฬาฯคนนี้    ช่วยหาเสื้อผ้าแบบสาวๆนักท่องเที่ยว   เครื่องสำอางแต่งหน้าให้ดูแปลกตา  และจัดหาเงินติดกระเป๋า   รวมทั้งผ้าถุง  ของใช้ที่จำเป็นให้พวกเรา   พาเราไปส่งขึ้นรถทัวร์ไปอุดรธานี    ถ้าไม่ได้เพื่อนชมรมอนุรักษ์จุฬาฯคนนี้    เราคงจะขลุกขลักกว่านี้อีกมากเราจากลาครอบครัว    ทอดทิ้งเพื่อนๆในคดีอ้อมน้อยให้เผชิญชะตากรรมต่อไป        อย่างโดดเดี่ยว     ความเป็นห่วงเพื่อนพ้องน้องพี่ท่วมท้นใจพวกเรา    แต่ขอได้โปรดรับรู้ว่า          เป็นการตัดสินใจไปที่ไม่รู้ว่าจะเผชิญกับชะตากรรมอย่างไรเช่นกัน ...

 ขอแต่เพียงมีโอกาสเลือกที่จะมีชีวิตและอิสรภาพ  เผื่อจะสามารถจับปืนขึ้นสู้    แก้แค้นแทนทุกคน  และมีโอกาสสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่านี้... ถ้ายังมีชีวิตรอดอยู่


ก้าวต่อไปด้วยความศรัทธา

เพลง แสงดาวแห่งศรัทธา  ของ จิตร ภูมิศักดิ์     ช่วยจรรโลงใจเราก้าวต่อไปบนเส้นทางที่ดูมืดสนิทในวันนั้น  ....
                        พร่างพรายแสงดวงดาวน้อยสกาว           ส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล
                        ดั่งโคมทองส่องเรืองรุ่งในหทัย                เหมือนธงชัยส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
                        พายุฟ้าครืนข่มคุกคาม                          เดือนลับยามแผ่นดินมืดมน
                        ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน              ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย....  
 
6 ตุลา 19 : เผด็จการไม่อาจลบเลือนจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ของผู้หญิง

ขบวนนักศึกษาประชาชนต้องต่อสู้กับกระแสความพยายามฟื้นชีพของเผด็จการ[3]         และเผชิญความโหดร้ายที่สุดแห่งประวัติศาสตร์การต่อสู้ร่วมกันทุกคน   จากการล้อมปราบ 6 ตุลา...   ไม่มีคำว่าหญิงหรือชาย..    สมาชิกกลุ่มผู้หญิงทุกรุ่นต่างได้รับผลแห่งเผด็จการนี้

    สมาชิกกลุ่มผู้หญิงจำนวนหนึ่งถูกจับในธรรมศาสตร์   ไม่น้อยที่ต้องแปรบทบาทไปเป็นทหารหญิงแดงเหมือนฉัน [4]   แต่ที่เจ็บปวดใกล้ตัวกลุ่มผู้หญิงที่สุด  คือการเสียสละชีวิตของภรณี   จุลละครินทร์  (รุ่น 17) ในวันนั้น     ซึ่งมีผลให้ผู้หญิงหลายคน  โดยเฉพาะ วิมล  หวังกิตติพร    รุ่นพี่ที่พาภรณีไปสอนหนังสือกรรมกรอ้อมน้อยเป็นเวลาถึงปีกว่าด้วยกัน    สะเทือนใจจนต้องตัดสินใจเข้าป่าแม้ว่าจะไม่ แดงก็ตาม
แม่เซียมเกียง   จุลละครินทร์   เล่าว่า  ...           
ญาติพี่น้องไม่ยอมให้แม่ดูศพ  กลัวจะเป็นอะไรไปอีกคน ...ตอนหลังมีเพื่อนของภรณีเล่าให้ฟังว่าเขาพยายามเข้าไปห้าม...เขาเห็นตอนยิงเลย   พอภรณีล้มลง     คนยิงก็เอาด้ามปืนตีเสียแขนหักขาหักเลย   ทำไมต้องทำรุนแรงขนาดนี้   เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆคนหนึ่งเท่านั้นเอง  แม่ถูกกล่าวหาว่าเลี้ยงลูกให้เป็นคอมมิวนิสต์   เราก็บอกว่าเป็นคอมฯได้อย่างไรกลับมาก็ช่วยทำงานบ้านทุกอย่าง    บางคนก็ว่าเป็นเวียดนาม    ตามที่นสพ.ในช่วงนั้นกล่าวหา  จะเป็นเวียดนามได้อย่างไร  ก็เขาเป็นคนบ้านบึง  เป็นลูกของเรา   
หลังงานศพสองสามวัน  มีตำรวจมาค้นบ้าน  เขาบอกว่าบ้านนี้เป็นคอมมิวนิสต์...   ลูกเราเป็นคนเรียบร้อย น่ารัก  ทำไมต้องตีเขาถึงขนาดนี้   แม่ร้องไห้มาตลอด  20 ปี  ไม่มีใครมารับผิดชอบ  เรียกว่าสูญไปเปล่าๆเลยลูกสาวคนหนึ่ง  แม่ไม่รู้จะไปคุยหรือเรียกร้องกับใคร
ไม่มีใครมาถามเลย  ไม่มี...”(ชลธิรา สัตยาวัฒนา, 2544  :114-115)

