วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

เฟมินิสต์ผิวดำ และผิวสี กับเฟมินิสต์ไทย (ตอน๔) การหลอมรวมอุดมการณ์เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน (ร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีสตรีสากล)

                             เฟมินิสต์ผิวดำและผิวสี ( Black Feminism )   กับเฟมินิสต์ไทย    
                     (ตอน๔)  การหลอมรวมอุดมการณ์เฟมินิสต์  ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน  
                                               (ร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีสตรีสากล)












                 เฟมินิสต์ผิวดำและผิวสี ( Black Feminism )   กับเฟมินิสต์ไทย         



             ต่อมาเมื่อฉันศึกษาเรื่องราวของแนวคิดเฟมินิสต์ผิวดำและผิวสี (Black Feminism ) มากขึ้น ฉันรู้สึกประทับใจในความอหังการ์ของพวกเธอ ในการคิดที่ท้าทายต่อกระแสที่ครอบงำจากสังคมในระบบความสัมพันธ์แบบชายเป็นใหญ่ และต่อกระแสหลักของเฟมินิสต์แบบตะวันตกที่ถูกเรียกว่า “กลุ่มผู้หญิงผิวขาวจากชนชั้นอภิสิทธิ์” ซึ่งฉันคิดว่ามีทั้งจุดเหมือนและจุดต่างกับประสบการณ์และความคิดของฉัน
หนังสือของเบลล์ ฮู้คส์ ที่โด่งดังเรื่อง เฟมินิสต์เพื่อทุกคน ทำให้ฉันลึกซึ้งชัดเจนขึ้นอีก และฉันได้นำเสนอข้อคิดเห็นไว้ดังนี้ :
              “ในการวิพากษ์แนวคิด ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการต่อสู้ของกลุ่มผู้หญิงผิวขาวและมาจากชนชั้น    อภิสิทธิ์ ที่ชอบผูกขาด และอ้างการนำในขบวนเฟมินิสต์อย่างรุนแรงครั้งนี้     ฮู้คส์มิได้ปฏิเสธ พลังแห่งความสมานฉันท์ของผู้หญิงทั่วโลก ข้ามพรมแดนแห่งบทบาทความเป็นหญิงชาย ชนชั้น และสีผิว ที่เคยเป็นคำขวัญอันทรงพลังของเฟมินิสต์ที่ว่า“พี่น้องผู้หญิงทั้งมวลจงร่วมกันต่อสู้” โดยยืนยันว่ายังเป็นคำขวัญที่ใช้ได้อย่างมีพลัง เพราะการต่อสู้เพื่อควบคุมสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิงเอง สิทธิในการได้รับบริการอนามัยเจริญพันธุ์ การยุติการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศ การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเพศ ผู้หญิงจำเป็นต้องมีความสมานฉันท์ ต้องต่อสู้เป็นกลุ่มก้อนเพื่อผลักดันเชิงนโยบายร่วมกัน     ส่วนการวิพากษ์การกดขี่ทางชนชั้นและการเหยียดผิวในกลุ่มเฟมินิสต์สายปฏิรูปที่เธอหยิบยกขึ้นมานั้น มิใช่เพื่อให้ขบวนเฟมินิสต์แตกแยกระหว่างชนชั้นและสีผิว   แต่ต้องการย้ำเตือนบทเรียนการต่อสู้ และทำให้เฟมินิสต์ทุกคนตระหนักอย่างมีจิตสำนึกว่าจะต้องไม่ครอบงำซึ่งกันและกัน    เฟมินิสต์ที่แท้จริงต้อง ก้าวข้ามพรมแดนแห่งชนชั้น และสีผิว ต้องต่อสู้ขจัดต้นตอของปัญหาทั้งระบบ เพื่อผู้หญิงทั้งมวลอย่างแท้จริง.”. 


