วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พี่น้อย..อ.ธีรนาถ กาญจนอักษร.. เฟมินิสต์ที่สู้เพื่อประชาธิปไตย แรงงาน.ความเสมอภาคระหว่างเพศ และ สิ่งแวดล้อม


              


           แกนสำคัญคนหนึ่งของ"เครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ" ทั้งแนวคิดและความทุ่มเทเอาการเอางานคือ อ.ธีรนาถ  กาญจนอักษร[1]    บทบาทและแนวคิดในการรณรงค์เพื่อสิทธิผู้หญิงของพี่ธีรนาถ ถูกกล่าวขานชัดเจนในช่วงปี 2522 ในการร่วมก่อตั้งกลุ่มเพื่อนหญิง  ที่เป็นองค์กรผู้หญิงที่มีบทบาทยาวนานมาตลอดจนถึงปัจจุบัน  และมีบทบาทคนหนึ่งในการต่อต้านคัดค้านเซ็กซ์ทัวร์  การค้าหญิง  การใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิง  สิทธิความเสมอภาค  และการต่อสู้ของแรงงานหญิงด้วย
            พี่ธีรนาถ มองปัญหาของผู้หญิงโดยไม่แยกออกจากความยากจน   สิ่งแวดล้อม ระบบทุนนิยม  และทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ   โดยเฉพาะการปกครองระบบเผด็จการ[2]  อาจเป็นเพราะว่าพี่ธีรนาถ  ชอบอ่านหนังสือ  ได้เข้าไปคลุกคลีศึกษาชีวิตจริงของชาวเขาตั้งแต่ก่อนปี 2514  การซื้อชายหญิงโสเภณีภาคเหนือ ปี 2522  และเข้าไปเรียนรู้หญิงบริการทางเพศด้วยตนเองที่พัฒน์พงศ์  รวมทั้งไปช่วยเหลือแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม   

              กระแสอุดมการณ์สังคมนิยมหลัง 14 ตุลา 16   ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมและโลกาภิวัฒน์  น่าจะมีส่วนที่ทำให้พี่ธีรนาถ สนใจ และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานตั้งแต่ไปศึกษาที่ต่างประเทศ[3]   และเข้าร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์พฤษภา 2535  อย่างเอาการเอางาน[4]            เมื่อขบวนแรงงานรณรงค์สิทธิลาคลอดของแรงงาน 90 วัน อย่างต่อเนื่อง  จนถึงขั้นมีการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2536       พี่ธีรนาถ ได้เข้าร่วมและเขียนบทความหลายชิ้น   เช่น ลาคลอด 90 วัน เราจะไปทางไหนดี    ชี้ข้อเรียกร้องต่อสังคมและนโยบายรัฐอย่างจริงจังว่า
                "ปัญหาในเรื่องการตั้งครรภ์  ลาคลอดและเลี้ยงดูทารก มักจะถูกมองว่าเป็นปัญหาส่วนตัวของผู้หญิงที่เป็นแม่  ทั้ง ๆ ที่ภาระในการผลิตคนรุ่นต่อไปซึ่งจะเป็นทั้งแรงงานทดแทน และผู้สืบทอดเผ่าพันธุ์  คือภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของสังคมซึ่งทั้งหญิงและชายจะต้องแบกรับร่วมกัน  และก่อให้เกิดทัศนคติที่ผิด ๆ ว่า การมีลูกของผู้หญิงเป็นข้อด้อยทางสรีระ  ซึ่งมักจะถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้ความชอบธรรมต่อการเลือกปฏิบัติ  ที่ทำให้ผู้หญิงต้องเสียเปรียบอยู่เสมอ [5]


            กรณีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เมื่อ 10 พ.ค. 2536 มีคนงานเสียชีวิตเกือบ 200 คนเป็นผู้หญิงอย่างน้อย 165 คน มีคนงานบางคนบาดเจ็บกว่า 500 คน  พี่ธีรนาถเข้าร่วมกับองค์กรแรงงานนักวิชาการ และองค์กรเอกชน จัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์สุขภาพความปลอดภัยของคนงานและผลักดันให้รัฐบาลแต่งตั้งตัวแทนจากแรงงานและนักวิชาการ  เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบภัยที่เสียชีวิตและทุพพลภาพ  ซึ่งมีพี่ธีรนาถ ร่วมด้วย       รัฐบาลยังได้แต่งตั้งให้พี่ธีรนาถ เป็นเจ้าหน้าที่เจรจาสิทธิประโยชน์ของคนงาน  สามารถต่อสู้จนได้รับสิทธิประโยชน์ดีขึ้นกว่าช่วงแรก  เช่น มีเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิตและทุพพลภาพคนละ 1 แสนบาท  ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือบุตร ให้รัฐบาลประกาศวันที่ 10 พฤษภาคม เป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ
            พี่ธีรนาถ  ทุ่มเทเรื่องนี้จนเป็นที่เชื่อมั่นศรัทธาของขบวนผู้ใช้แรงงาน  และยังเขียนจดหมายถึง เปลว สีเงิน สะท้อนความรู้สึกว่า
                        ..."ดิฉันได้เห็นข่าวลูกสาวเศรษฐีแต่งงานเป็นงานช้าง  มีผู้ใหญ่ไปร่วมมากมาย ได้ของขวัญล้นหลาม  อดสะท้อนใจถึงคนงานหญิงหลายชีวิตในโรงงานที่ตระกูลของท่านเป็นเจ้าของร่วมอยู่ไม่ได้  เธอเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้เสวยสุขแม้เพียงกระผีกริ้นของท่านเศรษฐีทั้งหลาย  เมื่อตายไปโดยชะตากรรมที่เธอไม่ได้เลือก และโดยความทารุณที่สร้างขึ้นทางอ้อม   จากเส้นทางที่นำไปสู่ความเป็นเศรษฐีของคนที่กินแรงงานของเธอ  ค่าชีวิตของเธอกลับถูกต่อรอง   คนเขาหาว่าเธอเป็นแค่แรงงานผู้หญิง  ค่าไม่ควรเกินแสนบาท  ดิฉันคับแค้นใจ  ทำไมชีวิตของคนที่ทำงานหนักหาเลี้ยงคนอื่น ให้กำไรกับผู้จ้าง   ให้ค่าเล่าเรียนแก่น้อง  ให้ความอยู่รอดกับพ่อแม่ ให้อนาคตกับลูกหลาน ให้ความสุขกับพี่น้อง  จึงถูกตีค่าต่ำกว่าชีวิตลูกสาวเศรษฐี  ที่อย่างมากที่สุด  ก็เพียงแต่หาเงินเพิ่มความมั่งคั่งที่มีอยู่แล้ว   เติมให้เพิ่มขึ้นไปอีก[6]






[1] พี่ธีรนาถ เกิดเมื่อ 6 เมษายน 2492  จบเศรษฐศาสตร์บัณฑิต  (เกียรตินิยม)  จากจุฬาฯ  เริ่มเป็นอาจารย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ ปี 2513  ย้ายไปที่คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ  และไปศึกษาต่อจบปริญญาโท  สาขาการพัฒนาจากเนเธอร์แลนด์ ปี 2522    จึงกลับมาคณะเศรษฐ ศาสตร์อีก  ต่อมาในช่วงปี 2528-32  ได้รับทุนไปศึกษาต่อปริญญาเอก ที่เคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ  เตรียมเขียนวิทยานิพนธ์ เรื่อง “The Political Economy of Prostitution in Thailand (เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยเรื่องโสเภณี)โดยทำงานวิชาการที่คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาฯไปด้วย


