วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

หลัง ๑๔ ตุลา : ขบวนผู้หญิงยิ่งก้าวรุดหน้า ชูแนวรบทางจิตสำนึกและวัฒนธรรม: ตอน๑๑ การหลอมรวมอุดมการณ์ฯ(ร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีวันสตรีสากล)


หลัง ๑๔ ตุลา : ขบวนผู้หญิงยิ่งก้าวรุดหน้า
                        ชูแนวรบทางจิตสำนึกและวัฒนธรรม














ผ่าน 14 ตุลา การเคลื่อนไหวของผู้หญิงในมหาวิทยาลัยคึกคักมากขึ้น    จัดอภิปราย  นิทรรศการ  ทำหนังสือ  การแสดงต่างๆ    ซึ่งได้รับความสนใจมาก   นอกจากชูธงประชาธิปไตยแล้ว   เริ่มชูธงการต่อสู้ทางชนชั้นเชื่อมโยงกับการต่อสู้ทางเพศ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรณรงค์ทัศนะจิตสำนึกที่ครอบงำและกดขี่ผู้หญิง   และเริ่มมีแนวคิดเป็นหนึ่งเดียวกับผู้หญิงทั้งโลกมากขึ้น

เท่าที่ฉันค้นพบข้อมูล   เริ่มจากหนังสือขบวนการดอกไม้บาน ใน ธันวาคม 2516       โดยชุมนุมนิสิตหญิงคณะวิทยาศาสตร์  จุฬาฯ  มีบทกวี อหังการของดอกไม้ ของจิระนันท์ฯ[1]













มกราคม 2517 พวกเรากลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์จัดพิมพ์หนังสือ  ทางเลือก [2]   ในบทนำตั้งคำถามว่า  ..จากประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน     สภาพของสตรีถูกเอารัดเอาเปรียบไว้สองชั้น    คือถูกเอารัดเอาเปรียบทางชนชั้นต่อหนึ่ง  และถูกเอารัดเอาเปรียบทางเพศอีกต่อหนึ่ง      ....เธอจะเลือกเดินเฉพาะการปลดแอกเพื่อส่วนตัว   หรือเพื่อสตรีทั้งหมด        และเธอจะเลือกเดินเฉพาะการปลดแอกของสตรีทั้งหมด   หรือเพื่อชีวิตทุกชีวิตที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม (น .4-5)
พวกเราจัดนิทรรศการและทำหนังสือ ‘8มีนา  วันสตรีสากล 2517’     โดยกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์   กลุ่มผู้หญิงรามคำแหง   กลุ่มผู้หญิงจุฬาฯ   เป็นการเคลื่อนไหวที่มีพลัง     บ่งบอกถึงทิศทาง และการต่อสู้ที่จะร่วมมือกันก้าวต่อไปของกลุ่มผู้หญิงมหาวิทยาลัยต่างๆ [3]   พอถึงวันสตรีสากล 2518   กลุ่มสตรีรามคำแหง   ก็จัดงานนิทรรศการและการอภิปรายสองวัน 
กลุ่มผู้หญิงมหาวิทยาลัยต่างๆเริ่มก่อรูปชัดเจนยิ่งขึ้น  มีการก่อตั้งกลุ่มผู้หญิงสิบสถาบันและเคลื่อนไหวระดับเอเชีย  ในปี 2517 ความสนใจแนวคิดการต่อสู้ของผู้หญิงถือว่าอยู่ในกระแสสูง   ขบวนการดอกไม้บานและทางเลือกต่างมียอดพิมพ์ถึง 5,000 เล่ม   โลกที่สี่’  ของจิระนันท์   พิตรปรีชา และ ปัญหาและแนวทางการต่อสู้ของผู้หญิง  โดย  ฤดี  เริงชัย  ปี 2518  ก็ได้รับความสนใจจนต้องพิมพ์ครั้งที่สองทั้งสองเล่ม   นสพ.รายวันมีคอลัมน์สตรีเสนอทรรศนะก้าวหน้าในเชิงวัฒนธรรมใหม่เพิ่มขึ้น  นอกจากกระแสชลในเสียงใหม่  ฤดี เริงชัย ในอธิปัตย์   ก็มี’รุ้ง’  แสงประทุม  ในนสพ.ศานต์สยาม ปี 2518  ฯลฯ

