วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

ความรัก และ ความเสมอภาค : ตอน ๘ การหลอมรวมอุดมการณ์เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน(ร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปีวันสตรีสากล)


ความรัก และ ความเสมอภาค












https://www.blogger.com/blogger.g?blogID=3148805286451061697#editor/target=post;postID=6333442947465798977

พวกเราทั้งหญิงชายประทับใจ  วัลยา  ใน ความรักของวัลยา   และ รัชนี   ใน ปีศาจ  ของ   เสนีย์  เสาวพงศ์       ถือว่าเป็นภาพแห่งอุดมคติของหนุ่มสาวยุคนั้นทีเดียว    ที่จะต้องเลือกคนรักที่ตื่นตัวทางการเมือง
เมื่อเรวัตรที่มีทั้งศักดิ์แห่งสกุลและความมั่งมี  ตอบคำถามวัลยาที่ว่า  “ผู้หญิงต้องการอะไรในความรัก  ด้วยคำตอบว่า เรือต้องการทะเลกว้าง   ไก่ต้องการคอนสูง และผู้หญิงต้องการชีวิตที่ผาสุกและสงบ   วัลยา  ปฏิเสธการขอความรักของเรวัตรด้วยคำพูดที่ว่า...
            “ สำหรับบางคนอาจเป็นเช่นนั้น   ความรักเพื่อความสุขและแต่งงานเพื่อความสุข . . แต่ความหมายของ ความสุข ของเรและของวัลย์ต่างกัน   การร่วมชีวิตกับคนที่มีสกุลสูงและมั่งมีอย่างคุณ  เป็นชีวิตที่ราบเรียบและซ้ำซากอย่างน่าเบื่อหน่าย มันราบเรียบจนมองเห็นเชิงตะกอนเผาศพตัวเองแลหนังสือแจกงานศพรายทางข้างหน้าโน้นได้อย่างถนัดชัดเจน    วัลย์ไม่ต้องการความสุขชนิดนั้น   ความสุขของวัลย์อยู่ที่ความคาดหมาย   การต่อสู้และความเสี่ยง  แต่มันไม่ใช่การเสี่ยง อย่างนักเซ็งลี้ที่อาจเป็นเศรษฐีหรือล้ม      แต่เป็นการเสี่ยงและต่อสู้ของคนทำงานเพื่อการสร้างสรรค์   มันอาจจะเป็นการแบกพร้าเข้าป่าดิบที่ไม่เคยมีใครเข้ามากล้ำกราย แล้วต่อมาทางที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนนั้น   ได้กลายเป็นทางที่สัญจรไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของคนภายหลัง (เสนีย์,  2544 : 17)  [1]                         
แน่นอนว่า  อุดมคติหรือความใฝ่ฝันกับความเป็นจริง    บางทีก็อาจไม่เดินไปด้วยกันได้อย่างง่ายดาย  ความรักและครอบครัวซึ่งละเอียดอ่อนด้วยหัวใจและอารมณ์ความรู้สึก    จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่ซับซ้อนและจัดการได้ยากที่สุดเกือบทุกคน    สำหรับเยาวชนก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ส่วนใหญ่จะมีคนรัก   บางคนอาจได้คนรักที่ก้าวหน้าทางความคิด   แต่อาจไม่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทนอกบ้านเพื่อสังคมมากนัก   หรือหวงมากไป   ยังคิดว่าผู้หญิงเป็นสมบัติส่วนตัว    ไม่อยากให้สนิทสนมกับผู้ชายคนอื่น  บางคนได้คนรักที่ไม่ตื่นตัวทางการเมือง   แต่พร้อมจะสนับสนุนช่วยเหลือในสิ่งที่ผู้หญิงศรัทธาจะทำอย่างเต็มที่     ผู้ชายบางคนยังมองเห็นผู้หญิงเป็นของเล่นหรือเป็นช้างเท้าหลัง    บางคนมีท่าทีรักผู้หญิงหลายคนไปพร้อมกัน...
ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่มีท่าทีไม่ถูกต้องก็มี   เช่น   หึงหวงเกินไป  หรือมีรักแบบเสรี  ไม่รับผิดชอบต่อคนรัก   หรือคาดหวังที่จะให้คนรักมาดูแลมากเกินไป  จนมีผลกระทบต่อการทำงานส่วนรวมทั้งสองฝ่าย   หรือรู้อยู่ว่าเขามีคนรักแล้ว  ก็อาจจะไปรักเขาอีก   ทำให้ผู้ชายได้โอกาสที่จะเสรีมากขึ้น 
ฉัน   และเพื่อนๆหลายคน ต่างก็มีคนรักในช่วงเวลานั้น  ส่วนใหญ่ทำงานกิจกรรมร่วมกัน   คนรักฉันอยู่คณะรัฐศาสตร์ปีเดียวกัน    ในกลุ่มสภาหน้าโดม     ไม่น้อยมีความรักข้ามมหาวิทยาลัย โดยทั่วไปเราต่างเป็นเพื่อนร่วมงานร่วมต่อสู้    เป็นเพื่อนคู่คิด และช่วยให้ต่างฝ่ายเติบโตในการเรียนรู้และต่อสู้   จำนวนมากยืนหยัดอยู่ด้วยกันจนถึงปัจจุบัน      แต่มีจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่กาลเวลาและเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงความรักระหว่างเขาและเธอในช่วงนั้นในเวลาต่อมา    รวมทั้งฉันด้วย
ความรักและครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่มีทั้งสุขและทุกข์    ในแง่ของความเสมอภาคหญิงชาย  ความรักต้องเริ่มต้นจากความสมัครใจ    มีเวลาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน    แต่ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายเมื่อจะต้องตัดสินใจเลิกจากกัน  มีคำถามที่บางครั้งอธิบายได้ยาก บนเส้นแบ่งระหว่าง เสรี   ไม่รับผิดชอบ   กับอิสระที่จะเลือกและตัดสินใจ   ถ้าคิดว่าเข้ากันไม่ได้    เพราะในกลุ่มก้าวหน้าเราชูคำขวัญยึดมั่นรักเดียวใจเดียว    ต้องอดทนและปรับตัวเข้าหากัน   แต่เมื่อผ่านไปแล้วช่วงหนึ่งถ้าพบว่า  เรารู้สึกไม่มั่นใจ    ไม่มีความสุขกับความคิดและท่าทีบางอย่างที่เราคิดว่าสำคัญสำหรับเรา   แต่เขาก็ยังเป็นคนดีมีจุดยืนที่ดีในการต่อสู้ทางการเมือง การที่จะไม่รักต่อไปนั้น   มีเหตุผลอะไร?...

เมื่อผ่านประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น  ฉันจึงมีข้อสรุปว่า   ปัญหาสำคัญอยู่ที่ทำอย่างไรทั้งสองฝ่ายจึงจะมีท่าทีเคารพต่อกันและจากกันด้วยดี    เป็นเพื่อนกันต่อไปได้ ไม่ว่าจะจากกันในฐานะคนรักหรือแต่งงานแล้ว   เพราะความรักเป็นสัจจธรรมข้อหนึ่งที่ไม่อาจยืนยงถาวรได้ตลอดกาล    แต่ก็ยังต้องพ่วงด้วยความรับผิดชอบที่พึงมีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง    เมื่อมีลูกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย   รวมทั้งเมื่อมีความรักข้ามชนชั้นในเขตป่าเขาจำนวนมากและต้องจากกัน... ซึ่งเป็นตำนานแห่งความรักอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในท่ามกลางประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้   
