วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พี่น้อย..อ.ธีรนาถ กาญจนอักษร.. เฟมินิสต์ที่สู้เพื่อประชาธิปไตย แรงงาน.ความเสมอภาคระหว่างเพศ และ สิ่งแวดล้อม


              


           แกนสำคัญคนหนึ่งของ"เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ" ทั้งแนวคิดและความทุ่มเทเอาการเอางานคือ อ.ธีรนาถ  กาญจนอักษร[1]    บทบาทและแนวคิดในการรณรงค์เพื่อสิทธิผู้หญิงของพี่ธีรนาถ ถูกกล่าวขานชัดเจนในช่วงปี 2522 ในการร่วมก่อตั้งกลุ่มเพื่อนหญิง  ที่เป็นองค์กรผู้หญิงที่มีบทบาทยาวนานมาตลอดจนถึงปัจจุบัน  และมีบทบาทคนหนึ่งในการต่อต้านคัดค้านเซ็กซ์ทัวร์  การค้าหญิง  การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง  สิทธิความเสมอภาค  และการต่อสู้ของแรงงานหญิงด้วย
            พี่ธีรนาถ มองปัญหาของผู้หญิงโดยไม่แยกออกจากความยากจน   สิ่งแวดล้อม ระบบทุนนิยม  และทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ   โดยเฉพาะการปกครองระบบเผด็จการ[2]  อาจเป็นเพราะว่าพี่ธีรนาถ  ชอบอ่านหนังสือ  ได้เข้าไปคลุกคลีศึกษาชีวิตจริงของชาวเขาตั้งแต่ก่อนปี 2514  การซื้อชายหญิงโสเภณีภาคเหนือ ปี 2522  และเข้าไปเรียนรู้หญิงบริการทางเพศด้วยตนเองที่พัฒน์พงศ์  รวมทั้งไปช่วยเหลือแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม   

              กระแสอุดมการณ์สังคมนิยมหลัง 14 ตุลา 16   ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์  น่าจะมีส่วนที่ทำให้พี่ธีรนาถ สนใจ และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานตั้งแต่ไปศึกษาที่ต่างประเทศ[3]   และเข้าร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา 2535  อย่างเอาการเอางาน[4]            เมื่อขบวนแรงงานรณรงค์สิทธิลาคลอดของแรงงาน 90 วัน อย่างต่อเนื่อง  จนถึงขั้นมีการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2536       พี่ธีรนาถ ได้เข้าร่วมและเขียนบทความหลายชิ้น   เช่น ลาคลอด 90 วัน เราจะไปทางไหนดี    ชี้ข้อเรียกร้องต่อสังคมและนโยบายรัฐอย่างจริงจังว่า
                "ปัญหาในเรื่องการตั้งครรภ์  ลาคลอดและเลี้ยงดูทารก มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของผู้หญิงที่เป็นแม่  ทั้ง ๆ ที่ภาระในการผลิตคนรุ่นต่อไปซึ่งจะเป็นทั้งแรงงานทดแทน และผู้สืบทอดเผ่าพันธุ์  คือภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของสังคมซึ่งทั้งหญิงและชายจะต้องแบกรับร่วมกัน  และก่อให้เกิดทัศนคติที่ผิด ๆ ว่า การมีลูกของผู้หญิงเป็นข้อด้อยทางสรีระ  ซึ่งมักจะถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้ความชอบธรรมต่อการเลือกปฏิบัติ  ที่ทำให้ผู้หญิงต้องเสียเปรียบอยู่เสมอ [5]


            กรณีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เมื่อ 10 พ.ค. 2536 มีคนงานเสียชีวิตเกือบ 200 คนเป็นผู้หญิงอย่างน้อย 165 คน มีคนงานบางคนบาดเจ็บกว่า 500 คน  พี่ธีรนาถเข้าร่วมกับองค์กรแรงงานนักวิชาการ และองค์กรเอกชน จัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์สุขภาพความปลอดภัยของคนงานและผลักดันให้รัฐบาลแต่งตั้งตัวแทนจากแรงงานและนักวิชาการ  เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยที่เสียชีวิตและทุพพลภาพ  ซึ่งมีพี่ธีรนาถ ร่วมด้วย       รัฐบาลยังได้แต่งตั้งให้พี่ธีรนาถ เป็นเจ้าหน้าที่เจรจาสิทธิประโยชน์ของคนงาน  สามารถต่อสู้จนได้รับสิทธิประโยชน์ดีขึ้นกว่าช่วงแรก  เช่น มีเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพคนละ 1 แสนบาท  ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือบุตร ให้รัฐบาลประกาศวันที่ 10 พฤษภาคม เป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ
            พี่ธีรนาถ  ทุ่มเทเรื่องนี้จนเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของขบวนผู้ใช้แรงงาน  และยังเขียนจดหมายถึง เปลว สีเงิน สะท้อนความรู้สึกว่า
                        ..."ดิฉันได้เห็นข่าวลูกสาวเศรษฐีแต่งงานเป็นงานช้าง  มีผู้ใหญ่ไปร่วมมากมาย ได้ของขวัญล้นหลาม  อดสะท้อนใจถึงคนงานหญิงหลายชีวิตในโรงงานที่ตระกูลของท่านเป็นเจ้าของร่วมอยู่ไม่ได้  เธอเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้เสวยสุขแม้เพียงกระผีกริ้นของท่านเศรษฐีทั้งหลาย  เมื่อตายไปโดยชะตากรรมที่เธอไม่ได้เลือก และโดยความทารุณที่สร้างขึ้นทางอ้อม   จากเส้นทางที่นำไปสู่ความเป็นเศรษฐีของคนที่กินแรงงานของเธอ  ค่าชีวิตของเธอกลับถูกต่อรอง   คนเขาหาว่าเธอเป็นแค่แรงงานผู้หญิง  ค่าไม่ควรเกินแสนบาท  ดิฉันคับแค้นใจ  ทำไมชีวิตของคนที่ทำงานหนักหาเลี้ยงคนอื่น ให้กำไรกับผู้จ้าง   ให้ค่าเล่าเรียนแก่น้อง  ให้ความอยู่รอดกับพ่อแม่ ให้อนาคตกับลูกหลาน ให้ความสุขกับพี่น้อง  จึงถูกตีค่าต่ำกว่าชีวิตลูกสาวเศรษฐี  ที่อย่างมากที่สุด  ก็เพียงแต่หาเงินเพิ่มความมั่งคั่งที่มีอยู่แล้ว   เติมให้เพิ่มขึ้นไปอีก[6]






[1] พี่ธีรนาถ เกิดเมื่อ 6 เมษายน 2492  จบเศรษฐศาสตร์บัณฑิต  (เกียรตินิยม)  จากจุฬาฯ  เริ่มเป็นอาจารย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ ปี 2513  ย้ายไปที่คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ  และไปศึกษาต่อจบปริญญาโท  สาขาการพัฒนาจากเนเธอร์แลนด์ ปี 2522    จึงกลับมาคณะเศรษฐ ศาสตร์อีก  ต่อมาในช่วงปี 2528-32  ได้รับทุนไปศึกษาต่อปริญญาเอก ที่เคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ  เตรียมเขียนวิทยานิพนธ์ เรื่อง “The Political Economy of Prostitution in Thailand (เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเรื่องโสเภณี)โดยทำงานวิชาการที่คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาฯไปด้วย


