การต่อสู้กับค่านิยมแบบศักดินา และทุนนิยม :
ผู้หญิงในวรรณคดี และ การประกวดนางงาม
นงลักษณ์ เทวะศิลชัยกุล ช่วยฉันฟื้นความทรงจำที่เราทั้งสองคน กลุ่มผู้หญิงและกลุ่มอิสระ ร่วมกันจัดอภิปรายและช่วยกันเขียนเรื่องราวในนิทรรศการ มุ่งวิพากษ์วิจารณ์ซากเดนความคิดแบบศักดินาที่ส่งผลต่อผู้หญิงมายาวนาน วิเคราะห์ค่านิยมที่ปลูกฝังทรรศนะกดขี่ต่อผู้หญิงจากวรรณคดี ซึ่งช่วงนั้นมีการโต้แย้งกันอย่างคึกคักจนมีบางคนใช้คำว่า ‘เผาวรรณคดี’ ซึ่งแท้จริงแล้ว ไม่มีความคิดรุนแรงกันถึงขนาดนั้น เพียงแต่เน้นที่การคัดค้านความคิดแบบเก่าๆ ที่มอมเมาผู้หญิง และทำให้ผู้ชายเอาเปรียบผู้หญิงนั่นเอง
งานนี้จัดที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์อยู่หลายวัน บรรยากาศคึกคักมาก ถือเป็นการรณรงค์มิติจิตสำนึกเรื่องผู้หญิงที่ส่งผลสะเทือนไม่น้อย เท่าที่พอจำได้มีสมัย สนทอง(อาภาภิรม) สนทะเล จากเดลินิวส์ มาร่วมอภิปราย
ข้อเขียนของสมชาย ปรีชาเจริญ (จิตร ภูมิศักดิ์)เรื่อง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสตรีไทย ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2500 เริ่มมีการนำมาพิมพ์เผยแพร่ใหม่ เป็นเล่มหนึ่งที่มีส่วนทำให้ผู้หญิงตื่นตัวกันมาก และรู้สึกเห็นจริงไปด้วย รวมทั้งผู้ชายจำนวนมากก็เข้าใจผู้หญิงมากขึ้น...
“ปัญหาความเสมอภาคหรืออีกนัยหนึ่งความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย เป็นปัญหาที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของมันเองโดยเฉพาะ เป็นเวลาอันนานนับด้วยศตวรรษทีเดียว ตลอดช่วงระยะเวลาแห่งประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่หญิงได้ถูกกดขี่ เหยียดหยามและเหยียบย่ำให้ทรุดลงสู่ก้นบึ้งแห่งการเป็นผู้พึ่งพิง เป็นเบี้ยล่างของบรรดาชายทั้งมวล จากการมองย้อนหลังกลับไปในประวัติศาสตร์ จะพบว่าหญิงไทยทั้งมวลนั้น นอกจากจะถูกกีดกันไว้ให้อยู่ต่างหากจากความเคลื่อนไหวของชีวิตทั้งในด้านการจัดระบบเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมแล้ว หญิงไทยทุกชั่วชนที่ผ่านมายังถูกเหยียบย่ำคุณค่าแห่งการเป็นคน จนเหลือคุณค่าซึ่งถ้าจะยังมีอยู่ ก็เพียงเป็นวัตถุบำบัดความใคร่และทาสรับใช้ในเรือนผู้ซื่อสัตย์ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงอันบังคับอยู่ประการเดียว คือดูแลรักษาบ้านเรือน อันหมายรวมถึงการทำครัว ทำความสะอาดบ้าน ซักรีดเสื้อผ้า อุ้มท้อง ให้กำเนิดลูก เลี้ยงลูกและงานอื่นๆในข่ายนี้ซึ่งมีอีกมากมาย และก็โดยเหตุที่หญิงไทยและแม้หญิงแห่งชนชาติอื่น ได้ถูกลดคุณค่าลงเป็นเพียงวัตถุบำบัดความใคร่ และทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์เช่นนี้เอง เธอจึงมิได้มีบทบาทในชีวิตทางด้านอื่นนอกเหนือไปจากนี้ เป็นต้นว่า ชีวิตทางการเมือง แน่นอนผลของมันก็คือ หญิงกลายเป็นเพศที่โง่เขลา งมงาย ไร้ความรู้ ความสามารถ และท้ายที่สุดก็ตกเป็น ช้างเท้าหลัง ตามสำนวนไทย.. (สมชาย,:64-65)
