วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556


การต่อสู้ของ”มด” คือทิศทางของพลังสามประสาน นักศึกษา กรรมกร ชาวนา..เพื่อคนจน และประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

5 ธันวาคม 2012 เวลา 18:29 น.
ตลอดเส้นทางการต่อสู้จนวาระสุดท้ายของชีวิต  ..”มด” วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์   …ไม่อาจแยกจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของขบวนนักเรียนนักศึกษาประชาชน   ที่มีอุดมการณ์ ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม และเพื่อ คนจน

                วัยเยาว์แห่งนักเรียนของมดก่อน ๑๔ ตุลา ๑๖ เป็นช่วงกระแสของนักเรียนนักศึกษาที่เริ่มตระหนักถึงอุดมการณ์ที่จะต้อง“รับใช้ประชาชน” และหลัง ๑๔ ตุลาก็ยิ่งโถมตัวเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของกรรมกร ชาวนา  เพราะการมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และการกดขี่ที่หนักหน่วง  จึงเกิดการประสานกับนักเรียนนักศึกษาปัญญาชนเป็นพลังสามประสาน”อย่างกว้างขวาง
                   มดเข้าร่วมการต่อสู้ทั้งของชาวนา กรรมกร และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ ปี ๒๕๑๗  และในที่สุดได้ทุ่มเทกับการต่อสู้ของกรรมกร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้ของกรรมกรฮาร่า ที่เป็นตำนานหนึ่งที่สำคัญของขบวนกรรมกรไทย  จากการกดขี่ ขูดรีดแรงงาน หญิงและเด็กอย่างหนัก   เมื่อลุกขึ้นสู้ขอความเป็นธรรมกลับถูกคุกคามทำร้ายอย่างป่าเถื่อนทั้งจากกลุ่มอิทธิพลของทุนเอง และจากเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจรัฐ   มีการต่อสู้ที่เด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยึดโรงงานทำการผลิต   และมีการหนุนช่วยจากขบวนแรงงาน นักศึกษา ศิลปินเพื่อชีวิต  ถือว่ามีการรณรงค์ต่อสังคมและสื่อให้เข้าใจการต่อสู้อย่างแข็งขัน…

                 แน่นอนว่ากรรมกรฮาร่าถูกปราบ และเมื่อเกิดกรณีการปราบปรามขบวนนักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยมในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙  มดและกรรมกรฮาร่าจำนวนหนึ่งก็เข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับนักเรียน นักศึกษาปัญญาชน และกรรมกรชาวนาทั่วประเทศ และเมื่อกลับจากป่าก็ยังโถมตัวเข้าร่วมการต่อสู้กับคนจน ชาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัชชาคนจน  รวมทั้งการไปเข้าร่วม และให้กำลังใจ ถ่ายทอดบทเรียนแก่ ขบวนคนจน ชาวนา และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทั่วประเทศ…จนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
                      เรื่องราวของกรรมกรฮาร่าได้ถูกบันทึกในพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  ที่มีนักศึกษาประชาชน ทุกระดับไปเยี่ยมชมต่อเนื่อง  พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยก่อตั้งและบริหารงานโดยขบวนกรรมกร   ในห้องการจัดแสดงยุคร่วมสมัยที่เริ่มต้นจาก ๑๔ ตุลา ๑๖   มีทั้งรูปภาพ โปสเตอร์เก่าๆ กางเกงยีนส์ เรื่องราวของฮาร่า    รวมทั้งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้เชิญ”มด” และกรรมกรฮาร่า มาเล่าเรื่องราวย้อนอดีต  เพื่อเติมเต็มบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกรรมกรฮาร่า  และบทบาทของนักศึกษากับขบวนกรรมกร   นอกจากนี้มดเองก็มีส่วนประสานนำพาขบวน สมัชชาคนจนมาร่วมงานกับขบวนการกรรมกรในหลายการเคลื่อนไหว จึงเป็นภาพตัวแทน ของพลังสามประสานรูปแบบหนึ่งและเป็นที่รู้จักของผู้นำแรงงาน