สมาชิกทุกรุ่นโดยเฉพาะปี 18 และ 19  ที่ยังคงอยู่ในเมือง  ก็แสดงศักยภาพของเธอตามเงื่อนไขที่อำนวย   ร่วมมือกับนักต่อสู้หญิงทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องที่ยังสามารถอยู่ต่อไปได้   ด้วยจิตวิญญาณของผู้รักเสรีภาพและความเสมอภาค  เช่น   การก่อตั้งชุมนุมผู้หญิงบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม     กรรมการนักศึกษาของคณะ   รวมทั้งการประสานงานและช่วยดูแลครอบครัวของเพื่อนๆพี่ๆที่เข้าไปสู้รบในเขตป่าเขา[5]    หลัง 6 ตุลา กลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์และกลุ่มผู้หญิงทุกสถาบันอาจจะไม่มีอีกต่อไป       แต่จิตวิญญาณที่ถูกหล่อหลอมร่วมกันมาไม่ได้สูญสลายไปอย่างแน่นอน  ...  การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคหญิงชายหรือ อุดมการณ์เฟมินิสต์    ซึ่งได้พัฒนาเติบโตขึ้นอย่างมาก  ในเงื่อนไขแห่งการมีระบอบประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา ก็ปิดฉากการต่อสู้แบบขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างเปิดเผย   ที่เชื่อมโยงทั้งเฟมินิสต์   ประชาธิปไตย  และการต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น   ในช่วงหลัง 6  ตุลา
ต่เป็นเพียงการชะงักงันลงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น    จิตวิญญาณที่หล่อหลอมทุกคนไม่ได้สูญสลายลงไปด้วย    แต่กลับยิ่งย้ำเตือนสัจจธรรมที่ว่า   ที่ใดมีการกดขี่   ที่นั่นมีการต่อสู้...สำหรับฉันเอง   ประสบการณ์ตั้งแต่วัยเด็กผ่านชีวิตและการตัดสินใจของแม่   ทำให้ฉันซาบซึ้งและมุ่งมั่นกับการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของหญิงชาย ซึ่งมีหลากหลายมิติ   ตั้งแต่ทัศนคติแห่งการเลี้ยงดูลูกสาว   ที่มิได้ให้โอกาสและสนับสนุนการเรียนหนังสือ  การแต่งงานแบบคลุมถุงชน   ความรุนแรงในครอบครัว    โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงต้องยอมจำนน  ทั้งจากทัศนคติที่ปลูกฝังมา      และการที่ระบบสังคมมิได้ให้โอกาส   ในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจ    กฎหมายหย่า  กฎหมายนามสกุล    กระทั่งไม่มีนโยบายที่เข้าใจมิติหญิงชาย     โดยเฉพาะต่อผู้หญิงคนเล็กๆที่อยู่ตามซอกหลืบของสังคมอย่างโดดเดี่ยว    อุดมการณ์แห่งเฟมินิสต์ในความหมายที่ฉันเรียนรู้   เมื่อผ่านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย     คัดค้านเผด็จการ  จึงยิ่งลึกซึ้งและพัฒนาหนักแน่นขึ้น  ตระหนักเพิ่มขึ้นทีละน้อยๆ ว่าพลังแห่งผู้หญิงและพลังแห่งสังคมที่จะเปลี่ยนแปลงการกดขี่เหล่านี้ได้    ก็ต่อเมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น  
และฉันยิ่งเข้าใจเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างการกดขี่ทางเพศกับการกดขี่ทางชนชั้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงกรรมกร  ชาวนาและคนยากคนจน    ดังนั้น  สำนึกร่วมแห่งปัญหาผู้หญิง   จึงพัฒนาจิตสำนึกที่จะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ  การเมือง   เพื่อแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น  และยังลึกซึ้งไปถึงความผูกพันร่วมกันกับผู้หญิงทั่วโลก  รวมถึงคัดค้านการเหยียดผิว   ที่ละเมิดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งนั้นด้วย








