วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2554

รำลึกก๋งกับยายวันเช็งเม้ง วัฒนธรรมจีน ลาว พวน


ฉันขอให้แม่ลองเขียนบันทึกความทรงจำเมื่อปี 2545     แม่เรียนจบเพียงชั้นป.4     แต่ตัวหนังสือก็อ่านง่ายชัดเจน     แม่เขียนเล่าไว้ว่า...

                ก๋ง(ตา)เป็นคนจีนไหหลำ เกิดที่เกาะไหหลำ  ติดตามญาติพี่น้องมาเมืองไทยเมื่ออายุ 20 ปี โดยมาอยู่ที่บ้านเกาะกา ต.ท่าแดง อ.ปากพลี  จ.นครนายก     ซึ่งเป็นหมู่บ้านเชื้อสายลาวพวนจนกระทั่งเสียชีวิต  เริ่มแรกก็มาค้าขายเล็กๆน้อยๆ  อยู่ได้สองสามปีมีเพื่อนบ้านแนะนำให้ไปขอยายที่บ้านสีเสียด ต.หินแร่ อ.ปากพลี   ยายพูดลาวพวน   ผิวคล้ำ  ค้าขายเก่ง   เมื่อยายมาอยู่ที่บ้านเกาะกาก็ช่วยก๋งค้าขายจนมีลูกสองคน     ฐานะเริ่มดีขึ้น    ก๋งจึงขอกลับไปเยี่ยมแม่ที่เมืองจีน  แม่ที่เมืองจีนจึงให้ก๋งแต่งงานเพื่อจะมีสะใภ้อยู่ดูแล    ก๋งจึงอยู่ที่เมืองจีนหนึ่งเดือนแล้วกลับประเทศไทย 











   
                ต่อมาอีกสองปีเมียที่เมืองจีนก็เดินทางมาอยู่เมืองไทย       ยายเป็นคนใจดีมาก    ยายจะเป็นคนที่คอยจดจำว่าลูกของแม่เมืองจีนเกิดปีอะไร      เดือนอะไร  ครอบครัวจึงไม่มีปัญหา   ตอนเย็นก่อนนอนลูกสองแม่ก็จะมาห้อมล้อมยายฟังนิทานทุกวัน  ตอนเกิดสงครามมีข่าวลือว่าใครเป็นคนจีนจะถูกส่งกลับประเทศจีน  ก๋งกลัวมากจึงไปขอเปลี่ยนเป็นสัญชาติไทยได้นามสกุลว่าแสงจันทร์     ตั้งแต่นั้นจนบัดนี้ก็ เป็นเวลาเกือบ 60 ปีแล้ว  
                ก๋งมีลูกกับยาย  6  คน  แม่เป็นลูกคนที่สี่   แม่เมืองจีนมีลูก 7 คน    ต่อมาเมื่อแม่แต่งงานไปแล้วก๋งไปได้เมียอีกคนหนึ่งมีลูกอีก  4   คนที่อายุน้อยกว่าลูกของแม่เสียอีก   ก๋งจึงมีลูกสาวถึง 11  คน  ลูกชายอีก 6 คน   
                หมู่บ้านที่แม่อยู่เป็นหมู่บ้านตั้งใหม่  สมัยก่อนถ้าเจ็บก็รักษากันด้วยสมุนไพร  แล้วก็ทรงเจ้า   ลูกสาวก๋งทุกคนไม่ได้เรียนหนังสือต่อ    แม่และพี่น้องทุกคนแต่งงานโดยพ่อแม่จัดการให้       ที่หมู่บ้านของแม่ไม่มีคนจีน   ก๋งก็ไม่เคร่งครัดอะไรนัก     เราอยู่กันแบบชาวบ้าน  แม่ก็เลยพูดภาษาจีนไม่ได้    พอฟังออกนิดหน่อย   แต่พูดภาษาพวนเก่ง    ส่วนพวกพี่สาวน้องสาวที่แต่งงานกับคนจีน   เขาก็พูดจีนเก่ง      บางคนที่แต่งงานกับลาวพวนยิ่งไม่รู้ภาษาจีนเลย      แม่สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก   พอรู้งูๆปลาๆ แต่พูดไม่ได้      เวลานี้ที่บ้านเกาะกามีคนที่พูดภาษาจีนได้คือพี่ชายคนโตของแม่เพียงคนเดียว   อายุก็ 80 กว่าแล้ว       ต่อไปคงจะไม่มีใครสานต่อวัฒนธรรมจีน  เหลือแต่พวกพี่สาวน้องสาวที่แต่งงานกับคนในหมู่บ้านซึ่งไม่รู้ภาษาจีนเลย    คงจะเหลือแต่ตำนานเล่าขานว่ามีก๋งมาจากเมืองจีน       เพราะลูกหลานบางคนไม่เคยเห็นก๋งและยายคนที่มาจากเมืองจีน    ส่วนแม่ก็จากบ้านมา 50 กว่าปีแล้ว  นานๆถึงจะไปสักครั้งหนึ่ง       ที่พบกันประจำคือวันเช็งเม้งปีละครั้ง  
                ยายกับก๋งลำบากมากเพราะบ้านเราอยู่ห่างจากจังหวัด 10 กว่ากิโล      ต้องเดินมาตามหัวคันนา   ก๋งมาซื้อของไปขาย  เดินมาถึงตลาดยังไม่สว่าง      ต้องมาเคาะประตูเรียกให้เจ้าของร้านเปิด  รีบซื้อของเอาไปให้มากที่สุดเท่าที่จะหาบไปไหว  กลับถึงบ้านประมาณสองโมงเช้า  กินข้าวพักเหนื่อย  แล้วก็หาบไปขายต่อหมู่บ้านอื่น  กลับมาก็บ่าย  พักเหนื่อยแล้วก็ไปเก็บผักบุ้งมาไว้เลี้ยงหมู     ส่วนยายก็หาบไปขายในหมู่บ้านที่อยู่       ชีวิตประจำวันก๋งต้องตื่นตีสอง  มาหั่นผัก   ต้มข้าวหมูก่อนไปตลาด     เป็นเช่นนี้อยู่หลายปีกว่าจะมีฐานะดีขึ้น ด้วยการประหยัดและอดออม    ก๋งกับยายลำบากเช่นนี้มาร่วม 20 ปีจึงเลิกขายของ





















