วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

กลุ่มอิสระ และการก่อตั้งกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์
















วิทยากร  เชียงกูล เขียนบทกวี  เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน  ตั้งแต่ปี 2511    ฉันและเพื่อนๆประทับใจตั้งแต่ได้อ่านก่อนเข้ามหาวิทยาลัย   เมื่อมาเดินอยู่ในธรรมศาสตร์ บทกวีนี้ซาบซึ้งยิ่งขึ้น..
ฉันเยาว์  ฉันเขลา ฉันทึ่ง               ฉันจึงมาหาความหมาย 
ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมา  สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว
นอกจากนี้ยังมีบางตอนของบทกวี  "ความฝันที่ชนบท" (2509)  ที่ปลุกเร้าใจให้รับใช้ประชาชน:        
จะสอยดาวสาวเดือนที่เกลื่อนฟ้า       มาทำอาหารให้คนไร้สิ้น
       ฟันนภาที่เห็นออกเป็นชิ้น       เอามาสินเย็บเป็นเสื้อเผื่อคนจน    
                 
          นักศึกษาที่สนใจทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้และเพื่อทำงานรับใช้สังคม   มักเริ่มต้นกับกลุ่มกิจกรรมของคณะตนเอง  [1]  ฉันกับนงลักษณ์ เทวะศิลชัยกุล  สมศรี  หลิมตระกูล ฯลฯ  สมัครเป็นสมาชิกกลุ่มเศรษฐธรรมซึ่งเป็นแกนหลักทำงานร่วมกับสภานักศึกษาเศรษฐศาสตร์ทำให้เราเริ่มงานกิจกรรมตั้งแต่ปี 1   พออยู่ปี 2นงลักษณ์ก็ได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มเศรษฐธรรม   ส่วนปฏินันท์เข้าชมรมนิติศึกษาของคณะนิติศาสตร์   และต่อมาฉันก็เข้าร่วมสภาหน้าโดมที่ก่อตั้งขึ้นราวเดือนตุลาคม 2513
    ฉันกำลังเรียนปี 1  ซึ่งเรียนรวมกันทุกคณะที่คณะศิลปศาสตร์   จำพี่จรัล ดิษฐาอภิชัยได้แม่นยำกว่าคนอื่น   ผมเผ้ารุงรังเป็นฮิปปี้  เดินแจกคำประกาศก่อตั้งสภาหน้าโดม  [2]
ดังนั้น   นอกจากเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐธรรม สภาหน้าโดม     ร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนในชนบทอีสานกับรุ่นพี่ บี 8    ในชีวิตปี 1 ฉันยังเข้าร่วมการซ้อมร้องเพลงเชียร์     เพลงพระราชนิพนธ์       ไปเชียร์กีฬาฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์       ท่ามกลางความกระตือรือร้นและกระหายที่จะอ่านหนังสือเล่มละบาท     วารสารและนิตยสารก้าวหน้าทั้งมวลที่ออกมาในช่วงนั้น    รวมถึงติดตามไปฟังการเสวนา  การอภิปรายต่างๆ     
             
                ปัญหาผู้หญิงที่ฉันได้เรียนรู้จากชีวิตจริง  ประสานกับการพูดคุยกับเพื่อนนักศึกษาหญิง  การอ่านเรื่องราวที่ผู้หญิงถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ  และตระหนักถึงการต้องมีพลังในการลุกขึ้นต่อสู้     ทำให้ฉันเข้าร่วมการก่อตั้งกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ในปลายปีการศึกษา2514  [3]
   ฉันชวนกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์หลายรุ่นมารำลึกความหลังกันหลายรอบ กลุ่มแรกมีนงลักษณ์ (ปี13)  รัชนี  วงศานุพัทธ์( ปี15) วิมล  หวังกิตติพร  ไพรินทร์  พลายแก้ว (ปี 17) กาญจลักษณ์  หริสมบัติ(ปี18) ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 อีกกลุ่มเฉพาะปี 15 คือ  ศจี  สิงหะวัฒนะ  สลิลยา  มีโภคี   สุทธิพันธ์   ขุทรานนท์  ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2547   ซึ่งเพื่อนๆน้องๆมีน้ำใจต่อฉันมาก   ช่วยกันสละเวลาของแตละคนและยังช่วยย่นเวลาที่ยุ่งยากของฉัน    ด้วยการเป็นฝ่ายเดินทางมานั่งพูดคุยกันในห้องทำงานของฉันที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ     เราพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน   ความทรงจำของแต่ละคนขาดๆวิ่นๆ   แต่อาศัยการช่วยกันปะติดปะต่อ   คนนั้นคิดออกเรื่องหนึ่ง  เชื่อมโยงไปถึงความจำอีกมุมหนึ่งของคนอื่นๆ     เสียงหัวเราะจึงเฮฮาตลอด   
ความสนิทสนมผูกพันร่วมทุกข์ร่วมสุขในการต่อสู้กันมายาวนาน แม้ฉันจะไม่ได้เจอน้องส่วนใหญ่มาตั้งแต่ไปเข้าป่า ความรู้สึกของพวกเรายังเหมือนเดิม พูดกันสบายๆ  และทุกคนพยายามคิดทบทวนช่วยฉันอย่างเต็มที่ เรายังรู้สึกว่าถ้าบันทึกเฉพาะเรื่องผู้หญิงในธรรมศาสตร์ จะได้อีกเล่มหนึ่งทีเดียว  เพราะมีเรื่องราว   มีตัวละครที่น่าเล่าถึงอีกมากมายจริงๆ ...
ฉันรู้สึกเชื่อมั่นยิ่งขึ้นว่า    การย้อนเก็บความทรงจำและความจริง        ที่เดินผ่านประสบการณ์ของผู้หญิงแต่ละคนช่างน่ามหัศจรรย์จริงๆ  และมีเรื่องราวที่น่าจะถูกบันทึกไว้มากมาย   แต่ไม่มีบนหน้าประวัติศาสตร์   นงลักษณ์เปรยออกมาว่า  ถ้าเราสามารถทำบันทึกความทรงจำของผู้คนในธรรมศาสตร์อย่างละเอียด  และมีชีวิตชีวา    คงจะเป็นเรื่องที่ดีมากทีเดียว   เธอมุ่งมั่นจะไปชวนเพื่อนเก่าในธรรมศาสตร์ทำบันทึกประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตชิ้นนี้ต่อไป
    ฉันได้พูดคุยเพิ่มเติมกับ สุภรณ์   บุญเสริมวิชา-กัญญา  ปัญญาชาติรักษ์( ปี 15) วนิดา   ตันติวิทยาพิทักษ์  ชลิดา วัชรี  เผ่าเหลืองทอง (ปี 17) [4] 
     เมื่อเสริมกับที่สุชีลา  ตันชัยนันท์( ปี 16) เขียน  เปิดบันทึกนักโทษหญิง ๖ ตุลา    รวมทั้งหนังสือที่ระลึกการเสียชีวิตของสุภาพร  ศรีรัตโนภาส(ปี14-ประธานกลุ่มปี 16) [5] 
 และ   ‘พัฒนาการของกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์’ ที่เขียนโดย  นิรมล  พฤฒาธร  ร่วมกับ  สุชีลาฯ     ประกอบกับการค้นหา เอกสาร และหนังสือต่างๆของกลุ่มผู้หญิงเอง และจากบางส่วนที่มีผู้อื่นเขียนถึง  ก็ช่วยให้เรื่องราวของกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น[6]

