วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

มุมมองนักสังคมนิยมเรื่องผู้หญิง :ศรีบูรพา จิตร ภูมิศักดิ์ และ ซีโมน เดอโบวัวร์ การหลอมรวมอุดมการณ์ เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ตอน๒ (มาร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี วันสตรีสากล)








เฟมินิสต์ ๑๔ ตุลา :การหลอมรวมอุดมการณ์ เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ตอน๑ (เฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี วันสตรีสากล)


มาร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี  วันสตรีสากล ๘ มีนาคม ๒๕๕๔

บันทึกการศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิง : “เฟมินิสต์ ๑๔ ตุลา”

 “การหลอมรวมอุดมการณ์  เฟมินิสต์   ประชาธิปไตย   สิทธิมนุษยชน”

                           ตอน ๑ โดย       สุนี ไชยรส

 มีการโฆษณาว่าเฟมินิสต์ไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว  แต่จริงๆแล้วมันยังมีชีวิต    และกำลังเติบโตไปข้างหน้า      เราต้องเรียนรู้จากอดีตและทำงานเพื่ออนาคต    ที่หลักการของเฟมินิสต์จะถูกนำมาปฏิบัติในทุกมิติของชีวิต         ทั้งส่วนตัวและนโยบายสาธารณะ    เพราะเฟมินิสต์เป็นการต่อสู้เพื่อทุกคน
                                                        เบลล์    ฮู้คส์  (bell hooks)
จากหนังสือของ เบลล์  ฮูคส์  ( bell  hooks)     เฟมินิสต์เพื่อทุกคน(Feminisms is for Everybody)     มีความน่าสนใจและมีคุณค่า   เป็นหนังสือที่อ่านง่ายและมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในสองประเด็น  กล่าวคือ
                ประเด็นแรก   เพื่อให้ผู้คนทั่วไปทั้งหญิงชาย   โดยเฉพาะคนยากจนที่ไม่ค่อยมีโอกาสศึกษาได้อ่านเข้าใจโดยง่าย   จากแรงบันดาลใจของผู้เขียนที่เป็นเฟมินิสต์ผิวดำและมีโอกาสได้เรียนระดับมหาวิทยาลัย  แต่พบว่าหนังสืออธิบายง่ายๆเกี่ยวกับเฟมินิสต์มีน้อยมาก    ในสายตาคนทั่วไปจึงไม่เข้าใจภาพลักษณ์ของเฟมินิสต์และไม่มีสำนึกร่วม    กระทั่งคำว่าเฟมินิสต์สับสนและถูกเบี่ยงเบนกลายเป็น พวกต่อต้านผู้ชาย  และพวกขี้โมโห(หน้าvii)      ทั้งนี้ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า   การจะเปลี่ยนแปลงสังคมที่ถูกครอบงำโดยระบบชายเป็นใหญ่ได้อย่างแท้จริง       ทุกคนทั้งหญิงชายต้อง ตระหนักและมีจิตสำนึกต่อแนวคิดเฟมินิสต์     โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องต่อสู้กับแนวคิดเก่าๆที่ครอบงำแต่ละคน    ทั้งหญิงชายจึงจะมีชีวิตที่มีความสุข    บนพื้นฐานของความรัก  เสรีภาพและความยุติธรรม    เชื่อมั่นอย่างจริงใจว่า  ทุกคนเกิดมาเสมอภาคกัน(น. x)
ประเด็นที่สอง  ผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์แนวคิด ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของขบวนการเฟมินิสต์ที่ผ่านมาในอดีตอย่างแหลมคม     โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ในเชิงปฏิรูป    ที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้หญิงผิวขาว  และผู้หญิงชนชั้นอภิสิทธิ์จำนวนน้อย   ในการชูประเด็นการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและความเสมอภาคทางเพศ     แต่ละเลยจุดยืนทางชนชั้นและการเหยียดผิว     และไม่ได้กระทบต่อโครงสร้างระบบชายเป็นใหญ่ที่กดขี่ขูดรีดทางเพศ       ทำให้ผู้หญิงชั้นล่างจำนวนมากได้รับประโยชน์จากการต่อสู้ที่ผ่านมาน้อยมาก     และนับวันการกดขี่ขูดรีดยิ่งเป็นภาระที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น     เพราะภาพลวงตาและการโฆษณาว่า   สถานะของผู้หญิงดีขึ้นเรื่อยๆ  เธอจึงเสนอให้จำกัดความให้ชัดเจนลงไปว่า  เฟมินิสต์ คือการต่อสู้เพื่อยุติลัทธิเพศนิยม   และขจัดการกดขี่ขูดรีดทางเพศให้หมดสิ้นไป   มิใช่เพียงเพื่อสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ  (น. 117)
               
                ...ฉันเองผ่านประสบการณ์และเรียนรู้ในชีวิตของผู้หญิงรอบตัวมากมาย  ได้ตระหนักแล้วว่า   ผู้หญิงคือมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี  มีสิทธิเสรีภาพ   มีพลังของตัวเอง  และความเสมอภาคในเบื้องต้นนั้นอยู่ที่หัวใจและการกระทำของตัวเราเองก่อน   ในอันที่จะแสดงศักยภาพของเรา เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของเรา   และผู้หญิงทั้งมวลให้ได้
                ฉันได้เรียนรู้ว่า  ความเป็นผู้หญิง-ความเป็นผู้ชาย  มิใช่อยู่ที่ร่างกายของใครคนนั้น   ดังคำกล่าวที่น่าประทับใจของ ซีโมน เดอ โบวัวร์   เฟมินิสต์ชาวฝรั่งเศสที่ว่า :
                   พวกเราไม่ได้คลอดออกมาเป็นผู้หญิง    แต่พวกเราค่อยๆถูกทำให้เป็นผู้หญิง