                  พี่ธีรนาถฯ(น้อย) มีครอบครัวที่อบอุ่น  และมีความผูกพันมาก    ดังบันทึกด้วยลายมือในคืนที่คุณพ่อเสียชีวิตเมื่อ 10 พ.ย. 36 ในบางตอนว่า   น้อยรู้ว่าพ่อรักและห่วงน้อยมากเสมอ เพราะเป็นลูกคนเล็กของพ่อ คนที่พ่ออยากจะให้เป็นผู้ชาย  แต่ถึงน้อยจะเป็นผู้หญิง  พ่อก็ตั้งชื่อให้แปลว่าที่พึ่งของนักปราชญ์  เพราะชื่อพ่อแปลว่านักปราชญ์  พ่อบอกว่าลูกจะได้เป็นที่พึ่งแก่พ่อได้     เพราะพ่อรู้สึกเสมอ  ถึงความแตกต่างอย่างมหาศาลในโอกาสของผู้หญิงกับผู้ชายในสังคมไทย   พ่อจึงห่วงพวกเราทั้งสามคน  ลูกที่เป็นผู้หญิงมากเป็นพิเศษ  เพราะพ่อเป็นห่วงว่า  ผู้หญิงมีโอกาสกำหนดชะตากรรมตัวเองน้อยมาก
[2] ฉัน(สุนี ไชยรส ) ทำรายงาน เรื่อง “เสมอภาค เสรี: แนวคิด ตัวตน และผลงานของ ธีรนาถ กาญจนอักษร”  ในวิชา เฟมินิสต์ผิวดำ  “Black Feminisms” ที่สอนโดยดร.วิลาสินี  พิพิธกุล     ซึ่งช่วยกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจต่อแนวคิดนอกกระแสหลักของสตรีนิยมได้ดีมาก   ฉันประทับใจกับแนวคิดและการต่อสู้ของผู้หญิงผิวดำหลายคนจากวิชานี้   และทำให้เกิดความมั่นใจในวิธีการที่จะทำวิทยานิพนธ์จากประสบการณ์ตนเองชัดเจนขึ้น   ฉันเขียนจากความทรงจำที่ได้ร่วมทำงานเรื่องสิทธิผู้หญิงโดยตรงกับพี่ธีรนาถ  เกือบสี่ปี  ซึ่งมีความรักความห่วงใยและคอยแนะนำต่าง ๆ แก่ฉันอยู่ตลอดเวลา   จากหนังสือ เสมอภาค เสรี   ที่มีคำรำลึกจากผู้คนทั้งหญิงชายหลากหลายกลุ่มอาชีพจากทั่วประเทศ  และหนังสือของมูลนิธิธีรนาถ ที่มี ดร.วรวิทย์  เจริญเลิศ  คู่ชีวิตของพี่ ธีรนาถ  เป็น บรรณาธิการ   รวบรวมและคัดเลือกบทความ   บันทึก  การอภิปรายต่าง ๆ ในชื่อว่า หญิงชายกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  และ ทุน รัฐ แรงงานวิกฤติและการต่อสู้  ในปี 2542           
              นอกจากนี้  จดหมายข่าวของเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญช่วงปี 2539-41  มีข้อเขียนและบทนำโดยพี่ธีรนาถฯทุกฉบับ   รวมทั้ง ในหนังสือผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ   บันทึกการเดินทางสู่ความเสมอภาค   ของเครือข่ายฯ   ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดและตัวตนของพี่ธีรนาถฯ  ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายฯ  ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง  ซึมซ่านเป็นแกนอยู่ตลอดทั้งขบวนด้วย   โดยที่งานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญนี้เป็นงานช่วงสุดท้ายของชีวิต และเป็นงานที่ทุกคนรู้ดีว่าเป็นงานที่พี่ธีรนาถ รักและทุ่มเทมากที่สุด  ยังมีบันทึกลายมือบางฉบับที่เราเก็บไว้