และในการจัดงาน  8มีนาคม 2519    กลุ่มผู้หญิงสิบสถาบันเป็นแกนหลักรวมพลังกันจัดนิทรรศการ และทำหนังสือ ฐานะและบทบาทสตรีสากล     ปีนั้นทัพหน้าราม ก็จัดพิมพ์ คียงข้างกันสร้างสรรค์โลก  โดยแสงเสรี    เข้าร่วมกระแสวันสตรีสากลด้วย [4]
           
การรณรงค์ทัศนะต่อปัญหาโสเภณี

ใน ทางเลือก(กลุ่มผู้หญิงมธ.)สัมภาษณ์ สุชาติ  สวัสดิ์ศรี   คุณหญิงสุภาพ  วิเศษสุรการ   ซึ่งเดิมมีการศึกษากันในกลุ่มผู้หญิง   ถือเป็นการรณรงค์ทางแนวคิดค่านิยมครั้งสำคัญเรื่องหนึ่ง  เพราะช่วงนั้นกำลังมีการเรียกร้องให้จดทะเบียนโสเภณีให้ถูกต้องตามกฎหมาย     ซึ่งเป็นประเด็นที่ยังถกเถียงกันไม่รู้จบจนถึงปัจจุบันนี้    โดยกลุ่มผู้หญิงร่วมแสดงทัศนะของกลุ่มอย่างชัดเจนด้วย 
กลุ่มผู้หญิงจุฬาฯ -มักจะมีคนพูดว่า  โสเภณีเป็นของคู่โลก  เป็นธรรมชาติซึ่งทำลายไม่ได้     เปลี่ยนแปลงไม่ได้    มีมาแล้วตั้งแต่ดึกดำบรรพ์  และจะต้องมีอยู่ตลอดไป  แต่ความจริงหาใช่เช่นนั้นไม่   ที่โสเภณีเกิดขึ้นได้  เนื่องจากการกดขี่ของสังคม  ซึ่งนอกจากจะเป็นการกดขี่ทางชนชั้นแล้ว   ยังมีการกดขี่ทางเพศด้วย  ...โสเภณีไม่ใช่ของคู่โลก    ปัญหานี้แก้ไขได้จากต้นเหตุ     นั่นคือแก้ไขปัญหาสังคม    ปัญหาเศรษฐกิจ     โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง   หญิงโสเภณีไม่ใช่หญิงใจชั่ว    พวกเธอเป็นคนและมีศักดิ์ศรี    มีบ่อยๆที่พวกเธอจะทิ้งอาชีพนี้เสีย   แต่สังคมไม่ยอมรับ  และไม่เปิดโอกาสให้...  มันเป็นความผิดของเธอหรือ? ...( น.81)
 กลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์เมื่อกล่าวถึงโสเภณี   เราไม่สามารถทราบได้ว่าได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่เมื่อใด   แต่ทราบว่าเป็นผลิตผลมาจากสังคมทาส   ทาสผู้หญิงนอกจากจะถูกใช้เป็นทาสแรงงานแล้ว ยังต้องรับใช้เจ้านายในการปลดเปลื้องอารมณ์ใคร่ของเจ้านายอีกด้วย    ลักษณะทาสนี้ได้ถ่ายทอดมาสู่ยุคศักดินา...  เราสามารถสังเกตุได้จากการที่เจ้านายคนหนึ่งๆนอกจากจะมีเมียออกหน้าออกตาคนหนึ่งแล้ว  ยังสามารถมีนางห้ามได้อีกคนละหลายๆนางและมีกันได้อย่างเปิดเผย  ...ได้ถ่ายทอดมาสู่ยุคทุนนิยมในปัจจุบัน   มาเป็นโสเภณีที่สังคมดูถูกเหยียดหยามและดำเนินอาชีพโสเภณีอย่างซ่อนเร้นและปิดบัง...
..สังคมให้ค่านิยมทางเพศแก่ผู้หญิงว่า  การสำส่อนเป็นสิ่งไม่ดี  ไม่ควรกระทำ   ... จึงทำให้เราเชื่อแน่ได้ว่าไม่มีหญิงคนใดหรอกที่จะเป็นโสเภณีโดยกมลสันดาน   แต่ที่จำเป็นจะต้องทำอาชีพนี้      ก็เพราะสังคมเป็นผู้กำหนดต่างหาก  ...เมื่อเป็นเช่นนี้อาชีพโสเภณีจึงถูกสร้างขึ้นมาโดยพวกนายทุนหน้าเลือด   เพื่อเป็นทางหนึ่งที่ผู้ชายจะเอาเปรียบผู้หญิงทางด้านเพศ
...เมื่อโสเภณีไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น   ฉะนั้นก็ควรจะแก้ให้หมดไปได้  การแก้นั้นก็ต้องแก้กันที่ต้นเหตุจริงๆคือแก้ที่ระบบสังคม   และขณะเดียวกันก็ควรให้กำลังใจแก่โสเภณีว่า   สิ่งที่ทำไปในอดีตนั้นไม่ควรถือเป็นปมด้อยของชีวิตอีก   เพราะนั่นแหละเป็นผลิตผลของสภาพแวดล้อมที่ไม่ถูกต้องของสังคมต่างหาก       พร้อมกันนั้นก็ควรให้ค่านิยมใหม่ว่าผู้หญิงมิได้เกิดมาเพื่อสำหรับปลดเปลื้องกามารมณ์ของผู้ชาย     หรือเป็นเครื่องประดับบารมีของสามี  แต่ผู้หญิงเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์   ที่จะมีส่วนเพิ่มผลผลิตและสามารถช่วยกำหนดสังคมได้.. [5].(น 82-83)
                       