นับแต่ปี 2515 พวกเราคึกคักกันมาก  เปี่ยมด้วยความใฝ่ฝันที่จะพิสูจน์ว่าผู้หญิงก็มีพลัง    ไม่ต้องการให้ใครมาดูถูกและเอารัดเอาเปรียบ  และมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อต่อสู้กับความไม่เป็นธรรม     รับใช้ประชาชนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาย    ยิ่งกว่านั้นเราตระหนักดีว่า     ปัญหาของผู้หญิงซับซ้อน  บางเรื่องเข้าใจยาก        ซ่อนเร้นแอบแฝงในค่านิยม   ทัศนคติ   และประเพณีต่างๆอย่างล้ำลึก      
 เราจะต้องมีการศึกษาเรียนรู้พัฒนาแนวคิดความเข้าใจของเราเอง    คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ขณะที่เราเคลื่อนไหวรณรงค์ควบคู่ไป      เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ดูถูกและเอาเปรียบกดขี่ผู้หญิง   ทั้งจากเพศชาย    และโดยการยอมรับของผู้หญิงเองที่ยังไม่เข้าใจ    หรือยอมจำนนไม่คิดต่อสู้
ในกระแสการเคลื่อนไหวของกลุ่มอิสระต่างๆที่เรียกร้องประชาธิปไตย    คัดค้านเผด็จการและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม    ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516  นอกจากผู้หญิงในกลุ่มอิสระ    จึงมีพลังของกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ทุ่มเทอย่างเอาการเอางานต่อเนื่องร่วมด้วย    
 
นิรมล  พฤฒาธรและ สุชีลา  ตันชัยนันท์   เขียน พัพัพัฒนาการของกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์    ไว้ในนิตยสารเสียงสตรี (มกราคม 2522)  ว่า (น.18-19)
                 “ จากหนึ่ง(กลุ่ม)เล็กไปเป็นหนึ่ง(กลุ่ม) ใหญ่    ก่อนเหตุการณ์14  ตุลาคม2516  มีนักศึกษาหญิงคณะศิลปศาสตร์กลุ่มหนึ่ง      สมัครเข้าทำงานในคณะกรรมการนักศึกษาของคณะ  พร้อมกันนั้นก็เสนอโครงการกิจกรรมต่างๆ   เช่นโครงการบอร์ดคณะ(ใช้แสดงความคิดเห็น  เสนอบทความ  ข้อเขียนต่างๆ)      โครงการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์    (เช่น สอนหนังสือเด็กสลัม   และเด็กขายพวงมาลัยท่าพระจันทร์)  และโครงการกลุ่มผู้หญิงศิลปศาสตร์    กลุ่มผู้หญิงศิลปศาสตร์จึงมีขึ้นด้วยความเชื่อมั่นว่า   ผู้หญิงก็ควรมีส่วนช่วยสังคมได้    และเชื่อด้วยว่า หญิงชายก็คือมนุษย์เท่าเทียมกัน   จึงไม่ควรจะถูกกดขี่เอาเปรียบจากเพศชาย  และจุดมุ่งหมายที่ตกลงกันในกลุ่มก็คือจะรวมผู้หญิงศิลปศาสตร์ให้มีความตื่นตัวในการพัฒนาตัวเอง     ช่วยกันศึกษาปัญหาของผู้หญิงที่ถูกเอาเปรียบ  พยายามที่จะมีส่วนร่วมรับผิดชอบในปัญหาสังคม   และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ผลงานเด่นของกลุ่มผู้หญิงศิลปศาสตร์ในช่วงนั้นได้แก่     การจัดอภิปรายที่หอประชุมใหญ่  เรื่อง สวัสดิภาพสตรีในปัจจุบัน     เนื่องจากมีข่าวผู้หญิงถูกข่มขืนอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน



ก่อนสิ้นปีการศึกษา 2514  กลุ่มได้จัดทำหนังสือ  มีเนื้อหาแสดงถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมที่หญิงได้รับ    กล่าวถึงการต่อสู้ของขบวนการและบทบาทในการเรียกร้องสิทธิสตรีในต่างประเทศ...