               พี่ธีรนาถ มีบทบาททั้งออกแถลงการณ์  ยื่นจดหมายประท้วงหรือเสนอแนะต่อรัฐบาล   การอภิปราย  จนถึงไฮด์ปาร์คในบางสถานการณ์  พยายามใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม  โดยพี่ธีรนาถ เป็นผอ.สร้างละครเพื่อประชาธิปไตย  ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ   เรื่อง บ้านสองแยก  ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ พ.ศ.2535  ดำเนินรายการวิทยุ  และสถานีโทรทัศน์ไทยสกาย  หลายรายการ  ให้สัมภาษณ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ร่วมงานในศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมืองจุฬาฯ   และเป็นกรรมการชุดต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานสตรีแห่งชาติ (กสส.)  สำนักนายกรัฐมนตรี    คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น   คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการจัดทำนโยบายและแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชน
                ก่อนเสียชีวิตปี ๒๕๔๒ จากเครื่องบินตกที่ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ    ผู้อำนวยการโครงการผู้นำสตรีท้องถิ่นสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท  ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน  ที่ปรึกษามูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน  จังหวัดเชียงราย   ที่ปรึกษาชมรมจุฬาทักษิณ  และผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงกับรัฐธรรมนูญ
[3] ดูคำรำลึกถึงของ อ.มาลี  พฤกษ์พงศาวลี   กวิน ชุติมา-นัยนา  สุภาพึ่ง  และเตือนใจ ดีเทศน์ ใน เสมอภาค เสรี   
[4] พี่ธีรนาถ เข้าร่วมกับนักวิชาการทำจดหมายเปิดผนึก  ทัศนะต่อการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบ(รสช.)    เรียกร้องให้รสช. ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก  ให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด เรียกร้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่  ให้รัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้งรวมทั้งนายกรัฐมนตรี ใน ทุน รัฐ แรงงานวิกฤติและการต่อสู้,2542: 81-84
พี่ธีรนาถ คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญของ รสช. ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย   และรักษาอำนาจตนเอง  เช่นการให้วุฒิสมาชิกมาจากการแต่งตั้งของรสช. 270 คน และสามารถลงคะแนนล้มรัฐบาลได้เช่นเดียวกับส.ส.360 คนที่ประชาชนเลือก...  หากรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้  การยึดอำนาจที่ผ่านมาก็จะเป็นการยึดอำนาจอย่างถาวร  หน้าที่ของประชาชนก็คือร่วมกันปกป้องคุ้มครองประชาธิปไตยไว้เพื่อประโยชน์แห่งชาติ  โดยเสนอในบทความเรื่อง ประชาธิปไตยกับการยึดอำนาจแบบถาวร  ในสยามรัฐ  วันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2534  พี่ธีรนาถ เองก็เข้าร่วมการชุมนุมอย่างเอาการเอางาน  เมื่อเกิดการปราบปรามนองเลือดและมีการจับกุมนักศึกษาประชาชน  พี่ธีรนาถ ก็ไปเยี่ยมผู้ถูกจับในฐานะอาจารย์  และหาทางประสานงานให้นักศึกษาได้ประกันตัว
          มีหลายบทความที่สะท้อนการวิเคราะห์ปัญหาผู้หญิงอย่างเป็นระบบ อาทิ
ปัญหาสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลต่อการค้าหญิง... ประเทศที่มีปัญหาการค้าหญิงในระดับแพร่หลายจนเป็นที่รู้เห็นกันไปทั่วโลก   คือฟิลิปปินส์กับไทย   ทั้งสองประเทศเป็นสถานที่มีและเคยมีฐานทัพอเมริกันตั้งอยู่  และเป็นประเทศที่ได้ผ่านระบบการเมืองแบบเผด็จการ  ซึ่งอำนาจต่าง ๆ ในการตัดสินใจอยู่ในกำมือของผู้นำเพียงไม่กี่คนมาอย่างยาวนาน   อีกทั้งยังมีลักษณะปัญหาทางเศรษฐกิจร่วมกันอยู่หลายประการ  ชี้ถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก  ระหว่างการเติบโตของขบวนการค้าหญิง  กับปัญหาเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งน่าจะอธิบายได้มากกว่าเพียงคำพูดสั้น ๆ ว่า  เพราะความยากจน  และ เป็นที่น่าประหลาดใจที่ผู้ชายเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการแตะต้องจากกฎหมายหรือสังคม  นโยบายของรัฐเน้นการควบคุมและมุ่งเอาผิดผู้หญิงหรือผู้ถูกซื้อเป็นหลัก  แม้ในความเป็นจริงความต้องการของลูกค้า  จะเป็นตัวการที่ทำให้ธุรกิจเพศดำเนินไปได้  และเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงขบวนการค้าหญิงทั้งหมด  ปัญหาโสเภณีและการค้าหญิงจึงเป็นเรื่องสะท้อนที่ดียิ่งของความไม่เป็นธรรมในระบบชายเป็นใหญ่  ใน  หญิงชายกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม,2542: 34-60.
[5] ลงในนสพ.มติชน 4 พ.ย. 2534 และ ทุน รัฐ แรงงานฯ : 281-288 ซึ่งมีเรื่อง เศรษฐศาสตร์การลาคลอด 90 วันก็ยังน้อยไป อยู่ด้วย(เล่มเดียวกัน:289-293)  นอกจากนี้ยังได้เสนอเหตุผลโต้แย้งกับแนวคิดของรัฐมนตรีชายบางคนที่ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า   ถ้าให้ลาได้ 90 วัน ต่อไปจะเกิดลูกหัวปีท้ายปีเพื่อลาคลอด” “คลอดลูกเสร็จก็บีบน้ำนมตัวเองใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้ก็ได้ ไม่น่าต้องอยู่บ้าน  รวมทั้งโต้แย้งกับอดีตรัฐมนตรีหญิงบางคนที่ออกมาพูดว่า การลาคลอดนาน   เป็นการเอาเปรียบคนอื่นที่ต้องทำงานแทน
[6] ธีรนาถ  กาญจนอักษร,ทุน รัฐ แรงงานฯ: 339   และวงดนตรีภราดร โดยวิชัย นราไพบูลย์ จากวงอินโดจีนได้แต่งเพลง คิดถึงตุ๊กตา  (เคเดอร์)  ให้  ขับร้องโดย สุวรรณา,ภัชรี,สุมาลี,กาญจนา
              สนธยา น้องตุ๊กตา เหนื่อยล้าแรงอ่อน   วิหคโผคืนกลับคอน ตะวันรอนอ่อนแสงอีกวัน    ผ่านค่ำคืนนี้  คงจะมีเรี่ยวแรงฝ่าฟัน  พ่อจ๋า แม่จ๋า รอฉัน  วันหยาดเหงื่อนั้นเปลี่ยนเป็นเงินเดือน                  
                  ตุ๊กตา เจ้าจากบ้านนา  ด้วยใจมุ่งหวัง  เรี่ยวแรงกายเท่าใดโถมถั่ง   โลกสดสวยด้วยสองมือใคร แสงแดดแผดเผา   ผืนนาแล้งล่มสลาย  ไฟโลภของคนใจร้าย  โหมทำลายความหวังเธอสิ้น
                  โอ้ ตุ๊กตา  ถูกตีราคาดั่งผงธุลี  กอบส่วนเกินกินกันอ้วนพี  สังคมนี้เหลื่อมล้ำเกินไป  ตุ๊กตาทอดร่าง  ถมทางให้เพื่อนเดินไป  ในอ้อมกอดแห่งดวงใจ  จะโอบเธอไว้ตลอดเวลา ....

เรื่อง"แม่" ของป้ามล...ทิชา ณ นคร การต่อสู้เพื่อลูก ที่มีกำลังใจเข้มแข็งจากแม่



ในวิทยานิพนธ์สตรีศึกษา "การหลอมรวมอุดมการณ์เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน..เรื่องเล่าโดย สุนี ไชยรส"  มีเรื่องของพี่ทิชา ณ นคร(ป้ามล)ที่เข้มข้นและซาบซึ้งสะเทือนใจทุกคน..โดยเฉพาะเรื่องของลูก และแม่


              พี่ทิชา (พี่มล) เป็นครู รร.ราษฎร์   ร่วมชุมนุม 14 ตุลา   ต่อมามีบทบาทในศูนย์พิทักษ์สิทธิครู  เมื่อมีการปลดครู รร.ราษฏร์ออกมาก  จึงมีการชุมนุม  ในที่สุดรัฐบาลรับครูทั้งหมดเข้ารร.รัฐบาล   แต่ต้องไปอยู่ต่างจังหวัด  พี่ทิชา  จึงไปเป็นครูที่สุราษฎร์   พอดีมีการปลดผู้ว่าฯธวัช มกรพงศ์ที่  จ.พังงา เรื่อง
เหมืองเทมโก้ ที่ไปขัดผลประโยชน์นายทุนต่างชาติ  จึงกลับมาบ้านเกิดที่พังงา  เธอเล่าว่า
          รับไม่ได้เลย คุยกับเพื่อนขอยืมพิมพ์ดีด แอบไปใช้เครื่องโรเนียวของเพื่อน ทำแถลง การณ์อยู่คนเดียว  พอเสร็จตีสองไปติดที่ตลาดตะกั่วป่าคนเดียวเลย   ตอนบ่ายหารถได้ไฮด์ปาร์คบนหลังคารถชักชวนผู้คนไปชุมนุม...ปักหลักจนถึง 12 วันที่ศาลากลาง  นักเรียนตื่นตัวมากหลัง 14 ตุลาทำให้มากันเยอะ   มลกับพี่สุรชัย  แซ่ด่าน สลับกันปราศรัย  แต่แล้วหน่วยปฏิบัติการพิเศษ(นปพ.) ยิงกราดเข้ามาในฝูงชน  ศาลากลางพังหมด  อาจจะมีระเบิดด้วย มีคนตายคนเจ็บเยอะมาก  ผู้คนพากันหนี  มีคนพามลหนีใส่รถเอาผ้าคลุมออกมาไปส่งไว้ที่ จ.ระนอง  โบกรถสิบล้อหลายคันกว่าจะหลบมาถึงกรุง เทพฯ  แล้วก็ถูกไล่ออกจากครู  มีคนชุมนุมประท้วงคำสั่งที่ไล่มลออกให้มีความชอบธรรมกว่านั้น  แต่ผู้ว่าฯ ให้หน่วยพิเศษส่งตัวออกทันที  ไม่ให้กลับไปสุราษฎร์อีก

           เรื่องลูกของพี่มล และคำสอนที่ดีมากของแม่ของพี่มลเอง  ...ฉันเคยคุยกับพี่ทิชาฯ อย่างละเอียดมาแล้วสองครั้ง   แต่วันนี้เธอเล่าด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งกว่าทุกครั้ง 


