วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

เฟมินิสต์ ๑๔ ตุลา :การหลอมรวมอุดมการณ์ เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ตอน๑ (เฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี วันสตรีสากล)


มาร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี  วันสตรีสากล ๘ มีนาคม ๒๕๕๔

บันทึกการศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิง : “เฟมินิสต์ ๑๔ ตุลา”

 “การหลอมรวมอุดมการณ์  เฟมินิสต์   ประชาธิปไตย   สิทธิมนุษยชน”

                           ตอน ๑ โดย       สุนี ไชยรส

 มีการโฆษณาว่าเฟมินิสต์ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว  แต่จริงๆแล้วมันยังมีชีวิต    และกำลังเติบโตไปข้างหน้า      เราต้องเรียนรู้จากอดีตและทำงานเพื่ออนาคต    ที่หลักการของเฟมินิสต์จะถูกนำมาปฏิบัติในทุกมิติของชีวิต         ทั้งส่วนตัวและนโยบายสาธารณะ    เพราะเฟมินิสต์เป็นการต่อสู้เพื่อทุกคน
                                                        เบลล์    ฮู้คส์  (bell hooks)
จากหนังสือของ เบลล์  ฮูคส์  ( bell  hooks)     เฟมินิสต์เพื่อทุกคน(Feminisms is for Everybody)     มีความน่าสนใจและมีคุณค่า   เป็นหนังสือที่อ่านง่ายและมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในสองประเด็น  กล่าวคือ
                ประเด็นแรก   เพื่อให้ผู้คนทั่วไปทั้งหญิงชาย   โดยเฉพาะคนยากจนที่ไม่ค่อยมีโอกาสศึกษาได้อ่านเข้าใจโดยง่าย   จากแรงบันดาลใจของผู้เขียนที่เป็นเฟมินิสต์ผิวดำและมีโอกาสได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย  แต่พบว่าหนังสืออธิบายง่ายๆเกี่ยวกับเฟมินิสต์มีน้อยมาก    ในสายตาคนทั่วไปจึงไม่เข้าใจภาพลักษณ์ของเฟมินิสต์และไม่มีสำนึกร่วม    กระทั่งคำว่าเฟมินิสต์สับสนและถูกเบี่ยงเบนกลายเป็น พวกต่อต้านผู้ชาย  และพวกขี้โมโห(หน้าvii)      ทั้งนี้ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า   การจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ถูกครอบงำโดยระบบชายเป็นใหญ่ได้อย่างแท้จริง       ทุกคนทั้งหญิงชายต้อง ตระหนักและมีจิตสำนึกต่อแนวคิดเฟมินิสต์     โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องต่อสู้กับแนวคิดเก่าๆที่ครอบงำแต่ละคน    ทั้งหญิงชายจึงจะมีชีวิตที่มีความสุข    บนพื้นฐานของความรัก  เสรีภาพและความยุติธรรม    เชื่อมั่นอย่างจริงใจว่า  ทุกคนเกิดมาเสมอภาคกัน(น. x)
ประเด็นที่สอง  ผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์แนวคิด ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของขบวนการเฟมินิสต์ที่ผ่านมาในอดีตอย่างแหลมคม     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ในเชิงปฏิรูป    ที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้หญิงผิวขาว  และผู้หญิงชนชั้นอภิสิทธิ์จำนวนน้อย   ในการชูประเด็นการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและความเสมอภาคทางเพศ     แต่ละเลยจุดยืนทางชนชั้นและการเหยียดผิว     และไม่ได้กระทบต่อโครงสร้างระบบชายเป็นใหญ่ที่กดขี่ขูดรีดทางเพศ       ทำให้ผู้หญิงชั้นล่างจำนวนมากได้รับประโยชน์จากการต่อสู้ที่ผ่านมาน้อยมาก     และนับวันการกดขี่ขูดรีดยิ่งเป็นภาระที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น     เพราะภาพลวงตาและการโฆษณาว่า   สถานะของผู้หญิงดีขึ้นเรื่อยๆ  เธอจึงเสนอให้จำกัดความให้ชัดเจนลงไปว่า  เฟมินิสต์ คือการต่อสู้เพื่อยุติลัทธิเพศนิยม   และขจัดการกดขี่ขูดรีดทางเพศให้หมดสิ้นไป   มิใช่เพียงเพื่อสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ  (น. 117)
               