[1] ดู  แก้วภานีย์,  ออกจากคุกมาเขียน (กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์เลมอนที พิมพ์ครั้งที่2, 2545 )   [2] มีหนังสือที่พูดถึง 6 ตุลาจำนวนมาก  ในที่นี้คือคำบอกเล่าของอ.อมรสิริ  สัณห์สุรัติกุล   อาจารย์ธรรมศาสตร์.ก.พ.ปี 18 ( ปัจจุบันเรียน.ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส มธ.) :                -วันที่ 6 ตุลา  ดิฉันคิดว่ากระทิงแดงนะคะ ก็คือพวกวัยรุ่นเข้ามากระชากตัวแล้วก็ตบตีดิฉัน  บอกว่าดิฉันเป็นนักศึกษา แต่นักศึกษาแพทย์รีบเข้ามาบอกว่าไม่ใช่    เป็นนักศึกษาพยาบาลมาด้วยกันกับเขา  มาช่วยรักษาคนเจ็บ    แต่ว่ามีผู้ชายคนนึงเข้ามาดึงผม   แล้วบอกว่าไม่ใช่    ใส่แว่นอย่างนี้หน้าตาอย่างนี้ต้องเป็นนักศึกษา   ดิฉันทำอะไรไม่ได้เลย   ร้องไห้อย่างเดียว...                นศ.แพทย์เห็นดิฉันสภาพไม่ดี   เขาก็เลยบอกว่าคุณอย่าอยู่ที่นี่เลยดีกว่า  คุณขึ้นไปกับคนเจ็บบนรถพยาบาลจะดีกว่า...บนรถก็จะเป็นคนที่มีอาการเจ็บหนักทั้งนั้น   ...มีผู้หญิงคนหนึ่งก็มีอาการเยอะมากที่ไหล่...มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย..                  คิดว่าเหตุการณ์ ๖ ตุลาก็ให้สิ่งนี้กับดิฉันด้วย ว่าความเป็นมนุษย์คืออะไร   ดิฉันว่ามันมีค่ากับดิฉันมาก และคิดว่าดิฉันผูกพันกับธรรรมศาสตร์ก็เพราะเหตุนี้ด้วย  ไปไหนไม่รอด เพราะคิดว่ามันเป็นโรงเรียนที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับชีวิตของดิฉัน...คิดว่ามีชีวิตอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ได้ ก็เพราะจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์   คือพอใจในสิ่งที่ตัวเองทำ    แล้วก็มีความสุขในชีวิตโดยที่ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรมากมาย (ต่อมาไปทำป.เอกที่ฝรั่งเศส 4ปี  กลับมาปี 43)   (ชลธิรา,2545 :65-73)                  [3] เวลาไปชนบท   นักเรียนนักศึกษาจะถูกก่อกวนต่อต้านมากจากกระแสขวาพิฆาตซ้ายที่เริ่มจากปี 18    ในการไปออกค่ายของกลุ่มผู้หญิงต้นปี19 ก็ถูกทหารมาล้อม  บอกไม่ให้พวกเราเข้ามาอีกและให้ออกไปเลย  ปกติเราไปกันครั้งละสิบกว่าวัน   เป็นค่ายฝึกฝนตัวเอง  ไปเรียนรู้จากชาวบ้านฝึกความอดทน   ค่ายนั้นเข้าไปลึกมาก   มีผู้ชายและนักศึกษาต่างชาติหนึ่งคนร่วมด้วย
     [4]ที่บาดเจ็บคือสายพิรุณ  บุญสมภพ  ที่ถูกจับวันนั้นจะมีหลายคน  เช่น กาญจลักษณ์  ไพรินทร์  นันทนา  ติ๋ว(16) ส่วนที่เข้าป่าก็มีไม่น้อย เช่น ส.กุหลาบ  ส.ฝน  ส.ทาง(เลขากลุ่มฯ ปี 15)   ส.มด(รุ่น 17)   อรไท  ที่ไปทำละครตะวันเพลิง  ที่สุราษฎร์    ไพรินทร์  ไปเข้าทางจ.ตาก   [5] กาญจลักษณ์ เล่าถึงบรรยากาศที่ส่งพี่ๆเข้าป่า  เช่น ไพรินทร์ พลายแก้ว  และวิมล  หวังกิตติพร และการประสานงานกับนงลักษณ์ในการทำงานต่อมา   ส่วนนงลักษณ์  เทวะศิลชัยกุล สามีไปอยู่ที่สกลนครบ้านเกิด  ถูกจับ  ต่อมาถูกยิงเสียชีวิตที่ยังจับใครไม่ได้   เธอต้องเลี้ยงลูกสองคนตามลำพัง





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น