                  พี่ธีรนาถฯ(น้อย) มีครอบครัวที่อบอุ่น  และมีความผูกพันมาก    ดังบันทึกด้วยลายมือในคืนที่คุณพ่อเสียชีวิตเมื่อ 10 พ.ย. 36 ในบางตอนว่า   น้อยรู้ว่าพ่อรักและห่วงน้อยมากเสมอ เพราะเป็นลูกคนเล็กของพ่อ คนที่พ่ออยากจะให้เป็นผู้ชาย  แต่ถึงน้อยจะเป็นผู้หญิง  พ่อก็ตั้งชื่อให้แปลว่าที่พึ่งของนักปราชญ์  เพราะชื่อพ่อแปลว่านักปราชญ์  พ่อบอกว่าลูกจะได้เป็นที่พึ่งแก่พ่อได้     เพราะพ่อรู้สึกเสมอ  ถึงความแตกต่างอย่างมหาศาลในโอกาสของผู้หญิงกับผู้ชายในสังคมไทย   พ่อจึงห่วงพวกเราทั้งสามคน  ลูกที่เป็นผู้หญิงมากเป็นพิเศษ  เพราะพ่อเป็นห่วงว่า  ผู้หญิงมีโอกาสกำหนดชะตากรรมตัวเองน้อยมาก
[2] ฉัน(สุนี ไชยรส ) ทำรายงาน เรื่อง “เสมอภาค เสรี: แนวคิด ตัวตน และผลงานของ ธีรนาถ กาญจนอักษร”  ในวิชา เฟมินิสต์ผิวดำ  “Black Feminisms” ที่สอนโดยดร.วิลาสินี  พิพิธกุล     ซึ่งช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจต่อแนวคิดนอกกระแสหลักของสตรีนิยมได้ดีมาก   ฉันประทับใจกับแนวคิดและการต่อสู้ของผู้หญิงผิวดำหลายคนจากวิชานี้   และทำให้เกิดความมั่นใจในวิธีการที่จะทำวิทยานิพนธ์จากประสบการณ์ตนเองชัดเจนขึ้น   ฉันเขียนจากความทรงจำที่ได้ร่วมทำงานเรื่องสิทธิผู้หญิงโดยตรงกับพี่ธีรนาถ  เกือบสี่ปี  ซึ่งมีความรักความห่วงใยและคอยแนะนำต่าง ๆ แก่ฉันอยู่ตลอดเวลา   จากหนังสือ เสมอภาค เสรี   ที่มีคำรำลึกจากผู้คนทั้งหญิงชายหลากหลายกลุ่มอาชีพจากทั่วประเทศ  และหนังสือของมูลนิธิธีรนาถ ที่มี ดร.วรวิทย์  เจริญเลิศ  คู่ชีวิตของพี่ ธีรนาถ  เป็น บรรณาธิการ   รวบรวมและคัดเลือกบทความ   บันทึก  การอภิปรายต่าง ๆ ในชื่อว่า หญิงชายกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  และ ทุน รัฐ แรงงานวิกฤติและการต่อสู้  ในปี 2542           
              นอกจากนี้  จดหมายข่าวของเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญช่วงปี 2539-41  มีข้อเขียนและบทนำโดยพี่ธีรนาถฯทุกฉบับ   รวมทั้ง ในหนังสือผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ   บันทึกการเดินทางสู่ความเสมอภาค   ของเครือข่ายฯ   ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดและตัวตนของพี่ธีรนาถฯ  ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายฯ  ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง  ซึมซ่านเป็นแกนอยู่ตลอดทั้งขบวนด้วย   โดยที่งานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญนี้เป็นงานช่วงสุดท้ายของชีวิต และเป็นงานที่ทุกคนรู้ดีว่าเป็นงานที่พี่ธีรนาถ รักและทุ่มเทมากที่สุด  ยังมีบันทึกลายมือบางฉบับที่เราเก็บไว้
               พี่ธีรนาถ มีบทบาททั้งออกแถลงการณ์  ยื่นจดหมายประท้วงหรือเสนอแนะต่อรัฐบาล   การอภิปราย  จนถึงไฮด์ปาร์คในบางสถานการณ์  พยายามใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม  โดยพี่ธีรนาถ เป็นผอ.สร้างละครเพื่อประชาธิปไตย  ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ   เรื่อง บ้านสองแยก  ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ พ.ศ.2535  ดำเนินรายการวิทยุ  และสถานีโทรทัศน์ไทยสกาย  หลายรายการ  ให้สัมภาษณ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ร่วมงานในศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาฯ   และเป็นกรรมการชุดต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.)  สำนักนายกรัฐมนตรี    คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น   คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชน
                ก่อนเสียชีวิตปี ๒๕๔๒ จากเครื่องบินตกที่ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ    ผู้อำนวยการโครงการผู้นำสตรีท้องถิ่นสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท  ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน  ที่ปรึกษามูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน  จังหวัดเชียงราย   ที่ปรึกษาชมรมจุฬาทักษิณ  และผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ
[3] ดูคำรำลึกถึงของ อ.มาลี  พฤกษ์พงศาวลี   กวิน ชุติมา-นัยนา  สุภาพึ่ง  และเตือนใจ ดีเทศน์ ใน เสมอภาค เสรี   
[4] พี่ธีรนาถ เข้าร่วมกับนักวิชาการทำจดหมายเปิดผนึก  ทัศนะต่อการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบ(รสช.)    เรียกร้องให้รสช. ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก  ให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่  ให้รัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้งรวมทั้งนายกรัฐมนตรี ใน ทุน รัฐ แรงงานวิกฤติและการต่อสู้,2542: 81-84
พี่ธีรนาถ คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญของ รสช. ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย   และรักษาอำนาจตนเอง  เช่นการให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของรสช. 270 คน และสามารถลงคะแนนล้มรัฐบาลได้เช่นเดียวกับส.ส.360 คนที่ประชาชนเลือก...  หากรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้  การยึดอำนาจที่ผ่านมาก็จะเป็นการยึดอำนาจอย่างถาวร  หน้าที่ของประชาชนก็คือร่วมกันปกป้องคุ้มครองประชาธิปไตยไว้เพื่อประโยชน์แห่งชาติ  โดยเสนอในบทความเรื่อง ประชาธิปไตยกับการยึดอำนาจแบบถาวร  ในสยามรัฐ  วันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2534  พี่ธีรนาถ เองก็เข้าร่วมการชุมนุมอย่างเอาการเอางาน  เมื่อเกิดการปราบปรามนองเลือดและมีการจับกุมนักศึกษาประชาชน  พี่ธีรนาถ ก็ไปเยี่ยมผู้ถูกจับในฐานะอาจารย์  และหาทางประสานงานให้นักศึกษาได้ประกันตัว
          มีหลายบทความที่สะท้อนการวิเคราะห์ปัญหาผู้หญิงอย่างเป็นระบบ อาทิ
ปัญหาสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการค้าหญิง... ประเทศที่มีปัญหาการค้าหญิงในระดับแพร่หลายจนเป็นที่รู้เห็นกันไปทั่วโลก   คือฟิลิปปินส์กับไทย   ทั้งสองประเทศเป็นสถานที่มีและเคยมีฐานทัพอเมริกันตั้งอยู่  และเป็นประเทศที่ได้ผ่านระบบการเมืองแบบเผด็จการ  ซึ่งอำนาจต่าง ๆ ในการตัดสินใจอยู่ในกำมือของผู้นำเพียงไม่กี่คนมาอย่างยาวนาน   อีกทั้งยังมีลักษณะปัญหาทางเศรษฐกิจร่วมกันอยู่หลายประการ  ชี้ถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก  ระหว่างการเติบโตของขบวนการค้าหญิง  กับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งน่าจะอธิบายได้มากกว่าเพียงคำพูดสั้น ๆ ว่า  เพราะความยากจน  และ เป็นที่น่าประหลาดใจที่ผู้ชายเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการแตะต้องจากกฎหมายหรือสังคม  นโยบายของรัฐเน้นการควบคุมและมุ่งเอาผิดผู้หญิงหรือผู้ถูกซื้อเป็นหลัก  แม้ในความเป็นจริงความต้องการของลูกค้า  จะเป็นตัวการที่ทำให้ธุรกิจเพศดำเนินไปได้  และเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงขบวนการค้าหญิงทั้งหมด  ปัญหาโสเภณีและการค้าหญิงจึงเป็นเรื่องสะท้อนที่ดียิ่งของความไม่เป็นธรรมในระบบชายเป็นใหญ่  ใน  หญิงชายกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม,2542: 34-60.
[5] ลงในนสพ.มติชน 4 พ.ย. 2534 และ ทุน รัฐ แรงงานฯ : 281-288 ซึ่งมีเรื่อง เศรษฐศาสตร์การลาคลอด 90 วันก็ยังน้อยไป อยู่ด้วย(เล่มเดียวกัน:289-293)  นอกจากนี้ยังได้เสนอเหตุผลโต้แย้งกับแนวคิดของรัฐมนตรีชายบางคนที่ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า   ถ้าให้ลาได้ 90 วัน ต่อไปจะเกิดลูกหัวปีท้ายปีเพื่อลาคลอด” “คลอดลูกเสร็จก็บีบน้ำนมตัวเองใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้ก็ได้ ไม่น่าต้องอยู่บ้าน  รวมทั้งโต้แย้งกับอดีตรัฐมนตรีหญิงบางคนที่ออกมาพูดว่า การลาคลอดนาน   เป็นการเอาเปรียบคนอื่นที่ต้องทำงานแทน
[6] ธีรนาถ  กาญจนอักษร,ทุน รัฐ แรงงานฯ: 339   และวงดนตรีภราดร โดยวิชัย นราไพบูลย์ จากวงอินโดจีนได้แต่งเพลง คิดถึงตุ๊กตา  (เคเดอร์)  ให้  ขับร้องโดย สุวรรณา,ภัชรี,สุมาลี,กาญจนา
              สนธยา น้องตุ๊กตา เหนื่อยล้าแรงอ่อน   วิหคโผคืนกลับคอน ตะวันรอนอ่อนแสงอีกวัน    ผ่านค่ำคืนนี้  คงจะมีเรี่ยวแรงฝ่าฟัน  พ่อจ๋า แม่จ๋า รอฉัน  วันหยาดเหงื่อนั้นเปลี่ยนเป็นเงินเดือน                  
                  ตุ๊กตา เจ้าจากบ้านนา  ด้วยใจมุ่งหวัง  เรี่ยวแรงกายเท่าใดโถมถั่ง   โลกสดสวยด้วยสองมือใคร แสงแดดแผดเผา   ผืนนาแล้งล่มสลาย  ไฟโลภของคนใจร้าย  โหมทำลายความหวังเธอสิ้น
                  โอ้ ตุ๊กตา  ถูกตีราคาดั่งผงธุลี  กอบส่วนเกินกินกันอ้วนพี  สังคมนี้เหลื่อมล้ำเกินไป  ตุ๊กตาทอดร่าง  ถมทางให้เพื่อนเดินไป  ในอ้อมกอดแห่งดวงใจ  จะโอบเธอไว้ตลอดเวลา ....