                     พิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีการจัดงานรำลึกถึงผู้นำกรรมกรที่เสียชีวิตแล้วตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบันต่อเนื่องมาโดยตลอด    โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ ตค.๕๕ มีแนวคิด ขยายวงถึงนักสู้เพื่อกรรมกรที่มาจากกลุ่มปัญญาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เพราะการต่อสู้ของ ขบวนการกรรมกรไม่อาจแยกจากกันกับขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของสังคมไทย โดยเฉพาะขบวนปัญญาชน รวมทั้งการต่อสู้ของชาวนาในงานรำลึกจึงมีเรื่องราวของปัญญาชนรุ่นเก่าๆ      มาจนถึงจิตร ภูมิศักดิ์   พี่ทองใบ ทองเปาด์   อ.ธีรนาถ กาญจนอักษร  และ”มด ..วนิดา” ฯลฯ  รวมทั้งนิยม ขันโท ผู้นำฮาร่า ที่ยังมีชีวิตอยู่  ก็มาร่วมกล่าวรำลึกด้วย

                      ขบวนแรงงานมีความพยายามเรียนรู้และประสานการทำงานกับนักวิชาการ สถาบัน วิชาการ  องค์กรพัฒนาเอกชน  แม้จะยังไม่สามารถก่อรูปพลังสามประสาน ชัดเจนเช่นในอดีต  แต่ก็เริ่มต้นมาพอสมควร  โดยเฉพาะการยอมรับแนวคิดสามประสาน การทำงานกับชุมชน ที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม  การร่วมมือกับกลุ่มเกษตรพันธสัญญาและแรงงานนอกระบบในชนบท  มีการประสานร่วมมือกับเยาวชนนักศึกษา  รวมทั้งผู้ที่จบแล้วเข้ามาร่วมทำงานกับขบวนแรงงานมากขึ้น  เช่น  มีอาสาสมัครนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน  ไปร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับองค์กร แรงงานหลายรุ่น  และพัฒนาต่อมาเป็นทนายความแรงงานรุ่นใหม่  หรือตอนน้ำท่วมวิกฤติหนักปี ๒๕๕๔   มีทีมเยาวชนนักศึกษามาร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยตั้งค่ายช่วยเหลือแรงงานทั้งไทยและแรงงานข้ามชาติ  
    
                       มดเข้าธรรมศาสตร์ รุ่นปี ๒๕๑๗และเข้าร่วมกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ ซึ่งมีแนวคิดร่วมกันว่า  ความเสมอภาคหญิงชายและทุกกลุ่มจะเกิดขึ้นไม่ได้แท้จริงและยั่งยืน ถ้าสังคมไทยไม่มีประชาธิปไตยทางการเมือง  และต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่เคารพสิทธิชุมชน  สิทธิในการตัดสินใจและจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของตน  และการมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ  ที่คนจนต้องมีที่ดินทำกิน  มีที่อยู่อาศัย  และมีเสรีภาพในการต่อสู้รวมตัว...ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางก้าวเดินของมดเอง..ของเพื่อนๆสมาชิก
กลุ่มผู้หญิง  และยังเป็นทิศทางที่ขบวนต่อสู้เพื่อความเสมอภาคก้าวเดินอยู่ถึงปัจจุบัน
                                                 