              แนวคิดเฟมินิสต์ผิวดำและผิวสี ซึ่งฉันขอเรียกอย่างง่ายๆว่า เฟมินิสต์ผิวดำ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะมีการสร้างสรรค์องค์ความรู้ของตนเองอย่างมั่นใจ และสร้างสรรค์รูปแบบอย่างเป็นอิสระจากกรอบเดิมๆ ในความเข้าใจของฉัน สาระสำคัญของแนวคิดกลุ่มนี้ เกิดขึ้นสอดประสานกับกระบวนการสร้างองค์ความรู้อย่างกลมกลืนกัน 
อาทิ
            1) การเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่ยอมรับว่า ความรู้แยกไม่ได้จากประสบการณ์ของผู้หญิงในสภาวะแห่งการถูกกดขี่ของแต่ละคน และผู้หญิงแต่ละคนมีความคิดและประสบการณ์ของตนเอง นั่นคือยอมรับความสำคัญของปัจเจกที่มีความแตกต่างและหลากหลาย แต่เมื่อรวมกันก็เป็นเรื่องราวเดียวกันได้ และเชื่อมโยงหลอมรวมกันอย่างเป็นระบบ

             2) การยอมรับทั้งความรู้อย่างเป็นทางการ(knowledge ) กับความรู้ที่มาจากจิตวิญญาณและภูมิปัญญาของผู้คนและชุมชน (wisdom) โดยถือว่าผู้หญิงมีกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมผ่านบริบทความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน และไม่อาจมองข้ามได้ โดยเรียนรู้ทั้งจากประสบการณ์จริงในร่างกายของตนเอง เช่น การมีประจำเดือน การท้อง และพื้นที่รอบตัวของตัวเอง โดยเฉพาะครอบครัว ชุมชน และศาสนา โดยที่เน้นว่าจำเป็นต้องมีทั้งสองอย่างควบคู่กัน “ความรู้ที่ปราศจากภูมิปัญญา อาจเพียงพอสำหรับผู้มีอำนาจ แต่ภูมิปัญญาจำเป็นมากสำหรับผู้ถูกกดขี่” (แพทริเซีย ฮิลล์ คอลลินน์ ,1989 :87) หรือกล่าวได้ว่า ไม่อาจแยกความรู้ออกจากคุณค่าเดิม เช่น บทบาทในครอบครัว ศาสนา การเชื่อมั่นในความเกี่ยวพันที่ลึกซึ้งของครอบครัว ชุมชน และเคารพคุณค่าในงานดั้งเดิมของผู้หญิง

            3) การพูดคุยสนทนา บันทึกเรื่องเล่าจากประสบการณ์ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการทำความเข้าใจความคิดคนอื่นๆ การประเมินความรู้และค้นพบความจริง โดยเฉพาะเพื่อให้ได้ยินเสียงเล็กๆของคนที่ถูกกดขี่ของคนชายขอบในสังคม และเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ รวมทั้งการใช้วรรณกรรม ภาพยนตร์ การเขียนหนังสือง่ายๆ และสื่อต่างๆ เพื่อการสร้างจิตสำนึกและเป็นการสร้างกลไกการสืบทอดข้ามรุ่น

            ในด้านสาระของแนวคิดมีหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของฉัน :
                1) การทับซ้อนของการกดขี่ต่อผู้หญิงโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกดขี่ทางชนชั้น ทางเชื้อชาติ และการกดขี่ทางเพศ จึงมีการวิพากษ์วิจารณ์ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของขบวนการเฟมินิสต์ตะวันตกอย่างแหลมคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้ในเชิงปฏิรูปที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้หญิงผิวขาว และผู้หญิงชนชั้นอภิสิทธิ์จำนวนน้อย ที่ชูประเด็นการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและความเสมอภาคทางเพศ แต่ละเลยการกดขี่ทางชนชั้นและการเหยียดผิว โดยไม่ต่อสู้เอาจริงเอาจังกับโครงสร้างระบบชายเป็นใหญ่ที่กดขี่ขูดรีดทางเพศ ทำให้ผู้หญิงชั้นล่างจำนวนมากได้รับประโยชน์จากการต่อสู้ที่ผ่านมาน้อยมาก และนับวันการกดขี่ขูดรีดยิ่งหนักหน่วงขึ้น เพราะภาพลวงตาและการโฆษณาว่าสถานะของผู้หญิงดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีนักคิดนักเขียนหญิงผิวดำหลายคน ร่วมอธิบายในประเด็นนี้ เช่น

                 เบลล์ ฮู้คส์ นอกจากวิพากษ์วิจารณ์เฟมินิสต์แบบตะวันตกแล้ว ก็เสนอให้จำกัดความชัดเจนลงไปว่า ‘เฟมินิสต์ คือการต่อสู้เพื่อยุติลัทธิเพศนิยม และขจัดการกดขี่ขูดรีดทางเพศให้หมดสิ้นไป มิใช่เพียงเพื่อสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ’ (bell hooks :117)    โดยเน้นถึงจุดยืนของการวิเคราะห์ทั้งประเด็นบทบาทหญิงชาย (Gender) ชนชั้น และ การเหยียดผิว การต่อสู้ต้องเริ่มต้นจากประเด็นพื้นฐาน ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงชั้นล่างจำนวนมหาศาล และต้อง สร้างพันธมิตรกับผู้ชายที่เข้าใจด้วย

