วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2559

ข้อเสนอเบื้องต้นของขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) :ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ข้อเสนอเบื้องต้นของขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) :
                  “ สิทธิเสรีภาพของบุคคล ชุมชน  ความเสมอภาคในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์       และการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ            และการมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชนทุกเพศในทุกมิติทุกระดับ                                          ต้องเป็นหลักพื้นฐานสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ”

                                                            ..................................................


                        ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove) สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.ไทย) โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จัดเวที“เสียงประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมาจาก ทุกภาคทั่วประเทศในวันเสาร์ที่ ๓๐ และวันอาทิตย์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๙ ที่รัฐสภา สนับสนุนโดย UN Women และ องค์กรอื่นๆ      ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งหวังให้สังคมไทยมีการเปลี่ยนผ่านช่วงแห่งความขัดแย้งและสถานการณ์การเมือง ที่ชะงักงัน  เพื่อก้าวต่อไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและการปฏิรูปประเทศที่มีประชาชนทุกเพศทุกวัยเป็นศูนย์กลาง  โดยมีรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดเป็นที่ยอมรับของประชาชน          
                        ในสถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้  รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการกลับ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย  ประชาชนมีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนว่า  ต้องการรัฐธรรมนูญที่พัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ควรต้อง ให้ดีกว่ารัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค   และการมีส่วน ร่วมของประชาชน  ดังนั้น  ก่อนจะมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่นำมาสู่การจัดทำประชามติ  ประชาชนทุกเพศทุก กลุ่มจึงมีการนำเสนอหลักการแนวคิดต่างๆ และเรียกร้องให้มีการรับฟังความเห็นอย่างจริงจังในช่วงการแก้ไขปรับปรุง ร่างรัฐธรรมนูญ  โดยที่กระบวนการรับฟังที่มีการถกเถียงในสาระสำคัญอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องในประเด็นต่างๆ ของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นน้อยมาก  ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) และองค์กรร่วมจัด จึงเร่งรัดจัดเวทีเพื่อ ศึกษา วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอย่างเร่งด่วน


            ชบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove)   สมาคมติดตามการพัฒนาสตรีในประเทศไทย (ตพส.ไทย) โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มีข้อเสนอเบื้องต้นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
            ๑) ในบททั่วไปซึ่งเป็นเจตนารมณ์ชี้นำต่อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ  ขาดมาตราหัวใจสำคัญ คือ มาตรา ๔ ใน รัฐธรรมนูญปี ​๒๕๔๐ และ๒๕๕๐ : ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับ ความคุ้มครอง”     ซึ่งประชาชนและสถาบันต่างๆในสังคมไทยได้มีกระบวนการเรียนรู้ความหมายของการเคารพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  จนมีพัฒนาการที่หยั่งรากลึกเป็นจิตวิญญาณ  เป็นวัฒนธรรม  และได้ดูแลบุคคลทุกกลุ่ม ที่อยู่ในประเทศไทยโดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทย  ดังนั้นจึงมีความหมายและความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องนำ มาตรา ๔ เดิมนี้คืนมา
            ๒) การบัญญัติถึงความผูกพันต่อกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐  และ ๒๕๕๐ รวมถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราวแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ​๒๕๕๗ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๔            ๓) ต้องมีหลักประกันในการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน  โดยเฉพาะในมาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖  ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังมีความไม่ชัดเจนในหลักทั่วไปนี้

            ๔) ต้องมีหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคและการมีส่วนร่วมของประชาชน 
             