ในยุคหลังก็มีข้อเขียนทั้งบทความ บทกวี เกี่ยวกับเรื่องค่านิยมที่กดขี่และมอมเมาผู้หญิงจำนวนมาก[1] รวมทั้งการจัดการอภิปราย นิทรรศการอีกหลากหลายเรื่องราว ที่เป็นการรณรงค์จิตสำนึกต่อปัญหาผู้หญิง ดังนั้น เมื่อจะมีการหวนจัดประกวดนางสาวไทยในงานวชิราวุธานุสรณ์ วังสราญรมย์อีกครั้งหนึ่งหลังจากที่หยุดไปนานหลายปี ทำให้กลุ่มผู้หญิงไปชักชวนกลุ่มอิสระต่างๆ เช่น กลุ่มสภาหน้าโดม กลุ่มเศรษฐธรรม ชมรมนิติศึกษา ในธรรมศาสตร์ สภากาแฟ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่ จุฬาฯ รวมทั้งกลุ่มยุวชนสยาม จัดการรณรงค์คัดค้านการประกวดนางสาวไทย
หนังสือพิมพ์เช้าวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ลงข่าวและภาพชูโปสเตอร์หราของกลุ่มประท้วงกลางที่ประกวดนางสาวไทย ไพจง ไหลสกุล เล่าว่า:
“ เมื่อกลุ่มอิสระต่างๆไปถึงงานวชิราวุธ ก็เดินจับกลุ่มไปยังเวทีประกวดนางสาวไทย แล้วพยายามหาซื้อตั๋วราคาถูกที่สุดเข้าไป พอบรรดาผู้ประกวดนางสาวไทยเดินออกมา พวกเขาก็คลี่โปสเตอร์ชูขึ้นประท้วงและแจกใบปลิวประณามการประกวดนางสาวไทย ว่าเป็นการทำลายคุณค่าของหญิงไทย มีผลเสียต่อศีลธรรมและประเพณีอันดีงามของสังคมไทย ฯลฯ ซึ่งเมื่อนักข่าว ช่างภาพเห็น ก็พากันถ่ายรูปพวกเขาอย่างจ้าละหวั่น ส่งผลให้การประกวดนางสาวไทยปั่นป่วนไปพักหนึ่ง... (จรัล ,2546 :118)
พี่จรัล ดิษฐาอภิชัย เล่าว่า แม้เขาเองจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับการต่อต้านครั้งนี้ เนื่องจากต้องการให้กลุ่มผู้หญิงและกลุ่มอิสระไปร่วมกันเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ที่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)ในยุคของ ธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการ จะจัดขึ้นในอีกสามวันข้างหน้ามากกว่า แต่การประท้วงครั้งนี้ก่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงในหมู่ประชาชนว่า การประกวดนางสาวไทยมีผลดีหรือผลเสียอย่างไรอยู่หลายวัน พี่จรัลจึงมีข้อสรุปว่า..
“แม้การเคลื่อนไหวนี้มีคนร่วมจำนวนน้อย และค่อนข้างรุนแรงในสายตาผู้จัดการประกวดนางสาวไทย และบรรดาสาวสวยผู้เข้าประกวด แต่เมื่อเป็นข่าวหนังสือพิมพ์และการอภิปราย ของสาธารณชน ทำให้ภาพพจน์ของขบวนการนักศึกษาโดยรวมชัดเจนยิ่งขึ้นว่า นักศึกษามีความคิดอุดมคติที่ดีงามเช่นไร(น.118)
สลิลยา มีโภคี ช่วยย้อนความจำช่วงนี้ว่า หลังจากเราไปประท้วงแล้ว มีการมาสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ร่วมกับทุกกลุ่มอิสระที่ไปด้วย มีการประเมินกันทั้งข้อดี-ข้ออ่อน[2]
ฉันยืนยันได้ว่า การรณรงค์ครั้งนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อการเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นแต่อย่างใด ฉันและเพื่อนๆกลุ่มอิสระหลายมหาวิทยาลัยไปประชุมเตรียมงานร่วมกับ ธีรยุทธ บุญมี ที่ตึกจักรพงษ์ ของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราตัดชุดนักศึกษาผ้าดิบ รวมทั้งเสื้ออื่นๆใส่กันอย่างเอิกเกริก และร่วมเดินขบวนกันอย่างเต็มที่ บางทีผู้คนมักจะกังวลเกินไปเช่นนี้ มักจะคิดแต่ว่าถ้าผู้หญิงไปเคลื่อนไหวประเด็นจิตสำนึกต่อผู้หญิง จะไปกระทบหรือขัดขวางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งที่พวกเขาควรจะมาสนับสนุนและร่วมกันมากกว่า เพราะจิตสำนึกที่ดีต่อผู้หญิงล้วนสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยทั้งสิ้น