                ...ฉันเองผ่านประสบการณ์และเรียนรู้ในชีวิตของผู้หญิงรอบตัวมากมาย  ได้ตระหนักแล้วว่า   ผู้หญิงคือมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี  มีสิทธิเสรีภาพ   มีพลังของตัวเอง  และความเสมอภาคในเบื้องต้นนั้นอยู่ที่หัวใจและการกระทำของตัวเราเองก่อน   ในอันที่จะแสดงศักยภาพของเรา เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของเรา   และผู้หญิงทั้งมวลให้ได้
                ฉันได้เรียนรู้ว่า  ความเป็นผู้หญิง-ความเป็นผู้ชาย  มิใช่อยู่ที่ร่างกายของใครคนนั้น   ดังคำกล่าวที่น่าประทับใจของ ซีโมน เดอ โบวัวร์   เฟมินิสต์ชาวฝรั่งเศสที่ว่า :
                   พวกเราไม่ได้คลอดออกมาเป็นผู้หญิง    แต่พวกเราค่อยๆถูกทำให้เป็นผู้หญิง


               
ในการศึกษาทฤษฎีสตรีนิยมซึ่งพูดถึงแนวคิดหลักของสำนักต่างๆ   โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดและปฏิบัติการที่มีการอ้างถึงกันมานาน  คือเฟมินิสต์เสรีนิยม  เฟมินิสต์สังคมนิยมหรือมาร์กซิสต์   เฟมินิสต์หัวรุนแรงหรือสุดขั้ว  และมีการเสนอแนวคิดกลุ่มใหม่ๆ บ้าง     โดยเฉพาะกลุ่มหลังสมัยใหม่(โพสต์โมเดิร์น) ในช่วงเวลานั้นทำให้ฉันต้องกลับไปหาอ่านหนังสือเก่าๆ ของกลุ่มมาร์กซิสต์  หรือสังคมนิยมเท่าที่พอหาอ่านได้  เพื่อทบทวนความทรงจำ  เพราะฉันรู้สึกขัดแย้งในใจต่อการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อแนวคิดมาร์กซิสต์  หรืออุดมการณ์สังคมนิยม   โดยส่วนตัวฉันเองยังมองเห็นข้อดีของทฤษฎีมาร์กซ์ และอุดมการณ์สังคมนิยมในบางด้าน   ที่มีคุณูปการต่อขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนและขบวนการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคหญิงชายด้วย
ประสบการณ์ของฉันกับเพื่อนพ้องเฟมินิสต์ ๑๔ ตุลาบางส่วน      ที่ยังคงเดินหน้ามีส่วนร่วมทำงานเรื่องสิทธิผู้หญิงจนถึงปัจจุบัน     ยอมรับอย่างค่อนข้างสอดคล้องกันว่า  อุดมการณ์ของพวกเรารวมถึงแนวคิดและความเข้าใจต่อสังคมรวมทั้งประเด็นหญิงชาย  มีพื้นฐานมาจากแนวคิดมาร์กซิสต์และสังคมนิยม    ทำให้เราพัฒนาเติบโตในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  คัดค้านระบอบเผด็จการ  และมีความเข้าใจ  มีความตระหนักในการต่อสู้ของผู้หญิงรากหญ้า ในปัญหาที่ดินทำกิน  การคัดค้านการสร้างเขื่อน  และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ   ที่มีผลกระทบต่อชาวบ้านและไม่มีส่วนร่วมของชาวบ้าน     รวมทั้งสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมกรหญิง    ซึ่งมีนัยของการต่อสู้ทั้งประเด็นผู้หญิงและการต่อสู้เพื่อลดทอนการเอาเปรียบทางชนชั้น   แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวโดยตรงในทุกมิตินั้นก็ตาม   ซึ่งฉันและเพื่อนๆ ยังคิดว่า    มีส่วนช่วยให้แนวคิดเฟมินิสต์ของเราไม่หลงทิศ      สามารถเข้าใจและประสานการเรียนรู้กับการเคลื่อนไหวปัจจุบันในเชิงเครือข่ายได้กว้างขวางยิ่งขึ้น    ทั้งการต่อสู้ของผู้ด้อยโอกาส   ประเด็นการมีส่วนร่วมทางการเมือง    และความรุนแรงต่อผู้หญิง  เป็นต้น