                          บทบาทในสมัชชาคนจนที่กล้าหาญ  เด็ดเดี่ยว และเสียสละของมด    เป็นที่กล่าวขวัญและโดดเด่น  เป็นที่ยอมรับของหลากหลายกลุ่ม หลายระดับ  และมีผลให้มดต้องเดินทางทั่วประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนและให้กำลังใจการต่อสู้ของชุมชน  ในการต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนของตนเองจากโครงการการพัฒนาของรัฐ  จากการใช้อำนาจรัฐไม่เป็นธรรม  ทั้งพี่น้องสลัม   พี่น้องชนเผ่า   การถูกฟ้องคดีของมด  และความเข้มแข็ง  การทำงานอย่างมีเครือข่าย ที่ไม่โดดเดี่ยว…ซึ่งช่วยให้หลายกลุ่ม หลายผู้นำการต่อสู้ มีกำลังใจก้าวเดินต่อสู้ต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ  ด้วยความกล้าหาญ เสียสละ แม้จะถูกจับกุมคุมขัง หรือหลายคนรอบข้างเสียชีวิตไปก็ตาม
                     ๖ ธค.๕๕ ครบรอบการจากไปของมด ๕ ปีแล้ว  เวลาดูผ่านเร็วมากท่ามกลางปัญหาที่ รุมเร้าคนจนยังดำรงอยู่  แต่ขบวนการต่อสู้ของเยาวชนนักศึกษา กรรมกร ชาวนา ยังคงขับเคลื่อนต่อไป  บนทิศทางพลังสามประสานที่แม้รูปแบบอาจต่างจากเดิม แต่เจตนารมณ์แและจิตวิญญาณแห่งการเชื่อมั่นในประชาชน และจิตใจต้องกล้าหาญ เสียสละ ยังคงได้รับการยึดมั่นต่อไป
                                  รำลึกถึงมด น้องรัก ..มดได้พิสูจน์เส้นทางชีวิตของเธอแล้วว่า ..”อยู่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ”นั้นเป็นเช่นใด

                                                              สุนี ไชยรส  ๑ธันวา ๒๕๕๕

คารวะสหาย..... “ตุลา ปัจฉิมเวช” : อยุ่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ


คารวะสหาย.....
 “ตุลา ปัจฉิมเวช”    :   อยุ่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ


         การที่ใครสักคนหนึ่งจะสามารถยืนหยัดการทำงานเชิงลึก การให้ความรู้ และเสริมสร้างพลังเข้มแข็งในการต่อสู้ของกรรมกร  ที่กรรมกรเรียกขานกัน ว่า”พลังการจัดตั้ง”...ไม่มีการจัดตั้ง ไม่มีชัยชนะ ”ตลอดทั้งชีวิต  อย่างเชื่อมั่น ในอุดมการณ์  มีจุดยืนเพื่อกรรมกรและประชาชน  อย่างเข้มแข็งมีพลัง ไม่เคยเหนื่อยหน่าย  สมถะ ไม่แสวงหาประโยชน์เฉพาะส่วนตน  ไม่หวั่นไหว ต่อการคุกคามและความเหน็ดเหนื่อยท้อถอยใดๆ..เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ง่ายนัก
         คุณตุลา ปัจฉิมเวช  เป็นดั่งข้อต่อและสายพาน  เชื่อมอดีต กับปัจจุบัน เพื่อไปสู่อนาคตแห่งความเข้มแข็งของขบวนแรงงาน และความสุขของสังคม  เป็นตัวอย่างของเพื่อนพ้องน้องพี่ด้วยชีวิตการต่อสู้ที่เป็นจริง
            ขอเล่าถึงบางมุมของคุณตุลาด้วยความอาลัยรัก...         

             คุณตุลา ปัจฉิมเวช ภูมิใจมากและเก็บสมุดบันทึกเก่าๆ มีลายมือเต็มเล่ม ของพี่บัณฑิตย์ จันทร์งาม (สหายบรรลุ)ที่บันทึกไว้ในเขตป่าเขา โดยพี่บัณฑิตย์ เขียนเก็บข้อความดีๆ ของนักเขียนต่างๆ  เพลงปฏิวัติ...  พี่บัณฑิตย์เป็นผู้นำ สหภาพแรงงานอ้อมน้อย รุ่นหลัง ๑๔ ตุลา ๑๖  คนหนึ่งที่มีบทบาทโดดเด่น  ซึ่งคุณตุลามีความศรัทธาและได้มีโอกาสทำงานด้วย  แต่เมื่อสหภาพฯอ้อมน้อย ถูกปราบปราม จับกุมพร้อมกับขบวนแรงงานและภาคประชาชน ในกรณี เหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙  จนพี่บัณฑิตย์ กรรมกรและนักเรียนนักศึกษาประชาชน เข้าร่วมการต่อสู้ในเขตป่าเขาจำนวนมาก  

  ข้อเขียนจากบันทึกพี่บัณฑิตย์  จันทร์งาม
เรื่อง”ความใฝ่ฝันและอุดมการ”  น่าจะเป็น การสะท้อนอุดมการณ์ จุดยืน และตัวตน  “ชีวิตนี้เพื่อแรงงาน”ของคุณตุลา ปัจฉิมเวช  ได้บางส่วน...