วันสตรีสากล  : ผู้หญิงทั่วโลกจงรวมกันเข้า





ขบวนผู้หญิงไทยเริ่มมีแนวคิดเป็นหนึ่งเดียวกับผู้หญิงทั่วโลกมากขึ้น   และชัดเจนในงานวันสตรีสากล 2517  ที่ชูคำขวัญ ผู้หญิงทั้งโลก  จงสามัคคีกัน  ผลักดันกงล้อประวัติศาสตร์ให้ก้าวรุดไปข้างหน้า  ซึ่งเชื่อมร้อยกับอุดมการณ์สิทธิมนุษยชน    อันมีแนวคิดจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ     ต่อมามีการรณรงค์ของขบวนผู้หญิงจากตะวันตกแบบเสรีนิยมและจากฝ่ายสตรีสังคมนิยม    จนเป็นที่ยอมรับแนวคิดร่วมกันว่า  สิทธิผู้หญิงคือสิทธิมนุษยชน
 
   กลุ่มผู้หญิงเน้นว่า  วันสตรีสากลมีรากฐานจากการต่อสู้ของกรรมกรหญิง    ที่ต่อสู้เมื่อ 8มีนาคม 2452(ค.ศ.1909) โดยกรรมกรหญิงโรงงานทอผ้าเมืองชิคาโก   สหรัฐอเมริกาประท้วงสำแดงกำลัง   คลารา  เซทคลิน นักสู้หญิงชาวเยอรมันเป็นผู้นำ เรียกร้องสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของผู้หญิงและให้ลดเวลาทำงานเหลือ 8 ชั่วโมง    ต่อมามีการผลักดันจากองค์กรสตรีฝ่ายสังคมนิยมจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่า  8 มีนา   เป็นวันสตรีสากล  [6]
     เรื่องราวของคลารา  เซทคลิน[7]  นักปฏิวัติสตรีเป็นที่ประทับใจของขบวนผู้หญิง (เคยตีพิมพ์ในปิตุภูมิรายสัปดาห์ ฉบับที่47 วันที่ 4 มีค.2500 และนำมาตีพิมพ์ใหม่ในเล่มนี้)   ซึ่งแม้จะมีชีวิตครอบครัวยากเข็ญ  สามีป่วยตาย  มีลูกสองคน  เธอถูกรัฐบาลเยอรมันจับเข้าคุกวัยชรา60 ปีเมื่อออกจากคุกก็ยังเป็นบรรณาธิการ นสพ.ของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันอีก 13 ปี  เธอต่อสู้เพื่อกรรมกรและสังคมนิยมจนวาระสุดท้ายของชีวิตเมื่อปี 2476(ค.ศ.1933 )   และเธอกล่าวปราศรัยในการประชุมสากลที่2 สมัยที่ 1 ปี 2432 (ค.ศ.1889)          ในนามผู้แทนกรรมกรสตรีเยอรมันว่า... สตรีจะได้รับการปลดแอก  หรือจะดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นกาฝากที่เกาะพึ่งผู้อื่น   ก็จำเป็นต้องเข้าร่วมการทำงานสังคมอย่างจริงจัง...    ต้องร่วมกันทั้งหญิงชายคัดค้านระบบขูดรีดของลัทธิทุนนิยมอย่างเด็ดเดี่ยว     
ในที่สุดเดือนธันวาคม2513   ที่ประชุมใหญ่แห่งสมัชชาสหประชาชาติ จึงมีมติ1716 กำหนดให้ปี 2518(ค.ศ.1975)    เป็นปีสตรีสากล    เพื่อมุ่งเน้นให้ส่งเสริมการกระทำดังนี้
1) เสริมความเสมอภาคระหว่างชายกับหญิง
2) ประกันสิทธิการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสตรีในการพัฒนาทุกด้าน
3)  ยอมรับความสำคัญของการขยายบทบาทสตรี  ในการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตร    และการเข้าร่วมมือกันระหว่างรัฐ    รวมทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับสันติภาพของโลก      ทั้งนี้  เรียกร้องให้บรรดารัฐสมาชิกให้เข้าร่วมประกันสิทธิสตรี และผลแห่งความก้าวหน้าอันจะเกิดขึ้นจากคำประกาศว่าด้วยการกำจัดข้อแตกต่างที่กระทำต่อสตรี
     การจัดงาน 8มีนา  จึงมีทั้งการต่อสู้ให้ยอมรับบทบาทผู้หญิงและการผลักดันให้ต้องแก้ไขการกดขี่ต่อผู้หญิงซึ่งมีลักษณะร่วมกันทั่วโลก    ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับผู้หญิงชนชั้นกรรมกรและการกดขี่เหยียดผิว   โดยเฉพาะต่อผู้หญิงผิวดำ เช่น เรื่องราวของแองเจล่า  เดวิส   และยังเกี่ยวโยงเชื่อมร้อยกับแนวคิดสังคมนิยม    จากการชูบทบาทผู้หญิงจีนและผู้หญิงเวียดนาม
ขยายฐานมวลชน
ลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์และทุกสถาบันเริ่มมีงานกรรมกรและชาวนา   ควบคู่กับการรณรงค์ด้านประชาธิปไตย   ซึ่งหลัง 14 ตุลานอกจากทำงานร่วมกับกลุ่มอิสระ  บางส่วนได้จัดกำลังไปทำงานในฝ่ายบริหารอ.ม.ธ.และสภานักศึกษา     ต่อมามีการจัดเสริมกิจกรรมแบบกลางๆ  เพื่อช่วงชิงคนรุ่นใหม่ทั้งหญิงชายที่ยังไม่สนใจการเคลื่อนไหวทางการเมือง  เช่น  พาไปทัศนศึกษาคุกหญิง   ไปสอนหนังสือโสเภณีที่ปากเกร็ด        จัดขบวนพาเหรดเรื่องผู้หญิงในงานฟุตบอลประเพณี และเป็นกำลังสำคัญในการติดโปสเตอร์ทั่วเมืองด้วย
ไพรินทร์  พลายแก้ว  เล่าว่า  พูดคุยกันว่าทำไมมีคนมาร่วมกลุ่มน้อย  เลยคิดกิจกรรมใหม่ๆขึ้นเพราะบางคนไม่สนใจเรื่องทางการเมือง    เช่น พาเข้าไปในคุกหญิงไปถามบางคนว่าทำไมฆ่าสามี   แล้วกลับมาพูดคุยกันต่อ     น้องๆรุ่นใหม่ทั้งหญิงชายจะสนใจ   อ.ม.ธ.ให้เราจัดขบวนในงานฟุตบอลประเพณีด้วย    เราเลยจัดพาเหรดเรื่องโสเภณี เมียเช่า  ติดประกาศรับสมัครใต้ตึกเอทีที่กลุ่มฯอยู่  กระเทยมาสมัคร   ต้องการแสดงออก  สนุกกันมาก 
 น้องๆที่มาทบทวนความหลังหลายคนที่เป็นกำลังหลักไปติดโปสเตอร์    ย้อนรำลึกบรรยากาศช่วงนั้นว่า...  "ตอนเริ่มกระแสขวาๆออกมาก่อกวน   เราต้องมีการวางแผนรัดกุม    เดิมใช้เขียนด้วยมือ   ต่อมาต้องผลิตจำนวนมาก  โดยทั่วไปจะรวมศูนย์กันที่มหิดล   มีการสอนวิธีติดให้แน่นฉีกไม่ได้    เริ่มจากการกวนกาว   ไปติดหัวค่ำไม่ได้ต้องไปติดก่อนสว่าง   กำหนดกันว่าจะไปติดอะไรที่ไหน   แบ่งสายคละทั้งชายหญิง  เอารถสองแถวใหญ่ๆมารับไปปล่อยไว้จุดละ6-7 คน    มีรถที่เป็นหลักของสิ่ว (สุจินดา  ตั้งสัจจพจน์)   เจ(วิไลวรรณ  เชื้อชาญวงศ์)  และภูมิสัน  โรจน์เลิศจรรยา     ต่อมาสิ่วที่ขับรถไม่เป็นก็หัดขับจนพาพวกเราไปได้บางทีอยู่กันดึกมากก็ต้องปีนออกประตูท่าพระจันทร์ไปหาของกินหรือปีนออกประตูหอใหญ่....   