เรื่อง"แม่" ของป้ามล...ทิชา ณ นคร การต่อสู้เพื่อลูก ที่มีกำลังใจเข้มแข็งจากแม่



ในวิทยานิพนธ์สตรีศึกษา "การหลอมรวมอุดมการณ์เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน..เรื่องเล่าโดย สุนี ไชยรส"  มีเรื่องของพี่ทิชา ณ นคร(ป้ามล)ที่เข้มข้นและซาบซึ้งสะเทือนใจทุกคน..โดยเฉพาะเรื่องของลูก และแม่


              พี่ทิชา (พี่มล) เป็นครู รร.ราษฎร์   ร่วมชุมนุม 14 ตุลา   ต่อมามีบทบาทในศูนย์พิทักษ์สิทธิครู  เมื่อมีการปลดครู รร.ราษฏร์ออกมาก  จึงมีการชุมนุม  ในที่สุดรัฐบาลรับครูทั้งหมดเข้ารร.รัฐบาล   แต่ต้องไปอยู่ต่างจังหวัด  พี่ทิชา  จึงไปเป็นครูที่สุราษฎร์   พอดีมีการปลดผู้ว่าฯธวัช มกรพงศ์ที่  จ.พังงา เรื่อง
เหมืองเทมโก้ ที่ไปขัดผลประโยชน์นายทุนต่างชาติ  จึงกลับมาบ้านเกิดที่พังงา  เธอเล่าว่า
          รับไม่ได้เลย คุยกับเพื่อนขอยืมพิมพ์ดีด แอบไปใช้เครื่องโรเนียวของเพื่อน ทำแถลง การณ์อยู่คนเดียว  พอเสร็จตีสองไปติดที่ตลาดตะกั่วป่าคนเดียวเลย   ตอนบ่ายหารถได้ไฮด์ปาร์คบนหลังคารถชักชวนผู้คนไปชุมนุม...ปักหลักจนถึง 12 วันที่ศาลากลาง  นักเรียนตื่นตัวมากหลัง 14 ตุลาทำให้มากันเยอะ   มลกับพี่สุรชัย  แซ่ด่าน สลับกันปราศรัย  แต่แล้วหน่วยปฏิบัติการพิเศษ(นปพ.) ยิงกราดเข้ามาในฝูงชน  ศาลากลางพังหมด  อาจจะมีระเบิดด้วย มีคนตายคนเจ็บเยอะมาก  ผู้คนพากันหนี  มีคนพามลหนีใส่รถเอาผ้าคลุมออกมาไปส่งไว้ที่ จ.ระนอง  โบกรถสิบล้อหลายคันกว่าจะหลบมาถึงกรุง เทพฯ  แล้วก็ถูกไล่ออกจากครู  มีคนชุมนุมประท้วงคำสั่งที่ไล่มลออกให้มีความชอบธรรมกว่านั้น  แต่ผู้ว่าฯ ให้หน่วยพิเศษส่งตัวออกทันที  ไม่ให้กลับไปสุราษฎร์อีก

           เรื่องลูกของพี่มล และคำสอนที่ดีมากของแม่ของพี่มลเอง  ...ฉันเคยคุยกับพี่ทิชาฯ อย่างละเอียดมาแล้วสองครั้ง   แต่วันนี้เธอเล่าด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งกว่าทุกครั้ง 


              พี่ทิชา  ณ นคร   เริ่มต้นจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม  เธอเพิ่งมาซาบซึ้งประเด็นผู้หญิงจากชีวิตครอบครัวตัวเอง  เมื่อเธอเล่าให้พวกเราฟังพร้อมน้ำตาในบางช่วง  มันสะท้อนความจริงของผู้หญิงจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเข้มแข็งปานใดในการต่อสู้ทางการเมืองหรือเพื่อความเป็นธรรม  กว่าที่แต่ละคนจะผ่านด่านปัญหาของความรักและครอบครัวได้นั้น  มันแสนสาหัสเสียเหลือเกิน   แต่พี่มลยังดีที่มีแม่ที่เข้าใจเธอมาก 
               แม่มีหลักคิดที่ดีมาก   เหมือนที่เขามีงานวิจัยว่า  เด็กอยากได้ยินอะไรมากที่สุดยามเผชิญกับความยุ่งยากสับสน...แม่จะบอกเสมอว่า  ไม่เป็นไร...ถูกไล่ออกจากราชการก็ไม่เป็นไร  เมื่อพบอุปสรรคใด ๆ แม่ยืนข้างหน้าเสมอ  บอกว่า แม่ว่า  ไม่เป็นไร ก็ไม่เป็นไรสิ



                พี่ทิชา  อยู่กับแฟนก่อนแต่งงาน  แม่สามีเอา นสพ. เดลินิวส์ที่มีรูปเธอกำลังไฮด์ปาร์คโยนใส่หน้าแฟน   ว่าคนอย่างนี้หรือจะมาเป็นเมีย?  แต่ในที่สุดก็ไปทำพิธีแต่งงานกันง่าย ๆ  แล้วมาอยู่กรุงเทพฯ
                  "....พอมีลูกเขาได้งานเหมืองแร่ในระนองรายได้ดีเขาก็เลยไป   พอมีท้องคนที่สองเขาไม่บอกว่ามีคนอื่น แต่หลานเราบอก  เราทำงานที่สหทัยมูลนิธิเลยนั่งรถทัวร์ตั้งใจจะไปถามว่าจะเอาอย่างไร    ตอนคลอดครั้งแรกมีปัญหาสุขภาพขาดธาตุเหล็ก  เขาให้ถือใบเตรียมคลอดไว้   ถ้าคลอดอาจมีสถานการณ์ฉุกเฉินได้อาจต้องให้เลือดกะทันหัน   พอไปถึงก็เจ็บท้องทันที  ใบสุขภาพก็ไม่ได้ถือไป   ก็ไปคลอดอนาถา  มีปัญหาจริง ๆ   รกค้างเลือดออกมาก   ต้องยกตัวเราใช้ขันตักเลือดทิ้ง  ทุเรศทุรังมาก  แฟนมาหา แต่มาพูดเรื่องการหย่า  นี่เป็นการอับอายครั้งที่สองของชีวิตเลยนะ   นอนอยู่คืนหนึ่งก็นั่งรถทัวร์คันเก่ากลับมา    คนขับและกระเป๋ารถก็ตกใจที่เห็นคลอดแล้ว  ไปกดออดเรียกแม่เช้ามืด  อุ้มลูกมาแบบอนาถามากจนรันทดกับตัวเอง...    
                     มาได้สองสามวันแฟนตามมาเราก็ดีใจ   แต่เขาก็มาชวนไปหย่าอีก   ไปที่อำเภอสามสี่แห่ง   อำเภอก็ไม่หย่าให้เพราะเราร้องไห้  เจ้าหน้าที่บอกให้กลับไปคิดดูก่อน   แฟนก็ขุ่นข้องหมองใจมากเลย (เริ่มร้องไห้)  เพราะถ้ามลพูดคำเดียวเขาก็จะได้หย่า  มลจึงประจักษ์มากเลย   เรื่องลาออกจากการเป็นเมียมันยากจริง ๆ
                     
                   


เขามารอบสองลูกอายุได้ประมาณ  15 วัน  เขามาขโมยลูกไป  บอกว่าถ้าอยากได้ลูกคืนต้องไปหย่าให้ก่อน  เขาเอาลูกให้ย่าที่เป็นพยาบาลศรีธัญญาจ้างคนเลี้ยง  
                   แต่ยามนั้นเราก็คิดแบบ ผู้หญิง แท้ ๆ เลยนะ   คิดว่าดีเหมือนกัน  เผื่อมันย้อนคืนความสัมพันธ์มาได้  ก็บริหารตนเองในระหว่างยังไม่หย่า  ดูแลลูกคนโตแล้วไปทำงานให้สหทัยมูลนิธิที่ศิริราช  เย็นไปศรีธัญญาซึ่งไกลมาก  เลี้ยงลูกคนเล็กจนลูกหลับ  ถึงกลับมาดูแลลูกคนโตที่บ้าน  ทำอย่างนี้ทุกวัน   ซักผ้าต้องใช้น้ำบ่อ (ที่ฝั่งธน)  วงจรชีวิตเป็นอย่างนี้จนลูกอายุ 11 เดือน  ระหว่างที่เราไปหาลูก  แม่เขาจะไม่ยอมพูดด้วย   น้ำก็ไม่ให้กิน ลูกติดเรามาก  เขาก็ติดหลาน  เขาเลยโมโหบอกให้เราเลิกมายุ่งกับหลานเขา แบ่งกันคนละคน 
                     มลเขียน จม.ถึงเขา  บอกว่า ลูก-เด็กไม่ใช่สิ่งของนะ  จะได้แบ่งกันคนละชิ้น  ที่มาตลอดทุกวันนี้ก็หวังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมลกับแฟนจะฟื้นคืนมา  เป็นความรู้สึกของแม่ ของเมีย  ของผู้หญิง  ตลอดเวลาเราซื่อสัตย์  ผู้หญิงทุกคนอยากมีผัว  คนเดียว (ร้องไห้)
                ที่สุดเขาก็ยืนยันให้เราแยกจากลูก แฟนก็ว่าเขาตามใจเรามามากแล้วเขาต้องตามใจแม่เขาบ้างแล้ว 