                เนื่องจากไม่สามารถค้นพบต้นฉบับ เล็บ      จึงขออ้างจากวิทยานิพนธ์ของประจักษ์   ก้องกีรติ      ในวิทยานิพนธ์เรื่อง   ก่อนจะถึง 14  ตุลา :  ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร (2506-2516)    ที่กล่าวถึงเนื้อหาใน เล็บ’   ที่ออกโดยกลุ่มผู้หญิงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2515 บางบทความเช่น กระถิน  ลมโชย(นามปากกา),  คุยกับเพื่อนบ้าน : นักศึกษาฟิลิปปินส์ และรัตนาภรณ์   มงคลสินธุ์,  แองเจล่า  เดวิส
 
ในช่วงปี 2514  มีการจัดกิจกรรมของกลุ่มอิสระต่างๆคึกคักมาก     กลุ่มผู้หญิงทำงานกับกลุ่มเศรษฐธรรม   สภาหน้าโดม   ชมรมนิติศึกษา      นอกจากนี้เริ่มมีการเชื่อมต่อกลุ่มอิสระข้ามมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2513 โดยเฉพาะสภากาแฟ  จากเกษตร    กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ จากจุฬาฯ   ชมรมคนรุ่นใหม่     ของรามคำแหง  กลุ่มของมหิดล    กลุ่มวลัญชทัศน์  จากเชียงใหม่    และมีบทบาทกลุ่มยุวชนสยาม  ของนักเรียนมัธยมที่เข้มแข็งเอาการเอางานมาก     พวกเรานักกิจกรรมจะรู้จักกันทั่วไปข้ามมหาวิทยาลัยในช่วงเวลานั้น   [7]
การเคลื่อนไหวหนึ่งที่ส่งผลต่อการร่วมมือกันทำงานของกลุ่มอิสระอย่างมาก    และเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมาก    คือต้นปี 2516 มีการจัดนิทรรศการสัปดาห์สงครามอินโดจีนคัดค้านจักรพรรดินิยมอเมริกันในสงครามเวียดนาม  ลาว และกัมพูชา    มีอภิปรายทุกวันตลอดสัปดาห์      คนแน่นมากทุกวัน   รูปภาพและสาระที่นำเสนอยิ่งก่อให้เกิดกระแสการคัดค้านอเมริกัน  และไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลเผด็จการทหารไทย   ที่ส่งทหารไปรบและให้ฐานทัพมาตั้งในไทย   เพิ่มความเข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
 ความสูญเสีย   เจ็บปวดของผู้หญิงและเด็กในสงครามอินโดจีนและผู้คนมหาศาล   เป็นส่วนหนึ่งที่ฉันและเพื่อนเริ่มต้นผูกพันว่า   ผู้หญิงทั่วโลกต้องสามัคคีกัน    ผู้หญิงทั้งมวลล้วนเป็นพี่น้องกัน   ยึดมั่นในสันติภาพ   และเจ็บปวดที่รัฐบาลเผด็จการไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน  ไม่สนใจผลกระทบต่อผู้หญิง    เมียเช่าและ เด็กผมแดง   ยิ่งทำให้ตระหนักว่า     รัฐบาลประชาธิปไตยเท่านั้นจะเป็นคำตอบให้สังคมไทย  

นอกเหนือจากนั้นคือ    นักเรียนนักศึกษาประชาชนรวมทั้งสมาชิกกลุ่มผู้หญิงเอง  ได้รับการปลุกเร้าใจในการต่อสู้   ให้ตระหนักว่าต้องไม่กลัวยาก  ไม่กลัวตาย   และไม่กลัวติดคุก  การต่อสู้ต้องมีการเสียสละ   จากบทเรียนการต่อสู้อย่างเข้มแข็งกล้าหาญของชาวเวียดนามและผู้หญิงเวียดนาม       ซึ่งนับวันพวกเรายิ่งสะสมความมุ่งมั่นที่หนักแน่นมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ      ท่ามกลางการคุกคามจากอำนาจรัฐเผด็จการ