                 ฉัน  เพื่อนพ้องน้องพี่ จากกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ และนักต่อสู้หญิงรุ่น 14 ตุลา    ที่กระจัดกระจายในหลายสถาบัน  หลายบทบาท     เริ่มทยอยจบจากมหาวิทยาลัยโดยมีเส้นทางชีวิตต่างกันไป     แต่มีจุดร่วมกันในการก้าวเดินหนักแน่นขึ้นบนเส้นทางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย    เพื่อรับใช้ประชาชน  และเพื่อความเสมอภาคหญิงชาย...
                 บนเส้นทางที่ยาวนานนี้  ไม่มีใครบอกได้ว่า   จะสิ้นสุดตรงไหน   เมื่อไร...  
 



            [1]นิลรัตน์   กุลรัชตะสถาพร เป็นนายกชุมนุมฯ มีจิระนันท์   เฉลยลัคน์   สมถวิล   อาริยา กัลยาณี  เป็นกองบรรณกร     
   [2] กองบรรณกรมีสลิลยา  มีโภคี  นันทิยา  กังสดาลอำพน   วิลา   วิทย์ประเสริฐกุล   ประกายรัตน์   สุวรรณโพธิพระและ ศจี  สิงหะวัฒนะ ... มีการวิเคราะห์กฎหมายที่ยังกดขี่หญิงไทย    และเรียกร้องให้ขจัดระบบทุนนิยม เข้าร่วมการปฏิวัติ  อาทิ  สุวัฒนา  เปี่ยมชัยศรี- การปลดแอกสตรี      สำเริง  คำพะอุ- ผู้หญิงจะเข้าร่วมในการปฏิวัติอย่างไร?  วรรณา  แสงสุรีย์ - ค่านิยมที่ระบบทุนนิยมมอบให้แก่สตรี   ส่วนนิรมล  พฤฒาธร ที่เขียนจดหมายถึงพ่อแม่  ทางที่ลูกเ ลือกก็ได้สะท้อนความคาดหวังของพ่อแม่ต่อลูกสาว    ซึ่งต่างจากลูกชาย... และขอมีทางเลือกที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง  
                วัตถุประสงค์ของกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์   ที่เสนอไว้ในหนังสือทางเลือก  คือ :
     1)  เพื่อส่งเสริมนักศึกษาหญิงใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
                 2)  เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาหญิงเข้าไปศึกษา  และมีบทบาทในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง
      3)  เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาหญิงเปลี่ยนค่านิยมทางสังคมที่ไม่ถูกต้อง
      4) ค้ำประกันและต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของผู้หญิงในสังคม
งานที่ทำคือ  สอนหนังสือบ้านปากเกร็ด    ทำหนังสือบอร์ด   จัดอภิปราย   สนทนา   ปาฐกถา และจัดศึกษาทางวิชาการ   รวมทั้งโครงการเฉพาะหน้า  เช่น  รับบริจาคเสื้อผ้าให้สลัม
  [3] นี่คือปกหนังสือ 8 มีนา วันสตรีสากล 2517       
  เธอ                
            ...นารีมีความสวยสามประการ