                ออเดรย์ ลอร์ด ย้ำว่า    การทับซ้อนของการกดขี่ต่อผู้หญิงผิวดำ ส่งผลต่อคำขวัญ ‘Sisterhood’       เมื่อเกิดมีกับดักอำนาจในสังคมโดยเฉพาะการเหยียดผิว ทำให้ผู้หญิงผิวขาวละเลยเรื่องนี้ได้โดยง่าย ผู้หญิงผิวขาวจึงต้องแหวกข้ามการครอบงำทางวัฒนธรรมที่เป็นกับดักเหล่านี้ให้ได้ จึงจะเป็นเฟมินิสต์ที่แท้จริง และทำให้คำขวัญนั้นปรากฏเป็นจริงได้ เพราะถ้าผู้หญิงผิวขาวเน้นแต่เรื่องราวของตนเอง ผู้หญิงผิวดำก็จะกลายเป็น ‘คนอื่น’ ไป (Audre Lorde ,1984 )

                แองเจล่า เดวิส ยอมรับว่า หญิงผิวดำก็ยิ่งถูกกดขี่ โดยชายผิวดำนั่นเอง โดยเฉพาะหญิงผิวดำเลสเบี้ยนที่แม้แต่สังคมผิวดำก็ไม่รับ เธอได้วิเคราะห์ว่า มีการใช้การข่มขืนต่อผู้หญิงที่นอกจากเป็นการกดขี่ทางเพศโดยตรงแล้ว ยังมีนัยแห่งการเหยียดผิวและกดขี่ผู้ชายในโลกที่สาม เช่น กรณีการข่มขืนและฆ่าของทหารอเมริกันในสงครามเวียดนามต่อผู้หญิงเวียดนาม เป็นเสมือนอาวุธของการครอบงำและการกดขี่ทั้งต่อผู้หญิงเวียดนาม และต่อผู้ชายเวียดนามที่ถูกทำลายให้เป็นคนอ่อนแอ และสำหรับผู้ชายผิวดำก็มักมีการตีตราอย่างเหมารวมว่า เป็นนักข่มขืน เป็นคนชั่วร้าย ซึ่งเป็นทรรศนะการกดขี่เหยียดผิวด้วย ( Angela Davis, 1981)

                2) การเน้นการสร้างพลัง (Empowerment) ให้กับผู้หญิงที่ถูกกดขี่ ทั้งในการเสริมสร้างจิตสำนึกต่อปัจเจกและการรวมกลุ่ม โดยเน้นให้รู้เท่าทันการกดขี่ สะสมและพัฒนา สร้างระบบความรู้ เพื่อสร้างเครื่องมือให้ต่อต้านการกดขี่ได้ พร้อมทั้งปฏิเสธความรู้ประเภทที่ทำให้ผู้หญิงผิวดำกลายเป็นวัตถุ      เป็นสินค้าทางเพศ นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่สรุปประสบการณ์ที่ต่างจากกลุ่มกดขี่ครอบงำ แต่ต้องตีความ “ความจริงที่แตกต่าง” และให้ความหมายใหม่ เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของตนและกลุ่ม