                        ๔.๑) ข้อขัดแย้งที่สำคัญคือ  ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้นำบทบัญญัติที่รับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพของ บุคคล และ ชุมชน   เปลี่ยนเป็นการมาบัญญัติไว้ในหมวด ๕ “หน้าที่ของรัฐ”  ซึ่งเป็นฐานคิดที่ขัดแย้งกับความมุ่งหวัง ของประชาชนที่ต้องการให้บัญญัติเป็นสิทธิเสรีภาพ เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่กฎหมายและการ กระทำใดๆจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้  อันจะก่อให้เกิดผลผูกพันต่อองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐ  ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภา องค์กรตุลาการ  รวมถึงองค์กรอิสระ  และเป็นหลักประกัน ให้ประชาชนสามารถอ้างสิทธิต่างๆนี้ในการ ผลักดันให้เกิดการปฏิบัติตามสิทธิ ทั้งนี้ การตระหนักและปกป้องสิทธิของประชาชนเป็นหลักประกันพื้นฐานของการ ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในทุกมิติและทุกระดับ  รวมถึงการมีจิตสำนึกที่เคารพและไม่ ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย
                        ดังนั้น  จึงควรที่จะนำบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพที่มีอยู่กว้างขวางในรัฐธรรมนูญ​๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐  มาอยู่ในหมวดสิทธิเสรีภาพเช่นเดิม และปรับปรุงเนื้อหาบางประการให้ดีกว่าเดิมตามที่มีการเสนอมา อย่างต่อเนื่อง โดยอาจบัญญัติควบคู่เป็นหน้าที่ของรัฐหรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐด้วย       
                        ๔.๒) ประเด็นที่ห่วงใยซึ่งเป็นหลักการที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญปี ​๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ เช่น                               ๔.๒.๑)ความเสมอภาคและการไม่ถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ในมาตรา ๒๗  ซึ่งตัดทอนเหตุแห่ง ความแตกต่าง ๑๒ ประการในมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญ​ปี ๒๕๔๐และ ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นมาตราหลักที่สำคัญของ ความเสมอภาค   จึงควรที่จะบัญญัติตามเดิม คือ                                                                          บุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน                                                         หญิง และชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน             การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ  เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล  ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม  ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้                    มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”                                                                                                                        และควรเพิ่ม“การคุ้มครองสิทธิของบุคคลทุกเพศสภาพ”ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ผ่านการเห็นชอบ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วย
                        ๔.๒.๒) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม  ซึ่งประชาชนเรียกร้องต้องการสิทธิพื้นฐานหลักนี้อย่างยิ่ง  ตามที่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ได้บัญญัติไว้โดยละเอียด  เพราะประกันความยุติธรรมต่อคนทุกกลุ่มทั้งที่มีสัญชาติไทย และไม่มีสัญชาติไทย  และรัฐธรรมนูญ​๒๕๕๐ มาตรา ๔๐(๖)ได้รับรองสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวน พิจารณาคดีอย่างเหมาะสม และย่อมมีสิทธิได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม ในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงในครอบครัว  
                        ๔.๒.๓) สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในการ ปกป้องคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชน   โดยเฉพาะมาตรา  ๖๖ และ ๖๗ ที่เคยบัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ โดยบัญญัติให้ต้องมีองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ   ขณะที่ในร่างรัฐธรรมนูญนี้บัญญัติ  สิทธิชุมชนอย่างจำกัดมาก
                        ๔.๒.๔) สิทธิในหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและชุมชน  ซึ่งมีการเสนอทิศทางการปฏิรูปในภาพ รวมชัดเจนว่า  “ต้องลดอำนาจรัฐส่วนกลาง เพิ่มอำนาจประชาชนและท้องถิ่น”    แต่ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ชัดเจน และไม่มีหลักการสำคัญที่เคยปรากฏ          โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และการให้มีองค์กรปกครองท้องถิ่นเต็มพื้นที่ทั้งจังหวัด ตามความพร้อมและตาม เจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นนั้น
                        ๔.๒.๕) สิทธิในสวัสดิการสังคม  เช่น  การศึกษา สาธารณสุข  เด็ก เยาวชน  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการฯลฯ  ที่ถูกนำไปบัญญัติใน “หน้าที่ของรัฐ”  ทั้งที่ต้องตั้งฐานคิดก่อนว่าประชาชนกลุ่มต่างๆมีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆและ บางสิทธิจำเป็นต้องดูแลทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย  และต้องมีการบริหารจัดการการคลังเพื่อสังคม
                        ๔.๒.๖) สิทธิแรงงาน  ไม่มีบทบัญญัติทั้งสิทธิแรงงาน  สิทธิแรงงานข้ามชาติ  การคุ้มครองแรงงาน หญิง และเสรีภาพในการชุมนุม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่บัญญัติถึงการผูกพันและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ ประเทศไทยเป็นภาคี
                        ๔.๒.๗) สถาบันการเมืองและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ  มีข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่ง ปราบปรามและป้องกันการทุจริต  โดยเน้นที่นักการเมืองเป็นสำคัญ        ขณะที่ในสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย   การทุจริตมีความเชื่อมโยงและสลับซับซ้อน ทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และกลุ่มทุนขนาดใหญ่         ที่สำคัญคือการ ปราบปรามและป้องกันการทุจริตที่มีประสิทธิภาพที่สุด        คือการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มมีความเข้มแข็งและ มีบทบาทในการตรวจสอบการทุจริตทุกมิติทุกระดับ            
                        ๔.๒.๘) ความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นการจัดสรรปันส่วนอำนาจเพื่อความเสมอภาคต่อเจ้าของ อำนาจอธิปไตย ในฐานะที่ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายถึง ๒ ล้านคน   ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ได้ขับเคลื่อนและรณรงค์สัดส่วนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการตัดสินใจในทุกมิติทุกระดับ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ จัดสรรงบประมาณที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรและบริหารงานภาครัฐ อย่างเสมอภาคและ เป็นธรรมในสังคม ต้องคำนึงถึงหลักความเสมอภาคระหว่างเพศ( Gender Budgeting )อันเป็นหลักการสากลที่มีการ ดำเนินการในหลายประเทศ  เพื่อสร้างความสมดุลและเป็นการป้องกันปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน  
                        การกำหนดสัดส่วนหญิงชายที่เท่าเทียมกันในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับ ควรจะต้องนำมาบัญญัติ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความชัดเจน  ทั้งในการส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง  การกำหนดผู้บริหารใน องค์กรปกครองท้องถิ่น  การสรรหากรรมการองค์กรอิสระ  องค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรระดับต่างๆของรัฐ

            บทสรุป  ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (




































WeMove)   ขอเสนอหลักการสำคัญต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ใน เบื้องต้น โดยจะมีการจัดเวทีระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง  ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้   รวมทั้งเวทีระดับชาติ ครั้งที่ ๒ เพื่อให้เกิดความตระหนักร่วมกันของสังคมไทย  ถึงความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคระหว่างเพศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับ และการขจัดความ เหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม   เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ  และทิศทางการปฏิรูป ประเทศต่อไป

            ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove) จะเกาะติดการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ  และมีข้อเสนอ ต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง  จนถึงขั้นตอนการทำประชามติ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น