“ความใฝ่ฝันและอุดมการณ์”
                “...หนุ่มสาว  อีกสิบปีไล่หลัง  หากมีเด็กตัวเล็กๆมาเกาะเข่าถามว่า  พ่อกับแม่เคยทำอะไรบ้างจ๊ะ 
                  เธอต้องบอกอย่างภาคภูมิใจว่า  ช่วงชีวิตของเธอนั้น  เป็นช่วงชีวิตแห่งการรับใช้ประชาชน  อุทิศเพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยใหม่ที่ปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ  มีแต่ความเสมอภาค สงบสุข และยุติธรรม  แผ่ทาบไปทุกหนทุกแห่ง  นี่นั่น ที่นี่ ตรงนี้  จากโรงงาน จากเมืองสู่ป่า
               นี่คือภารกิจทางประวัติศาสตร์อันมีเกียรติในช่วงทศวรรษนี้มิใช่หรือ?...”


               เมื่อพี่บัณฑิตย์ กลับมาที่อ้อมน้อย  คุณตุลาได้พยายามเป็นข้อต่อ สายพาน เชื่อมประสานการเรียนรู้บทเรียนการต่อสู้จากอดีต  เพื่อรับใช้ปัจจุบันและอนาคต  จัดกลุ่มศึกษาจรยุทธ์เล็กๆ ให้พี่น้องคนงาน  อย่างเรียบง่าย  แต่มุ่งมั่น และปลูกฝังอุดมการณ์การต่อสู้ที่เข้มข้น ในจิตวิญญาณของชนชั้นกรรมกร ท่ามกลางการให้คำปรึกษา และการเรียนรู้ท่ามกลางการต่อสู้
               การได้ร่วมทำงานกับคุณตุลายาวนานอย่างจริงจังต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึง ๒๕๕๒ ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดแรก  ฉันเชิญคุณตุลา มาร่วมเป็นคณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน  ได้เรียนรู้มากมายจากคุณตุลา ทั้งจุดยืน ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริง รับผิดชอบ และประเด็นกฎหมาย ข้อเท็จจริงที่แม่นยำ ถี่ถ้วน  ทำให้คณะอนุกรรมการสิทธิแรงงาน  ได้ช่วยให้แรงงานเข้าถึงสิทธิจำนวนไม่น้อย


 เมื่อพ้นวาระ กสม.คุณตุลาและฉันได้มาร่วมงานกันเข้มข้นอีกครั้งใน”ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน” พร้อมอดีตอนุกรรมการสิทธิแรงงานอีกหลายคน ในช่วงปี ๒๕๕๓ และ๒๕๕๔
                ระหว่างนี้  ฉันได้เข้าไปช่วยคุณตุลา ในฐานะบรรณาธิการร่วม หนังสือ”สืบสานเจตนารณ์ และ บทเรียน การต่อสู้ของกรรมกรอ้อมน้อยอ้อมใหญ่  ศึกษาอดีต  รับใช้ปัจจุบันและอนาคต” ของกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ ที่คนงานช่วยกันเขียนและจัดพิมพ์เมื่อมกราคม ๒๕๕๕  ..ช่วงนี้ก็ได้เข้าใจลึกซึ้งขึ้นอีกถึงอุดมการณ์ และความมุ่งมั่นของคุณตุลา

              ฉันขอชื่นชมและอาลัยรักต่อคุณตุลา  ปัจฉิมเวช  ...สหายแห่งอุดมการณ์การต่อสู้ของชนชั้นกรรมกรและประชาชน 

        “             อยู่อย่างยิ่งใหญ่  ตายอย่างมีเกียรติ
       ...หลับเถิดสหาย  เย็นสายลมโชยมา
หลับไปไม่ฝัน ไร้ซึ่งวันเวลา
ร่างกายสูญสลายตายเพื่อมวลประชา
แกร่งยิ่งกว่าภูผา จารึกในใจชน”
                                                                                                   สุนี ไชยรส
๗กันยายน ๒๕๕๕