              พี่ทิชา  ณ นคร   เริ่มต้นจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม  เธอเพิ่งมาซาบซึ้งประเด็นผู้หญิงจากชีวิตครอบครัวตัวเอง  เมื่อเธอเล่าให้พวกเราฟังพร้อมน้ำตาในบางช่วง  มันสะท้อนความจริงของผู้หญิงจำนวนมาก  ไม่ว่าจะเข้มแข็งปานใดในการต่อสู้ทางการเมืองหรือเพื่อความเป็นธรรม  กว่าที่แต่ละคนจะผ่านด่านปัญหาของความรักและครอบครัวได้นั้น  มันแสนสาหัสเสียเหลือเกิน   แต่พี่มลยังดีที่มีแม่ที่เข้าใจเธอมาก 
               แม่มีหลักคิดที่ดีมาก   เหมือนที่เขามีงานวิจัยว่า  เด็กอยากได้ยินอะไรมากที่สุดยามเผชิญกับความยุ่งยากสับสน...แม่จะบอกเสมอว่า  ไม่เป็นไร...ถูกไล่ออกจากราชการก็ไม่เป็นไร  เมื่อพบอุปสรรคใด ๆ แม่ยืนข้างหน้าเสมอ  บอกว่า แม่ว่า  ไม่เป็นไร ก็ไม่เป็นไรสิ



                พี่ทิชา  อยู่กับแฟนก่อนแต่งงาน  แม่สามีเอา นสพ. เดลินิวส์ที่มีรูปเธอกำลังไฮด์ปาร์คโยนใส่หน้าแฟน   ว่าคนอย่างนี้หรือจะมาเป็นเมีย?  แต่ในที่สุดก็ไปทำพิธีแต่งงานกันง่าย ๆ  แล้วมาอยู่กรุงเทพฯ
                  "....พอมีลูกเขาได้งานเหมืองแร่ในระนองรายได้ดีเขาก็เลยไป   พอมีท้องคนที่สองเขาไม่บอกว่ามีคนอื่น แต่หลานเราบอก  เราทำงานที่สหทัยมูลนิธิเลยนั่งรถทัวร์ตั้งใจจะไปถามว่าจะเอาอย่างไร    ตอนคลอดครั้งแรกมีปัญหาสุขภาพขาดธาตุเหล็ก  เขาให้ถือใบเตรียมคลอดไว้   ถ้าคลอดอาจมีสถานการณ์ฉุกเฉินได้อาจต้องให้เลือดกะทันหัน   พอไปถึงก็เจ็บท้องทันที  ใบสุขภาพก็ไม่ได้ถือไป   ก็ไปคลอดอนาถา  มีปัญหาจริง ๆ   รกค้างเลือดออกมาก   ต้องยกตัวเราใช้ขันตักเลือดทิ้ง  ทุเรศทุรังมาก  แฟนมาหา แต่มาพูดเรื่องการหย่า  นี่เป็นการอับอายครั้งที่สองของชีวิตเลยนะ   นอนอยู่คืนหนึ่งก็นั่งรถทัวร์คันเก่ากลับมา    คนขับและกระเป๋ารถก็ตกใจที่เห็นคลอดแล้ว  ไปกดออดเรียกแม่เช้ามืด  อุ้มลูกมาแบบอนาถามากจนรันทดกับตัวเอง...    
                     มาได้สองสามวันแฟนตามมาเราก็ดีใจ   แต่เขาก็มาชวนไปหย่าอีก   ไปที่อำเภอสามสี่แห่ง   อำเภอก็ไม่หย่าให้เพราะเราร้องไห้  เจ้าหน้าที่บอกให้กลับไปคิดดูก่อน   แฟนก็ขุ่นข้องหมองใจมากเลย (เริ่มร้องไห้)  เพราะถ้ามลพูดคำเดียวเขาก็จะได้หย่า  มลจึงประจักษ์มากเลย   เรื่องลาออกจากการเป็นเมียมันยากจริง ๆ
                     
                   