                แพทริเซีย ฮิลล์ คอลลินส์ อธิบายว่า สถานะทางเศรษฐกิจการเมืองของผู้หญิงผิวดำ ทำให้มีประสบการณ์ชุดหนึ่งที่ก่อให้เกิดมุมมองที่ต่างจากกลุ่มอื่นๆ   เช่น สภาพชุมชน การทำงาน และความสัมพันธ์ที่มีต่อคนอื่นๆ ภาระของเฟมินิสต์ผิวดำจึงไม่เพียงแต่สรุปประสบการณ์เพื่อค้นพบ ‘ความจริงที่แตกต่าง’ แต่ต้องตีความ ‘ความจริงที่แตกต่าง’ จากกลุ่มครอบงำด้วย ซึ่งเธอยอมรับว่า การครอบงำทุกด้านรวมทั้งสื่อ ระบบโรงเรียน การสร้างอุดมการณ์ ทำให้ผู้ที่ถูกกดขี่มองความจริงที่แตกต่างได้ยาก เพราะว่าขาดโอกาสในหลายมิติ ประเด็นหัวใจคือ ต้องไม่ปฏิเสธค่านิยมและคุณค่าแบบเดิม ๆ ที่หญิงผิวดำมีอยู่ ว่าเป็นสิ่งที่ผิด หรือเป็นเรื่องที่หญิงถูกกดขี่ทั้งหมด
                   เธออธิบายว่าการกดขี่จะทำให้เกิดการต่อต้าน   ซึ่งเธอแยกเป็นสองระดับ บางครั้งอาจเกิดขึ้นในรูปแบบง่ายๆของชีวิต เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นจุดยืนของผู้หญิง ( woman’ s standpoint) แต่จำเป็นต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้เป็นความรู้ที่เชี่ยวชาญและเป็นระบบขึ้น( black feminist’ s thought ) เพื่อแสดงออกซึ่งจุดยืนและส่งผลต่อการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างจิตสำนึก เป็นการสร้างเครื่องมือในการต่อต้านการกดขี่ที่มีประสิทธิภาพขึ้น (Patricia Hill Collins, 1989) 32
               อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เพราะผู้หญิงผิวดำจำเป็นต้องกำหนดจุดยืนทั้งในความเป็นผู้หญิง และความเป็นคนผิวดำ จึงมีความยากยิ่งขึ้น การหาและสร้างความรู้จึงต้องแสวงหาทางเลือกใหม่ ไม่อาจใช้วิธีการหาความรู้และจุดยืนของผู้กดขี่ครอบงำได้ และวิเคราะห์ว่านอกจากการเหยียดผิว การกดขี่ทางเพศ ยังถูกกดขี่ทางชนชั้นด้วย เธอจึงเสนอให้ใช้รูปแบบคำถาม - คำตอบ เรื่องเล่าอย่างง่าย ๆ เพื่อสร้างจิตสำนึก และเน้นการมีจริยธรรมของความน่าเชื่อถือที่ผู้เขียนต้องจริงใจและปฏิบัติจริงด้วย (น.94 )

                 เมื่อทบทวนเชื่อมโยงกับแนวคิดของ Black Feminism ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่การกดขี่ ขูดรีดมีความซับซ้อน ทั้งจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่กดขี่ขูดรีดประเทศโลกที่สาม ทั้งการปกครองระบอบเผด็จการ และการกดขี่ทางชนชั้นในแต่ละประเทศ จนถึงปัญหาการเหยียดผิวและเชื้อชาติ ทำให้การกดขี่ทางเพศมีมิติซับซ้อนยิ่งขึ้น การจะวิเคราะห์สภาพการณ์ที่เป็นจริงและกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่ถูกต้องในแต่ละจังหวะก้าว จึงเป็นเรื่องที่มีความหมายสำคัญต่อขบวนการเฟมินิสต์ ทั้งระดับกลุ่ม ระดับประเทศ และระดับสากล
                 แนวคิดและวิธีการของเฟมินิสต์ผิวดำ( Black Feminism ) จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าเรียนรู้สำหรับขบวนเฟมินิสต์ไทยไม่น้อย ในการต้องไม่ละเลยเสียงจากผู้หญิงกลุ่มชายขอบ กลุ่มคนจน ที่มีภาวะทับซ้อนของการกดขี่หลายชั้น ควบคู่กับการสร้างความตระหนักอย่างมีจิตสำนึกในทุกกลุ่มให้มากที่สุด ทั้งหญิงและชาย

                                  ภารกิจที่ท้าทาย : บทเรียนเพื่อก้าวต่อไปของขบวนเฟมินิสต์ไทย

               จากพื้นฐานแนวคิดและปฏิบัติการในการเคลื่อนไหวต่อสู้ของทั้งสี่กลุ่มแนวคิด ฉันตระหนักดีว่า มีความใฝ่ฝันและความมุ่งมั่นร่วมกันอย่างชัดเจน ที่ต้องการศึกษาปัญหาและวิเคราะห์ความสัมพันธ์หญิงชายที่ไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการศึกษาเพื่อปฏิบัติการในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสมอภาคหญิงชาย ซึ่งเป็นพื้นฐานของความดีงามทั้งของปัจเจกและสังคมโดยรวม และเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ทั้งหญิงชายอย่างเท่าเทียมกัน

