วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สืบทอดเจตนารมณ์เดือนตุลา ; ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม

สืบทอดเจตนารมณ์เดือนตุลา : ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมของสังคม
สุนี ไชยรส https://www.facebook.com/pages/ผ�... ๖ ตุลา ๒๕๕๘
ในวาระงานคารวะรำลึกวีรชน 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอคารวะและรำลึกถึงความกล้าหาญและอุดมการณ์ของวีรชนที่มุ่งมั่นเพื่อประชาธิปไตย ทั้งที่เสียสละชีวิตและพิการ
ผู้คนรำลึกถึงขบวน 14 ตุลา 16 ที่ต้องการคัดค้านเผด็จการซึ่งยึดอำนาจมายาวนาน เรียกร้องประชาธิปไตย ให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง จนได้พัฒนารากฐานของประชาธิปไตยครั้งสำคัญหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย
แท้จริงแล้วเจตนารมณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเยาวชนนักเรียนนักศึกษา ปัญญาชน และประชาชน ในสถานการณ์นั้น มิใช่เพียงเพื่อรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งเท่านั้น แต่มุ่งหวังเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม การสะสมการเรียนรู้ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา 16 ในยุคเผด็จการยาวนานที่ประชาชนไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ พบว่า กรรมกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ถูกกดขี่เอาเปรียบอย่างหนัก ค่าแรง 8-10 บาททำงานถึง 12 ชั่วโมง ในสภาพความเป็นอยู่ที่ไร้ซึ่งคุณภาพชีวิตและปราศจากสวัสดิการ ขณะที่ชาวนาไม่มีที่ดินทำกินจำนวนมากต้องเช่าที่นาในอัตราค่าเช่าที่สูง มีการเวนคืนสร้างเขื่อนที่ชาวบ้านถูกอพยพอย่างไร้อำนาจต่อรอง ฯลฯ มีการใช้อำนาจรัฐอย่างฉ้อฉลทุกมิติ กิจกรรมนักศึกษาหลายสถาบันจึงเข้มข้นขึ้นในการวิเคราะห์ปัญหาสังคมไทยช่วงนั้น
โครงสร้างของสังคมที่เป็นปัญหารากเหง้าคือคนรวยจำนวนไม่มากถือครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศ อำนาจรัฐร่วมมือกับทุน เน้นทิศทางการพัฒนาเพื่อการขยายตัวของทุน ทั้งต่างชาติและไทย บนฐานนโยบายแรงงานราคาถูก ไม่มีประชาธิปไตยทางการเมือง และการไม่มีสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ประชาชนมีสิทธิมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ
หลัง 14 ตุลา 16 มีรัฐธรรมนูญและรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง นักเรียนนักศึกษาเคลื่อนไหวรณรงค์ร่วมกับกรรมกรชาวนาทั่วประเทศ ด้วยคำขวัญ รับใช้ประชาชน และ สามประสาน กรรมกร ชาวนา นักศึกษา มีการเรียกร้อง ให้ปฏิรูปที่ดินเพื่อชาวนาชาวไร่ คัดค้านโครงการของรัฐที่ไม่เคารพสิทธิของชุมชน มีการรวมตัวเรียกร้องสิทธิสวัสดิการของกรรมกร คัดค้านอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา และการเผยแพร่ประชาธิปไตยของนักศึกษาทั่วประเทศ แล้วก็มีการจัดตั้งขบวน ขวาพิฆาตซ้าย คุกคามขบวนนักศึกษาประชาชนทั่วประเทศ และใช้ข้อหา คอมมิวนิสต์และกบฏ เป็นเครื่องมือจับกุม
ในที่สุด การสูญเสียผลประโยชน์และความต้องการปราบปรามขบวนนักเรียนนักศึกษา กรรมกรชาวนาและ ประชาชนทั่วประเทศ นำมาซึ่งการรัฐประหารและการปราบปรามที่โหดเหี้ยมทารุณใน 6 ตุลา 19 การจับกุมผู้คนมากมาย จนมีผลให้เยาวชนนับหมื่นคนต้องเข้าไปต่อสู้ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็เป็นนักศึกษาปัญญาชนและกรรมกร ชาวนา ที่เคยถูกปราบปรามจากในเมืองมาหลายยุคจนมีการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเขตป่า วันนี้สังคมไทยเรียกร้องคาดหวังให้เยาวชนนักเรียนนักศึกษาไม่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของระบบทุนนิยมที่เน้นการบริโภคและเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่สถานการณ์ช่วงหลังมานี้มีเยาวชนนักเรียนนักศึกษา ตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาการเอารัดเอาเปรียบต่อประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ
ทุกยุคสมัยที่ผ่านมา ทั้งช่วงรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ทั้งช่วงเผด็จการทหาร ปัญหารากเหง้าของสังคมไทยไม่เคยได้ รับการแก้ไข ไม่มีการปฏิรูปที่ดิน อำนาจรัฐร่วมกับทุนทั้งต่างชาติและไทยยังแข็งแกร่งในคำกล่าวอ้างเพื่อการพัฒนา และการส่งออก และการใช้กฎหมายล้าหลังเป็นเครื่องมือ บวกกับเจ้าหน้าที่รัฐ แย่งชิงฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่าง กว้างขวางและรุนแรงทั่วประเทศ
การฆ่า พิทักษ์ โตนวุธนักศึกษาราม ที่รวมทั้งการฆ่าครูและประชาชนในหลายเขตที่เข้าไปช่วยคัดค้านการให้สัมปทานระเบิดภูเขาของชาวบ้านที่เนินมะปราง เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ และเป็นตัวอย่างของอำนาจ ที่ปกป้องผลประโยชน์อย่างโหดเหี้ยม
ณ วันนี้ เยาวชนนักเรียนนักศึกษาในแต่ละพื้นที่ได้ร่วมกับชุมชนในการปกป้องสิทธิชุมชนในการจัดการฐานทรัพยากรของตน อาทิ กลุ่มตะกอนยม ที่ค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น กลุ่มดาวดินที่เข้าไปช่วยการคัดค้านเหมืองทองที่เลย กลุ่มเยาวชนสงขลาลุกขึ้นมาปกป้องหาดทราย กลุ่มนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัยร่วมเดินคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ กลุ่มนักศึกษามหาสารคามไปศึกษาปัญหาการถูกจับกุมกรณีที่ดินกับป่า กลุ่มนักศึกษาม.รังสิต และรามคำแหงร่วมกันรณรงค์สนับสนุนประชาชน 12 จังหวัดคัดค้านการให้อาชญาบัตรเหมืองทอง ฯลฯ
สังคมไทยควรต้องยินดีและสนับสนุนที่นักเรียนนักศึกษาตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมของสังคม และเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน นี่คือสิทธิอันชอบธรรมในการปกป้องชีวิตและคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่วันนี้อำนาจรัฐวางเฉยและใช้ท่าทีลอยตัวต่อปัญหาที่ชุมชนเผชิญ ไม่แก้ไข ทั้งที่ รัฐคือผู้กำหนดนโยบาย และผู้อนุมัติสัมปทานเหมืองแร่และโครงการต่างๆ
การคารวะรำลึกวีรชน 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ที่แท้จริง คือการสืบทอดเจตนารมณ์ของเยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและขจัดรากเหง้าของปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม ทุกภาคส่วนต้องส่งเสริมให้เยาวชนได้แสดงบทบาทอย่างเต็มที่