นอกจากนี้  จากประสบการณ์ในบริบทของสังคมไทย   โดยเฉพาะเฟมินิสต์ 14 ตุลา ที่ถือว่ามีฐานแนวคิดสังคมนิยม   แม้จะไม่ได้เข้าใจมาร์กซิสต์หรือสังคมนิยมอย่างลึกซึ้งก็ตาม       ไม่ได้ละทิ้งการต่อสู้ประเด็นหญิงชายในท่ามกลางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการต่อสู้ทางชนชั้น     ตามที่มีการอ้างถึงแนวคิดเฟมินิสต์มาร์กซิสต์หรือสังคมนิยมอยู่เสมอว่า   เฟมินิสต์กลุ่มนี้จะต้องรอให้การต่อสู้ทางชนชั้นยุติลงเสียก่อน  ทำให้โน้มเอียงที่จะนำเอาการต่อสู้ของผู้หญิงไปขึ้นต่อการต่อสู้ทางชนชั้น   
 แท้จริงแล้วฉันและเพื่อนๆ คิดว่า   พวกเรากลุ่มที่สนใจแนวคิดสังคมนิยมก็ไม่ได้ละเลยเรื่องมิติหญิงชาย     เพียงแต่นักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทสาธารณะส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย  ทำให้ภาพการเคลื่อนไหวประเด็นผู้หญิงที่สาธารณชนรับรู้อาจไม่ชัดเจนนัก   แต่ฉันก็ยอมรับว่า แนวคิดสังคมนิยมมีประเด็นที่น่าถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ได้มาก   ซึ่งก็เป็นธรรมดาเช่นเดียวกับแนวคิดต่าง ๆ  
เหนืออื่นใดฉันยังเชื่อมั่นว่า การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ไทยที่ผ่านมา   รวมทั้งเฟมินิสต์14 ตุลา  ไม่เคยจำกัดตนเองเป็นแนวคิดสำนักใดอย่างตายตัว     แต่มีประสบการณ์และบทเรียนเฉพาะของตนในบริบทสังคมไทย   โดยไม่ปฏิเสธคุณค่าหรือละทิ้งบทเรียนจากสากล    เพราะเราต่างยอมรับว่าในช่วงเริ่มต้นก็ได้รับผลสะเทือนจากการต่อสู้ของเฟมินิสต์ตะวันตกเช่นกัน