กระแสการวิพากษ์ความคิดที่กดขี่เอาเปรียบดูถูกผู้หญิงที่ตกทอดจากระบบศักดินา     และจากการตื่นตัวศึกษา    ซึ่งมีกระแสร่วมกันว่า นอกจากศึกษาโลกทรรศน์เยาวชนเพื่อทำความเข้าใจสังคมและโลก    เพื่อเปลี่ยนสังคมให้ดีและไม่มีการเอารัดเอาเปรียบต่อกัน    แต่ยังไม่เพียงพอ    ถ้าไม่มีการศึกษาชีวทัศน์เยาวชน  เพื่อดัดแปลงความคิดตนเองที่ตกทอดมาจากสังคมแบบเก่า  ทำให้เกิดกระแสที่ดีให้เยาวชนหนุ่มสาวเริ่มตระหนักถึงการเคารพศักดิ์ศรีผู้หญิง   ตระหนักถึงการดัดแปลงตนเองในเชิงทัศนคติ    และอย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ในขบวนได้เรียนรู้อุดมการความเสมอภาคหญิงชายไปด้วย  [2]    
 
    มีหนังสือเล็กๆไม่ระบุสำนักพิมพ์และปีที่พิมพ์   ต่อมาจึงรู้กันว่าพิมพ์จากหนังสือในป่าชื่อ    ชีวทัศน์เยาวชน   ซึ่งพิมพ์หลายครั้งในรูปเล่มเล็กๆ ได้รับความนิยมสูงที่สุด         ทั้งในแง่อ่านง่ายกระทัดรัด   และถูกนำไปเป็นหัวข้อศึกษาในการร่วมกันดัดแปลงตนเองของกลุ่มต่างๆ     โดยเฉพาะเยาวชนและผู้หญิง   มีอยู่ 18 หัวข้อ อาทิ   ทัศนะชนชั้น    รักประชาชน   รักชาติ   รักการใช้แรงงาน   เข้าร่วมงานรับใช้มวลชน  ประชาธิปไตย  วินัย  ท่าทีต่อศัตรู  ท่าทีต่อสหาย  วิจารณ์และวิจารณ์ตนเอง   แนวทางมวลชน   ครอบครัวและความรัก    ขยัน ประหยัด    เรียบๆง่ายๆ  ทรหดอดทน  [3]
เมื่อคาดหวังร่วมกันที่จะเป็นเยาวชนกองหน้า นักต่อสู้เพื่อสังคมใหม่   จึงมีการเรียกร้องต่อตนเองและเพื่อน เช่น ช่วงนั้นมีข่าวนักกิจกรรมชายในมหาวิทยาลัยทำนักศึกษาหญิงและกรรมกรท้อง   รวมทั้งการมีท่าทีสัมพันธ์พร้อมกันหลายๆคนอย่างไม่รับผิดชอบ   จึงเริ่มมีการวิพากษ์รักเสรี   มีการนำปัญหาที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้องจนมีผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มหรือการทำงานในกลุ่ม  มาพูดคุยต่อหน้ากันอย่างตรงไปตรงมาในหลายกลุ่มที่ทำงานสนิทสนมกันอย่างมาก  เช่น  ในกลุ่มผู้หญิง  ศูนย์นักศึกษาครูฯ    กลุ่มยุวชนสยาม  ซึ่งอาจมีผลให้หลายคนรู้สึกรับไม่ได้อยู่บ้าง[4]
 ในกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์เองก็มีบางคนรู้สึกไม่เห็นด้วย     ว่าเป็นเรื่องเล็กและเป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน   พอมีการจัดกลุ่มศึกษาเรื่องท่าทีต่อความรักนี้   บางครั้งพวกเราก็มีจุดอ่อน ไปสนใจถามหาตัวบุคคลว่าเป็นใครกัน   แทนที่จะพูดกันในหลักการ    คนที่รู้ก็อาจเอาไปพูดซุบซิบต่อ    อย่างไรก็ตาม  ในการพูดคุยย้อนหลังเรื่องราวนี้    เพื่อนๆน้องๆที่ร่วมรำลึกความหลังกันก็ยอมรับว่า   การเรียกร้องให้เยาวชนดัดแปลงตนเอง  ถือเป็นการศึกษาศีลธรรมที่ดี   เป็นคุณธรรม  จริยธรรมที่ทุกคนควรจะมี   นอกจากจะมีอุดมการณ์ที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาชน  ซึ่งจะช่วยเป็นกรอบและฉุดรั้งพวกเราเยาวชนหญิงชายมิให้ถลำผิดลงไป    เตือนให้ชายมีจิตสำนึกให้เกียรติต่อผู้หญิง   ในการทำงานเป็นกลุ่มที่มีการศึกษาและวิจารณ์ร่วมกันก็ช่วยเตือนสติซึ่งกันและกัน   เพราะเราจะใช้เวลากับเพื่อนและกิจกรรมมากกว่าในครอบครัว  ...  แต่การมีภาพคนดีเป็นกรอบตายตัวไว้    โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อจำกัดของแต่ละคนและวิวัฒนาการของสังคม    ก็อาจมีท่าทีที่เป็นปัญหาบ้าง