                 [1] นงลักษณ์ เทวะศิลชัยกุล  ซึ่งมีความทรงจำดีเยี่ยมช่วยรำลึกว่า   ในช่วงปี 2513  คณะเศรษฐศาสตร์มีโครงสร้างกิจกรรมนักศึกษาค่อนข้างเด่น   โดยเป็นคณะเดียวที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานักศึกษาแต่ละปีไปเลือกประธานนักศึกษา  ประธานไปเลือกกรรมการนักศึกษา   รุ่นพี่ผู้หญิงทำงานกันโดดเด่นหลายคน   อรวรรณ  ตั้งสัจจพจน์  เป็นประธานสภานักศึกษาเศรษฐศาสตร์ปีนั้น     มีชมรมนักศึกษาสี่กลุ่ม คือกลุ่มเศรษฐธรรม   อรัญญา   ประสิทธิพันธ์   เป็นประธาน  มียุทธพงศ์  ภูริสัมบรรณ (รวี  โดมพระจันทร์)  สำเริง  คำพะอุ   ชมรมฝึกพูด มีเจิมศักดิ์  ปิ่นทอง  บุญเกิด  งอกคำ กลุ่มเศรษฐสัมพันธ์   และกลุ่มไอเซค     และ จากความทรงจำของปฏินันท์  สันติเมทนีดล และมาลี  พฤกษ์พงศาวลี       ชมรมนิติศึกษา มีรุ่นบุกเบิกเช่น   ปราโมทย์   พิพัฒนาศัย วรุฒ   มีโภคี   พิศวาส  สุคนธพันธ์   โอฬาร  อินทสุวรรณ     ชมรมนี้ยังแสดงฝีมือเป็นทีมโต้วาทีของมหาวิทยาลัย      ประกอบด้วยอุดร  ทองน้อย   สถิตย์   ลิ่มพงศ์พันธุ์   เสาวนีย์  ลิมมานนท์   วิษณุ  เครืองาม และ   ปฏินันท์  สันติเมทนีดล 
   [2] ปีนี้เองเริ่มมีการจัดตั้งกลุ่มอิสระใหม่ๆ ที่โดดเด่นคือสภาหน้าโดม ธัญญา ชุนชฎาธาร บันทึกไว้ว่าในช่วงก่อตั้งยังไม่มีผู้หญิงร่วมด้วยสักคน   ส่ วนใหญ่จากรัฐศาสตร์    จรัล   ดิษฐาอภิชัย  เสกสรรค์  ประเสริฐกุล   ธัญญา  ชุนชฎาธาร ธเนศ  อาภรณ์สุวรรณ ปรีดี  บุญซื่อ  ทรงยศ  แววหงษ์   พรชัย  วีระณรงค์  ต่อมาจึงมีนักศึกษาหญิงไปร่วมด้วย เช่น  ไพจง  ไหลสกุล   พูนทรัพย์  จันธนะสมบัติ   อรัญญา  ประสิทธิพันธ์   มาศฤดี  สมิตเวช   และ ฉัน    ร วมทั้ง   กมล  กมลตระกูล   พิชิต    จงสถิตย์วัฒนา    อรรถวิบูล   ศรีสุวรนันท์    วิชัย   บำรุงฤทธิ์     อำนวยชัย   ปฏิพัทธ์เผ่าพงศ์      บัณฑิต   เอ็งนิลรัตน์   เทียนชัย  วงศ์ชัยสุวรรณ    สรรพสิทธิ์  คุมประพันธ์   และสมชาย  หอมละออ (ธัญญา,2546 :         )
   [3]นิรมล  พฤฒาธรและ สุชีลา  ตันชัยนันท์   เขียน พัฒนาการของกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์    ไว้ในนิตยสารเสียงสตรี (มกราคม 2522)  ว่า (น.18-19)