ฉันมุ่งมั่นที่จะศึกษาพัฒนาการของขบวนเฟมินิสต์ไทย   ในความหมายของขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิผู้หญิงและความเสมอภาคหญิงชาย     เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง    แต่จำกัดขอบเขตเฉพาะการสรุปประสบการณ์และบทเรียนการต่อสู้ของฉันและเพื่อนพ้องบางส่วน   โดยเฉพาะเฟมินิสต์  14  ตุลา    ซึ่งมีทิศทางที่เชื่อมโยงหลอมรวมกับอุดมการณ์การต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยและการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม   ซึ่งต่อมาพัฒนาลึกซึ้งขึ้นในแนวคิดของสิทธิมนุษยชน    โดยที่มีการนำเสนออุดมการณ์และการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย   และสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยจำนวนมาก     แต่สำหรับขบวนเฟมินิสต์ไทยพบว่ายังมีการศึกษาและนำเสนอน้อยมาก      ซึ่งทำให้โอกาสที่เฟมินิสต์ไทยจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันมีข้อจำกัด      ประกอบกับผู้คนส่วนใหญ่ยังมองภาพลักษณ์ของเฟมินิสต์   แยกออกจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน    กระทั่งมีความเข้าใจที่สับสนไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง   เช่น   คิดว่าเฟมินิสต์เป็นกลุ่มที่เรียกร้องเพื่อให้เท่าเทียมหรือเหมือนผู้ชายทุกด้าน  ชายทำได้ หญิงทำได้    หรือมองเป็นกลุ่มที่ตามอย่างตะวันตก  จะทำลายประเพณีไทยและสถาบันครอบครัว     หรือคิดไปว่าจะทำให้เสียความสามัคคีกับนักเคลื่อนไหวชายที่กำลังร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  และความเป็นธรรมในสังคม   เพราะจะเป็นการจับผิดผู้ชาย    และก่อให้เกิดความแตกแยกกัน    อาจทำลายขบวนการต่อสู้ของประชาชน   
แม้แต่ผู้หญิงจำนวนมากที่มีบทบาทและมีส่วนผลักดันการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงด้านต่าง ๆ    หรือได้แสดงบทบาทที่ก่อผลสะเทือนต่อการต่อสู้ของผู้หญิงโดยรวม  ก็มักจะปฏิเสธว่า ฉันไม่ใช่เฟมินิสต์   ผู้ชายบางคนที่เข้าใจและสนับสนุนการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคหญิงชาย  ก็อาจมีบางครั้งตั้งประเด็นคำถามเชิงเตือนการนำเสนอปัญหาของผู้หญิงว่า  อย่าวิเคราะห์ตามอย่างตะวันตก’      ทำให้มีคำถามที่ท้าทายขบวนผู้หญิงทั้งมวลว่า  อุดมการณ์ของเฟมินิสต์คืออะไร    ทำอย่างไรจะทำให้อุดมการณ์เฟมินิสต์เป็นที่ยอมรับ   และร่วมกันต่อสู้ด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งดีงามต่อทุกคน  ดังนั้นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจร่วมกันชัดเจนขึ้น    คงจะเป็นประโยชน์ต่อขบวนเฟมินิสต์ไทย    ในการพัฒนายุทธศาสตร์ยุทธวิธี  และการเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ต่อไป    เพราะเฟมินิสต์มิใช่เพียงแค่แนวคิด   แต่เป็นการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงด้วย
การสนใจศึกษาเรื่องราวของเฟมินิสต์ 14  ตุลา  โดยเน้นความเชื่อมโยงและการหลอมรวมระหว่างอุดมการณ์และการต่อสู้ของเฟมินิสต์  กับประชาธิปไตย  และสิทธิมนุษยชน  เป็นผลมาจากการตรวจสอบเรื่องราวผ่านประสบการณ์ตนเองและเพื่อนพ้องน้องพี่เฟมินิสต์ 14 ตุลา  จำนวนหนึ่ง   ที่มีที่มาของการพัฒนาความรับรู้และตื่นตัวต่อการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคหญิงชายแตกต่างกัน    บางคนมาจากการประสบความรุนแรงในครอบครัว  วัยเด็ก และเรียนรู้ร่วมกับประสบการณ์ของแม่   บางคนมาจากครอบครัวชาวจีนที่ให้ความสำคัญต่อลูกชายเป็นพิเศษ   บางคนเริ่มศึกษาประสบการณ์จากตะวันตก และพัฒนาไปเป็นการตื่นตัวเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตย      จนถึงเข้าใจและร่วมต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมสำหรับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ    หรือบางคนเริ่มสนใจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย   ต่อมาไปทำงานร่วมกับกรรมกรชาวนา   ค่อยเริ่มสนใจปัญหาผู้หญิง  [1]
