วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ความรัก และ ความเสมอภาค : ตอน ๘ การหลอมรวมอุดมการณ์เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน(ร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีวันสตรีสากล)


ความรัก และ ความเสมอภาค












https://www.blogger.com/blogger.g?blogID=3148805286451061697#editor/target=post;postID=6333442947465798977

พวกเราทั้งหญิงชายประทับใจ  วัลยา  ใน ความรักของวัลยา   และ รัชนี   ใน ปีศาจ  ของ   เสนีย์  เสาวพงศ์       ถือว่าเป็นภาพแห่งอุดมคติของหนุ่มสาวยุคนั้นทีเดียว    ที่จะต้องเลือกคนรักที่ตื่นตัวทางการเมือง
เมื่อเรวัตรที่มีทั้งศักดิ์แห่งสกุลและความมั่งมี  ตอบคำถามวัลยาที่ว่า  “ผู้หญิงต้องการอะไรในความรัก  ด้วยคำตอบว่า เรือต้องการทะเลกว้าง   ไก่ต้องการคอนสูง และผู้หญิงต้องการชีวิตที่ผาสุกและสงบ   วัลยา  ปฏิเสธการขอความรักของเรวัตรด้วยคำพูดที่ว่า...
            “ สำหรับบางคนอาจเป็นเช่นนั้น   ความรักเพื่อความสุขและแต่งงานเพื่อความสุข . . แต่ความหมายของ ความสุข ของเรและของวัลย์ต่างกัน   การร่วมชีวิตกับคนที่มีสกุลสูงและมั่งมีอย่างคุณ  เป็นชีวิตที่ราบเรียบและซ้ำซากอย่างน่าเบื่อหน่าย มันราบเรียบจนมองเห็นเชิงตะกอนเผาศพตัวเองแลหนังสือแจกงานศพรายทางข้างหน้าโน้นได้อย่างถนัดชัดเจน    วัลย์ไม่ต้องการความสุขชนิดนั้น   ความสุขของวัลย์อยู่ที่ความคาดหมาย   การต่อสู้และความเสี่ยง  แต่มันไม่ใช่การเสี่ยง อย่างนักเซ็งลี้ที่อาจเป็นเศรษฐีหรือล้ม      แต่เป็นการเสี่ยงและต่อสู้ของคนทำงานเพื่อการสร้างสรรค์   มันอาจจะเป็นการแบกพร้าเข้าป่าดิบที่ไม่เคยมีใครเข้ามากล้ำกราย แล้วต่อมาทางที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนนั้น   ได้กลายเป็นทางที่สัญจรไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของคนภายหลัง (เสนีย์,  2544 : 17)  [1]                         
แน่นอนว่า  อุดมคติหรือความใฝ่ฝันกับความเป็นจริง    บางทีก็อาจไม่เดินไปด้วยกันได้อย่างง่ายดาย  ความรักและครอบครัวซึ่งละเอียดอ่อนด้วยหัวใจและอารมณ์ความรู้สึก    จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ซับซ้อนและจัดการได้ยากที่สุดเกือบทุกคน    สำหรับเยาวชนก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ส่วนใหญ่จะมีคนรัก   บางคนอาจได้คนรักที่ก้าวหน้าทางความคิด   แต่อาจไม่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทนอกบ้านเพื่อสังคมมากนัก   หรือหวงมากไป   ยังคิดว่าผู้หญิงเป็นสมบัติส่วนตัว    ไม่อยากให้สนิทสนมกับผู้ชายคนอื่น  บางคนได้คนรักที่ไม่ตื่นตัวทางการเมือง   แต่พร้อมจะสนับสนุนช่วยเหลือในสิ่งที่ผู้หญิงศรัทธาจะทำอย่างเต็มที่     ผู้ชายบางคนยังมองเห็นผู้หญิงเป็นของเล่นหรือเป็นช้างเท้าหลัง    บางคนมีท่าทีรักผู้หญิงหลายคนไปพร้อมกัน...
ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่มีท่าทีไม่ถูกต้องก็มี   เช่น   หึงหวงเกินไป  หรือมีรักแบบเสรี  ไม่รับผิดชอบต่อคนรัก   หรือคาดหวังที่จะให้คนรักมาดูแลมากเกินไป  จนมีผลกระทบต่อการทำงานส่วนรวมทั้งสองฝ่าย   หรือรู้อยู่ว่าเขามีคนรักแล้ว  ก็อาจจะไปรักเขาอีก   ทำให้ผู้ชายได้โอกาสที่จะเสรีมากขึ้น 
ฉัน   และเพื่อนๆหลายคน ต่างก็มีคนรักในช่วงเวลานั้น  ส่วนใหญ่ทำงานกิจกรรมร่วมกัน   คนรักฉันอยู่คณะรัฐศาสตร์ปีเดียวกัน    ในกลุ่มสภาหน้าโดม     ไม่น้อยมีความรักข้ามมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปเราต่างเป็นเพื่อนร่วมงานร่วมต่อสู้    เป็นเพื่อนคู่คิด และช่วยให้ต่างฝ่ายเติบโตในการเรียนรู้และต่อสู้   จำนวนมากยืนหยัดอยู่ด้วยกันจนถึงปัจจุบัน      แต่มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่กาลเวลาและเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงความรักระหว่างเขาและเธอในช่วงนั้นในเวลาต่อมา    รวมทั้งฉันด้วย
ความรักและครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่มีทั้งสุขและทุกข์    ในแง่ของความเสมอภาคหญิงชาย  ความรักต้องเริ่มต้นจากความสมัครใจ    มีเวลาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน    แต่ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายเมื่อจะต้องตัดสินใจเลิกจากกัน  มีคำถามที่บางครั้งอธิบายได้ยาก บนเส้นแบ่งระหว่าง เสรี   ไม่รับผิดชอบ   กับอิสระที่จะเลือกและตัดสินใจ   ถ้าคิดว่าเข้ากันไม่ได้    เพราะในกลุ่มก้าวหน้าเราชูคำขวัญยึดมั่นรักเดียวใจเดียว    ต้องอดทนและปรับตัวเข้าหากัน   แต่เมื่อผ่านไปแล้วช่วงหนึ่งถ้าพบว่า  เรารู้สึกไม่มั่นใจ    ไม่มีความสุขกับความคิดและท่าทีบางอย่างที่เราคิดว่าสำคัญสำหรับเรา   แต่เขาก็ยังเป็นคนดีมีจุดยืนที่ดีในการต่อสู้ทางการเมือง การที่จะไม่รักต่อไปนั้น   มีเหตุผลอะไร?...