                 ช่วงเวลานั้นทุกข์ใจมากนะ  รู้สึกว่าแยกลูกให้ไม่ได้   เขามาจากตัวมลและเราก็ยอมทำทุกอย่างแล้ว  เริ่มคิดจะเอาลูกกลับ  ยังไม่ยอมหย่า  แต่ไม่มีช่องทางเลย  เพราะเขาใหญ่ระดับรอง ผอ.พอดีมีเหตุการณ์ที่เขาไม่สบาย    ต้องไปนอนรพ.เอกชน  เอาหลานไปเลี้ยงด้วยอยู่ห้องวีไอพี  ลูกก็ท้องเสีย  เราก็ตามไปดูแลลูกทุกวัน  เขาเลยยื่นคำขาดไม่ให้มาอีกและสั่งลูกชายมาหย่า   
                    ในชั่วโมงนั้นเราไม่มีทางอื่นอีกแล้ว    ไปแต่เช้าก็ไปอุ้มลูกออกมาตอนพยาบาลเผลอ  สักพักพยาบาลที่รพ. ก็โทรมาที่สหทัยฯ  ขอให้เอาเด็กมาคืน  เพราะคุณย่าจะแจ้งความว่าเด็กหาย   จะทำให้รพ.เดือดร้อน  เรายืนยันขอให้รพ.มั่นใจว่า ถ้าเป็นคดีความจริง ๆ เราไม่แพ้แน่ เพราะเป็นแม่  สหทัยฯ ก็ส่งจนท.ไปคุยกับรพ.  ว่าแม่เขาไม่คืนลูกแน่  ถึงที่สุดก็เลยได้ลูกคืน  เขาก็ไม่ฟ้อง 
                 ก็ติดต่อทาง จม. หาแฟนทันทีว่าพร้อมจะหย่าแล้ว  ทำบันทึกข้อตกลงพิเศษว่าเด็กจะอยู่ในความดูแลของมลตลอดไป  และไม่ขอรับค่าเลี้ยงดู  แม่จะเป็นผู้อุปการะเองเพราะกลัวเขาจะมาเอาลูกไป   
                      ตอนนั้นลูกอายุ 11 เดือน  ....



วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แม่กับพี่ชาย..บากบั่นส่งลูกสาวสองคนเรียนมหาวิทยาลัย...ก้าวสู่อุดมการณ์ปฏิวัติ



แม่ทุ่มเทให้จบมหาวิทยาลัย 
ไม่เกเร ..สู่อุดมการณ์ปฏิวัติ


                    ฉันซึมซับอุดมการเฟมินิสต์ในเบื้องต้นจากชีวิตของแม่       เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยในยุคเผด็จการฉันได้เข้าร่วมการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แหลมคมต่อมา     และช่วยพิสูจน์ว่า       ถ้าไม่มีประชาธิปไตยเป็นเงื่อนไข      การต่อสู้ของเฟมินิสต์ก็ไม่อาจจะเป็นไปได้

     แม่บันทึกเวลาช่วงนี้ไว้ว่า...
                 พอดีเบิ้มเรียนจบเทคนิคสามปี    เบิ้มก็อยากเรียนต่อแต่แม่ไม่มีปัญญาส่ง  จึงออกมาทำงานช่วยแม่ส่งน้องเรียนมหาวิทยาลัย   เบิ้มได้งานที่รังสิต  แม่ก็ย้ายกลับมาทำงานที่รังสิต   เราจึงได้มาเช่าบ้านอยู่รวมกันอีกครั้งหนึ่ง  แม่มีความตั้งใจว่าแม่ไม่มีการศึกษาก็จะพยายามให้ลูกได้เรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้   ระหว่างลูกเรียนแม่ทำงานตลอดปีไม่มีวันหยุดเลยไม่ว่าเสาร์อาทิตย์   เพราะว่าเราไม่ได้ทำเป็นเงินเดือน   ทำมากได้มากทำน้อยได้น้อย    เราก็อยู่มาได้จนลูกทั้งสองจบมหาวิทยาลัย    
                 ส่วนเบิ้มก็นึกว่าเมื่อน้องจบแล้วจะมีโอกาสได้เรียนต่อ    ก็ต้องผิดหวัง  เพราะน้องก็ไม่ได้ทำงานประจำเป็นชิ้นเป็นอัน     มัวแต่ไปช่วยกรรมกรชาวไร่ชาวนาเขาต่อสู้กัน    จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6  ตุลา  ก็เลยเตลิดเข้าป่าไปทั้งพี่ทั้งน้อง    เหลือแต่แม่กับพี่ชาย    จนห้าปีผ่านไปถึงได้กลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่     สุกลับมาก่อนไม่มีปัญหาอะไร     ปุ๊กลับมาทีหลัง     ถูกจับไปขังคุกพร้อมลูกน้อยวัยไม่กี่เดือนเป็นปีถึงได้ปล่อยออกมา...




    ตอนเรียนอยู่ม.ศ.4 และม.ศ.5  ที่ร.ร.วัดเขมาภิรตาราม   ฉันได้อ่านนิตยสารชัยพฤกษ์นักศึกษาประชาชนในห้องสมุด    มีเรื่องราวมากมายชวนให้คิดและสนใจ    คุณครูรับนิตยสารมาจำหน่ายด้วย   ฉันจึงซื้ออ่านกับพี่สาวทุกฉบับ    เนื้อหาปลุกเร้าใจเยาวชนหนุ่มสาวให้มีจุดมุ่งหมายที่ดีงามในชีวิต  มีความใฝ่ฝันและมีอุดมการเพื่อรับใช้ประชาชน  การต่อสู้เพื่อเสรีภาพและสันติภาพ         การวิจารณ์นโยบายเรื่องจักรพรรดินิยมอเมริกา   ฐานทัพอเมริกันในไทย  และการคัดค้านสงครามเวียดนาม    สอดคล้องกับภาพทหารอเมริกัน   เมียเช่า    เด็กผมแดง   ผู้หญิงที่ต้องทำงานบาร์   ที่ฉันเคยรู้สึกเศร้าหมองในใจเมื่อเห็นมาตั้งแต่วัยเด็ก       การพูดถึงปัญหาคนจนที่ฉันมีโอกาสสัมผัสมามากมาย     การวิจารณ์ระบบอาวุโสของรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ     การพูดถึงเสรีภาพในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ทำให้ฉันใฝ่ฝันและมุ่งมั่นจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ได้
ตอนสอบเอนทรานซ์เลือกได้  6  อันดับ   ฉันเลือกคณะเศรษฐศาสตร์    ธรรมศาสตร์  อันดับ 1      ตามด้วยเศรษฐศาสตร์   จุฬาฯ  คณะรัฐศาสตร์    ธรรมศาสตร์    รัฐศาสตร์  จุฬาฯ   สุดท้ายที่คณะวารสารศาสตร์   ธรรมศาสตร์   และนิเทศศาสตร์  จุฬาฯ
วันไปดูผลสอบเอนทรานซ์  พี่ชายเป็นคนไปดูให้   กลับมาทำหน้าเศร้าบอกว่าไม่ติดทั้งสองคน   ฉันกับพี่สาวแม้จะเสียใจอยู่บ้าง   แต่ในสถานการณ์ความยากลำบากของครอบครัว   เราก็รู้สึกโล่งอกไปอีกแบบหนึ่ง   บอกว่า  ดีเหมือนกันจะได้ตัดใจทำงานหาเงินช่วยแม่บ้าง  พี่ชายจึงหัวเราะ    บอกแม่ว่าสอบติดทั้งสองคน   ฉันติดคณะเศรษฐศาสตร์     ธรรมศาสตร์    ส่วนสุกัญญา..พี่สาวติดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และให้กำลังใจน้องทั้งสอง   ให้เรียนไปเต็มที่  เพราะพี่ชายกำลังจะได้งานทำที่รังสิตแล้ว
 คิดย้อนไปแล้ว  พี่ชายคนโตในฐานะเรียนเก่ง และเป็นลูกชาย  ที่ส่วนใหญ่ในสังคมจะมีโอกาสมากกว่าลูกสาว    ต้องขอบคุณพี่ชายที่เสียสละอย่างมาก  ทำให้เราสองคนมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัย   และเป็นอย่างที่แม่เขียนไว้   เมื่อเราสองคนจบต้นปี 2517ก็ไม่ได้ให้โอกาสพี่ชายกลับมาเรียนต่ออีกเลยเพราะเข้าร่วมกระแสธารอันเชี่ยวกรากแห่งการต่อสู้ของขบวนนักศึกษาประชาชนอย่างต่อเนื่อง     และเมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6  ตุลา 2519   ฉันกับพี่สาวหลบภัยเข้าป่า      เรายังทิ้งภาระของกิจการร้านหนังสือที่เราทำกันในครอบครัวให้เป็นภาระหนักหน่วงของพี่ชายตามลำพัง    เนื่องจากถูกยึดหนังสือทั้งร้านไปเผาที่สนามหลวง    พี่ชายต้องรับภาระหนี้สินหนักทีเดียว