                 “ จากหนึ่ง(กลุ่ม)เล็ก   ไปเป็นหนึ่ง(กลุ่ม) ใหญ่    ก่อนเหตุการณ์14  ตุลาคม2516  มีนักศึกษาหญิงคณะศิลปศาสตร์กลุ่มหนึ่ง      สมัครเข้าทำงานในคณะกรรมการนักศึกษาของคณะ     พร้อมกันนั้นก็เสนอโครงการกิจกรรมต่างๆ   เช่นโครงการบอร์ดคณะ(ใช้แสดงความคิดเห็น  เสนอบทความ  ข้อเขียนต่างๆ)      โครงการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์    (เช่น สอนหนังสือเด็กสลัม   และเด็กขายพวงมาลัยท่าพระจันทร์) และโครงการกลุ่มผู้หญิงศิลปศาสตร์    กลุ่มผู้หญิงศิลปศาสตร์จึงมีขึ้นด้วยความเชื่อมั่นว่า   ผู้หญิงก็ควรมีส่วนช่วยสังคมได้    และเชื่อด้วยว่า หญิงชายก็คือมนุษย์เท่าเทียมกัน   จึงไม่ควรจะถูกกดขี่เอาเปรียบจากเพศชาย  และจุดมุ่งหมายที่ตกลงกันในกลุ่มก็คือจะรวมผู้หญิงศิลปศาสตร์ให้มีความตื่นตัวในการพัฒนาตัวเอง     ช่วยกันศึกษาปัญหาของผู้หญิงที่ถูกเอาเปรียบ  พยายามที่จะมีส่วนร่วมรับผิดชอบในปัญหาสังคม   และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ผลงานเด่นของกลุ่มผู้หญิงศิลปศาสตร์ในช่วงนั้นได้แก่     การจัดอภิปรายที่หอประชุมใหญ่  เรื่อง สวัสดิภาพสตรีในปัจจุบัน     เนื่องจากมีข่าวผู้หญิงถูกข่มขืนอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน
ก่อนสิ้นปีการศึกษา 2514  กลุ่มได้จัดทำหนังสือ เล็บ    มีเนื้อหาแสดงถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมที่หญิงได้รับ    กล่าวถึงการต่อสู้ของขบวนการและบทบาทในการเรียกร้องสิทธิสตรีในต่างประเทศ...
                เนื่องจากไม่สามารถค้นพบต้นฉบับ เล็บ      จึงขออ้างจากวิทยานิพนธ์ของประจักษ์   ก้องกีรติ      ในวิทยานิพนธ์เรื่อง   ก่อนจะถึง 14  ตุลา :  ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร (2506-2516)    ที่กล่าวถึงเนื้อหาใน เล็บ’   ที่ออกโดยกลุ่มผู้หญิงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2515 บางบทความเช่น กระถิน  ลมโชย(นามปากกา),  คุยกับเพื่อนบ้าน : นักศึกษาฟิลิปปินส์ และรัตนาภรณ์   มงคลสินธุ์,  แองเจล่า  เดวิส
   [4] กลุ่มนี้ทำงานเรื่องคนจนและผู้ด้อยโอกาส  มากกว่าประเด็นผู้หญิงโดยตรงในปัจจุบัน
   [5] ในรำลึกสุภาพร  ผู้เป็นดังขุนเขาและสายธาร   ในวาระการจากไปของสุภาพร  ศรีรัตโนภาส ,21กุมภาพันธ์ 2545’    มีตัวแทนกลุ่มอิสระต่างๆในธรรมศาสตร์และพรรคพลังธรรมยุคนั้น  เขียนรำลึกถึงเธอในฐานะแกนก่อตั้งกลุ่มผู้หญิงและเป็นประธานกลุ่มฯปี 2516   อันมีส่วนช่วยให้เห็นบรรยากาศช่วงนั้น  อาทิ
               -ปราโมทย์  พิพัฒนาศัย    จากกลุ่มนิติศึกษา ( น.43-46)
                สุภาพรได้ร่วมกับเพื่อนๆคณะอื่นในธรรมศาสตร์  ตั้งกลุ่มผู้หญิงมธ.ขึ้น  เป็นกลุ่มอิสระอีกกลุ่มหนึ่งในธรรมศาสตร์สมัยนั้น  ... ช่วงนั้นเธอเป็นแกนนำสำคัญของกลุ่มผู้หญิง  ซึ่งมีกิจกรรมหลากหลายในการเผยแพร่แนวความคิดที่ก้าวหน้า  และร่วมกับกลุ่มอิสระอื่นในการคัดค้านเผด็จการ    การทำกิจกรรมและขยายคนกว้างขวางขึ้น       จนในที่สุดกลุ่มกิจกรรมการเมืองสามารถเสนอนโยบาย   และส่งคนที่ได้รับการยอมรับจากนักศึกษาไปเป็นผู้บริหาร อ.ม.ธ.  และขยายตัวไปสู่การร่วมมือกับกลุ่มอิสระมหาวิทยาลัยอื่นๆ   เข้าไปหนุนช่วยองค์กร ศนท.   กลายเป็นขบวนการนักศึกษาที่ใหญ่โตและเฟื่องฟูที่สุด  ในยุคก่อนและหลังเหตุการณ์14 ตุลา 16