เขามารอบสองลูกอายุได้ประมาณ  15 วัน  เขามาขโมยลูกไป  บอกว่าถ้าอยากได้ลูกคืนต้องไปหย่าให้ก่อน  เขาเอาลูกให้ย่าที่เป็นพยาบาลศรีธัญญาจ้างคนเลี้ยง  
                   แต่ยามนั้นเราก็คิดแบบ ผู้หญิง แท้ ๆ เลยนะ   คิดว่าดีเหมือนกัน  เผื่อมันย้อนคืนความสัมพันธ์มาได้  ก็บริหารตนเองในระหว่างยังไม่หย่า  ดูแลลูกคนโตแล้วไปทำงานให้สหทัยมูลนิธิที่ศิริราช  เย็นไปศรีธัญญาซึ่งไกลมาก  เลี้ยงลูกคนเล็กจนลูกหลับ  ถึงกลับมาดูแลลูกคนโตที่บ้าน  ทำอย่างนี้ทุกวัน   ซักผ้าต้องใช้น้ำบ่อ (ที่ฝั่งธน)  วงจรชีวิตเป็นอย่างนี้จนลูกอายุ 11 เดือน  ระหว่างที่เราไปหาลูก  แม่เขาจะไม่ยอมพูดด้วย   น้ำก็ไม่ให้กิน ลูกติดเรามาก  เขาก็ติดหลาน  เขาเลยโมโหบอกให้เราเลิกมายุ่งกับหลานเขา แบ่งกันคนละคน 
                     มลเขียน จม.ถึงเขา  บอกว่า ลูก-เด็กไม่ใช่สิ่งของนะ  จะได้แบ่งกันคนละชิ้น  ที่มาตลอดทุกวันนี้ก็หวังว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมลกับแฟนจะฟื้นคืนมา  เป็นความรู้สึกของแม่ ของเมีย  ของผู้หญิง  ตลอดเวลาเราซื่อสัตย์  ผู้หญิงทุกคนอยากมีผัว  คนเดียว (ร้องไห้)
                ที่สุดเขาก็ยืนยันให้เราแยกจากลูก แฟนก็ว่าเขาตามใจเรามามากแล้วเขาต้องตามใจแม่เขาบ้างแล้ว 




                 ช่วงเวลานั้นทุกข์ใจมากนะ  รู้สึกว่าแยกลูกให้ไม่ได้   เขามาจากตัวมลและเราก็ยอมทำทุกอย่างแล้ว  เริ่มคิดจะเอาลูกกลับ  ยังไม่ยอมหย่า  แต่ไม่มีช่องทางเลย  เพราะเขาใหญ่ระดับรอง ผอ.พอดีมีเหตุการณ์ที่เขาไม่สบาย    ต้องไปนอนรพ.เอกชน  เอาหลานไปเลี้ยงด้วยอยู่ห้องวีไอพี  ลูกก็ท้องเสีย  เราก็ตามไปดูแลลูกทุกวัน  เขาเลยยื่นคำขาดไม่ให้มาอีกและสั่งลูกชายมาหย่า   
                    ในชั่วโมงนั้นเราไม่มีทางอื่นอีกแล้ว    ไปแต่เช้าก็ไปอุ้มลูกออกมาตอนพยาบาลเผลอ  สักพักพยาบาลที่รพ. ก็โทรมาที่สหทัยฯ  ขอให้เอาเด็กมาคืน  เพราะคุณย่าจะแจ้งความว่าเด็กหาย   จะทำให้รพ.เดือดร้อน  เรายืนยันขอให้รพ.มั่นใจว่า ถ้าเป็นคดีความจริง ๆ เราไม่แพ้แน่ เพราะเป็นแม่  สหทัยฯ ก็ส่งจนท.ไปคุยกับรพ.  ว่าแม่เขาไม่คืนลูกแน่  ถึงที่สุดก็เลยได้ลูกคืน  เขาก็ไม่ฟ้อง 
                 ก็ติดต่อทาง จม. หาแฟนทันทีว่าพร้อมจะหย่าแล้ว  ทำบันทึกข้อตกลงพิเศษว่าเด็กจะอยู่ในความดูแลของมลตลอดไป  และไม่ขอรับค่าเลี้ยงดู  แม่จะเป็นผู้อุปการะเองเพราะกลัวเขาจะมาเอาลูกไป   
                      ตอนนั้นลูกอายุ 11 เดือน  ....