ฉันและน้องๆจำได้ว่า เราจะพูดคุยเรื่องใกล้ตัวกันในกลุ่มผู้หญิง เช่น สิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง ที่จะมีสิทธิร่วมในการตัดสินใจที่จะทำแท้งเมื่อคิดว่าจำเป็น ( แต่มิใช่การทำแท้งเสรีเพื่อให้ผู้หญิงไปเที่ยวเสเพล หรือเสรีทางเพศตามที่มักนำไปโจมตีกัน) การทำความเข้าใจชีวิตโสเภณี ถกเถียงกันถึงการประกวดนางงาม และภาพของผู้หญิงในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ความรักและครอบครัว การไม่มีสถานเลี้ยงดูเด็กสำหรับกรรมกรและคนจนที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง จนถึงการลุกขึ้นสู้ของผู้หญิงต่างประเทศ ควบคู่กับการศึกษาเรียนรู้จากวรรณกรรม วิเคราะห์ปัญหาสังคม การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์
การได้รับรู้ปัญหาสังคม รู้ซึ้งถึงปัญหาที่ผู้หญิงได้รับทีละเล็กละน้อยในแง่มุมต่างๆของชีวิตผู้หญิง ทำให้ฉันและเพื่อนๆน้องๆยิ่งเกิดจิตสำนึกที่จะต่อสู้เพื่อการพัฒนาในวงกว้างต่อมา
ความมีชีวิตชีวาในกลุ่มผู้หญิงที่เรายอมรับร่วมกันทุกรุ่นคือ การที่เรามีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รู้ใจกันลึกซึ้ง การพูดคุยกันได้ทั้งกว้างและลึก ทั้งเรื่องในครอบครัว จนถึงปัญหาการไปทำกิจกรรมต่างๆในกลุ่มอิสระอื่นๆ ในนามพรรคพลังธรรมหรือ อ.ม.ธ. มีความอบอุ่นและใส่ใจดูแลกันและกัน บรรยากาศเช่นนี้จะต่างจากกลุ่มอื่นๆ จึงเสมือนหนึ่งการสร้างพลังให้กับทุกคน และกลายเป็นพลังของกลุ่มไปด้วยเช่นกัน
สมาชิกกลุ่มผู้หญิงจึงเริ่มต้นจากความหลากหลาย มีทั้งนักเรียนทุน เอเอฟเอส ที่สนใจการต่อสู้ของขบวนสิทธิผู้หญิงในตะวันตก มีผู้ศรัทธาต่อแนวคิดสังคมนิยม และมีทั้งผู้ที่สนใจศาสนา แต่ส่วนใหญ่เมื่อผ่านการทำกิจกรรมไประยะหนึ่ง ท่ามกลางกระแสกดดันจากระบอบเผด็จการ ได้เรียนรู้ความคิดประชา ธิปไตย กระแสอุดมการสังคมนิยม ก็มีผลทำให้ทุกคนโลดแล่นไปกับขบวนประชาธิปไตย และเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในเวลาต่อมา
[1]ระบบทุนนิยมปัจจุบันพัฒนาทุกรูปแบบ ที่จะหาประโยชน์จากเรือนร่างของผู้หญิง ไม่ว่าการพิมพ์ภาพโป๊เปลือยของผู้หญิง การโฆษณาสินค้า การค้าผู้หญิง บังคับผู้หญิงขายบริการทางเพศ การเปิดโปงการครอบงำกดขี่ทางจิตสำนึกต่อผู้หญิงจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก มีบทกวีจำนวนมาก เช่น นายสาง ‘มือสตรีนั้นหนามหาศาล’ ในน.ส.พ.ปิตุภูมิฉบับที่ 7ปีที่ 1วันที่10มีนาคม 2499 เพื่อเปิดโปงทั้งยุคศักดินาและยุคทุนนิยม และปลุกเร้าให้ผู้หญิงตระหนักถึงพลังตน
[2] จิตติมา พรอรุณ สรุปในวิทยานิพนธ์ของเธอว่า “การประกวดนางงามเป็นประเด็นหนึ่งที่กลุ่มสตรีทั้งสองฝ่าย (เสรีนิยมและสังคมนิยม)ต่างก็มีความคิดเห็นที่คัดค้านร่วมกัน โดยกลุ่มสตรีฝ่ายสังคมนิยมมีการเคลื่อนไหวต่อต้านการประกวดนางงามที่ชัดเจนกว่าฝ่ายเสรีนิยม แม้จะไม่ได้ประสานงานกัน แต่ก็เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่มีแนวคิดสอดคล้องกัน และยังได้สร้างแนวร่วมที่สำคัญ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบให้การประกวดความงามต้องซบเซาลงชั่วระยะกว่า10 ปีทีเดียว(2516-2526)” ( จิตติมา,2538 : 216-8)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น