วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

เฟมินิสต์ไทยกับบทเรียนจากเฟมินิสต์ตะวันตก :การหลอมรวมอุดมการณ์เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน (ตอน ๓) ร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีวันสตรีสากล


เฟมินิสต์ไทยกับบทเรียนจากเฟมินิสต์ตะวันตก










         หลังจากทบทวนการแบ่งกลุ่มแนวคิดเฟมินิสต์ของสำนักคิดต่างๆ     ฉันพยายามค้นคว้าหาคำตอบในคำถามสองประเด็นที่เกี่ยวโยงกัน และมักจะมีการถกเถียงกันทั้งในแวดวงเฟมินิสต์    คนที่ไม่เข้าใจ     กระทั่งคนที่คัดค้านเฟมินิสต์     นั่นคือเฟมินิสต์ไทยไม่ควรเลียนแบบหรือเอาอย่างเฟมินิสต์ตะวันตก?   และ ควรเริ่มต้นจากสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย  ของผู้หญิงไทย อย่างเป็นอิสระและสร้างสรรค์?
   ฉันเริ่มต้นจากคำขวัญที่ฉันชื่นชอบมาตั้งแต่เป็นนักศึกษา  ‘  ผู้หญิงทั้งมวลล้วนเป็นพี่น้องกัน  (sisterhood)     ด้วยการทบทวนดูว่าผู้หญิงทั่วโลกทั้งตะวันออกและตะวันตก  ทั้งผิวขาว ผิวดำ และผิวสี   ทั้งถือศาสนาต่างกัน  และฐานะต่างกัน  มีปัญหาร่วมกันในฐานะเป็นผู้หญิงหรือไม่?    ฉันคิดว่ายังสามารถสรุปร่วมกันได้ในปัญหาพื้นฐานจาก  ระบอบชายเป็นใหญ่  ที่ดำรงอยู่คล้ายคลึงกันทั่วโลก   โดยไม่จำกัดชนชั้น  เชื้อชาติ  และเผ่าพันธุ์  แม้จะมีความหนักเบาของปัญหาแต่ละกลุ่ม  แต่ละภูมิภาคแตกต่างกันไปบ้าง   โดยเฉพาะการครอบงำจนเป็นทัศนคติประเพณีทั่วไปว่า    ผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ    ไม่เหมาะสมจะทำงานด้านปกครองและบริหาร   ถูกจำกัดอยู่กับงานบ้าน งานครัว การดูแลลูก    ต้องพึ่งพิงสามี (ผู้ชาย)  จนก่อให้เกิดการสั่งสมความด้อยกว่าของผู้หญิง     ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นผลสำคัญจากการขาดโอกาสที่เท่าเทียมในการเรียนรู้   และพัฒนาศักยภาพของตนเองมายาวนาน     จนดูเสมือนหนึ่งเป็นเรื่อง ภาวะธรรมชาติ     จนแม้แต่ผู้หญิงเองจำนวนมากก็ยอมรับว่า    สภาพที่ดำรงอยู่คือความจริง   คือสิ่งที่ถูกต้อง    สิ่งที่ควรจะเป็น  
    
 ดังนั้น  ขบวนเฟมินิสต์ทั่วโลกจึงควรเดินหน้าต่อไป    ด้วยคำขวัญ ผู้หญิงทั่วโลก  จงสามัคคีกัน   เพราะการพัฒนาแนวคิดและประสบการณ์การต่อสู้ของผู้หญิงตะวันตกและผู้หญิงทั่วโลกมีคุณค่า    รวมทั้งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือกันในระดับสากลต่อไป