            สวยน้ำคำพร่ำกล่าวขาน  หวาน  หวานกับทุกคน
            สวยน้ำใจใสเย็นเช่นหยาดฝน
            สวยน้ำมือคือน้ำมนต์   รู้จักปรนนิบัติทั่วไป...
            หยุด  !  การมอมเมาเสียที
เธออ่อนโยนได้   แต่ไม่จำเป็นต้องพูดคำหวาน                  หน้าปก ๘ มีนา  วันสตรีสากล
            เธอต้องพูดถึงสิ่งที่ถูกต้อง  ยืนยันในสิ่งที่เป็นธรรม
            เธอให้ความรักและน้ำใจต่อประชาชน...เท่านั้น
            ไม่รวมถึงชนชั้นปกครองและผู้กดขี่
            เธอมีสองแขนเพื่อสร้างสรรค์โลก
            เพื่อร่วมผลักดันกงล้อประวัติศาสตร์
            มิใช่เพื่อปรนนิบัติผู้ใดผู้หนึ่ง  เพราะ... เธอคือคน
            เนื้อหาสะท้อนถึงพัฒนาการที่ต่อเนื่องจากก่อน 14 ตุลา  ที่เน้นว่าผู้หญิงต้องลุกขึ้นมีจิตสำนึกที่จะปลดปล่อยตัวเองจากความคิดแบบเก่าที่รัดรึงผู้หญิงให้ยอมจำนน  มาแสดงพลังต่อสู้ด้วยตัวเอง  นริศรา ปีติสนิท เสนอ นางในวรรณคดี ประชาชนชั้นที่ 2’   ตอกย้ำบทบาทที่ว่าสตรีเป็นเพียงเครื่องบรรณาการ   เป็นข้าทาสบริวารที่รับใช้สามีอย่างซื่อสัตย์    เป็นวัตถุตอบสนองทางกามารมณ์   เป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้ชายอวดกัน      ในระบบครอบครัวที่พ่อเป็นใหญ่ยังสร้างภาพผู้หญิงว่ามีธรรมชาติที่ชอบหลอกลวง  คดโกง  และชอบก่อความแตกร้าวในครอบครัว
            หญิงชายกับการทำงาน แปลจาก ศ.จ.เอ็ม เจ  คาร์โวเนน    ใช้ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มาโต้แย้งแนวคิดที่ปลูกฝังกันมายาวนานว่า  ลักษณะแต่ละเพศถูกกำหนดจากธรรมชาติ    ทั้งที่จริงมาจากการถูกกำหนดด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี  และยังขึ้นอยู่กับการฝึกฝนของแต่ละคน     โดยสรุปว่า...การตั้งครรภ์ของผู้หญิงจึงไม่ใช่เป็นข้ออ้างในการลดความเป็นมนุษย์ของเธอลงไป       หากแต่กลับต้องเป็นการเชิดชูฐานะของการเป็นมนุษย์ยิ่งขึ้น.  โดยสังคมต้องสนับสนุนให้มีศูนย์เลี้ยงเด็ก   บริการอาหาร    กลางวันในโรงเรียนและเครื่องทุ่นแรงในครัว   เพื่อช่วยให้ผู้หญิงสามารถมีบทบาทในงานนอกบ้านได้ดียิ่งขึ้น