เมื่อผ่านประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น  ฉันจึงมีข้อสรุปว่า   ปัญหาสำคัญอยู่ที่ทำอย่างไรทั้งสองฝ่ายจึงจะมีท่าทีเคารพต่อกันและจากกันด้วยดี    เป็นเพื่อนกันต่อไปได้ ไม่ว่าจะจากกันในฐานะคนรักหรือแต่งงานแล้ว   เพราะความรักเป็นสัจจธรรมข้อหนึ่งที่ไม่อาจยืนยงถาวรได้ตลอดกาล    แต่ก็ยังต้องพ่วงด้วยความรับผิดชอบที่พึงมีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง    เมื่อมีลูกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย   รวมทั้งเมื่อมีความรักข้ามชนชั้นในเขตป่าเขาจำนวนมากและต้องจากกัน... ซึ่งเป็นตำนานแห่งความรักอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในท่ามกลางประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้   
กระแสการวิพากษ์ความคิดที่กดขี่เอาเปรียบดูถูกผู้หญิงที่ตกทอดจากระบบศักดินา     และจากการตื่นตัวศึกษา    ซึ่งมีกระแสร่วมกันว่า นอกจากศึกษาโลกทรรศน์เยาวชนเพื่อทำความเข้าใจสังคมและโลก    เพื่อเปลี่ยนสังคมให้ดีและไม่มีการเอารัดเอาเปรียบต่อกัน    แต่ยังไม่เพียงพอ    ถ้าไม่มีการศึกษาชีวทัศน์เยาวชน  เพื่อดัดแปลงความคิดตนเองที่ตกทอดมาจากสังคมแบบเก่า  ทำให้เกิดกระแสที่ดีให้เยาวชนหนุ่มสาวเริ่มตระหนักถึงการเคารพศักดิ์ศรีผู้หญิง   ตระหนักถึงการดัดแปลงตนเองในเชิงทัศนคติ    และอย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ในขบวนได้เรียนรู้อุดมการความเสมอภาคหญิงชายไปด้วย  [2]    
 
    มีหนังสือเล็กๆไม่ระบุสำนักพิมพ์และปีที่พิมพ์   ต่อมาจึงรู้กันว่าพิมพ์จากหนังสือในป่าชื่อ    ชีวทัศน์เยาวชน   ซึ่งพิมพ์หลายครั้งในรูปเล่มเล็กๆ ได้รับความนิยมสูงที่สุด         ทั้งในแง่อ่านง่ายกระทัดรัด   และถูกนำไปเป็นหัวข้อศึกษาในการร่วมกันดัดแปลงตนเองของกลุ่มต่างๆ     โดยเฉพาะเยาวชนและผู้หญิง   มีอยู่ 18 หัวข้อ อาทิ   ทัศนะชนชั้น    รักประชาชน   รักชาติ   รักการใช้แรงงาน   เข้าร่วมงานรับใช้มวลชน  ประชาธิปไตย  วินัย  ท่าทีต่อศัตรู  ท่าทีต่อสหาย  วิจารณ์และวิจารณ์ตนเอง   แนวทางมวลชน   ครอบครัวและความรัก    ขยัน ประหยัด    เรียบๆง่ายๆ  ทรหดอดทน  [3]
เมื่อคาดหวังร่วมกันที่จะเป็นเยาวชนกองหน้า นักต่อสู้เพื่อสังคมใหม่   จึงมีการเรียกร้องต่อตนเองและเพื่อน เช่น ช่วงนั้นมีข่าวนักกิจกรรมชายในมหาวิทยาลัยทำนักศึกษาหญิงและกรรมกรท้อง   รวมทั้งการมีท่าทีสัมพันธ์พร้อมกันหลายๆคนอย่างไม่รับผิดชอบ   จึงเริ่มมีการวิพากษ์รักเสรี   มีการนำปัญหาที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องจนมีผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มหรือการทำงานในกลุ่ม  มาพูดคุยต่อหน้ากันอย่างตรงไปตรงมาในหลายกลุ่มที่ทำงานสนิทสนมกันอย่างมาก  เช่น  ในกลุ่มผู้หญิง  ศูนย์นักศึกษาครูฯ    กลุ่มยุวชนสยาม  ซึ่งอาจมีผลให้หลายคนรู้สึกรับไม่ได้อยู่บ้าง[4]
 ในกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์เองก็มีบางคนรู้สึกไม่เห็นด้วย     ว่าเป็นเรื่องเล็กและเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน   พอมีการจัดกลุ่มศึกษาเรื่องท่าทีต่อความรักนี้   บางครั้งพวกเราก็มีจุดอ่อน ไปสนใจถามหาตัวบุคคลว่าเป็นใครกัน   แทนที่จะพูดกันในหลักการ    คนที่รู้ก็อาจเอาไปพูดซุบซิบต่อ    อย่างไรก็ตาม  ในการพูดคุยย้อนหลังเรื่องราวนี้    เพื่อนๆน้องๆที่ร่วมรำลึกความหลังกันก็ยอมรับว่า   การเรียกร้องให้เยาวชนดัดแปลงตนเอง  ถือเป็นการศึกษาศีลธรรมที่ดี   เป็นคุณธรรม  จริยธรรมที่ทุกคนควรจะมี   นอกจากจะมีอุดมการณ์ที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาชน  ซึ่งจะช่วยเป็นกรอบและฉุดรั้งพวกเราเยาวชนหญิงชายมิให้ถลำผิดลงไป    เตือนให้ชายมีจิตสำนึกให้เกียรติต่อผู้หญิง   ในการทำงานเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาและวิจารณ์ร่วมกันก็ช่วยเตือนสติซึ่งกันและกัน   เพราะเราจะใช้เวลากับเพื่อนและกิจกรรมมากกว่าในครอบครัว  ...  แต่การมีภาพคนดีเป็นกรอบตายตัวไว้    โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อจำกัดของแต่ละคนและวิวัฒนาการของสังคม    ก็อาจมีท่าทีที่เป็นปัญหาบ้าง