ประเด็นที่ท้าทายเฟมินิสต์  และผู้ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง   ในประเด็นสิทธิผู้หญิงและความเสมอภาคหญิงชายทุกคน  คือ  ทำอย่างไรจะบรรลุภารกิจปลดปล่อยผู้หญิงจากการกดขี่ทางเพศโดยสมบูรณ์    ทั้งเนื้อหาและรูปแบบ     ทำให้ผู้หญิงมีความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์    มีความเสมอภาคในโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเต็มกำลัง  และมีอิสระที่จะดำเนินชีวิต   เพราะแนวคิดแบบใดก็ตามในฐานะแนวคิดเฟมินิสต์     ย่อมไม่ใช่เพื่อการศึกษาลอย ๆ   แต่เป็นทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อการปฏิบัติและเปลี่ยนแปลงโดยตรง
   อย่างไรก็ตาม    จากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นของไทยและทั่วโลก   ถ้าไม่มีขบวนการผู้หญิงในแต่ละประเทศที่เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับสภาพแห่งความเป็นจริง    ของโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม การเมือง  และวัฒนธรรมของแต่ละสังคม (รวมทั้งกรณีผู้หญิงผิวดำหรือผู้หญิงพม่าและชนกลุ่มน้อยในสถานการณ์สู้รบ)     และได้พัฒนาอย่างอิสระบนรากฐานการเรียนรู้จากกลุ่มอื่นๆ   โดยผ่านการสรุปบทเรียนโดยตรงของตนเอง     ย่อมไม่สามารถเติบโตและเกิดพลังแห่งการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ในสังคมนั้น

 ฉันตกผลึกทางความคิดด้วยการตั้งข้อสังเกตเบื้องต้น   ในแนวคิดสำนักต่าง ๆ ดังนี้ :
 1)   การเกิดขึ้นของแต่ละกลุ่มแนวคิดสตรีนิยมไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ   แต่มักจะมีพัฒนาการจากการที่ผู้หญิงมีบทบาทเข้าร่วมการต่อสู้ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ    ในแต่ละยุคสมัยและในแต่ละสังคม

            2 เป็นการยากที่จะจำแนกความต่างกันอย่างชัดเจน    หรือแยกจากกันได้เด็ดขาดในแต่ละแนวคิด  หรือกลุ่มแนวคิดย่อย    เนื่องจากทุกแนวคิดเป็นการท้าทายต่อแนวคิดกระแสหลักของสังคมโดยพื้นฐาน    จึงทำให้ทุกกลุ่มมีโอกาสที่จะถูกวิจารณ์และต่อต้านจากทุกสังคมทั้งสิ้น  (ทั้งจากชายและหญิง)    กระทั่งถูกกล่าวร้ายว่าเป็นพวกก้าวร้าว    ทำลายสถาบันครอบครัว    สร้างความแตกแยก    กระทั่งเป็นแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์    การเสนอปฏิรูปปรับปรุงกฎหมายเล็กๆ   หรือระเบียบสักฉบับของชนชั้นกลางที่มีการศึกษา  ก็ยังถูกต่อต้านว่าจะทำลายสถาบันครอบครัว

    3ผู้หญิงจำนวนมากยังไม่ค่อยเข้าใจและยอมรับแนวคิดของเฟมินิสต์กลุ่มต่างๆ  ร่วมกันได้เต็มที่    โดยเฉพาะในสังคมไทย     ยังอาจเข้าใจและสนใจแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเองอย่างชัดเจนเท่านั้น  เช่น   ผู้หญิงชนชั้นกลางจำนวนมากอาจเมินเฉยต่อการรณรงค์ให้มีสถานดูแลเด็กในโรงงาน  หรือในชุมชนชนบท  หรือไม่เห็นด้วยต่อการณรงค์ให้รัฐมีมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคในบางเรื่องแก่ผู้หญิง   เช่น  การกำหนดสัดส่วนหญิงชายในการตั้งคณะกรรมการต่างๆ    โดยมองจากสภาพตนเองว่าหญิงมีสิทธิเท่าเทียมชายแล้ว    ในขณะเดียวกันก็อาจมีผู้หญิงชนชั้นแรงงานหรือชาวนาที่กำลังเผชิญกับการกดขี่ทางชนชั้น   และปัญหาจากโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมอย่างหนักหน่วง  บางส่วนจึงมองไม่เห็นความเชื่อมโยงว่า   การแก้ไขกฎหมายนามสกุลเกี่ยวข้องอะไรกับคนจน   ทั้งที่มีผลต่อการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงทุกชนชั้น  ทุกอาชีพ  เช่น  การเลี้ยงดูในครอบครัวที่พ่อแม่มักให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่า   ทั้งโอกาสในการศึกษาและการทำงาน 