ช่วงเวลานั้นสมาชิกในกลุ่มผู้หญิงจะโดนแซวเป็นประจำ  ว่าพวกเราเป็นนักตรวจสอบ     เรื่องรักเสรีบ้าง   กินเหล้าบ้าง  แต่ก็มีผลสะเทือนที่ดีตรงที่นักกิจกรรมชาย   ถ้าจะพูดหรือมีท่าทีไม่ค่อยดีเกี่ยวกับผู้หญิงก็จะต้องระมัดระวังมากขึ้น   โดยเฉพาะเรื่องเที่ยวผู้หญิงถือว่าร้ายแรงทีเดียว    ใครจะไปทำอะไรไม่ดีก็ต้องแอบๆไป      ถือเป็นการสร้างเกณฑ์ของสังคมเพื่อกระตุ้นจิตสำนึก        ซึ่งประเด็นความเสมอภาคหญิงชายเป็นเรื่องชัดเจนจนถึงปัจจุบันนี้ว่า     ที่แก้ไขยากที่สุดก็คือการเปลี่ยนทัศนคติของคนนี่เอง  ทั้งผู้หญิงผู้ชาย   และถ้ากลุ่มที่อยู่ในฐานะนำของสังคมช่วยกันเป็นแบบอย่างที่ดี    และร่วมกันรณรงค์จิตสำนึกโดยปลูกฝังทัศนะที่ถูกต้องตั้งแต่เยาวชนทั้งหญิงชาย     ความเสมอภาคหญิงชายก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน



   [1] ในเรื่องปีศาจ  สาย  สีมา  ลูกชาวนาที่ไปรักกับรัชนี  ลูกผู้ดี จนถูกเหยียดหยามอย่างหนัก   ก็ได้สร้างวาทะที่คมคายในการต่อสู้ทางจิตสำนึก     ทำให้รัชนีตัดสินใจออกจากบ้านเพื่อออกมาสู่โลกและชีวิตใหม่      โดยไม่ยอมอยู่ในครอบครัวที่ไม่เปิดอิสรภาพและทางเลือกแก่เธอเลย
                ท่านเข้าใจผิดที่คิดว่าผมจะลอกคราบตัวเองขึ้นเป็นผู้ดี    เพราะนั่นเป็นการถอยหลังกลับ      เวลาได้ล่วงไปมากแล้ว    ระหว่างโลกของท่านกับโลกของผมมันก็ห่างกันมากมายออกไปทุกที     ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า  ความคิดเก่า  ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัวและไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้        เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้าง ปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที ...(เสนีย์, 2543  : 192)
   [2]มีหนังสือที่เน้นการเข้าใจต่อ(โลกทรรศน์ที่ถูกต้องในการรับใช้ประชาชน    อาทิ อนุช  อาภาภิรม ,โลกทรรศน์เยาวชน,และ  หนุ่มสาวคือชีวิต(สำนักพิมพ์วรรณศิลป์ ,มิถุนายน 2517)     ส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกร้องและดัดแปลงตนเอง (ชีวทัศน์เยาวชน)  อาทิ
                 ชีวิตกับความใฝ่ฝัน’ โดยบรรจง  บรรเจอดศิลป์(สำนักพิมพ์ดอกหญ้า,กันยายน 2521)  ในบทว่าด้วย  มองเห็นประชาชน’:  
        ..เธอจะต้องไม่ดูหมิ่นการทำงาน  ไม่ดูหมิ่นประชาชนคนงาน     เพราะเขาได้อุทิศแรงงานของเขาเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ...ในแง่นี้  เธอจะต้องรักประชาชน  พึ่งประชาชน  เพื่อประชาชน  และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน   เยาว์  ในวิถีดำเนินอันยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์  และในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อแสวงหาสัจจะของประชาชนนั้น  เธอเป็นเสมือนน้ำหยดหนึ่งในมหาสมุทรเท่านั้น  เพียงน้ำหยดหนึ่งเท่านั้นย่อมไม่สามารถจะกลายเป็นละลอกคลื่นอันมหึมาที่จะถล่มฟ้าละลายดินได้  ฉะนั้น   เธอจงมีอหังการต่อศัตรูเถิด   แต่เธออย่ามีอหังการต่อประชาชน  ต่อมิตรและต่อสหายของเธอ  (น.56-57)
    สารแด่นิด  โดยประสานที่พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ปิตุภูมิ  ในวันสตรีสากล  8 มีนา2500   พิมพ์ครั้งที่สองโดยกลุ่มดรุณีเหล็ก  เนื่องในวันเยาวชน-ประชาชนปฏิวัติ  14 ตุลาคม 2517     และพิมพ์ครั้งที่สามโดยกลุ่มดรุณีสยาม  ในวันสตรีสากล 8 มีนา 2519   ประสานได้สรุปตอนหนึ่งว่า ถ้าหากว่า  เสียงกระซิบกระซาบระหว่างหนุ่มสาว  เป็นเสมือนหนึ่งมโหรีที่ดีดด้วยพิณสวรรค์แล้ว  เสียงมโหรีนี้จะเสนาะเพราะพริ้งยิ่งขึ้น เมื่อประสานกับเสียงเพลงสดุดีชัยชนะของเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย    ที่เอาชนะต่อคนและธรรมชาติ  เพื่อเสริมสร้างเสรีภาพและอิสรภาพให้ยืนยงถาวร (น.39)
      คิดอย่างเยาวชนใหม่ ในหัวข้อเคารพสตรี :   “การไม่เคารพสตรีเป็นปรากฏการณ์ที่ชั่วร้ายอย่างหนึ่งของสังคมเก่าซึ่งเราจะต้องกำจัดให้สิ้นซาก..ในหมู่เยาวชนเราไม่น้อยที่ติดเอาความคิดของชนชั้นขูดรีด    หลอกลวงและถือเอาผู้หญิงเป็นเครื่องเล่น   ทอดทิ้งภรรยาของตน... ยังมีเยาวชนบางคนติดเอาความคิดแบบศักดินา  เขาถือเอาภรรยาของตนเหมือนบ่าว  บังคับต่างๆนานา    ทุบตีด่าว่าตามชอบใจหรือดูถูกผู้หญิงอยู่ในใจ  ถือว่าอย่างไรก็สู้ตนไม่ได้   นี่ก็เป็นความคิดที่ไม่ถูก  เนื่องจากความแตกต่างกันทางธรรมชาติ เราไม่ควรเรียกร้องให้ผู้หญิงต้องทำงานทุกอย่างให้เหมือนผู้ชาย   และในการทำงานผู้ชาย  ผู้หญิงบางคนโดยเฉพาะผู้หญิงแม่บ้านแม้ว่าจะก้าวหน้าช้ากว่าในบางด้าน  แต่นั่นเป็นเพราะสาเหตุต่างๆโดยเฉพาะคือผลสะท้อนของสังคมเก่า     ซึ่งเราจะถือเป็นสาเหตุในการดูหมิ่นพวกเขาไม่ได้เป็นอันขาด     ดังนั้น   ระหว่างผู้หญิงผู้ชายต้องเคารพกันช่วยเหลือกัน  และก้าวหน้าไปด้วยกัน   ปรากฏการณ์ที่ดูหมิ่นเหยียดหยามสตรีไม่ว่าด้วยข้ออ้างใดๆ    ล้วนผิดทั้งสิ้น    โดยเฉพาะการทุบตีด่าว่าและทอดทิ้งภรรยา     เป็นพฤติการณ์ที่ควรตำหนิอย่างเข้มงวด(น.120-121)     (ไม่ระบุผู้เขียนและที่พิมพ์  ต่อมาพิมพ์ในชื่อ  แด่...เยาวชน  อีกครั้งหนึ่ง โดยชมรมแสงดาว )

    [3]ในบทครอบครัวและความรัก :“เมื่อนำปัญหาความรักมาเปรียบเทียบกับปัญหาทั้งหมดของชีวิตมาเปรียบกับงานปฏิวัติแล้ว   ความรักระหว่างเพศก็เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น      แต่อีกด้านหนึ่ง  เราก็ไม่ควรถือความรักเป็นของเล่น.    ถ้าวันนี้ท่านรักคนนี้  พรุ่งนี้รักคนโน้น  เปลี่ยนคนรักเหมือนเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว   ท่านก็ได้ทำให้ตัวท่านเองและคนรักของท่านต้องเสียกำลังใจ   กำลังกาย   เวลาเรียนและเวลาทำงานไปเปล่าๆ    นำความยุ่งยากมาสู่และทำให้ผู้อื่นต้องระทมขมขื่น .     ท่าทีเช่นนี้เป็นการหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น    เป็นท่าทีของชนชั้นขูดรีด.