    [4]ใน ฐานะและบทบาทของสตรีสากล  เช่น  ฐานะและบทบาทของสตรีสากล   ฐานะและบทบาทของสตรีในประวัติศาสตร์   ประวัติการต่อสู้ของสตรีในประเทศต่างๆ  โรซ่า  ลุกเซมเบิร์ก  คลารา  เซทคลิน    แองเจล่า  เดวิส     จูเลียต  ชิน   สำราญ  คำกลั่น   และการปลดแอกของสตรีจีน  ส่วนเคียงข้างกันสร้างสรรค์โลก อาทิ  ลักษณะการถูกขูดรีดทางเพศของสตรีโสเภณีผูกขาด  ผู้หญิงโลกที่3 จงสามัคคีกัน  เสรีภาพของผู้หญิงนั้นอยู่ที่ไหน?    โรคประจำตัว 2อย่างของผู้หญิง   ผู้หญิงกับการเมือง    รักเสรี    ผู้หญิง: พลังที่แฝงเร้น     ผู้หญิง :นายทุนน้อย    และสตรียุคใหม่
   [5]เมื่อนึกย้อนว่าผ่านมาแล้วถึง30 ปี   จึงน่าสนใจที่จะดึงบางประเด็นมาบันทึกเพื่อร่วมการถกเถียงแห่งยุคสมัย
                สุชาติ  สวัสดิ์ศรี -   เมื่อพูดถึงโสเภณีมักจะมองตรงปลายเหตุ   เรามักจะมองในแง่ที่ว่าเป็นปัญหาทางศีลธรรม   ในแง่ที่ว่าถ้ามีโสเภณีจะทำให้สังคมเสื่อม แต่คุณไม่ได้พิจารณาถึงต้นเหตุว่า    สาเหตุของการมีโสเภณีนั้นมักเกิดจากระบบสังคมอย่างไร...   ถ้าคนมีความพอใจมีโอกาสในชีวิตของเขามากขึ้น      อาชีพนี้จะเป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับผู้หญิงที่จะมีอาชีพอย่างนี้...   เราก็ต้องมองความเป็นจริงของมัน   ควรมีถูกต้องตามกฎหมาย...   ทางที่ดีเราอย่าไปปิดบังมันเสีย  แต่ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่น่าสนับสนุนอย่างใด    แต่น่าค่อยๆทำให้ลดน้อยลงไป..  (น.78)
       คุณหญิงสุภาพ  วิเศษสุรการ สิ่งใดไม่ดีไม่งามจะให้สังคมยอมรับได้อย่างไร  จะบอกให้ยอมรับโสเภณีก็ยาก   นอกจากเมื่อไรเราถือว่าการเป็นโสเภณีดีเหลือเกิน  มาเป็นโสเภณีกันหมด..(และตอบคำถามที่ว่า  ควรออกกฎหมายให้มีโสเภณีถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่) .พูดมานาน   ทัศนะบางคนว่ามีโสเภณีจะได้เป็นสัดส่วนลงทะเบียนเสีย  บางคนว่าทำไม่ได้  ว่าขณะนี้คนไม่ได้เป็นโสเภณีด้วยความสมัครใจ   ถูกล่อลวงมาถูกบังคับพอเป็นโสเภณีแล้วเขาช่วยตัวเองไม่ได้   ถูกบังคับให้คิดว่า เป็นโสเภณี    แล้วเขาไม่มีโอกาสกลับตัว    อีกทัศนะหนึ่งเรามีข้อตกลงกับสหประชาชาติว่า     ไม่ให้มีโสเภณี  ...การมีโสเภณีคิดว่าเป็นธรรมชาติมีมานานแล้ว   อาจมีมากน้อย   มีแบบไหน  ปิดบังหรือเปิดเผย...   (น.80)
      [6] 8 มีนาคม 2453 ผู้แทนหญิงจาก 18 ประเทศร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมสมัยที่สองที่โคเปนเฮเกน  เดนมาร์ค  ผ่านมติให้เคลื่อนไหวเรียกร้อง:
                   -ระบบสามแปด  คือทำงาน ๘ (ชั่วโมง)    ศึกษา ๘    พักผ่อน  ๘ 
     -ค่าจ้างหญิงชายเท่ากันในงานประเภทเดียวกัน   คุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานหญิงและเด็ก