ขณะที่สุกัญญา พี่สาวกลับต้องเผชิญกับภาวะกดดันตั้งแต่เริ่มต้น   เธอสอบได้คณะวิทยาศาสตร์ ของเกษตรศาสตร์ที่มีสถานที่กว้างขวางร่มรื่นต่างจากธรรมศาสตร์   ขี่จักรยานไปเรียนตามตึกต่างๆดูน่าจะมีความสุข   แต่เกษตรฯขึ้นชื่อเรื่องระบบว้าก    และการใช้อำนาจอย่างเกินเลยของรุ่นพี่โดยอ้างระบบอาวุโส    โดยทั่วไปนิสิตใหม่ต้องอยู่หอพัก   และจะถูกรุ่นพี่ข่มขู่คุกคามทุกรูปแบบจนดึกจนดื่น   ใครขัดขืนหรือวิจารณ์ก็จะโดนลงโทษทั้งต่อหน้ากลุ่ม  และถูกคุกคามกระทั่งทำร้ายข้างนอก      เมื่อถูกบังคับสารพัด  เช่น   ถูกเรียกไปเชียร์ตี 1 ตี 2  ถูกว้ากอย่างไม่มีเหตุผล     ถูกลงโทษให้ไปล้างฟาร์มไก่ ฯลฯ    พี่สาวฉันซึ่งมีจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เช่นกันไม่สามารถทนได้       ต้องขอแม่ที่จะไม่อยู่หอพักนิสิต     ออกมาเช่าบ้านอยู่กับรุ่นพี่ผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรม  ....
                    พี่สาวทุ่มเทกับงานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติที่มี อ. ผสม  เพชรจำรัส  เป็นที่ปรึกษา     เธอเป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์เกษตรฯที่เริ่มต้นเปิดโปงกรณีล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่อันอื้อฉาว     ซึ่งต่อมานักศึกษารามคำแหงที่ทำหนังสือเรื่องนี้ถูกสั่งลบชื่อออก   จนมีการชุมนุมครั้งใหญ่ของนักศึกษาทุกมหาวิทยาลัย        และเธอทำงานเป็นเครือข่ายกับชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติสถาบันอื่นๆ เช่น  อ.สุดาทิพย์    อินทร   สวัสดิ์  มิตรานนท์   ที่ธรรมศาสตร์    กงทอง    เกียวกิ่งแก้ว  จากจุฬาฯ      เธอเป็นสมาชิกสภานิสิตเกษตรศาสตร์ตั้งแต่  ปี 2   ปี 3 และ ปี 4    ขณะที่ฉันเป็นสมาชิกสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ที่จัดตั้งขึ้นรุ่นแรก   เมื่อฉันอยู่ปี 4 แล้ว 

ฉันเองค่อนข้างมีอิสระกว่าหลายๆคน   พี่สาว- สุกัญญา อยู่หอพักข้างนอกก็คล่องตัวเช่นกัน   แม่ก็เชื่อมั่นในตัวเราว่าจะไม่ทำตัวเหลวไหล   แม้จะไม่ค่อยเข้าห้องเรียน   แต่วิชาที่เลือกเป็นวิชาที่สนใจ    อาจารย์มักจะให้ตอบคำถามแบบวิเคราะห์ปัญหาและทางออก   ประสบการณ์นอกห้องเรียนจึงเป็นประโยชน์ในการวิจารณ์โครงสร้างเศรษฐกิจสังคม  การเมือง  ปัญหาชนบท  รวมทั้งนำเสนอทางออกต่างๆได้ชัดเจนขึ้น    ถ้าฉันไม่ได้   เอฟ วิชาหนึ่งที่คณะรัฐศาสตร์   เพราะส่งรายงานไม่ทันตอนที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง  ฉันจะได้เกียรตินิยมด้วย    ส่วนใหญ่นักกิจกรรมเดือนตุลาจะเรียนดีกันทั้งนั้น    รวมถึงเยาวชนนักเรียนรุ่นต่อๆมาด้วย

               แม่ของนักกิจกรรมทั้งหลายส่วนใหญ่จะห่วงลูกสาว  ไม่อยากให้ไปร่วมกิจกรรม  ....ฉันยังจำวันที่ฉันกับเพื่อนๆนักศึกษาหญิงสองสามคน   พากันไปที่บ้านของนักศึกษาหญิงรุ่นน้องคนหนึ่ง     เพื่อช่วยกันขออนุญาตให้เธอได้ไปออกค่ายเยาวชนชนบทด้วยกัน     เราพยายามอธิบายว่าเราไปด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่    จะคอยดูแลช่วยเหลือกัน    แม่ของรุ่นน้องมองหน้าพวกเรา      คำตอบของแม่ทำให้พวกเราขยาดเหมือนกัน    แม่บอกว่า  ‘ดูแลตัวเองกันให้ได้เสียก่อนเถอะ      ฉันนึกภาพตัวเองและเพื่อนๆแล้วก็ยังนึกขำมาจนทุกวันนี้     ยุคนั้นพวกเราแต่งตัวกันตามสไตล์  ‘5 ย. ของนักกิจกรรมทั้งหลาย    ผมยาว  สะพายย่าม   กางเกงยีน   เสื้อยับ    รองเท้ายาง... แม้ว่าจะไม่ครบสูตรทั้งหมดและคงสะอาดสะอ้านกว่าพวกผู้ชายอยู่มาก      แต่ในสายตาของพ่อแม่ที่ห่วงใยลูกสาว   มันคงไม่น่าเชื่อถือเสียเลย    แต่ก็มีบางรายที่ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง   สลิลยา  มีโภคี  ขอแม่ไปค่ายที่ขอนแก่นกับฉันไม่ได้   ก็มาชวนฉันไปพบแม่   เธอย้อนรำลึกวันนั้นว่า ในที่สุดแม่ก็ยอมให้ไปค่ายได้  ...

                   แล้วฉันกับพี่สาวก็ทำกิจกรรมในฐานะกลุ่มอิสระและสภานักศึกษาอย่างแข็งขันตลอด ๔ ปี..จนเข้าร่วม ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖...ทั้งตั้งใจเรียน  และใช้เงินกันอย่างประหยัดที่สุด  แม่ก็เย็บผ้าที่รังสิต พี่ชายก็ทำงาน..ช่วยเราสองคนให้เรียนจนจบ 


อีกหนึ่งเดือนหลัง  8 มีนา 2517 ฉันก็จบมหาวิทยาลัย   กลุ่มผู้หญิงและ ผู้หญิงรุ่น 14 ตุลาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ    เข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในรูปแบบต่างๆกัน      
ฉันเป็นนักข่าวนสพ.มหาชน รายสัปดาห์ของคุณปีย์  มาลากุล ที่เพิ่งเปิดใหม่   มีรัศมี(พี่ป้อม)  เผ่าเหลืองทอง เป็นบรรณาธิการ  ส่วนใหญ่ทำข่าวการประท้วงของนักศึกษากรรมกรชาวนา    แต่นสพ.อยู่ได้ประมาณ 1ปีก็ยุติลง   พี่สาวเป็นนักข่าวที่ นสพ.เสียงใหม่กับปราโมทย์  พิพัฒนาศัย     ปฏินันท์  สันติเมทนีดล และ กัญญา  ลีลาลัย (ฤดี)   ทุกคนทำงานด้วยอุดมคติมีเงินเดือนเพียง 900บาทแต่งานหนักมาก   ฉันทำนสพ.มหาชนยังได้ 1,500 บาท    ยุคนั้นยังมีนสพ.ประชาธิปไตยรายวันที่มีธีรนุช   ตั้งสัจจพจน์   อัมพา  เลี่ยวชวลิต (สันติเมทนีดล)จากวารสารศาสตร์  ต่อมาหลังจากเสียงใหม่ยุติบทบาทลง  พี่สาวและเพื่อนๆหลายคนก็ไปสมทบที่นสพ.ประชาธิปไตย 