                -ภูมิสัน  โรจน์เลิศจรรยา ประธานสภานักศึกษาฯปี 2516  จากพรรคพลังธรรม(น.16-17)
               “ ...เธอ  ผม และเพื่อนๆจากทุกคณะ  จึงร่วมกันก่อตั้งพรรคพลังธรรม  และร่วมกันทำกิจกรรมการเมือง  จนชนะการเลือกตั้งเข้าบริหารอ.ม.ธ.  ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ  ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเป็นชุดแรกในปี 2516      เมื่อเกิดเหตุการณ์จับ13 กบฎ   พรรคพลังธรรม  อ.ม.ธ.และสภานักศึกษา  จึงมีมติเป็นเอกฉันท์หยุดเรียนและเรียกร้องให้ปล่อย 13  กบฏโดยไม่มีเงื่อนไข  และเรียกร้องประชาธิปไตย..  กล่าวได้ว่าสุภาพรคือหนึ่งในกลุ่มแรกสุดที่ตัดสินใจเข้าร่วมการต่อสู้ในเหตุการณ์ 14  ตุลา...
                -ประชุม   ศิริธรรมวัฒน์    อดีตประธานพรรคพลังธรรม (น.28-29
            การรวมตัวกันของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษาต่างๆในมหาวิทยาลัย  เมื่อปี 2514-15  เพื่อก่อตั้งพรรคพลังธรรมตามโครงสร้างใหม่     ที่เปลี่ยนจากระบบคณะกรรมการนักศึกษา   มาเป็นระบบองค์การนักศึกษานั้น  มีกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ร่วมอยู่ด้วย  ภายในกลุ่มก็มีนักศึกษาหญิงโดดเด่นอยู่หลายคน    คุณสุภาพร  ศรีรัตโนภาส  ก็เป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งในกลุ่มนี้  และมีบทบาทการเคลื่อนไหวอีกมากมาย  ทั้งภายในธรรมศาสตร์และระหว่างมหาวิทยาลัย   อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์  เมื่อ 14-15 ตุลา 2516”
   -เทียนชัย  วงศ์ชัยสุวรรณ..   สภาหน้าโดม (น.9-10)
   ‘ เธอมีส่วนจัดตั้งกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์  ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุด  สืบทอดมาจนทุกวันนี้     เธอเป็นประธานกลุ่มฯ  วันที่ 8 มีนา หรือวันสตรีสากลจึงเริ่มปรากฏความหมายขึ้นในสังคมไทย
     ...ก่อน 14 ตุลา 16 กลุ่มผู้หญิงกับกลุ่มอิสระในธรรมศาสตร์ได้รวมตัวกัน  เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพในประเทศไทย  ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น  และต่อต้านการประกวดนางสาวไทย
     หลังจากนั้น กลุ่มอิสระก็ร่วมกันเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อกรรมกร  เนื่องจากกรรมกรจำนวนมากเป็นผู้หญิง  กลุ่มผู้หญิงเข้าไปมีบทบาทจัดตังกรรมกรผู้หญิงในย่านอ้อมน้อยและพระประแดง
            หลังจากกรณีการปราบใหญ่   สุภาพรก็เข้าป่า  พบเธออีกทีในฐานะนักปฏิวัติ...