   ฉันลองย้อนอดีตไปตามบันทึกของแม่    ยังจำภาพประทับใจในวิถีชีวิตที่อบอุ่นของครอบครัวใหญ่ของแม่   เกือบทุกปิดเทอมใหญ่เราสามคนพี่น้องมักจะไปที่บ้านเกาะกา   ยายที่แสนใจดีก็จะทำของอร่อยๆให้หลานกิน   เช่น  สะเดาน้ำปลาหวาน  ขนมดอกโสน  ข้าวต้มแปลกๆใส่มันเทศ   หรือมะพร้าวขูดฝอย   เราได้ไปเล่นน้ำคลองหน้าวัด  ตื่นเต้นกับปลิงตัวใหญ่ๆ    รวมทั้งนั่งเรือจากหมู่บ้านไปที่ท่าแดงเพื่อนั่งรถต่อไปจังหวัด   เวลาไปทำบุญที่วัดเด็กๆจะสนุกสนานกันมาก   เพราะมีเพื่อนมากมายและมีของกินอร่อยๆเต็มไปหมด  บางเวลาเมื่อมีการทรงเจ้ารักษาคน   เราวิ่งไปดูแล้วก็มักจะหลบกลับมาเพราะรู้สึกถึงความวังเวงและน่ากลัวทะมึนอยู่ด้วย    บ้านก๋งกับยายกว้างขวางมาก  มีกอไผ่บ้านล้อมรอบ   เก็บหน่อไม้กินได้ตลอด ครอบครัวใหญ่นี้ไม่มีเรื่องราวทะเลาะกันวุ่นวาย   กลมกลืนไปด้วยกันทั้งสามยาย      

ก๋งกับยายดำเนินชีวิตผสมผสานทั้งประเพณีจีน  ลาวพวนและไทย   เมื่อก๋งเริ่มป่วยก๋งก็สั่งซื้อโลงศพสำหรับก๋งมาตั้งไว้ในห้องกลาง   ไปซื้อที่ดินที่บ้านขอนขว้าง  อ.ประจันตคาม  จ.ปราจีนบุรี  เตรียมไว้เป็นฮวงซุ้ย    ฉันจะรู้สึกกลัวๆถ้าต้องขึ้นบ้านเวลากลางวันคนเดียว  เพราะคอยนึกถึงโลงศพของก๋ง   ในวันจัดงานศพมีการไหว้และใส่ชุดขาวตามประเพณีจีน     มีการทำบุญตามประเพณีไทย  ตั้งศพไว้ที่บ้านหนึ่งปีก่อนจะนำไปฝัง    มีปี่พาทย์และอังกะลุงมาประโคมในงาน    งานศพของยายทั้งสองก็ทำทั้งสองประเพณี  แต่ไม่เอิกเกริกเท่างานศพของก๋ง ทั้งก๋ง  ยาย   ยายเมืองจีน ถูกนำไปฝังไว้ในฮวงซุ้ยที่ก๋งเตรียมไว้ โดยมีฮวงซุ้ยของก๋งอยู่ตรงกลาง  วันเช็งเม้งก็ทำพิธีพร้อมกัน
                 ฉันไม่ได้ไปงานเช็งเม้งนานมากช่วงไปอยู่ป่า  แม้กลับมาก็ไม่ได้ไปทุกปีเนื่องจากไปอยู่ที่ จ.หนองบัวลำภูและมักจะมีภารกิจวุ่นวาย    แต่แม่  พี่ชาย และพี่สาวก็พยายามไปกันทุกปี   บางปีที่ฉันไปมีลูกหลานเหลนเกือบ 200 คนเต็มสวนที่จัดเป็นฮวงซุ้ย   พอทำพิธีเสร็จก็จะกินข้าวร่วมกัน  หาของฝากมาให้กัน    โดยเฉพาะปลาร้าที่เกาะกาขึ้นชื่อมาก  ทุกคนไม่ว่าครอบครัวจีนไทยต่างชอบกินปลาร้าและหาซื้อกลับไปเพิ่มเติมไว้กินกันทั้งปี     จำนวนมากยังเป็นชาวนาชาวสวนอยู่ที่เกาะกา   ถ้าใครมีเวลาก็จะเลยไปที่บ้านเกาะกาจนค่ำค่อยกลับบ้านหรือถือโอกาสไปนอนค้างสักคืนตามบ้านญาติพี่น้อง  สองสามปีมานี้มีการพูดคุยกันมอบให้หลานสองคนที่จบมหาวิทยาลัย    จัดทำทำเนียบลูกหลานเหลนและที่อยู่เท่าที่ทำได้    เพราะเป็นห่วงว่านานไปรุ่นหลานเหลนชักจะไม่รู้จักกันแล้ว 
ฉันประทับใจครอบครัวใหญ่นี้   ดูมีชีวิตชีวาอย่างน่าแปลก  มีทั้งคนจีนวัยชราพูดไทยไม่ชัด   และบางปียังมีลูกหลานก๋งจากเมืองจีนมาด้วย  มีทั้งลุงที่บวชนับสิบปีพูดเก่งทั้งจีน  พวน  ไทย   มีทั้งคนที่พูดได้แต่ภาษาพวน  ไม่รู้ภาษาจีน   และคนที่พูดได้แต่ไทยเช่นพวกฉันกับรุ่นหลานที่มาอยู่กรุงเทพฯ  ไม่รู้ทั้งพวนทั้งจีน มีทั้งสะใภ้ที่มีเชื้อสายเวียดนาม(จากอุบล) เขยที่พูดภาษาเขมร  มีตั้งแต่ขาวจั๊วะ  จนดำมากๆ  มีทั้งชาวนา  ข้าราชการ  ตำรวจ   ผู้ใหญ่บ้าน  นักการเมือง  นักธุรกิจ   มีทั้งคนถือพุทธ   ถือคริสต์   มีทั้งคนไม่ได้เรียนหนังสือ    เรียนจบป.๔    จนจบมหาวิทยาลัย และคนไปเรียนเมืองนอก