              ทุกแนวคิดยอมรับว่า การศึกษาเรื่องเล่าและประสบการณ์ของผู้หญิง เป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับการวิพากษ์องค์ความรู้แบบเก่าๆ และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ
             จุดร่วมสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในสังคมที่มีระบบคิดและความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้ชายเป็นใหญ่นี้ ส่งผลให้การต่อสู้ของผู้หญิงมีความซับซ้อน เพราะโครงสร้างสังคมมีการเอาเปรียบทางชนชั้น และมีความเกี่ยวข้องกับทั่วโลกในยุคแห่งโลกาภิวัฒน์ เป็นที่ยอมรับร่วมกันว่า ความแตกต่างทางเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ความไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย เป็นผลจากโครงสร้างของสังคมและระบบชายเป็นใหญ่ ที่ฝังรากลึกมายาวนานเกือบทุกสังคม และค่อนข้างเห็นพ้องกันว่าการกดขี่ทางชนชั้น เพศ และ เชื้อชาติ เป็นลักษณะร่วมเกือบทุกแนวคิด

              ในความซับซ้อนนี้อาจเปรียบผู้หญิงส่วนใหญ่ดั่ง ‘นกน้อยในกรงทอง’ ที่เห็นแต่ซี่กรง ไม่เคยเห็นและไม่เคยรู้ว่าตนเองอยู่ในกรง ผู้หญิงจำนวนมากจึงพอใจกับสภาพที่ดำรงอยู่ หรือกระทั่งถูกมอมเมาทางความคิดจิตสำนึก ให้ยอมรับว่าเป็นชีวิตที่ควรจะเป็น กระทั่งผู้หญิงบางส่วนเองลุกขึ้นมาต่อต้านแนวคิดเฟมินิสต์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเสียเอง
              ประเด็นที่ยังค่อนข้างมีการถกเถียงกัน อาทิ ผู้หญิงมีปัญหาร่วมกันในฐานะผู้หญิงโดยไม่จำกัดที่ ชนชั้น และ เชื้อชาติ หรือไม่? ความเท่าเทียมหญิงชายคืออะไรกันแน่? ผู้หญิงมีคุณลักษณะพิเศษ แตกต่างจากผู้ชายหรือไม่? จะเข้าใจปัญหาและบทบาทการต่อสู้ของผู้หญิง ในปริมณฑลพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่สาธารณะอย่างไร? รวมถึงความสมดุลระหว่างการต่อสู้ที่เคารพประสบการณ์และความหลากหลายของการต่อสู้แบบปัจเจก กับการต่อสู้ของขบวนการผู้หญิง ที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ควรเป็นเช่นใด?
                                  จุดที่ท้าทาย คือ ขบวนเฟมินิสต์ไทยควรก้าวต่อไปอย่างไร?

               ฉันเองคิดว่า โดยพื้นฐานของแต่ละแนวคิดโดยลำพังย่อมไม่เพียงพอที่จะอธิบาย ที่จะตอบคำถาม และก่อให้เกิดพลังแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงตามอุดมการณ์เฟมินิสต์ได้โดยสมบูรณ์ นักคิดนักต่อสู้เฟมินิสต์แต่ละคนแต่ละกลุ่ม ก็มิได้มองปัญหาและทางออกตามแนวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ส่วนใหญ่จะผสมผสานโดยเลือกอธิบาย หรือเลือกนำมาใช้ ให้เหมาะกับแต่ละปัญหาของตน บางเรื่องจึงไม่จำเป็นต้องรอให้ตกผลึกเห็นด้วยกันก่อนทั้งหมด ในเชิงยุทธวิธี การเคลื่อนไหวต่อสู้ท่ามกลางการพัฒนา และสรุปบทเรียนบนพื้นฐานความหลากหลายของแต่ละกลุ่ม ย่อมเอื้อประโยชน์ต่อขบวนผู้หญิงทั้งหมด นั่นคือ ทุกแนวคิดช่วยให้สามารถเชื่อมโยงการวิเตราะห์ประสบการณ์ได้หลากหลายแง่มุม
                อย่างไรก็ตาม ในเชิงยุทธศาสตร์ที่ถือเป็นอุดมการณ์ขององค์กรเฟมินิสต์ในภาพรวม ฉันคิดว่าจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และร่วมกันวิเคราะห์ให้ชัดเจน   เพื่อให้มองเห็นทิศทางการเคลื่อนไหวต่อสู้ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ทางออกเชิงระบบและโครงสร้าง เพื่อสร้างพลังของขบวนการผู้หญิง มิให้เป็นการต่อสู้แบบปัจเจกที่กระจัดกระจาย การต้องพัฒนาพลังที่มีจิตสำนึกของขบวนผู้หญิงเอง การต่อสู้กับจิตสำนึกและความคิดชายเป็นใหญ่ที่ตกทอดมาทั้งชายและหญิง ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย หรือระหว่างผู้หญิงด้วยกันเอง ได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน และส่งผลต่อสังคมโดยรวมไม่ว่าเชื้อชาติใด