               [6]จากพื้นฐานการทำงานของกลุ่มผู้หญิงศิลปศาสตร์ที่มีนิรมล  พฤฒาธร  รุ่นเดียวกับฉันเป็นแกนสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาแผนกวรรณคดีปีที่ รวมทั้งจุฑารัตน์   ธนกิจไพศาล  ต่อมาผู้หญิงจากหลายคณะมาพูดคุยกันจึงร่วมกันทำกิจกรรมในนามกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ในปลายปีการศึกษา 2514 เช่นจาก  เศรษฐฯ มีฉัน  นงลักษณ์  เทวะศิลชัยกุล  สุจินดา  ตั้งสัจจพจน์    มาศฤดี   สมิตเวช    จากรัฐฯ   ไพจง  ไหลสกุล     พูนทรัพย์  จันธนะสมบัติ    สุมลมาลย์   หาญวิบูลย์วัฒน์    จากวารสารฯ   สุลณีย์  พยุงกิจสมบัติ   จากสังคมสงเคราะห์ฯ  มาลี  เมฆวเศรษฐพันธ์   วิไลวรรณ  เชื้อชาญวงศ์ฯลฯ       ซึ่งรุ่นปี 14 มีนักศึกษาหญิงที่เอาการเอางานมาร่วมก่อตั้งหลายคน  อาทิ   สุภาพร  ลิ้มสัมพันธ์     กัลยาณา    ปัทมดิลก   ประณีต  กุลทัพ   ไพพร  วงศ์สวัสดิ์
      รุ่นปี 15 ยิ่งมีสมาชิกที่เอาการเอางานจำนวนมากอาทิ สุภรณ์   บุญเสริมวิชา  สุทธิพันธ์  ขุทรานนท์  ศจี  สิงหวัฒนะ  จันทร์พนิต  สุขศิลป์   พรทิพย์  พันทนพิเชษฐ์  เฉลิมพร ลพอุทัย  กุหลาบ สมบูรณ์   รัชนี  วงศานุพัทธ์  สลิลยา  มีโภคี  วิมล  หวังกิตติพร  ชลิดา  ดารุณี  และ   ดารณี
              รุ่นปี 16  ก็เป็นปีที่นักศึกษาหญิงเข้ามาแสดงบทบาททั้งในกลุ่มอิสระ และมีบทบาทต่อภายนอกมากยิ่งขึ้น  อาทิ  สุชีลา  ตันชัยนันท์     และกลุ่มผู้หญิงยังได้รับการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากนักศึกษาชายจำนวนไม่น้อย ที่เข้ามาคลุกคลีช่วยทำงานโดยตรงกับกลุ่มผู้หญิง เช่น ปฏินันท์  สันติเมทนีดล  ปราโมทย์  พิพัฒนาศัย  สถาพร  ลิ้มมณี   เทียนชัย  วงศ์ชัยสุวรรณ
    [7] กิจกรรมที่เคลื่อนไหวกันมากคือทำหนังสือเล่มละบาท    แนะแนวนักเรียนมัธยมเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย    ศึกษาภายในกลุ่ม    ร่วมกันชุมนุมประท้วง    เริ่มจากคัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์จาก 50  สตางค์เป็น 75  สตางค์     การคัดค้านประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299  ที่ ลิดรอนอำนาจศาล    คัดค้านการปลดนักศึกษารามคำแหงที่เปิดโปงกรณีล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่ 
      บทบาทที่สำคัญของกลุ่มอิสระคือการให้ข่าวสารข้อมูล  แนวคิด  ต่อขบวนนักศึกษาประชาชน  นับแต่ปี 2513  มีการจัดนิทรรศการ   การอภิปรายที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่อง      คนมาร่วมงานแน่นขนัด   สะท้อนถึงแรงกดดันที่มีต่อประชาชน   และความกระหายใคร่รู้ในสิ่งที่ถูกปิดหูปิดตา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น