ช่วงเวลานั้นสมาชิกในกลุ่มผู้หญิงจะโดนแซวเป็นประจำ  ว่าพวกเราเป็นนักตรวจสอบ     เรื่องรักเสรีบ้าง   กินเหล้าบ้าง  แต่ก็มีผลสะเทือนที่ดีตรงที่นักกิจกรรมชาย   ถ้าจะพูดหรือมีท่าทีไม่ค่อยดีเกี่ยวกับผู้หญิงก็จะต้องระมัดระวังมากขึ้น   โดยเฉพาะเรื่องเที่ยวผู้หญิงถือว่าร้ายแรงทีเดียว    ใครจะไปทำอะไรไม่ดีก็ต้องแอบๆไป      ถือเป็นการสร้างเกณฑ์ของสังคมเพื่อกระตุ้นจิตสำนึก        ซึ่งประเด็นความเสมอภาคหญิงชายเป็นเรื่องชัดเจนจนถึงปัจจุบันนี้ว่า     ที่แก้ไขยากที่สุดก็คือการเปลี่ยนทัศนคติของคนนี่เอง  ทั้งผู้หญิงผู้ชาย   และถ้ากลุ่มที่อยู่ในฐานะนำของสังคมช่วยกันเป็นแบบอย่างที่ดี    และร่วมกันรณรงค์จิตสำนึกโดยปลูกฝังทัศนะที่ถูกต้องตั้งแต่เยาวชนทั้งหญิงชาย     ความเสมอภาคหญิงชายก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน



   [1] ในเรื่องปีศาจ  สาย  สีมา  ลูกชาวนาที่ไปรักกับรัชนี  ลูกผู้ดี จนถูกเหยียดหยามอย่างหนัก   ก็ได้สร้างวาทะที่คมคายในการต่อสู้ทางจิตสำนึก     ทำให้รัชนีตัดสินใจออกจากบ้านเพื่อออกมาสู่โลกและชีวิตใหม่      โดยไม่ยอมอยู่ในครอบครัวที่ไม่เปิดอิสรภาพและทางเลือกแก่เธอเลย
                ท่านเข้าใจผิดที่คิดว่าผมจะลอกคราบตัวเองขึ้นเป็นผู้ดี    เพราะนั่นเป็นการถอยหลังกลับ      เวลาได้ล่วงไปมากแล้ว    ระหว่างโลกของท่านกับโลกของผมมันก็ห่างกันมากมายออกไปทุกที     ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า  ความคิดเก่า  ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัวและไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้        เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้าง ปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ...(เสนีย์, 2543  : 192)
   [2]มีหนังสือที่เน้นการเข้าใจต่อ(โลกทรรศน์ที่ถูกต้องในการรับใช้ประชาชน    อาทิ อนุช  อาภาภิรม ,โลกทรรศน์เยาวชน,และ  หนุ่มสาวคือชีวิต(สำนักพิมพ์วรรณศิลป์ ,มิถุนายน 2517)     ส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกร้องและดัดแปลงตนเอง (ชีวทัศน์เยาวชน)  อาทิ
                 ชีวิตกับความใฝ่ฝัน’ โดยบรรจง  บรรเจอดศิลป์(สำนักพิมพ์ดอกหญ้า,กันยายน 2521)  ในบทว่าด้วย  มองเห็นประชาชน’:  
        ..เธอจะต้องไม่ดูหมิ่นการทำงาน  ไม่ดูหมิ่นประชาชนคนงาน     เพราะเขาได้อุทิศแรงงานของเขาเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ...ในแง่นี้  เธอจะต้องรักประชาชน  พึ่งประชาชน  เพื่อประชาชน  และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน   เยาว์  ในวิถีดำเนินอันยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์  และในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อแสวงหาสัจจะของประชาชนนั้น  เธอเป็นเสมือนน้ำหยดหนึ่งในมหาสมุทรเท่านั้น  เพียงน้ำหยดหนึ่งเท่านั้นย่อมไม่สามารถจะกลายเป็นละลอกคลื่นอันมหึมาที่จะถล่มฟ้าละลายดินได้  ฉะนั้น   เธอจงมีอหังการต่อศัตรูเถิด   แต่เธออย่ามีอหังการต่อประชาชน  ต่อมิตรและต่อสหายของเธอ  (น.56-57)
    สารแด่นิด  โดยประสานที่พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ปิตุภูมิ  ในวันสตรีสากล  8 มีนา2500   พิมพ์ครั้งที่สองโดยกลุ่มดรุณีเหล็ก  เนื่องในวันเยาวชน-ประชาชนปฏิวัติ  14 ตุลาคม 2517     และพิมพ์ครั้งที่สามโดยกลุ่มดรุณีสยาม  ในวันสตรีสากล 8 มีนา 2519   ประสานได้สรุปตอนหนึ่งว่า ถ้าหากว่า  เสียงกระซิบกระซาบระหว่างหนุ่มสาว  เป็นเสมือนหนึ่งมโหรีที่ดีดด้วยพิณสวรรค์แล้ว  เสียงมโหรีนี้จะเสนาะเพราะพริ้งยิ่งขึ้น เมื่อประสานกับเสียงเพลงสดุดีชัยชนะของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย    ที่เอาชนะต่อคนและธรรมชาติ  เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพและอิสรภาพให้ยืนยงถาวร (น.39)
      คิดอย่างเยาวชนใหม่ ในหัวข้อเคารพสตรี :   “การไม่เคารพสตรีเป็นปรากฏการณ์ที่ชั่วร้ายอย่างหนึ่งของสังคมเก่าซึ่งเราจะต้องกำจัดให้สิ้นซาก..ในหมู่เยาวชนเราไม่น้อยที่ติดเอาความคิดของชนชั้นขูดรีด    หลอกลวงและถือเอาผู้หญิงเป็นเครื่องเล่น   ทอดทิ้งภรรยาของตน... ยังมีเยาวชนบางคนติดเอาความคิดแบบศักดินา  เขาถือเอาภรรยาของตนเหมือนบ่าว  บังคับต่างๆนานา    ทุบตีด่าว่าตามชอบใจหรือดูถูกผู้หญิงอยู่ในใจ  ถือว่าอย่างไรก็สู้ตนไม่ได้   นี่ก็เป็นความคิดที่ไม่ถูก  เนื่องจากความแตกต่างกันทางธรรมชาติ เราไม่ควรเรียกร้องให้ผู้หญิงต้องทำงานทุกอย่างให้เหมือนผู้ชาย   และในการทำงานผู้ชาย  ผู้หญิงบางคนโดยเฉพาะผู้หญิงแม่บ้านแม้ว่าจะก้าวหน้าช้ากว่าในบางด้าน  แต่นั่นเป็นเพราะสาเหตุต่างๆโดยเฉพาะคือผลสะท้อนของสังคมเก่า     ซึ่งเราจะถือเป็นสาเหตุในการดูหมิ่นพวกเขาไม่ได้เป็นอันขาด     ดังนั้น   ระหว่างผู้หญิงผู้ชายต้องเคารพกันช่วยเหลือกัน  และก้าวหน้าไปด้วยกัน   ปรากฏการณ์ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามสตรีไม่ว่าด้วยข้ออ้างใดๆ    ล้วนผิดทั้งสิ้น    โดยเฉพาะการทุบตีด่าว่าและทอดทิ้งภรรยา     เป็นพฤติการณ์ที่ควรตำหนิอย่างเข้มงวด(น.120-121)     (ไม่ระบุผู้เขียนและที่พิมพ์  ต่อมาพิมพ์ในชื่อ  แด่...เยาวชน  อีกครั้งหนึ่ง โดยชมรมแสงดาว )