              -เสนอปัญหาให้มีสันติภาพโลก    และรับรองข้อเสนอของคลารา  เซทคลิน  ให้วันที่ 8มีนาคม  เป็นวันสตรีสากล
       8 มีนาคม 2454   กรรมกรหญิงหลายประเทศ - เยอรมัน  ออสเตรีย  สวีเดน  เดนมาร์ค สหรัฐอเมริกา  เดินขบวน  และ 8 มีนาคม 2460    กรรมกรหญิงรัสเซียเดินขบวนคัดค้านพระเจ้าซาร์       เรียกร้องขนมปัง  และสันติภาพ 
                 ตัวอย่างรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงบทบาทผู้หญิง    จะเน้นประเทศที่ประกาศเป็นสังคมนิยมขณะนั้น  เช่น  จีน  เวียดนามเหนือ  มีบทสัมภาษณ์  ดร.ฮัน ซู หยิน    นักวิทยาศาสตร์และนักประพันธ์ของจีน  ที่ตอนแรกพ่อแม่ไม่ยอมให้เรียนในฐานะ  ผู้หญิง    แต่เธอหางานทำและเรียนไปด้วย    เธออ้างถึงคำพูดของเหมาเจ๋อตง หลังการปฏิวัติปี 2498 ในการประชุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่า... คุณคิดว่าคุณปฏิวัติสำเร็จแล้ว  แต่ยังมีสถานที่หนึ่งซึ่งคุณยังทำไม่สำเร็จ  นั่นก็คือในบ้านของคุณเอง : วิธีการที่คุณปฏิบัติต่อภรรยาและลูกสาว  บุรุษจะไม่ได้รับการปลดปล่อย     ตราบเท่าที่สตรียังไม่ได้ปลดแอก...
     สุวรรณา  จงสถิตย์วัฒนาจากกลุ่มผู้หญิงจุฬาฯให้ภาพแองเจล่า  เดวิส   นักสู้หญิงผิวดำที่มีชื่อเสียงโด่งดังถึงปัจจุบัน  ที่ถูกอ้างอิงถึงทั้งการต่อสู้ของผู้หญิง     ชนผิวดำ และนักปฏิวัติ   ( ซึ่งเคยมีการเขียนถึงมาแล้วใน เล็บ โดยรัตนาภรณ์  มงคลสินธุ์)     แองเจล่าจากเด็กหญิงขี้อาย     เรียนรู้ปัญหาการกดขี่เหยียดผิว   จนลุกขึ้นร่วมการต่อสู้ตั้งแต่อายุ 17 ปี    และศึกษามาร์กซิสต์       เธอเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียบรรยายปรัชญา   ต่อมาถูกกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์     และถูกตั้งข้อหาร้ายแรงว่าอยู่เบื้องหลังกรณีนักโทษผิวดำจับผู้พิพากษาเป็นตัวประกัน        แต่ก็มีการเคลื่อนไหวคัดค้านของสังคม    จนทำให้ไม่สามารถปลดเธอออกจากมหาวิทยาลัยได้
                               
   [7]เธอมีงานเขียนเช่น ศิลปะกับชนชั้นกรรมาชีพ  ปัญหาว่าด้วยสิทธิทางการเมืองของสตรี   กำเนิดขบวนการเคลื่อนไหวชนชั้นกรรมาชีพสตรี   คาร์ลมาร์กซกับงานของท่าน      และเลนิน อนุสรณ์  ซึ่งเป็นการสนทนากับเลนินในปัญหาปฏิวัติ   ขบวนการสตรีสากล   และกฎหมายสมรส

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น