     4)   ยังมีความไม่เข้าใจเนื้อหาการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงจำนวนไม่น้อย    บางส่วนคิดว่า ผู้หญิงเรียกร้องความเสมอภาค  หมายถึงผู้หญิงต้องการทำอะไรได้ทุกอย่างเท่าเทียมชาย หรือ ชายทำได้ หญิงทำได้   แท้จริงแล้วในบางประเด็นนั้น   เฟมินิสต์คัดค้าน แนวคิดแบบเหมารวม  เช่น  เมื่อมีผู้หญิงบางส่วนพร้อมทั้งร่างกาย  จิตใจ  และความรู้ที่กำหนด   ถ้าต้องการจะสมัครสอบเป็นตำรวจหรือนักบิน   ก็ไม่ควรเหมารวมว่าผู้หญิงทุกคนทำไม่ได้   แต่ก็มิใช่หมายความว่า ผู้หญิงทุกคนต้องทำได้    เช่นเดียวกับผู้ชาย ก็ย่อมไม่สามารถเป็นตำรวจ  ทหาร  หรือนักบินได้ทุกคน     
                สำหรับฉันเองไม่ค่อยหวั่นวิตกว่า    แนวคิดของกลุ่มตะวันตกจะมาครอบงำเรา  และขบวนเฟมินิสต์ต่างๆ   เพราะเราต้องมีสิทธิจะเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง   ในทางกลับกัน  ฉันกลับห่วงใยว่า    การวิจารณ์เฟมินิสต์ตะวันตกในสังคมไทย   ถ้าไม่อธิบายให้ชัดเจนอาจทำให้เกิดภาพพร่ามัว    ว่า   เฟมินิสต์ไทยวันนี้เกิดขึ้นตามอิทธิพลตะวันตกหรือเอาอย่างตะวันตก     โดยไม่จำแนกว่าแนวคิดหรือประเด็นอะไรกันแน่    ซึ่งอาจจะถูกทำให้เบี่ยงเบนสาระสำคัญแห่งการต่อสู้ไป  เหมือนที่ภาพหลอนของคำว่า  สิทธิมนุษยชน’     ถูกเหมารวมว่าเป็นความคิดแบบตะวันตกเช่นกัน 




                ในความเห็นของฉัน   การแบ่งกลุ่มสำนักคิดต่าง ๆ เช่นนี้มีข้อดีที่ช่วยให้เข้าใจพื้นฐานการเคลื่อนไหวของผู้หญิงทั่วโลกในภาพรวมดีขึ้น   ไม่สับสนกระจัดกระจาย   อย่างไรก็ตาม   ฉันพบว่ามีปัญหาที่สำคัญคือ   กลับกลายเป็นข้อจำกัดที่นำข้อเท็จจริงไปใส่กรอบตามสำนักคิดต่างๆที่ถูกกำหนดมาล่วงหน้ายาวนานในประวัติศาสตร์อย่างตายตัว    อาจมีผลให้ละเลยความแตกต่างในชีวิตจริง   และละเลยประสบการณ์การเคลื่อนไหวของผู้หญิงทั้งไทยและประเทศอื่นๆ    ที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงตามสภาพพื้นฐานของแต่ละสังคม    โดยไม่อาจแยกตามยุทธศาสตร์ยุทธวิธีเฉพาะสำนักใดสำนักหนึ่ง