   จากการเข้าร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516    ฉันและเพื่อนพ้องต่างเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมกับผู้ถูกเอาเปรียบ  ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรม โดยยึดมั่นในคำขวัญ รับใช้ประชาชน”   “สามประสาน - นักศึกษา  กรรมกร  ชาวนา  ซึ่งเป็นกระแสหลักในช่วงนั้นของขบวนนักเรียนนักศึกษาประชาชน   เช่น  การต่อสู้เรื่องค่าจ้างขั้นตำของกรรมกรจากเดิมวันละ  8-12 บาท จนได้วันละ 20 บาท  จากการชุมนุม  7 วัน  7 คืนที่สนามหลวงซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมกรหญิง   การต่อสู้ลดค่าเช่านาและเรียกร้องที่ดินทำกินของชาวนา  การคัดค้านจักรพรรดินิยมและฐานทัพอเมริกันในนามกลุ่มอิสระและบทบาทที่ต่างๆกันไป    การรณรงค์คัดค้านค่านิยมในสังคมที่กดขี่เอาเปรียบผู้หญิงที่ถูกสั่งสมมายาวนาน  ในนามกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์   และกลุ่มผู้หญิงสิบสถาบัน    การรณรงค์ให้ผู้ชายในขบวนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม  ได้เข้าใจถึงแนวคิดสิทธิผู้หญิงและเข้าร่วมขบวนด้วย  รวมถึงคัดค้านแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ชายนักต่อสู้ที่มีทรรศนะกดขีเอาเปรียบทางเพศและดูถูกผู้หญิง     ควบคู่ไปในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขณะที่มุ่งศึกษาเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวผู้หญิงเองที่ถูกปลูกฝังทรรศนะผิดๆมาด้วย  [2]
   เหตุการณ์เข่นฆ่าจับกุมนักสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหญิงชาย    เริ่มจากการต่อสู้ของกรรมกรหญิง  เช่น  กรณีสะเทือนใจที่ตำรวจใช้กำลังทำร้ายกรรมกรหญิงสแตนดาร์ดการ์เมนท์      การถูกยิงเสียชีวิตของกรรมกรหญิง สำราญ คำกลั่น         การจับกุมนักศึกษาในคดี  9 คอมมิวนิสต์อ้อมน้อย  คดีกรรมกรหญิงฮาร่า   และถึงที่สุดคือการปราบปรามอย่างทารุณโหดร้ายเมื่อ 6  ตุลา 2519  จนฟื้นระบอบเผด็จการกลับมาอีกครั้งหนึ่ง   ทำให้การพัฒนาแนวคิดของเฟมินิสต์ 14  ตุลายิ่งมั่นคงต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  และมุ่งมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งระบบ  รวมทั้งการต่อสู้ทางชนชั้นมากยิ่งขึ้น   นักเรียนนักศึกษา  กรรมกรชาวนานักวิชาการและประชาชนทั่วไปทั้งหญิงและชาย  พากันหลบภัยไปเขตป่าเขาและต่างประเทศจำนวนมาก    เป็นที่ประจักษ์ว่า   เมื่อผู้หญิงลุกขึ้นแสดงพลังร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม   ผู้หญิงที่เคยถูกสอนถูกอ้างว่าเป็นเพศอ่อนแอต้องทะนุถนอมนั่นเอง   ที่ถูกทำร้ายถูกจับกุมคุมขัง  ถูกข่มขืนและถูกฆ่าอย่างทารุณ  [3]
      เฟมินิสต์ 14  ตุลาเมื่อผ่าน 6  ตุลา 2519    ได้พัฒนาแนวคิดและการทำงานไปท่ามกลางภาวะการณ์ต่างๆกัน   จำนวนไม่น้อยเข้าสู่เขตการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเขตชนบท   ที่นอกจากชูธงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย   เมื่อมีโอกาสก็จะมีการรณรงค์แนวคิดประเด็นสิทธิผู้หญิง  หรือคัดค้านการกระทำหรือทัศนคติที่ดูถูกกดขี่และเอาเปรียบต่อเพศหญิง   ที่ยังดำรงอยู่ในขบวนการต่อสู้นั้นบ้าง  แม้จะไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ก็ตาม  เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์สู้รบ   โดยยึดแนวคิดที่ว่า    แม้จะยอมรับแนวคิดมาร์กซิสต์หรือสังคมนิยมในขณะนั้น   แต่ต้องยึดหลักการความเสมอภาคและประชาธิปไตยที่แท้จริง   ไม่จำเป็นต้องรอให้การต่อสู้ทางชนชั้นต้องจบสิ้นลงเสียก่อน   จึงค่อยเรียกร้องและพัฒนาสิทธิผู้หญิง   ขณะที่เฟมินิสต์บางส่วนผ่านชีวิตการเป็นผู้ต้องหาในคุก    บางส่วนได้เรียนรู้เฟมินิสต์เชิงทฤษฎีในการไปศึกษาและมีประสบการณ์ในต่างประเทศ    ทำให้มีบทบาทในการเป็นนักวิชาการเฟมินิสต์ต่อมา      บางส่วนก็ทำงานเพื่อสังคมต่อไปในเขตเมืองตามเงื่อนไขที่อำนวย      และแต่ละคนก็มีโอกาสมาทำงานประเด็นผู้หญิงร่วมกันอีกในสถานการณ์ที่ดีขึ้นต่อมา 
แม้จะมีการทำงานไปในมิติต่างๆกัน    แต่เมื่อถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  2535   ที่มีความพยายามฟื้นระบอบเผด็จการทหาร    เฟมินิสต์กลุ่มนี้และผู้หญิงจำนวนมากก็เข้าร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายอย่างเอาการเอางานเช่นเคย   ในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย[4]
ข้อสังเกตที่พบคือฉันและเพื่อนพ้องกลุ่มนี้    ได้รับผลสะเทือนจากกระแสมาร์กซิสต์หรือสังคมนิยม  แม้จะไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งก็ตาม   ในการเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความไม่เป็นธรรมในสังคม   และตระหนักถึงการต่อสู้ทางชนชั้น   แม้ว่าอุดมการณ์สังคมนิยมและแนวคิดมาร์กซิสต์จะเสื่อมถอยความศรัทธาลงไป    แต่การสั่งสมประสบการณ์และบทเรียน  ช่วยทำให้มั่นคงต่อการรณรงค์ต่อสู้เพื่อผู้หญิง   รวมทั้งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  และความเป็นธรรมในสังคมต่อมา
นี่คือความเชื่อมโยงและการส่งผลสะเทือนต่อกันและกัน     เป็นการหลอมรวมระหว่างอุดมการณ์และการต่อสู้ ของ   ‘เฟมินิสต์’  ‘ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน  นั่นเอง
ทัศนคติและแนวคิดที่มีพื้นฐานร่วมกัน   ระหว่างฉันกับเฟมินิสต์เพื่อนพ้องน้องพี่กลุ่มนี้คือ   การตระหนักถึงปัญหาผู้หญิงที่มีความเชื่อมร้อยกันทั้งระบบ  จากกฎหมาย   ทัศนคติ  ประเพณี  ค่านิยมที่ล้าหลังของสังคม จนถึงการถูกเอาเปรียบขูดรีดทางเศรษฐกิจของกรรมกรชาวนา   และเข้าใจการต่อสู้เพื่อสิทธิของชุมชนในการจัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ  ที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของผู้คนทั้งหญิงและชาย     และปรากฏชัดเจนในการกดขี่ทางเพศ  โดยเฉพาะความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กทั้งในครอบครัวและในสังคมทั่วไป  จนถึงการค้าผู้หญิงและเด็ก  การลิดรอนโอกาสที่เท่าเทียมของผู้หญิงในการเรียนรู้  การทำงาน    การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ  และบริการสาธารณะต่างๆ    จนถึงกระบวนการที่ไม่สมบูรณ์และไม่มีประสิทธิภาพในการดูแลคุ้มครองเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น    รวมทั้งในกระบวนการยุติธรรม
นั่นคือ  ฉันมีประสบการณ์ที่ชัดเจนว่า    ในเชิงยุทธศาสตร์ไม่ควรแยกบุคคลหรือกลุ่มการเคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคหญิงชายตามกรอบสำนักคิดต่าง ๆ    ทั้งในการวิเคราะห์ปัญหาและการเสนอหนทางแก้ไข   เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง    ไม่ควรประเมินว่าการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขทางกฎหมายจะถือเป็นเสรีนิยม   ถ้าต่อสู้เพื่อคนงานและชาวนาจะถือเป็นสังคมนิยม    ขบวนการเฟมินิสต์เป็นเรื่องที่หลากหลาย   ซับซ้อน  และไม่อาจคาดหวังให้ทุกคนต้องต่อสู้ด้วยจิตสำนึกระดับเดียวกันทั้งขบวน    แต่ควรถือเป็นการต่อสู้ทุกระดับที่สามารถส่งผลสะเทือนต่อกันและกัน   บนพื้นฐานความสนใจและความพร้อมของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม    และต่อสู้ในประเด็นนั้นๆตามเงื่อนไขของตน  ของกลุ่ม หรือประเทศตนเอง   มีจุดยืนของตนเอง  และหาพันธมิตรให้กว้างขวางที่สุด  ถือเป็นจังหวะก้าวของการรณรงค์ด้วยยุทธวิธีแห่งการสร้างแนวร่วมและเครือข่าย    บนหลักการ “แสวงจุดร่วม  สงวนจุดต่าง”   บนยุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อความเสมอภาคในโอกาสของผู้หญิงในทุกด้าน  
การต่อสู้ประเด็นผู้หญิงในสังคมไทยเองก็มีความหลากหลาย     ไม่จำกัดว่าการเคลื่อนไหวเหล่านั้นกระทำโดยผู้ที่ถือว่าตนเองเป็นเฟมินิสต์หรือไม่    แต่ก็ล้วนส่งเสริมเกื้อหนุนที่ดีต่อการพัฒนาเฟมินิสต์ทั้งขบวน    รวมทั้งมีผลดีต่อประชาธิปไตย   และการเคารพสิทธิมนุษยชน  อาทิ
·       การรณรงค์ให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง  เช่น   คัดค้านการ
ข่มขืน   การละเมิดทางเพศ  การใช้ความรุนแรงในครอบครัว   รวมทั้งสามีข่มขืนภรรยา  ผู้หญิงต้องมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตนเอง     มีสิทธิที่จะรัก  จะแต่งงานกับใคร  สิทธิจะหย่า  หรือเลือกการเป็นหญิงรักหญิง    การมีสิทธิตัดสินใจว่าจะทำแท้งหรือไม่  โดยคัดค้านการค้าหญิง   การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงคนจน   และผู้หญิงต่างเชื้อชาติ
     ˜      การรณรงค์เพื่อให้เกิดความเสมอภาคในโอกาส    และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ   เช่น  ค่าแรงและสวัสดิการที่เท่าเทียมในการทำงาน  โอกาสการเลื่อนตำแหน่ง   การมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณะ  มีความเสมอภาคทางกฎหมายในการจัดการทรัพย์สิน   สิทธิในการตัดสินใจอย่างมีทางเลือกเท่าเทียมกันในการใช้นามสกุล  และคำนำหน้าที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างหญิงชาย
·       การรณรงค์ให้ผู้หญิงมีโอกาสพัฒนาศักยภาพตามความสามารถของแต่ละคนอย่างเต็มที่    เช่น ในการศึกษา  การฝึกอบรม   การพัฒนาฝีมือและอาชีพ  การมีสถานดูแลเด็กที่มีคุณภาพและราคาถูก   รวมทั้งการมีมาตรการส่งเสริมพิเศษสำหรับผู้หญิงกลุ่มด้อยโอกาสต่างๆ  เพื่อให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพ  และพัฒนาไปสู่ความเสมอภาคหญิงชายได้ดียิ่งขึ้น 
·      การรณรงค์ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมรับรู้ในการวางแผนและกระบวนการตัดสินใจในทุกระดับ   เช่น  การมีส่วนร่วมตัดสินใจในการจัดการและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนและท้องถิ่น   กองทุนต่างๆของชุมชน  การร่วมตรวจสอบและผลักดันกฎหมาย    นโยบายต่างๆ   การส่งเสริมผู้หญิงเป็นนักการเมืองและนักบริหารงานเพิ่มขึ้นในทุกระดับฯลฯ 