กระแสเรียกร้องให้นักศึกษาประสานกรรมกรชาวนา  ทำให้นักเรียนนักศึกษาปัญญาชนทั้งหญิงชาย ต่างโถมตัวเข้าไปในรูปแบบต่างๆ   ฉันตัดสินใจเข้าไปเรียนรู้ชีวิตกรรมกรทอผ้าที่โรงงานเทยิ่นดอนเมืองซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ประมาณสองพันคน  ส่วนใหญ่ผู้หญิง ฉันใช้วุฒิ ม.6 เข้าไปสมัครเป็นคนงานคุมเครื่องทอและนอนในหอพักโรงงาน  ได้ค่าแรงประมาณเดือนละ 600 บาท ...เราสามพี่น้องร่วมกับเพื่อนมาลงทุนเช่าตึกแถวเทเวศร์  เปิดร้านขายหนังสือ เพื่อให้แม่ได้เลิกเย็บผ้า...
ทำงานได้สักสามเดือน    คืนหนึ่งก็มีเสียงประกาศตามสายให้ฉันไปพบหัวหน้างาน   ซึ่งบอกว่า   ผู้จัดการใหญ่ให้ฉันไปพบที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทที่หลานหลวง    พรุ่งนี้จะมีรถมารับตอนออกกะ    ฉันนึกในใจว่าสงสัยโรงงานจะรู้ว่าฉันเป็นใครกระมัง... เพราะคนงานตัวเล็กๆคนหนึ่งคงไม่มีเรื่องให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ต้องพบเป็นแน่  แต่ฉันก็ไม่นึกกลัวอะไรแม้ว่าจะต้องเดินทางไปคนเดียวก็ตาม   วันรุ่งขึ้นฉันนั่งรถของโรงงานไปสำนักงานที่หลานหลวงในชุดเสื้อสีฟ้า   กางเกงสีกรมท่าซึ่งเป็นชุดของคนงาน  ฉันถูกพาไปพบคุณเดช   บุญหลง กรรมการผู้จัดการใหญ่    คุณเดชถามว่าจบธรรมศาสตร์แล้วทำไมจึงมาเป็นกรรมกร    ฉันหัวเราะขณะที่ตอบว่าฉันเรียนเศรษฐศาสตร์   ฉันต้องการรู้ชีวิตจริงในโรงงานจึงลองมาทำดู    คุณเดชท่าทางไม่เชื่อ แต่ก็พูดจาด้วยดี     บอกว่าต่อไปนี้ให้มาทำที่สำนักงานใหญ่นี้จะหางานที่เหมาะสมให้ทำ    ไม่ต้องไปเป็นกรรมกรอีก...

การต่อสู้ของกรรมกรชาวนา   การเดินขบวนคัดค้านฐานทัพอเมริกัน และการคัดค้านการจะกลับมาของถนอม-ประภาส     ทำให้ขบวนการต่อสู้ของประชาชนดุเดือดแหลมคมยิ่งขึ้นทุกขณะ   เริ่มมีกระแสขวาพิฆาตซ้าย   มีการขว้างระเบิดใส่ที่ชุมนุม   โดยเฉพาะในการคัดค้านฐานทัพอเมริกันวันที่ 21มี.ค.19   ซึ่งแม่ของฉัน   แม่วรรณา(แม่ของวิชัย บำรุงฤทธิ์)  และบรรดาแม่ๆของนักกิจกรรมทั้งหลายก็มาเดินขบวนกันด้วย    ระเบิดตกไม่ห่างจากแม่ๆมากนักตรงย่านสยามสแควร์      มีคนตายถึง 4 คน  บาดเจ็บกว่า 100  คนนี่เป็นบรรยากาศหลัง14 ตุลาซึ่งพวกเรามักจะชวนพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวมาร่วมกิจกรรมกันด้วย     ทำให้เกิดพ่อแม่ของประชาชนจำนวนมาก     การชุมนุมของกรรมกรถูกก่อกวนคุกคาม   และมีการเสียชีวิตที่มีเงื่อนงำมากมายทั่งประเทศและไม่เคยจับใครได้  ตั้งแต่นิสิต  จิรโสภณ   แสง  ร่งนิรันดรกุล   บุญสนอง  บุณโยทยาน     ผู้นำชาวนาถูกลอบฆ่าหลายสิบคน    กรรมกรหญิงชื่อ  สำราญ คำกลั่น  ก็ถูกยิงเสียชีวิต    ขบวนนักเรียนนักศึกษาที่ไปชนบททั่วไปก็โดนขัดขวางก่อกวนในพื้นที่ 





สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าสมุทรสาคร(อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่)เป็นกำลังหลัก  และมีการต่อสู้ที่ดุเดือดในขณะนั้น  พี่สุภาพ  (แป๊ะ)จบจากเกษตร   พิสิฐ  (บัง)นิสิตจุฬา  จากศูนย์ประสานงานกรรมกรเป็นที่ปรึกษาอยู่   ฉันก็อยู่ในศูนย์ฯเมื่อไม่ได้เป็นกรรมกรแล้วจึงไปเป็นที่ปรึกษา สมทบด้วย สงวนศรี  เบญจางจารุ(เหน่ง) นักศึกษาปี1 จากศูนย์ศึกษาปัญหากรรมกร เกษตรศาสตร์   
พี่สงวนศรี  ส่งกุล(เจ๊เซี้ยม) เป็นประธานสหภาพฯแทนประสิทธิ์  ไชโย กรรมการสหภาพฯเป็นผู้หญิงหลายคน เช่น พี่น้อย (แตงอ่อน เกาฏีระ)  พี่แหม่ม  พี่เล็ก  อี๊ด   ช่วงนี้ทางครอบครัวฉันตัดสินใจมาเช่าตึกหน้าหอสมุดแห่งชาติที่เทเวศร์  เปิดเป็นร้านขายหนังสือ  มีหนังสือก้าวหน้าจำนวนมากด้วย   เพื่อให้แม่ไม่ต้องไปเย็บผ้าอีก  ฉันช่วยขายบ้าง  แปลหนังสือได้เงินบ้าง  เวลาไปอ้อมน้อยก็ไปครั้งละหลายวัน   คนงานจะหุงข้าวเลี้ยงพวกเรา   ซึ่ง กินอยู่กันอย่างง่ายๆ    ถ้าจำเป็นจริงๆฉันก็เคยขอเงินค่ารถกลับบ้านจากบรรดาพี่ๆแกนนำสหภาพเหมือนกัน
  

ฉันและเหน่งเข้าไปสอนกฎหมายแรงงานในโรงงานทอผ้าเพชรเกษม  เวลาที่คนงานออกกะ   เราใส่ชุดคนงานเสื้อสีฟ้ากลมกลืนไปกับคนงานจนไม่มีใครสงสัย   มีการประท้วงเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สหภาพฯต้องเข้าไปเป็นที่ปรึกษา  ฉัน  พี่แป๊ะ บังและเหน่ง ก็ไปร่วมด้วยบางครั้ง   วงดนตรีกรรมาชนของมหิดลมาเล่นให้คนงานที่ประท้วงบ่อยๆ    เป็นจังหวะดนตรีและบทเพลงที่ปลุกเร้าใจกรรมกรมาก     คาราวานก็เป็นวงโปรดของพวกเรามากเช่นกัน    เวลาขากลับดึกๆพวกเราต้องระวังตัวกันมาก




เจ้าของบ้านเช่าที่สหภาพฯอ้อมน้อยอยู่มานานถูกข่มขู่       จนขอให้พวกเราย้ายออกไป   สหภาพฯไปหาที่เช่าใหม่ไม่ไกลจากนั้นแต่อยู่ในเขตอ้อมใหญ่    เย็นนั้นพวกเรากลับจากการไปร่วมชุมนุมประท้วงของคนงาน      ก็เลยไปนอนเฝ้าที่ทำการใหม่ของสหภาพฯ     ข้าวของเครื่องใช้ยังเกะกะเต็มไปหมด   ฉัน  เหน่ง  บังและพี่แป๊ะ   นอนหลับด้วยความเหนื่อยเพลีย...  ไม่รู้ตัวกันเลยว่า   เช้าวันรุ่งขึ้น ๓๑ มีนาคม ๒๕๑๙  พวกราจะถูกจับคดีคอมมิวนิสต์    พร้อมกับกรรมกรอีก 5 คน  ที่ถูกจับในเวลาเช้ามืดวันเดียวกันที่อำเภอกระทุ่มแบน   คือวิมุตติ์    ซึมรัมย์ (เสียชีวิตแล้ว)   วันทา  รุ่งฟ้า    ทองเหลือ    มงคลอาจ    พรหมา  นานอก     นรินทร์  อาภรณ์รัมย์  ในข้อหาคดีเดียวกับเรา....