    [3]ในบทครอบครัวและความรัก :“เมื่อนำปัญหาความรักมาเปรียบเทียบกับปัญหาทั้งหมดของชีวิตมาเปรียบกับงานปฏิวัติแล้ว   ความรักระหว่างเพศก็เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น      แต่อีกด้านหนึ่ง  เราก็ไม่ควรถือความรักเป็นของเล่น.    ถ้าวันนี้ท่านรักคนนี้  พรุ่งนี้รักคนโน้น  เปลี่ยนคนรักเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว   ท่านก็ได้ทำให้ตัวท่านเองและคนรักของท่านต้องเสียกำลังใจ   กำลังกาย   เวลาเรียนและเวลาทำงานไปเปล่าๆ    นำความยุ่งยากมาสู่และทำให้ผู้อื่นต้องระทมขมขื่น .     ท่าทีเช่นนี้เป็นการหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น    เป็นท่าทีของชนชั้นขูดรีด.
     เยาวชนที่ก้าวหน้าควรจัดการปัญหาความรักเช่นนี้คือ   1) ถ้าท่านอายุยังน้อย     ถ้าแต่งงานแล้วจะขัดขวางการงานและการเรียน     ท่านก็ควรรอไปก่อนอย่าด่วนสร้างความรักหรือแต่งงานเร็วเกินไป    2) เมื่อถึงเวลาสมควรจะรักกันได้    ท่านควรเลือกเป้าหมายที่มีทัศนะการเมืองไม่ขัดกัน  และถ้าแต่งงานกันแล้วก็ไม่ก่อผลเสียแก่งงานปฏิวัติ.   ท่านอย่าถือรูปร่างหน้าตาเงินทองยศศักดิ์เป็นหลัก   แต่ควรถือคุณความดีของเขาเป็นหลัก     คือถือเอาการรับใช้ประชาชนของเขาเป็นหลักในการเลือกคู่ครอง.    ถ้าเขาเห็นแก่ตัวแล้ว  ทำตัวไม่เป็นมิตรต่อประชาชน  ท่านก็ไม่ควรรักเขา..3)  ทั้งสองฝ่ายควรรักกันด้วยความสมัครใจ  ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรักข้างเดียว  4)  หลังจากแต่งงานแล้ว   ท่านต้องรักกัน  เคารพกัน  ช่วยเหลือกัน  ก้าวหน้าไปด้วยกัน.    ผลักดันให้ต่างฝ่ายต่างถืองานปฏิวัติเป็นใหญ่   เอาผลประโยชน์ของครอบครัวไปขึ้นต่อผลประโยชน์ของการปฏิวัติ   ช่วยกันอบรมบ่มสอนลูกให้เป็นคนดีรับใช้มวลชนต่อไป    ท่านต้องไม่ประพฤติตนเหลวแหลก   ไม่สำส่อนทางเพศ   เป็นแบบอย่างอันดีของประชาชนในการดำเนินระบอบผัวหนึ่งเมียเดียว (น.183-186)

     [4]กระแสชล (นามแฝง)ของสุกัญญา  พี่สาวฉัน  ที่เขียนคอลัมน์ผู้หญิงชื่อ เล็บ’  ในนสพ.เสียงใหม่ ช่วงปี 2517-18  ซึ่งจะเขียนสะท้อนภาพของผู้หญิงแบบใหม่  เชิดชูผู้หญิงผู้ใช้แรงงานและเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ    ครั้งหนึ่งเปิดประเด็นวิจารณ์รักเสรี  โดยเฉพาะผู้ชายที่อยู่ในขบวนแถวของการต่อสู้   ในความหมายไม่ให้มีรักแบบเผื่อเลือกซึ่งทำให้เสียหายต่อผู้หญิง  และทำให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันในกลุ่มเสียหาย  ต่อมาฤดี  เริงชัย คอลัมน์สตรีใน’ อธิปัตย์’ ของศูนย์กลางนิสิตฯวิจารณ์เรื่องนี้ต่อ   ซึ่งในความเป็นจริงมีกรณีเช่นนี้จริง  ประกอบกับมีการศึกษาชีวทัศน์เยาวชน   ทำให้มีการวิจารณ์ในประเด็นเหล่านี้ขยายวงต่อไป   

การต่อสู้กับค่านิยมแบบศักดินา และทุนนิยม : ผู้หญิงในวรรณคดี และ การประกวดนางงาม(ตอน ๗ การหลอมรวมอุดมการณ์เฟมินิสต์ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน)


การต่อสู้กับค่านิยมแบบศักดินา  และทุนนิยม :
ผู้หญิงในวรรณคดี    และ  การประกวดนางงาม