·      ที่สำคัญคือ    อุดมการณ์และพัฒนาการของขบวนเฟมินิสต์ไทยยังมีการพูดถึงกันน้อยมาก   และมักถูกกล่าวถึงเป็นเรื่องอื่นที่ไม่ชัดเจนในมิติหญิงชาย   หรือเป็นเรื่องไม่สำคัญ  หรือเล็กน้อย   กระทั่งถูกกล่าวหาเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นผลดีต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม     ดังนั้นการศึกษาถึงการหลอมรวมของอุดมการณ์เฟมินิสต์   ประชาธิปไตย   และสิทธิมนุษยชน   จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ      การศึกษาจากประสบการณ์โดยตรงครั้งนี้จึงมั่นใจว่า   จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสามกลุ่มอุดมการณ์เหล่านั้น      และช่วยเสริมสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นในการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคหญิงชาย    สำหรับพันธมิตรหญิงชายที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  และความเป็นธรรมในมิติสิทธิมนุษยชน   ให้ตระหนักด้วยว่า  อุดมการณ์ เฟมินิสต์  เป็นเรื่องของทุกคน
    ‘อุดมการณ์ หมายถึง ความใฝ่ฝัน  ความมุ่งหวังต่อระบบสังคมที่ต้องการให้เกิดขึ้น
      ผู้มีความเชื่อมั่นต่ออุดมการณ์นั้น     ต้องมีความมุ่งมั่น   การลงมือกระทำ  และการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อให้บรรลุความใฝ่ฝันด้วย  มิใช่เพียง คิดฝัน   เท่านั้น
       ‘อุดมการณ์เฟมินิสต์ หมายถึง   อุดมการณ์และการรณรงค์เคลื่อนไหวต่อสู้ของผู้คนที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาคหญิงชายในทุกมิติ    ตีความถึงการเคลื่อนไหวต่อสู้ของหญิงและชาย  ที่มุ่งหวังเพื่อความเสมอภาคหญิงชายในทุกมิติ  และ ในประเด็นที่หลากหลาย ทั้งแนวคิด ทัศนคติ และพฤติกรรม จนถึงกฎหมายและนโยบายรัฐ 
ดังนั้น  เฟมินิสต์’  ในความหมายนี้จึงกว้างขวาง   ไม่จำกัดหญิงหรือชาย  และไม่จำกัดว่า  ผู้ที่เคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคหญิงชายในมิติต่างๆ นั้น     จะถือว่าตนเองเป็นเฟมินิสต์หรือไม่ก็ตาม
 ‘อุดมการณ์ประชาธิปไตย  หมายถึง  อุดมการณ์ที่มุ่งมั่นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในระบอบการเมืองการปกครอง    ทั้งในการเลือกตั้งและถอดถอนตัวแทนที่ไปบริหารประเทศ  รวมถึงการตรวจสอบได้ตลอดเวลาในการบริหารงานทุกระดับ
 ยังเน้นถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงในการเมืองภาคประชาชน คือ การมีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล   การวางแผน  การตัดสินใจและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ   สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของประชาชน   โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติไม่ว่าจาก   เชื้อชาติ ศาสนา เพศ ฐานะ หรือความรู้    เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีเป้าหมายเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนทุกคน
 ‘อุดมการณ์สิทธิมนุษยชน’    หมายถึง อุดมการณ์ที่เคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์   โดยไม่ถูกจำกัดด้วยเหตุใดๆ ทั้งสิ้น    ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันที่สูงส่งและกว้างระดับสากล  เพราะมีความหมายไปสู่การมีสันติภาพที่แท้จริงของโลก     ไม่มีการกดขี่ข่มเหงหรือเอาเปรียบต่อประเทศอื่นๆ   และคัดค้านการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม   เพราะความแตกต่างจากฐานะ  เพศ  วัย  เชื้อชาติอื่นหรือศาสนาที่ต่างกัน   นอกจากนี้ยังมีความหมายถึงการพัฒนาให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นจริง   เพื่อให้มนุษย์ทุกคนสามารถมีชีวิตอยู่ได้   โดยดำรงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย  เช่น    สิทธิที่อยู่อาศัย   การมีที่ดินทำกิน   และโอกาสในการพัฒนาตนเอง   เพื่อสามารถพึ่งตนเอง  สร้างชุมชนที่ดี และมีผลดีต่อสังคมโดยรวม
หมายถึง การเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้ขจัดการกดขี่ขูดรีดและการเอาเปรียบต่อผู้คน   โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทั้งมวล    หรือต่อสู้คัดค้านการกระทำที่ไม่เป็นธรรมใด ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในสังคมไทย และระดับสากล    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีแนวคิดที่ว่า สิทธิผู้หญิง คือ สิทธิมนุษยชน
  การหลอมรวมหมายถึง  การผสมผสานอุดมการณ์ที่มีจุดเน้นหนักที่ต่างกัน  คือ เฟมินิสต์  ประชาธิปไตย  และสิทธิมนุษยชน    แต่สามารถผนึกหลอมเป็นอุดมการณ์หนึ่งเดียวกัน   โดยที่มีเป้าหมายเพื่อความเสมอภาคหญิงชายและเพื่อทุกคนเป็นแกนกลาง    โดยท้ายที่สุดจะเป็นอุดมการณ์ที่ก่อเกิดความดีงาม  สันติภาพ และสงบสุขต่อทุกคน