               ดังนั้นโดยภาพรวม ฉันคิดว่า เฟมินิสต์ 14 ตุลายังสามารถใช้แนวคิดพื้นฐานของมาร์กซิสต์ เพื่อวิเคราะห์ในเชิงโครงสร้างของสังคมไทยและทางสากล ประสานกับแนวคิดเฟมินิสต์ผิวดำที่วิเคราะห์การทับซ้อนของการกดขี่ ทั้งทางเพศ ทางชนชั้น และเชื้อชาติ เพื่อเสริมช่องว่างในมิติที่เน้นทางชนชั้นเป็นหลักของมาร์กซิสต์ดังที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน
               นอกจากนี้ การที่แนวคิดเฟมินิสต์ผิวดำเน้นถึงการสรุปบทเรียนจากแนวคิดของเฟมินิสต์ตะวันตก แม้จะวิจารณ์เฟมินิสต์ผิวขาวตะวันตกอย่างรุนแรง    แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธพลังแห่งการต่อสู้ร่วมกันของผู้หญิง ก็ช่วยให้มีการเชื่อมโยงกับสภาพการณ์ที่เป็นจริงของแต่ละสังคม ที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแตกต่างกันได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่การเน้นถึงการเคารพความหลากหลาย และประสบการณ์ของผู้หญิงแต่ละคน แต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ด้อยโอกาสในสังคม จึงถือว่าเป็นการสร้างทฤษฎีและองค์ความรู้ที่เริ่มต้นอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง และในขณะเดียวกันก็ยืนยันความจำเป็นของการก่อเกิดขบวนการต่อสู้ของผู้หญิง ที่ต้องมีพลัง มีองค์ความรู้    โดยถือว่าบันทึกประสบการณ์เป็นการสร้างความรู้ที่สำคัญ และต้องมีการเคลื่อนไหวร่วมกันอย่างกว้างขวาง เพราะถือว่าเฟมินิสต์มิได้ต่อสู้เพื่อผู้หญิงเท่านั้น แต่เป็นอุดมการณ์ที่ดีต่อทุกคน

              อย่างไรก็ตาม ฉันยังเชื่อมั่นว่า เงื่อนไขที่จำเป็นต่อการต่อสู้เพื่อบรรลุความใฝ่ฝันของอุดมการณ์เฟมินิสต์ คือการ ไม่มีสงครามที่มีบางประเทศเข้าไปข่มเหงเอาเปรียบประเทศอื่น เชื้อชาติอื่น ไม่มีรัฐที่ใช้อำนาจเผด็จการ ไม่ว่าต่อประชาชนเชื้อชาติใด จำเป็นต้องมีระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทั้งหญิงชายมีสิทธิมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และต้องขจัดการเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้น
     
              ดังนั้น อุดมการณ์เฟมินิสต์ เพื่อความเสมอภาคหญิงชาย แท้จริงแล้วเป็นอุดมการณ์เพื่อทุกคน เป็นหนึ่งเดียวกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่แท้จริง และอุดมการณ์แห่งสิทธิมนุษยชน   ที่เคารพศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันทุกคน โดยไม่เลือกปฏิบัติเพราะความแตกต่างใดๆ และต้องดำเนินไปเพื่อความเป็นธรรมในสังคม เพราะผู้หญิงคือครึ่งหนึ่งของสังคม
                   “สตรี เสมอภาค สร้างสรรค์” จึงยังเป็นคำขวัญที่ใช้ได้กับทุกคน


                    ความใฝ่ฝันของเฟมินิสต์ จึงมิใช่เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้หญิงบางส่วนเท่านั้นอุดมการณ์ของเฟมินิสต์จึงเป็นอุดมการณ์และการต่อสู้ ทั้งในมิติโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา วัฒนธรรม และการต่อสู้ทางจิตสำนึก ที่เป็นความดีงามต่อทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น