นงลักษณ์  เทวะศิลชัยกุล ช่วยฉันฟื้นความทรงจำที่เราทั้งสองคน   กลุ่มผู้หญิงและกลุ่มอิสระ  ร่วมกันจัดอภิปรายและช่วยกันเขียนเรื่องราวในนิทรรศการ มุ่งวิพากษ์วิจารณ์ซากเดนความคิดแบบศักดินาที่ส่งผลต่อผู้หญิงมายาวนาน  วิเคราะห์ค่านิยมที่ปลูกฝังทรรศนะกดขี่ต่อผู้หญิงจากวรรณคดี    ซึ่งช่วงนั้นมีการโต้แย้งกันอย่างคึกคักจนมีบางคนใช้คำว่า เผาวรรณคดี   ซึ่งแท้จริงแล้ว   ไม่มีความคิดรุนแรงกันถึงขนาดนั้น     เพียงแต่เน้นที่การคัดค้านความคิดแบบเก่าๆ   ที่มอมเมาผู้หญิง และทำให้ผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิงนั่นเอง
งานนี้จัดที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์อยู่หลายวัน   บรรยากาศคึกคักมาก ถือเป็นการรณรงค์มิติจิตสำนึกเรื่องผู้หญิงที่ส่งผลสะเทือนไม่น้อย   เท่าที่พอจำได้มีสมัย  สนทอง(อาภาภิรม)  สนทะเล  จากเดลินิวส์ มาร่วมอภิปราย  
ข้อเขียนของสมชาย  ปรีชาเจริญ (จิตร  ภูมิศักดิ์)เรื่อง   อดีต  ปัจจุบัน  และอนาคตของสตรีไทย   ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2500   เริ่มมีการนำมาพิมพ์เผยแพร่ใหม่ เป็นเล่มหนึ่งที่มีส่วนทำให้ผู้หญิงตื่นตัวกันมาก และรู้สึกเห็นจริงไปด้วย    รวมทั้งผู้ชายจำนวนมากก็เข้าใจผู้หญิงมากขึ้น...
    ปัญหาความเสมอภาคหรืออีกนัยหนึ่งความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย   เป็นปัญหาที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของมันเองโดยเฉพาะ       เป็นเวลาอันนานนับด้วยศตวรรษทีเดียว         ตลอดช่วงระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่หญิงได้ถูกกดขี่  เหยียดหยามและเหยียบย่ำให้ทรุดลงสู่ก้นบึ้งแห่งการเป็นผู้พึ่งพิง  เป็นเบี้ยล่างของบรรดาชายทั้งมวล   จากการมองย้อนหลังกลับไปในประวัติศาสตร์   จะพบว่าหญิงไทยทั้งมวลนั้น    นอกจากจะถูกกีดกันไว้ให้อยู่ต่างหากจากความเคลื่อนไหวของชีวิตทั้งในด้านการจัดระบบเศรษฐกิจ  การเมืองและสังคมแล้ว   หญิงไทยทุกชั่วชนที่ผ่านมายังถูกเหยียบยำคุณค่าแห่งการเป็นคน   จนเหลือคุณค่าซึ่งถ้าจะยังมีอยู่   ก็เพียงเป็นวัตถุบำบัดความใคร่และทาสรับใช้ในเรือนผู้ซื่อสัตย์     ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงอันบังคับอยู่ประการเดียว    คือดูแลรักษาบ้านเรือน อันหมายรวมถึงการทำครัว  ทำความสะอาดบ้าน  ซักรีดเสื้อผ้า   อุ้มท้อง   ให้กำเนิดลูก   เลี้ยงลูกและงานอื่นๆในข่ายนี้ซึ่งมีอีกมากมาย  และก็โดยเหตุที่หญิงไทยและแม้หญิงแห่งชนชาติอื่น ได้ถูกลดคุณค่าลงเป็นเพียงวัตถุบำบัดความใคร่  และทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์เช่นนี้เอง        เธอจึงมิได้มีบทบาทในชีวิตทางด้านอื่นนอกเหนือไปจากนี้    เป็นต้นว่า   ชีวิตทางการเมือง  แน่นอนผลของมันก็คือ       หญิงกลายเป็นเพศที่โง่เขลา   งมงาย   ไร้ความรู้  ความสามารถ       และท้ายที่สุดก็ตกเป็น   ช้างเท้าหลัง    ตามสำนวนไทย..   (สมชาย,:64-65)
    ในยุคหลังก็มีข้อเขียนทั้งบทความ  บทกวี  เกี่ยวกับเรื่องค่านิยมที่กดขี่และมอมเมาผู้หญิงจำนวนมาก[1]   รวมทั้งการจัดการอภิปราย    นิทรรศการอีกหลากหลายเรื่องราว   ที่เป็นการรณรงค์จิตสำนึกต่อปัญหาผู้หญิง  ดังนั้น  เมื่อจะมีการหวนจัดประกวดนางสาวไทยในงานวชิราวุธานุสรณ์    วังสราญรมย์อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่หยุดไปนานหลายปี   ทำให้กลุ่มผู้หญิงไปชักชวนกลุ่มอิสระต่างๆ    เช่น  กลุ่มสภาหน้าโดม    กลุ่มเศรษฐธรรม    ชมรมนิติศึกษา  ในธรรมศาสตร์    สภากาแฟ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์   กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่  จุฬาฯ     รวมทั้งกลุ่มยุวชนสยาม     จัดการรณรงค์คัดค้านการประกวดนางสาวไทย  
   หนังสือพิมพ์เช้าวันที่ 28  พฤศจิกายน 2515  ลงข่าวและภาพชูโปสเตอร์หราของกลุ่มประท้วงกลางที่ประกวดนางสาวไทย   ไพจง  ไหลสกุล  เล่าว่า:
    เมื่อกลุ่มอิสระต่างๆไปถึงงานวชิราวุธ   ก็เดินจับกลุ่มไปยังเวทีประกวดนางสาวไทย    แล้วพยายามหาซื้อตั๋วราคาถูกที่สุดเข้าไป   พอบรรดาผู้ประกวดนางสาวไทยเดินออกมา   พวกเขาก็คลี่โปสเตอร์ชูขึ้นประท้วงและแจกใบปลิวประณามการประกวดนางสาวไทย   ว่าเป็นการทำลายคุณค่าของหญิงไทย   มีผลเสียต่อศีลธรรมและประเพณีอันดีงามของสังคมไทย ฯลฯ ซึ่งเมื่อนักข่าว  ช่างภาพเห็น   ก็พากันถ่ายรูปพวกเขาอย่างจ้าละหวั่น     ส่งผลให้การประกวดนางสาวไทยปั่นป่วนไปพักหนึ่ง...   (จรัล ,2546 :118)    
    พี่จรัล  ดิษฐาอภิชัย  เล่าว่า  แม้เขาเองจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการต่อต้านครั้งนี้   เนื่องจากต้องการให้กลุ่มผู้หญิงและกลุ่มอิสระไปร่วมกันเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น      ที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)ในยุคของ ธีรยุทธ  บุญมี  เป็นเลขาธิการ   จะจัดขึ้นในอีกสามวันข้างหน้ามากกว่า    แต่การประท้วงครั้งนี้ก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงในหมู่ประชาชนว่า     การประกวดนางสาวไทยมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรอยู่หลายวัน     พี่จรัลจึงมีข้อสรุปว่า..
    แม้การเคลื่อนไหวนี้มีคนร่วมจำนวนน้อย    และค่อนข้างรุนแรงในสายตาผู้จัดการประกวดนางสาวไทย   และบรรดาสาวสวยผู้เข้าประกวด    แต่เมื่อเป็นข่าวหนังสือพิมพ์และการอภิปราย ของสาธารณชน     ทำให้ภาพพจน์ของขบวนการนักศึกษาโดยรวมชัดเจนยิ่งขึ้นว่า  นักศึกษามีความคิดอุดมคติที่ดีงามเช่นไร(น.118)     