   ฉันและเพื่อนๆซาบซึ้งน้ำใจผู้คนมากมายที่เราไม่เคยรู้จัก     แต่มาเยี่ยมเยียนพวกเราตลอดช่วงเวลาที่ยุ่งยากนั้น    เรายังได้พบกับแม่ของประชาชนอีกหลายคน ที่มีน้ำใจโดยไม่เคยหวังสิ่งใดตอบแทน  แม่กานดา  แม่เตือนใจ  แม่เล็ก  แม่ขาว  แม่วรรณา .หิ้วปิ่นโต  หม้อข้าว  ผักน้ำพริก  มาฝากพวกเราที่ในคุกทุกอาทิตย์ทั้งที่ต้องนั่งรถเมล์และเดินไกลจากถนนวิภาวดีรังสิตเข้าไปกว่าจะถึงที่คุมขังของรร.พลตำรวจบางเขน   แม่ๆสงสารและรักใคร่พวกเราไม่แพ้แม่ของเราแต่ละคนทีเดียว

   แม่กานดาและแม่ๆ  เริ่มต้นจากส่งข้าวคดีพวกเรา  เมื่อถึงยุคเผด็จการที่มีการจับกุมอีกมากมาย   แม่ทั้งหลายไม่เคยเหนื่อยหน่าย   ยังมอบความรักและความเป็นห่วงยาวนาน    ตราบจนคดีคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายได้พ้นจากคุก...   แม่ฉันเองก็ไปคอยเยี่ยมเยียนคดีอ้อมน้อยและคดี 6 ตุลาด้วย   หลังจากฉันเข้าป่าไปแล้ว      ฉันเขียนจดหมายจากคุกลงนสพ.เสียงใหม่     ด้วยความซาบซึ้งใจเช่นนี้     เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแม่ประชาชน   และเพื่อบอกแม่ของฉันเองไม่ต้องห่วงกังวลกับฉันนัก  เพราะฉันเป็นลูกของประชาชน...






ชีวิตในคุกลาดยาวหญิง ...แล้วเราก็เข้าสู่บรรยากาศของกระแสขวาพิฆาตซ้ายจากภายนอก ที่เริ่มขมึงเกลียวดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ    รวมทั้งผลจากความไม่ยอมอ่อนข้อให้กับผู้คุม-เจ้าแม่แห่งอำนาจในคุกหญิง-   ก็เริ่มสำแดงฤทธิ์ของมัน    ผู้ต้องขังแดนยาเสพติดร้องเพลงหนักแผ่นดินทุกวันอยู่ตรงข้ามแดนเรา      เราพยายามหลีกเลี่ยงไม่ไปยุ่งกับผู้คุมและผู้ต้องขังทั้งสิ้นถ้าไม่จำเป็น...
... ฉันกับเหน่งถูกวางแผนซ้อมในคุก โดยอาศัย"ขาใหญ่"สิบกว่าคน  ที่เป็นผู้ต้องขังลูกมือผู้คุม   ทนายทองใบ ทองเปาด์และกลุ่มนักศึกษาประชาชนรณรงค์ให้หลายละลอก มีข่าวจากสื่ออยู่หลายเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการซ้อมในคุก...


วันที่ 11 ก.ค.๑๙เพียงบ่ายสามโมงผู้คุมก็ให้ผู้ต้องขังขึ้นเรือนนอนใส่กุญแจทั้งหมด    ทั้งที่ปกติจะขึ้นห้องประมาณห้าโมงเย็น   ฉันมารู้ภายหลังว่า  วันนั้นมีนักศึกษาประชาชนนั่งรถสองแถวมาถึง16 คัน  ชูป้ายผ้าเป็นแถวยาวว่า  ก่อนจับบอกว่ามีหลักฐาน   หลังจับก็บอกว่ากำลังรวบรวมหลักฐาน   จงอย่าขังลืมผู้บริสุทธิ์’  จากนั้นจึงไปชุมนุมที่หน้าบ้านพัก มรว.เสนีย์  ปราโมช  และส่งตัวแทนยื่นข้อเรียกร้อง 1)ให้รัฐบาลวางมาตรการมิให้เกิดการซ้อมเช่นนี้อีก  2) ให้รัฐบาลดำเนินคดีด้วยความจริง   ถ้าไม่มีหลักฐานก็ขอให้ปล่อยตัวไป  

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันสุกัญญาฯพี่สาว ที่เป็นนักข่าวนสพ.ประชาธิปไตย   ขณะที่กำลังยืนสังเกตการณ์หน้าบ้านนายกฯ  ระหว่างตัวแทนนักศึกษากรรมกร เข้าไปเจรจา    รู้สึกว่าถูกลักลอบบันทึกภาพจากนายพิทักษ์  คันธจันทร์ นสพ.ดาวสยาม   จึงเข้าไปถามว่าถ่ายภาพไปทำไม   ควรจะถ่ายภาพเฉพาะกลุ่มคนที่เป็นข่าว  หลังจากนั้นสุกัญญาได้แยกตัวห่างออกมา 4 เมตรพร้อมทั้งผู้สื่อข่าวประชาชาติ  และศานต์สยาม  นายพิทักษ์ได้ตรงเข้ามาต่อยที่ใบหน้าด้านขวาของสุกัญญาสองครั้งติดต่อกัน  ต่อหน้าตำรวจประมาณ  20 นาย   ซึ่งรักษาการณ์อยู่หน้าบ้านนายกฯและช่างภาพนักข่าวจำนวนมาก 


    วันนั้นแม่ของฉันมาที่หน้าคุกลาดยาวด้วย   ที่ชุมนุมให้แม่เล่าถึงฉัน   เมื่อมีเรื่องพี่สาวถูกต่อยหน้าเพิ่มมาเป็นข่าวอีก รายการข่าวยามเช้าของสมหญิงที่คอยวิพากษ์ขบวนนักศึกษาประชาชนอยู่อย่างต่อเนื่องก็ด่าว่าแม่ฉันเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วยอีก    ที่เลี้ยงลูกสาวสองคนเป็นคอมมิวนิสต์...


พลังแห่งความรักความห่วงใยที่นักศึกษาประชาชน   รวมทั้งกรรมกรมีต่อเราสองคนในสถานการณ์ที่โดดเดี่ยวในคุก   แม้ภายนอกพวกเขาจะถูกกระแสคุกคามการต่อสู้ของขบวนอย่างหนักหน่วงตลอดเวลาด้วยเช่นกัน   ทำให้เราสองคนตื้นตันและซาบซึ้งใจอย่างมาก   ถ้าไม่มีกระแสการเคลื่อนไหวเหล่านี้     ฉันกับเหน่งคงไม่มีโอกาสได้ประกันตัว    เพราะถูกค้านการประกันตัวมาโดยตลอด   และถ้าไม่มีจิตใจที่เสียสละอย่างใหญ่หลวงของผู้หญิงที่เป็นนักธุรกิจหัวก้าวหน้าคนหนึ่ง   เสียสละโฉนดที่ดินมูลค่าสี่แสนบาทมาประกันตัวเราสองคน    เราคงไม่มีปัญญาได้ประกันตัวเช่นกัน     ทั้งนี้ด้วยการประสานงานอย่างเข้มแข็งและอดทนของวิชัย  บำรุงฤทธิ์    ที่เราต้องขอบคุณวิชัยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่สาวคนนี้เป็นพิเศษ 



แล้วในที่สุด17 น.ของวันที่ 21 ก.ค. ศาลก็มีคำสั่งให้ประกันตัวเราสองคนในวงเงินคนละสองแสนบาท  แต่ต้องมารายงานตัวทุก 15 วัน   นักศึกษาประชาชนประมาณ 100 คนไปรอรับเราที่หน้าคุกลาดยาว  เราได้ปล่อยตัวออกมาเวลา 19.15 น.  แม่และพี่ชายฉันก็ไปรับด้วย  ขบวนที่ไปรับปรบมือให้กำลังใจเราสองคน   ฉันตื้นตันใจมาก

สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้นเมื่อสามเณรถนอมกลับเข้ามาในประเทศ  ขบวนนักศึกษาประชาชนรู้ว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกปราบปราม    แต่ในจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย   ไม่อาจปล่อยให้ชนชั้นปกครองกระทำย่ำยีตามใจชอบ      ขบวนนักเรียนนักศึกษาประชาชนจึงชุมนุมคัดค้านครั้งใหญ่ที่ธรรมศาสตร์      และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดที่วิปโยคและโหดเหี้ยมที่สุดของประวัติศาสตร์ไทย
ฉันไปช่วยงานที่ นสพ.อธิปัตย์  ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่พี่สาว สุกัญญา เป็นกองบรรณาธิการอยุ่ และคณะนี้จะไปร่วมการชุมนุมทุกวัน  คืนวันที่ 5 ตุลา  พวกเราที่กองบก.ตั้งใจจะเข้าไปธรรมศาสตร์ตอนดึกหลังจัดทำต้นฉบับให้เรียบร้อย   ได้ยินข่าวสถานการณ์ไม่สู้ดีนัก    แต่ประมาณเที่ยงคืน   น้องๆในธรรมศาสตร์ก็โทรศัพท์มาบอกพวกเราว่า...อย่าเข้ามาในธรรมศาสตร์   ตอนนี้มีทหารตำรวจล้อมไว้...    เมื่อย้อนไปถึงตอนนั้น  เรารู้สึกถึงน้ำใจและความเข้มแข็งของพวกเราทุกคนในธรรมศาสตร์   แทนที่พวกเขาจะห่วงตัวเอง    กลับห่วงมาถึงพวกเราภายนอก  
พวกเราประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่า  ความเป็นห่วงของพวกน้องๆสอดคล้องกับความเป็นจริง   เพราะอธิปัตย์กำลังถูกจับตาจากฝ่ายขวาและเตรียมที่จะปราบปราม   ตกลงกันว่า  เราจะทำต้นฉบับวันต่อไปให้เสร็จสมบูรณ์     ขณะที่ให้ทำลายเอกสารที่เกี่ยวข้องกับใครต่อใครและอาจเป็นอันตรายถ้าระบอบเผด็จการปราบปรามประชาชนจริงๆ   ในช่วงเวลานั้น    ฉันตระหนักถึงความเข้มแข็งและรักใคร่กันของทุกคน 
เนื่องจากฉันไม่ใช่กองบก.โดยตรง   ในสภาพที่ทุกคนกำลังยุ่งยากเช่นนั้น    ฉันจึงอาสาเป็นหน่วยยามปฏิบัติการพิเศษ   ก่อนหน้านั้นไม่นานมิตรสหายที่หวังดีได้จัดหาปืนเล็กๆสองกระบอกไว้ป้องกันตัว    แม้ฉันจะไม่เคยใช้มาก่อน  ฉันก็รับเป็นหนึ่งในสองคนของด่านหน้าที่ถือปืนไว้    ทุกคนเห็นด้วยกันว่า    ถ้าตำรวจบุกเข้ามาจับเราจะยอมให้จับโดยดี   แต่ถ้าเป็นพวกกระทิงแดงหรืออันธพาลกลุ่มใดก็ตาม    เราจะสู้ตาย    เพราะรู้ดีถึงความโหดเหี้ยมของพวกนี้...
ประมาณตีห้าพวกเราเสร็จภารกิจที่จำเป็น  ไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่นี่    แต่เรารู้ชัดแล้วว่ามีการล้อมปราบครั้งใหญ่ในธรรมศาสตร์แน่นอน   เราตกลงแยกย้ายกันหลบภัยก่อน ฉันและพี่สาวตกลงใจที่จะต้องเข้าไปเขตป่าเขา  ฉันพอรู้เลาๆว่าควรจะไปที่ไหน   เพราะหลังออกจากคุกมีการประเมินสถานการณ์ว่า    ชนชั้นปกครองน่าจะปราบปรามครั้งใหญ่อย่างแน่นอน   มีบางคนแนะนำให้รู้จักจุดที่พอพึ่งพิงได้ในยามคับขันที่จ.อุดรธานี  แม้ฉันจะไม่เคยไป  แต่เราก็ต้องลองเสี่ยงดู 
เหน่งและพี่สาว  รวมทั้งรุ่นน้องอีกคนในกองบก.อธิปัตย์   ขอไปกับเราด้วย   เราไม่มีเวลาคิดอะไรมาก   นัดแนะกันแล้วต่างรีบกลับไปเก็บของที่จำเป็นที่บ้าน     ฉันและพี่สาวอยากไปดูเหตุการณ์ด้วยตัวเอง   เราตัดสินใจนั่งแท็กซี่ไปที่สนามหลวง   ขณะนั้นกำลังมีการเผาอย่างโหดเหี้ยมแล้ว...  บรรยากาศที่เห็นแม้จะไม่ได้เข้าไปถึง ที่เกิดเหตุอย่างใกล้ชิด     ก็ทำให้เราเศร้าสลดเหลือเกิน    ฉันอยู่ระหว่างประกันตัวอยู่ด้วย    ถ้าช้าไปคงถูกถอนประกันแน่นอน    ถ้ากลับเข้าคุก    ในยุคที่มืดสนิทอย่างนี้ คงเป็นเรื่องที่ไม่มีหนทางต่อสู้จริงๆ...


ฉันนึกถึงพี่สาวที่แสนดีต่อเรา   แม้เราจะไม่เคยรู้จักมาก่อนก็ตัดสินใจเสี่ยงภัยและเงินทุนมาประกันให้เราสองคนถึงสี่แสนบาท   ตอนเราได้ประกันตัวออกมา เราได้ไปขอบคุณพี่สาวที่ทำงานของเธอ   ประทับใจในความคิดของเธอ   เธอต้อนรับเราอย่างอบอุ่น   ฉันรู้สึกปลาบแปลบในใจไม่น้อย   เมื่อคิดว่า  อะไรจะเกิดขึ้นกับเธอเมื่อเราสองคนหนีภัยไป...  เธอจะมีอันตรายไหม?   ศาลคงยึดเงินทั้งหมดของเธอไป?   ฉันเศร้าใจมาก  แต่เมื่อนึกถึงความโหดเหี้ยมที่กำลังเกิดขึ้นต่อเบื้องหน้า     และสถานการณ์ที่ไม่มีทางสู้ของฉันเอง   ฉันตัดสินใจว่า    ขอรักษาชีวิตตนเองไว้ก่อน     เพื่อไปต่อสู้ต่อไป   สักวันหนึ่งถ้าฉันไม่ตาย   คงได้กลับมาทดแทนบุญคุณของเธอบ้าง...
พอไปถึงบ้านเราสองคนบอกแม่กับพี่ชายว่าจำเป็นต้องไปป่า แม่คัดค้าน  บอกว่าแม่จะอธิบายให้เจ้าหน้าที่ฟังเองถ้าเขาจะมาจับลูก  จะบอกว่าลูกสาวของแม่เป็นคนดี   เราเข้าใจความรู้สึกของแม่และพี่ชายดี   เขาเสียสละเพื่อเราสองคนมายาวนาน   บัดนี้ เรายังจะทิ้งเขาไปอีกและเสี่ยงภัยโดยไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองได้เลย   หลังจากถกเถียงกันพักใหญ่   เราตัดสินใจหักหาญน้ำใจของแม่และพี่ชาย   เร่งรีบออกจากบ้านไปตอนสายของวันที่ 6 ตุลา    มุ่งหน้าไปบ้านเพื่อนของสุกัญญา 
เราห้าคนนัดกันที่นั่น  หลบฟังข่าวอยู่สองสามวัน   ในวันที่ 9 ตุลาคม เราก็เป็นหน่วยแรกที่เข้าป่าเขตงานภูซาง  จ.อุดรธานี(จ.หนองบัวลำภูในปัจจุบัน) เป็นผู้หญิงล้วนทั้งห้าคน     ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนจากจุฬาฯคนนี้    ช่วยหาเสื้อผ้าแบบสาวๆนักท่องเที่ยว   เครื่องสำอางแต่งหน้าให้ดูแปลกตา  และจัดหาเงินติดกระเป๋า   รวมทั้งผ้าถุง  ของใช้ที่จำเป็นให้พวกเรา   พาเราไปส่งขึ้นรถทัวร์ไปอุดรธานี    ถ้าไม่ได้เพื่อนชมรมอนุรักษ์จุฬาฯคนนี้    เราคงจะขลุกขลักกว่านี้อีกมาก

เราจากลาครอบครัว    ทอดทิ้งเพื่อนๆในคดีอ้อมน้อยให้เผชิญชะตากรรมต่อไป        อย่างโดดเดี่ยว     ความเป็นห่วงแม่และพี่ชาย  เพื่อนพ้องน้องพี่ท่วมท้นใจพวกเรา    แต่ขอได้โปรดรับรู้ว่า          เป็นการตัดสินใจไปที่ไม่รู้ว่าจะเผชิญกับชะตากรรมอย่างไรเช่นกัน ...
 ขอแต่เพียงมีโอกาสเลือกที่จะมีชีวิตและอิสรภาพ  เผื่อจะสามารถจับปืนขึ้นสู้    แก้แค้นแทนทุกคน  และมีโอกาสสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่านี้... ถ้ายังมีชีวิตรอดอยู่



ก้าวต่อไปด้วยความศรัทธา
เพลง แสงดาวแห่งศรัทธา  ของ จิตร ภูมิศักดิ์     ช่วยจรรโลงใจเราก้าวต่อไปบนเส้นทางที่ดูมืดสนิทในวันนั้น  ....
พร่างพรายแสงดวงดาวน้อยสกาว    ส่องฟากฟ้าเด่นพราวไกลแสนไกล
ดั่งโคมทองส่องเรืองรุ่งในหทัย     เหมือนธงชัยส่องนำจากห้วงทุกข์ทน
 พายุฟ้าครืนข่มคุกคาม                      เดือนลับยามแผ่นดินมืดมน
  ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน               ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย....