วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560




ไทยพลัดถิ่น  รอแล้วรอเล่าเรื่องสัญชาติ กับโศกนาฏกรรมน้ำท่วม (ไทยโพสต์ ๓๐ มค.๖๐)

                                       สุนี ไชยรส ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

                ข่าวน้ำท่วมภาคใต้ทำให้ทุกคนห่วงใยอย่างยิ่งและเตรียมการไปช่วยเหลือ   ในกรณีบางสะพานที่มีคนไทยพลัดถิ่นที่กำลังรอกระบวนการพิจารณาให้ได้สัญชาติไทยและมีฐานะยากจนอยู่จำนวนมาก   ทำให้สโมสรนักศึกษากับอาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมรีบตรวจสอบข้อมูลจาก”บ่าววี” เครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นและคุณระกาวิน แสงคง ...จากมูลนิธิชุมชนไท  ที่พวกเราไปทำงานร่วมด้วยสามรอบแล้วที่ประจวบในการช่วยเตรียมข้อมูลในการขอสัญชาติไทยตามกฎหมายที่มีการแก้ไข  แต่กระบวนการตรวจสอบและพิจารณาล่าช้ามาก   วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม และ คณะนิติศาสตร์จึงได้มีบันทึกความเข้าใจร่วมกันกับกรมการปกครองและอีกหลายองค์กร เช่น มูลนิธิชุมชนไท  ในการช่วยเตรียมเอกสารให้เมื่อปี ๒๕๕๘              คำบอกเล่าถึงความเดือดร้อน ประกอบภาพที่ส่งมา เช่น นายฮะซัน เอาลูกๆห้าคนซึ่งพิการสองคน แขวนใส่เปลผ้าไว้กับขื่อบ้านเพื่อหนีน้ำ และข่าวน้ำท่วมอย่างหนัก ทำให้สโมสรนักศึกษาและคณบดี คณาจารย์ร่วมกันปฏิบัติการเร่งด่วนภายในสองวัน  ระดมเงินบริจาคซื้อของ  ขอแบ่งข้าว น้ำ อาหารของใช้ที่มหาวิทยาลัยรังสิตกำลังเปิดรับบริจาคมาบางส่วน  และชวนทีมงานพร้อมรถสี่ล้อขนาดใหญ่จากมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ที่มหาชัย  รถอาสาสมัครโฟร์วิลจากนักศึกษาสองคัน อาจารย์หนึ่งคัน  นักศึกษาระดมกันมาช่วยรับบริจาคและขนของอย่างแข็งขัน กว่าจะจัดของเสร็จเกือบตี ๑ ได้ถุงยังชีพ ๔๐๐ ชุดที่บวกข้าว ๕ กก.และน้ำ ๑ โหล  แบ่งเป็นชุดอาหารสำหรับมุสลิม ๘๐ ชุด มีขนมเด็ก ๓๐๐ ชุดเพราะเราไปวันเด็กพอดี และข้าวกับของกองกลางจำนวนหนึ่งพร้อมยา ผ้าอนามัย เสื้อผ้า เพื่อเตรียมเดินทางตี ๔ ของวันที่ ๑๔ มค.๖๐  คนที่พร้อมไปมีนวัตกรรมฯ ๒๐ คน และโบว์ ลูกคนไทยพลัดถิ่นบ้านคลองลอยที่เราจะไป เป็นนักศึกษานิติที่ได้ทุนเรียนจากม.รังสิต  รวมทีมงานมูลนิธิฯ ๑๐ กว่าคนและนักศึกษาจากที่อื่นอีก ๕คน            เราประเมินผิดไป  รถไม่พอขนของ ต้องหาเช่ารถหกล้อมาเร่งด่วนตอนตี ๕ 
            ปฏิบัติการครั้งนี้เริ่มจากเวลาและงบที่จำกัด  ทำให้ขบวนเราถือเป็นความช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้าต่อพี่น้องไทยพลัดถิ่นที่ค่อนข้างยากจน ไร้สัญชาติ และโอกาสเข้าถึงความช่วยเหลืออาจมีตกหล่น  โดยเน้นการทำงานประสานกับศูนย์ช่วยเหลือคนไทยพลัดถิ่นที่จัดตั้งขึ้นในหมู่บ้านคลองลอย ต.ร่อนทอง  อ.บางสะพานเพื่อให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน  ส่งเสริมการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน และเป็นกระบวนการเรียนรู้ของนักศึกษาด้วย   โดยทันทีที่ไปถึงขบวนเราได้ร่วมสำรวจความเสียหายและสอบถามพี่น้องด้วยตัวเองบางส่วน  เพิ่มเติมจากที่ศูนย์ฯได้สำรวจไปบ้างแล้ว  ตอนค่ำกลับมาสรุปร่วมกันถึงผลสำรวจที่ได้และเตรียมการจัดสรรข้าวของ
          เป็นภาพที่อบอุ่นเมื่อนักศึกษาชายหญิง ทำงานร่วมกับพี่น้องแรงงานจากมหาชัย  นำทีมโดยคุณปฏิมาฯจากมูลนิธิฯ ที่ต่อสู้เรื่องช่วยคนงานเรือประมงไทย ลาว กัมพูชาจำวนมากกลับจากการถูกปล่อยเกาะยาวนานที่อินโดนีเซีย และครั้งนี้พวกเขาก็มาช่วยอย่างแข็งขัน รวมทั้งนศ.หญิงฝึกงานจากราชภัฏบุรีรัมย์สองคน นศ.จาก ม.บูรพา จากการบินพลเรือน ที่อาสามาช่วย และคนไทยพลัดถิ่นหลายสิบคนทั้งพุทธและมุสลิม  ที่แม้ตัวเองจะเสียหายจากน้ำท่วม  ก็มาเป็นทีมงานช่วยนำพาและขนของตลอดสองวันที่เราไป  แรงงานที่กลับจากอินโดนีเซียบอกว่า  ขนของแค่นี้เบามากเมื่อเทียบกับงานหนักหน่วงในเรือประมง          พี่น้องไทยพลัดถิ่นบ้านคลองลอย ต.ร่อนทอง ที่มีรายชื่อจากการสำรวจรอบนี้ประมาณเกือบ ๓๐๐ ครอบครัว มารับของด้วยตัวเองที่ศูนย์ฯ เป็นโอกาสดีที่นศ.ได้พบและเข้าใจพวกเขามากยิ่งขึ้น  เราเตือนกันเสมอว่า เราไม่ได้มาแจกของแบบสงเคราะห์ทั่วไป แต่เป็นการเสริมงานความเข้มแข็งระยะยาวของเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นและให้กำลังใจผู้ที่ประสบปัญหา  ยังมีของที่เหลือส่วนหนึ่งมอบไว้เป็นกองกลาง
            ของเด็กๆ ๑๐๐ ชุด รวมตุ๊กตาและเสื้อผ้า..มอบให้คณะครูโรงเรียนบ้านคลองลอย ที่น่าชื่นชมมาก จากการไปเยี่ยมตั้งแต่เย็นวันที่ ๑๔ ที่โรงเรียนเป็นศูนย์อพยพผู้ประสบภัยและทำกับข้าวกองกลาง  ครูก็เสียสละมาประจำกันที่ศูนย์ตั้งแต่ต้น


            เรานัดพี่น้องไทยพลัดถิ่นที่เป็นมุสลิมมาที่วัดสุวรรณาราม ที่อนุเคราะห์เป็นศูนย์ประสานงานให้  เพื่อสอบถามปัญหาจากผู้ที่มารับของเองได้เกือบสิบครอบครัว  น้ำท่วมสูงเกินหัวเป็นเมตรในบางหลัง ดินยังถล่มเต็มบ้าน  ออกมาลำบาก  ที่เหลือจะถูกนำไปแจกจ่ายโดยเครือข่ายต่อไป และเราพบข้อมูลที่ไม่ได้เตรียมข้าวของไว้ก่อน  ว่ามีพี่น้องคนไทยเกือบ ๓๐ หลังบริเวณรถตู้ที่มาจมน้ำและมีเด็กหญิงคนหนึ่งเสียชีวิต  พี่น้องมุสลิมมีน้ำใจมาก  บอกให้แบ่งของที่เอามาให้พวกเขาไปให้พี่น้องกลุ่มนี้ก่อน  นักศึกษาจึงแวะเยี่ยมให้กำลังใจทุกหลัง            เราตั้งใจไปเยี่ยมพิเศษไทยพลัดถิ่นมุสลิมที่มีลูกพิการสองครอบครัว  บ้านแรกคือฮะซัน  ที่มีลูก ๕ คนลูกสาวคนโตอายุ ๑๖ ปี เธอเพิ่งพิการเมื่อ ๕ ขวบ หมอให้พ่อพาไปที่ศิริราช แต่พ่อที่ไม่มีสัญชาติไทยและยากจน บ้านก็เช่าที่ดินเขาอยู่ ไม่สามารถไปได้ แขนและขาลูกสาวก็ลีบและอ่อนแรงลงเรื่อยๆ จนยกแขนขาไม่ได้ พ่อต้องอุ้ม  ลูกชายคนที่สอง ๙ ปีก็พิการ คนเล็กสุดสามเดือน บ้านเสียหาย ข้างล่างอยู่ไม่ได้  (บ้านนี้ที่เอาลูกแขวนเปลไว้กับขื่อ)  เช่าที่ปลูกบ้านอยู่ในสวนลึกๆ  เขาเล่าว่า เมื่อไปรับของที่มาแจก  มีคนบอกว่า ไม่ต้องให้เขาเพราะเขาไม่ใช่คนไทย  แต่คนที่มาแจกบอกว่า” เป็นคนเหมือนกัน” ทำให้เขาได้รับของด้วย            อีกครอบครัวหนึ่งดินถล่มมาจนรถเข้าออกไม่ได้ ไปจ้างรถไถมาช่วย รถโฟร์วิลก็แทบเข้าไม่ได้ ลูกสาวอายุ๗ ปีพิการ บ้านอยู่ไม่ได้เลย เป็นที่ดินที่เช่าเขาอยู่เช่นกัน วัวตาย ๖ ตัว แพะ ๑๐ ตัว มีอาชีพขายโรตี  พ่อของเขามีแผลจากเหยียบของมีคมจนน่ากลัวจะเป็นบาดทะยัก พ่อร้องไห้เล่าถึงความเร็วของน้ำและดินที่ทะลักมาอย่างรวดเร็ว 


           ระหว่างทางกลับเราแวะเอาข้าวของที่มีเหลือไม่มากเยี่ยมคุณจินตนา แก้วขาว ที่บ้านกรูดเพื่อเป็นกำลังใจที่บ้านเธอก็เสียหายหนัก แต่เธอจัดศูนย์เล็กๆเอาของที่มีคนมามอบให้เพื่อช่วยเหลือเพื่อนบ้านด้วยกัน            ระหว่างทางที่เหนื่อยล้าจากภารกิจเต็มเหยียดสามวัน  นักศึกษาคุยกันตลอดทางเรื่องจะไประดมทุนมาช่วยสร้างบ้านให้ครอบครัวที่ลูกพิการ  และอยากให้พวกเขามีโอกาสรักษาความพิการให้ดีขึ้น...             ตอนนี้ทั้งนักศึกษาและอาจารย์ต่างสนใจแนวทางการฟื้นฟูเยียวยาที่จะช่วยในระยะยาวอย่างไร   บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของคนที่เดือดร้อน และจะร่วมมือให้กว้างขวางกับฝ่ายต่างๆได้อย่างไร
                                        คำมั่นร่วมกันคือ  แล้วเราจะกลับไปอีก...