สลิลยา  มีโภคี ช่วยย้อนความจำช่วงนี้ว่า   หลังจากเราไปประท้วงแล้ว   มีการมาสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ร่วมกับทุกกลุ่มอิสระที่ไปด้วย      มีการประเมินกันทั้งข้อดี-ข้ออ่อน[2]
ฉันยืนยันได้ว่า  การรณรงค์ครั้งนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นแต่อย่างใด  ฉันและเพื่อนๆกลุ่มอิสระหลายมหาวิทยาลัยไปประชุมเตรียมงานร่วมกับ ธีรยุทธ  บุญมี  ที่ตึกจักรพงษ์   ของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   เราตัดชุดนักศึกษาผ้าดิบ รวมทั้งเสื้ออื่นๆใส่กันอย่างเอิกเกริก   และร่วมเดินขบวนกันอย่างเต็มที่     บางทีผู้คนมักจะกังวลเกินไปเช่นนี้  มักจะคิดแต่ว่าถ้าผู้หญิงไปเคลื่อนไหวประเด็นจิตสำนึกต่อผู้หญิง   จะไปกระทบหรือขัดขวางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย     ทั้งที่พวกเขาควรจะมาสนับสนุนและร่วมกันมากกว่า  เพราะจิตสำนึกที่ดีต่อผู้หญิงล้วนสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้งสิ้น
ฉันและน้องๆจำได้ว่า   เราจะพูดคุยเรื่องใกล้ตัวกันในกลุ่มผู้หญิง  เช่น สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง    ที่จะมีสิทธิร่วมในการตัดสินใจที่จะทำแท้งเมื่อคิดว่าจำเป็น    ( แต่มิใช่การทำแท้งเสรีเพื่อให้ผู้หญิงไปเที่ยวเสเพล หรือเสรีทางเพศตามที่มักนำไปโจมตีกัน)      การทำความเข้าใจชีวิตโสเภณี     ถกเถียงกันถึงการประกวดนางงาม   และภาพของผู้หญิงในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ     ความรักและครอบครัว         การไม่มีสถานเลี้ยงดูเด็กสำหรับกรรมกรและคนจนที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง  จนถึงการลุกขึ้นสู้ของผู้หญิงต่างประเทศ      ควบคู่กับการศึกษาเรียนรู้จากวรรณกรรม    วิเคราะห์ปัญหาสังคม    การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย     และกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์  

การได้รับรู้ปัญหาสังคม    รู้ซึ้งถึงปัญหาที่ผู้หญิงได้รับทีละเล็กละน้อยในแง่มุมต่างๆของชีวิตผู้หญิง     ทำให้ฉันและเพื่อนๆน้องๆยิ่งเกิดจิตสำนึกที่จะต่อสู้เพื่อการพัฒนาในวงกว้างต่อมา
 ความมีชีวิตชีวาในกลุ่มผู้หญิงที่เรายอมรับร่วมกันทุกรุ่นคือ    การที่เรามีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้ใจกันลึกซึ้ง     การพูดคุยกันได้ทั้งกว้างและลึก    ทั้งเรื่องในครอบครัว        จนถึงปัญหาการไปทำกิจกรรมต่างๆในกลุ่มอิสระอื่นๆ   ในนามพรรคพลังธรรมหรือ อ.ม.ธ.   มีความอบอุ่นและใส่ใจดูแลกันและกัน   บรรยากาศเช่นนี้จะต่างจากกลุ่มอื่นๆ    จึงเสมือนหนึ่งการสร้างพลังให้กับทุกคน   และกลายเป็นพลังของกลุ่มไปด้วยเช่นกัน        
สมาชิกกลุ่มผู้หญิงจึงเริ่มต้นจากความหลากหลาย   มีทั้งนักเรียนทุน เอเอฟเอส ที่สนใจการต่อสู้ของขบวนสิทธิผู้หญิงในตะวันตก     มีผู้ศรัทธาต่อแนวคิดสังคมนิยม     และมีทั้งผู้ที่สนใจศาสนา   แต่ส่วนใหญ่เมื่อผ่านการทำกิจกรรมไประยะหนึ่ง      ท่ามกลางกระแสกดดันจากระบอบเผด็จการ   ได้เรียนรู้ความคิดประชา ธิปไตย   กระแสอุดมการสังคมนิยม ก็มีผลทำให้ทุกคนโลดแล่นไปกับขบวนประชาธิปไตย    และเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในเวลาต่อมา    



   [1]ระบบทุนนิยมปัจจุบันพัฒนาทุกรูปแบบ  ที่จะหาประโยชน์จากเรือนร่างของผู้หญิง     ไม่ว่าการพิมพ์ภาพโป๊เปลือยของผู้หญิง  การโฆษณาสินค้า   การค้าผู้หญิง    บังคับผู้หญิงขายบริการทางเพศ   การเปิดโปงการครอบงำกดขี่ทางจิตสำนึกต่อผู้หญิงจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก   มีบทกวีจำนวนมาก เช่น นายสาง มือสตรีนั้นหนามหาศาลในน.ส.พ.ปิตุภูมิฉบับที่ 7ปีที่ 1วันที่10มีนาคม  2499    เพื่อเปิดโปงทั้งยุคศักดินาและยุคทุนนิยม   และปลุกเร้าให้ผู้หญิงตระหนักถึงพลังตน
                                                                               
   [2] จิตติมา  พรอรุณ  สรุปในวิทยานิพนธ์ของเธอว่า   การประกวดนางงามเป็นประเด็นหนึ่งที่กลุ่มสตรีทั้งสองฝ่าย (เสรีนิยมและสังคมนิยม)ต่างก็มีความคิดเห็นที่คัดค้านร่วมกัน   โดยกลุ่มสตรีฝ่ายสังคมนิยมมีการเคลื่อนไหวต่อต้านการประกวดนางงามที่ชัดเจนกว่าฝ่ายเสรีนิยม   แม้จะไม่ได้ประสานงานกัน   แต่ก็เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน  และยังได้สร้างแนวร่วมที่สำคัญ   เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบให้การประกวดความงามต้องซบเซาลงชั่วระยะกว่า10 ปีทีเดียว(2516-2526) ( จิตติมา,2538 : 216-8)

โซ่ตรวนของผู้หญิง ต้องฝ่าด่านตั้งแต่บ้าน(หอพัก) และ การแต่งกาย: การหลอมรวมอุดมการณ์ เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ตอน ๖ ร่วมเฉิมฉลอง ๑๐๐ ปีวันสตรีสากล


โซ่ตรวนของผู้หญิง  :ต้องฝ่าด่านตั้งแต่บ้าน(หอพัก) และ  การแต่งกาย




ลูกๆของเรากำลังก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งสัจจธรรมและเหตุผล,    นำความรักมาสู่จิตใจของมนุษย์เผยให้เห็นสวรรค์ใหม่  และจุดดวงไฟใหม่ขึ้นในโลก ไฟอันไม่อาจดับมอดได้แห่งดวงวิญญาณ.  จากเปลวปลาบของไฟนี้     ชีวิตกำลังงอกงามแตกหน่อขึ้น,        มันเกิดจากความรักของลูกๆของเราที่มีต่อมวลมนุษยชาติ.   ใครเล่าจะดับระงับความรักนี้ได้?    ใครหน้าไหน?    พลังอะไรเล่าจะสามารถทำลายมันได้?       พลังอะไรหรือที่จะขัดขวางมันได้?     โลกได้ให้กำเนิดมันแล้ว,           และชีวิตเองทีเดียวที่พร่ำเพรียกปรารถนาชัยชนะของมัน,    ชีวิตนั้นเอง
                                                              เปลาเกยา   นินอฟนา
แม่    โดย   แม็กซิม  กอร์กี้     (จิตร  ภูมิศักดิ์  แปล)

แต่ความรักมีความหมายมากกว่านั้น    ความรักที่เป็นเพียงความสุข    หรือไม่ก็ความใคร่ของคนคนหนึ่ง   หรืออย่างมากที่สุดสองคนเท่านั้น    เป็นความรักอย่างแคบ   ความรักของคนเราควรจะขยายกว้างออกไปถึงชีวิตอื่น  ถึงประชาชนทั้งหลายด้วย    ชีวิตของคนเราจึงจะมีคุณค่าและมีความหมายไม่เสียทีที่เกิดมา    ดิฉันจึงว่า    หากชีวิตเรามีความรัก    และความรักนั้นสามารถผลักดันชีวิตของคนเราให้สูงส่งยิ่งขึ้นกว่าชีวิตของสิ่งอื่น  นกมันอาจจะร้องเพลงได้เมื่อมันนึกอยากจะร้อง  โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของชีวิตนกอื่น   แต่คนเราไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น                                                                                                                                                                                                                                                  วัลยา
                                                                                                   ใน  ความรักของวัลยา








ภาพนักเรียนนักศึกษาหญิงชุมนุมค้างวันค้างคืนในธรรมศาสตร์   หรือบนถนนราชดำเนิน  ที่ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในยุคนี้       แต่ฉันลองย้อนรำลึกก้าวเดินของผู้หญิงแต่ละคน   รู้ดีว่ามีความยากลำบากอย่างมากในการทำความเข้าใจกับพ่อแม่ย่ายาย  ที่ล้วนแต่ไม่เห็นด้วย   ในการไปค้างบ้านเพื่อน   ค้างในการชุมนุม  กระทั่งการออกไปค่ายพัฒนาชนบท   เป็นภาพสะท้อนความจริงของสังคม  ที่ถ่วงรั้งผู้หญิงในการมีโอกาสที่เท่าเทียมกับชายในการศึกษาเรียนรู้   โอกาสทำงานเพื่อแสดงศักยภาพของตนเองและทำงานรับใช้สังคม           
    สุชีลา  ตันชัยนันท์  ประธานกลุ่มผู้หญิงสิบสถาบัน และ นักโทษหญิงตอน ๖ ตุลา  ล่าถึงความแตกต่างในการเลี้ยงลูกสาวกับลูกชายว่า    เธอต้องเข้าครัวช่วยแม่ทำอาหารทุกวันหลังจากทำการบ้านเรียบร้อย     ขณะที่เด็กผู้ชายอิสระจากงานในครัวเรือน    พ่อก็เห็นดีเห็นงามให้ลูกสาวเป็นแม่ศรีเรือน  ไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ไปเที่ยวนอกบ้านกับเพื่อนๆ     ถ้าจะไปไหนพ่อจะไปรับไปส่ง   และไม่ได้รับอนุญาตให้หัดขับรถด้วย    เธอต้องแอบไปหัดขับกับพี่ชาย   แอบไปเล่นลูกหิน  ลูกข่าง  หัดว่ายน้ำคลอง   และช่วยพี่ชายทำงานฝีมือของโรงเรียนแบบผู้ชาย  เช่น  แกะสลักไม้  (สุชีลา,2546 : 35-46)
เมื่อจะออกค่ายอาสาพัฒนาครั้งแรกที่โคราช    เธอเกือบต้องดับเครื่องชน  เมื่อพ่อไม่อนุญาต แต่พี่ชายอาสาเข้ามารับผิดชอบเต็มที่    พ่อจึงมีท่าทีอ่อนลง     ซึ่งการออกค่ายครั้งนี้ทำให้สุชีลาได้เปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่  โดยมีนักศึกษาหญิงเพียงห้าคนเท่านั้นที่ฝ่าด่านของครอบครัวไปค่ายได้...  เมื่อจะต้องไปค้างบ้านเพื่อนเนื่องจากกิจกรรมเข้มข้นขึ้น   แม้พ่อจะไม่ห้ามแล้ว   แต่ย่ายังบ่นว่า 
การที่ผู้หญิงไปนอนค้างที่อื่นแม้เพียงคืนเดียว    ถ้าผู้ชายรู้เข้าเขาจะยกขบวน ขันหมากกลับบ้านเลย     เพราะถือว่าผู้หญิงเสื่อมเสียชื่อเสียงไปแล้ว...(สุชีลา :.84)