[1] เช่น ทิชา ณ นคร  รัชฎาภรณ์  แก้วสนิท  ธีรนาถ  กาญจนอักษร  สุชีลา   ตันชัยนันท์  มาลีรัตน์  แก้วก่า   ผุสดี  ตามไท   เรืองรวี  พิชัยกุล  เกตุผล   วนิดา  ตันติวิทยาพิทักษ์   มาลี  พฤกษ์พงศาวลี   สุกัญญา  พัฒนไพบูลย์   นงลักษณ์  เทวะศิลชัยกุล  ยุพา ภูสาหัส  อรุณี  ศรีโต  สุภาพร  ลิ้มสัมพันธ์  จิระนันท์  พิตรปรีชา  กัญญา  ลีลาลัย  รัชนี  วงศานุพัทธ์  สุภรณ์  บุญเสริมวิชา   ไพรินทร์  พลายแก้ว   วิมล  หวังกิตติพร  ฯลฯ  ซึ่งจะได้มีส่วนร่วมกันย้อนรอยในการบันทึกประวัติศาสตร์ เฟมินิสต์  14  ตุลา นี้ 

[2] ช่วงนั้นจะมีบทความและงานวรรณกรรมที่กระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย    ต้องมีทรรศนะและการปฏิบัติที่ดีงามควบคู่กันไปด้วย   เช่น ปีศาจ   ความรักของวัลยา  โลกที่สี่   ชีวทัศน์เยาวชน   วิพากษ์รักเสรี  แม่ของแม็กซิม กอร์กี้   ปัญหาความรักและครอบครัว    พิราบแดง   ชีวิตกับความใฝ่ฝัน    ปัญหาและแนวทางการต่อสู้ของผู้หญิง   

[3]  เอกสารช่วงเวลาเหล่านี้มีจำนวนมาก  อาทิ กรีดแผลกลัดหนอง   กรองความจริงโดยผู้หญิง  6  ตุลา2545 .   ตำนานนักปฏิวัติภูซาง,2540    ไฟลามทุ่ง,2540.,  เปิดบันทึกนักโทษหญิง 6ตุลา, 2546   ประวัติศาสตร์แรงงานไทย,2541  และ ประวัติศาสตร์แรงงานไทย, 2542  

[4]       มีหนังสือมากมายเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ตามที่อ้างถึงมาแล้ว    และอาจดูเพิ่มเติมจาก  ธีรนาถ  กาญจนอักษร,   ทุน  รัฐ แรงงาน วิกฤติและการต่อสู้, 2542    และ   เรื่องราวชีวิตจริงของครูประทีป  อึ้งทรงธรรม  ใน ทัตสุยะ  ฮาตะ, บันทึกเดือนพฤษภา เมื่อกรุงเทพฯ ระอุ  , 2537

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น