     เยาวชนที่ก้าวหน้าควรจัดการปัญหาความรักเช่นนี้คือ   1) ถ้าท่านอายุยังน้อย     ถ้าแต่งงานแล้วจะขัดขวางการงานและการเรียน     ท่านก็ควรรอไปก่อนอย่าด่วนสร้างความรักหรือแต่งงานเร็วเกินไป    2) เมื่อถึงเวลาสมควรจะรักกันได้    ท่านควรเลือกเป้าหมายที่มีทัศนะการเมืองไม่ขัดกัน  และถ้าแต่งงานกันแล้วก็ไม่ก่อผลเสียแก่งงานปฏิวัติ.   ท่านอย่าถือรูปร่างหน้าตาเงินทองยศศักดิ์เป็นหลัก   แต่ควรถือคุณความดีของเขาเป็นหลัก     คือถือเอาการรับใช้ประชาชนของเขาเป็นหลักในการเลือกคู่ครอง.    ถ้าเขาเห็นแก่ตัวแล้ว  ทำตัวไม่เป็นมิตรต่อประชาชน  ท่านก็ไม่ควรรักเขา..3)  ทั้งสองฝ่ายควรรักกันด้วยความสมัครใจ  ไม่ใช่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรักข้างเดียว  4)  หลังจากแต่งงานแล้ว   ท่านต้องรักกัน  เคารพกัน  ช่วยเหลือกัน  ก้าวหน้าไปด้วยกัน.    ผลักดันให้ต่างฝ่ายต่างถืองานปฏิวัติเป็นใหญ่   เอาผลประโยชน์ของครอบครัวไปขึ้นต่อผลประโยชน์ของการปฏิวัติ   ช่วยกันอบรมบ่มสอนลูกให้เป็นคนดีรับใช้มวลชนต่อไป    ท่านต้องไม่ประพฤติตนเหลวแหลก   ไม่สำส่อนทางเพศ   เป็นแบบอย่างอันดีของประชาชนในการดำเนินระบอบผัวหนึ่งเมียเดียว (น.183-186)

     [4]กระแสชล (นามแฝง)ของสุกัญญา  พี่สาวฉัน  ที่เขียนคอลัมน์ผู้หญิงชื่อ เล็บ’  ในนสพ.เสียงใหม่ ช่วงปี 2517-18  ซึ่งจะเขียนสะท้อนภาพของผู้หญิงแบบใหม่  เชิดชูผู้หญิงผู้ใช้แรงงานและเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ    ครั้งหนึ่งเปิดประเด็นวิจารณ์รักเสรี  โดยเฉพาะผู้ชายที่อยู่ในขบวนแถวของการต่อสู้   ในความหมายไม่ให้มีรักแบบเผื่อเลือกซึ่งทำให้เสียหายต่อผู้หญิง  และทำให้บรรยากาศการทำงานร่วมกันในกลุ่มเสียหาย  ต่อมาฤดี  เริงชัย คอลัมน์สตรีใน’ อธิปัตย์’ ของศูนย์กลางนิสิตฯวิจารณ์เรื่องนี้ต่อ   ซึ่งในความเป็นจริงมีกรณีเช่นนี้จริง  ประกอบกับมีการศึกษาชีวทัศน์เยาวชน   ทำให้มีการวิจารณ์ในประเด็นเหล่านี้ขยายวงต่อไป   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น