    กัญญา  ลีลาลัย (ฤดี  เริงชัย)   เล่าไว้ในหยดหนึ่งแห่งกระแสธารว่า ...ที่บ้านไม่เคยอนุญาตให้ลูกสาวไปค้างคืนที่อื่น    ทำให้ในการประท้วงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299    เมื่อปลายปี 2515 เธอไปชุมนุมได้เฉพาะกลางวัน    แต่ตอนปิดเทอมจะมีค่ายของกลุ่มยุวชนสยามที่เธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่ง     จะจัดค่ายอาสาพัฒนาฝึกกำลังคน    ซึ่งเป็นค่ายผสมผสานระหว่างค่ายอาสาพัฒนากับค่ายประชุมสัมมนา     แม่ไม่อนุญาตทำให้เธอประท้วงต่างๆนานา    พี่สาวต้องเข้าไปช่วยพูดกับแม่ให้เข้าใจจิตวิทยาของวัยรุ่น    ที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง    สุดท้ายแม่อนุญาตให้เข้าไปค่ายได้   บนเงื่อนไขที่ว่าจะต้องกลับบ้านก่อนที่พ่อจะกลับจากต่างจังหวัด     เพราะแม่ไม่กล้าบอกให้พ่อรู้แต่เธอกลับไม่ทัน  ...(ฤดี  ,2538 : 117-8
    เมื่อกลับบ้าน  คิดว่าต้องถูกพ่อทำโทษเป็นแน่   แต่พ่อวางเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น   ฉันอึดอัดมากในที่สุดฉันก็ทนไม่ได้   ต้องเปิดฉากพูดกับพ่อให้รู้เรื่องว่าพ่อคิดอย่างไรกันแน่     พ่อมองหน้าฉันเต็มตา    พูดอย่างเต็มปากเต็มคำ    ‘ทำไมป๋าต้องถามว่าหนูไปทำอะไรมานอกลู่นอกทางหรือเปล่า   ในเมื่อป๋ารู้ว่าหนูเป็นคนมีเกียรติ’     ฉันรู้สึกตื้นขึ้นมาในลำคอ   และตั้งใจในบัดดลว่า  ชั่วชีวิตนี้ฉันจะไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวังเป็นอันขาด    (ฤดี : 119)

                ในการจัดเสวนา 30 ปี 14ตุลา ย้อนรอยพลังหญิง  โดย องค์กรผู้หญิง   เมื่อ  24 สิงหาคม 2546  ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย   ช่วยให้เห็นภาพการต่อสู้ในมิติของผู้หญิงที่ลึกลงไปจากภาพด้านหน้าของประวัติศาสตร์   มีเรื่องราวเล็กๆแต่น่าประทับใจไม่น้อย...   
 มาลีรัตน์  แก้วก่า   อดีตประธานนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยขอนแก่น    เล่าถึงบรรยากาศของนักศึกษาหญิงในหอพักมหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อน 14 ตุลาว่า  :
    ...มีนักศึกษาหญิงที่ตื่นตัวมาทำกิจกรรมร่วมกัน  ทั้งที่ขอนแก่นและมาร่วมกับนักศึกษาที่กรุงเทพฯ ประมาณสี่สิบคน    ที่ออกโรงด้านกว้างมีอย่างน้อยแปดคน   และมีอีกประมาณสิบคนคอยคิดคอยเขียนคอยแนะนำอะไรๆให้อยู่เสมอ    ไม่ใช่แต่เขียนให้ผู้หญิง  เขียนให้ผู้ชายด้วย        กลุ่มผู้หญิงขอนแก่นก่อรูปขึ้นตอนมีการชุมนุมประท้วง การปลดนักศึกษารามคำแหง 9 คนกรณีทุ่งใหญ่... เราเริ่มรณรงค์อย่างง่ายๆเรื่องให้ผู้หญิงนุ่งกางเกงเข้าตึกเรียนได้     เพราะสภาพการเรียนการทำกิจกรรมของผู้หญิงควรต้องคล่องตัวกว่านุ่งกระโปรงอย่างเดียวตามระเบียบ    ก็ เริ่มจากตนเองนุ่งกางเกงตอนมีเรียนสองทุ่ม   พอเริ่มหนึ่งคนมันก็ไปเรื่อยๆ   หลังจากนั้นก็รณรงค์อย่างเปิดเผย          ตอนลงสมัครประธานนักศึกษาหญิงที่ต้องเลือกตั้งทั้งมหาวิทยาลัยช่วงปลายปี2516   ผู้ชายก็มีสิทธิเลือกด้วย   ก็ถือเรื่องนี้เป็นคำขวัญเรื่องหนึ่ง..  ...ให้ผู้หญิงนุ่งกางเกงเข้าตึกเรียนได้!’ “
  
รัชฎาภรณ์  แก้วสนิท   สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ซึ่งจบในปี 2516    ก่อน 14  ตุลา    ก็เล่าถึงความยากลำบากในการที่นักศึกษาหญิงจะออกมาทำกิจกรรมว่า...       
    ช่วงนั้นมีหนังสือวลัญชทัศน์ ฉบับภัยเขียว  ของเชียงใหม่ วิจารณ์ระบอบเผด็จการทหารอย่างรุนแรง   นักศึกษาถูกจับตามอง ต้องเคลื่อนไหวแบบลับๆ  ดิฉันเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ปีนหอหญิงได้ทุกหอ   เวลาจะแจกใบปลิวมันเดินแจกไม่ได้   ต้องแจกตามหอ  เวลาสามทุ่มหอปิดแล้วทุกคนก็เข้าห้อง  เราก็เอาไปสอดไว้ใต้ประตู   กว่าจะกลับถึงหอตัวเองสว่างพอดี...