ผู้หญิงกับการเมือง : บทบาทในพรรคพลังธรรม (ม.ธรรมศาสตร์)
กลุ่มอิสระในธรรมศาสตร์รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงธรรมศาสตร์ เคลื่อนไหวให้นักศึกษามีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหาอธิการบดี และเรียกร้องให้เปลี่ยนข้อบังคับว่าด้วยการปกครองนักศึกษาจากรูปแบบสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ส.ม.ธ.) ซึ่งมีตัวแทนนักศึกษาจากแต่ละคณะไปเลือกนายกสโมสรและกรรมการ ให้เป็นรูปแบบองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อ.ม.ธ.) ซึ่งประกอบด้วยสภานักศึกษาที่มาจากการเลือกตัวแทนของนักศึกษาทุกชั้นปี และเลือกคณะกรรมการบริหารองค์การนักศึกษาเป็นกลุ่ม เพื่อให้เกิดความอิสระในการใช้สิทธิปกครองตนเองของนักศึกษา และมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบเดิม
หลังจากผลักดันมาหลายปี ข้อบังคับว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ผ่านความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยฯ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516 [1]
กลุ่มอิสระรวมทั้งกลุ่มผู้หญิงประชุมเตรียมการเลือกตั้งอย่างกระตือรือร้น มีมติร่วมกันให้จัดตั้งพรรคพลังธรรม (จากการตั้งชื่อของ สำราญ มูลวิทยา) เพื่อดำเนินงานทางการเมือง โดยมีรายชื่อผู้ก่อตั้ง 74 คน เป็นชาย 49 คน มีฉันและเพื่อนหญิง 25 คนซึ่งมาจากกลุ่มผู้หญิง และผู้หญิงในกลุ่มอิสระ เราส่งผู้ลงสมัครทั้งทีมกรรมการบริหารและสมาชิกสภานักศึกษาชั้นปีต่างๆ [2]
ฉันและเพื่อนๆทั้งกลุ่มผู้หญิง กลุ่มอิสระอื่นๆ พากันลงสมัครกันอย่างคึกคัก เราทำโปสเตอร์เล็กๆติดรูปถ่ายและประวัติย่อไปติดตามคณะต่างๆ ปรากฎว่าพรรคพลังธรรมชนะแบบขาดลอยทั้งส.ส. และกรรมการบริหาร มีสัดส่วนหญิงชายอย่างน่าพอใจด้วย โดยที่ในส่วนสมาชิกสภานักศึกษาปีละ 15 คน มีสัดส่วนหญิงชายครึ่งต่อครึ่ง ส่วนองค์การบริหารมีผู้หญิง 1 ใน 3 ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มผู้หญิงในสภาฯทุกชั้นปี รวมทั้งฝ่ายบริหาร
ฉันย้อนอดีตถึงบรรยากาศการหาเสียงช่วงนั้นกับนงลักษณ์ เทวะศิลชัยกุล และปฏินันท์ สันติเมทนีดล ซึ่งเป็นสมาชิกสภานักศึกษาปี 4 พร้อมกัน โดยปฏินันท์เป็นรองประธานสภาฯ ทั้งสองคนจำได้ว่าพวกเราไม่มีการปราศรัยใดๆ นอกจากโปสเตอร์ง่ายๆเล็กๆติดตามคณะต่างๆ ฉันถามทบทวนว่า ทำไมพวกเราจึงได้รับการเลือกตั้งอย่างง่ายดายเช่นนั้น ?" ทั้งสองคนคิดว่า น่าจะเป็นเพราะพวกเราทำกิจกรรมมายาวนานตั้งแต่ปี 1 เป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของเพื่อนนักศึกษานั่นเอง
การต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชายตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อกำหนดโครงสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารมหาวิทยาลัย และการปกครองตนเองขององค์การนักศึกษา จนถึงการได้มีตัวแทนหญิงชายในสัดส่วนที่ดีนี้ เป็นบทเรียนที่ทำให้ฉันและขบวนผู้หญิงต่อมาเห็นความสำคัญของการที่ผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ และต่อมาเป็นประเด็นสำคัญเรื่องหนึ่งในการรณรงค์ของขบวนผู้หญิง ที่ต้องมีการเตรียมพื้นฐาน ความรับรู้ และที่สำคัญคือจิตสำนึกแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การทำงานเป็นทีม เพื่อให้ผู้หญิงตัดสินใจลงสมัครตำแหน่งทางการเมืองและการตัดสินใจทุกระดับทุกวงการเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการรณรงค์ต่อสังคมให้ยอมรับบทบาทของผู้หญิง และเลือกผู้หญิงเป็นตัวแทนเพิ่มขึ้นในทุกระดับ
[1] ในการร่างข้อบังคับอ.ม.ธ.นี้มีข้อคิดเห็นต่างกันบ้าง โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษา ส.ม.ธ. ชุมนุมต่างๆ เช่น ส.ม.ธ.เสนอไม่ให้จำกัดสิทธินักศึกษาที่เรียนเกิน 4 ปี แต่ที่สุดก็ยืนตามร่างเดิม และที่ประชุมคณบดีเมื่อ 10 มกราคม 2516 ก็ได้แก้ไขร่างให้นักศึกษาสามารถใช้สิทธิปกครองตนเองดีขึ้น อาทิ ไม่มีคณะกรรมการตุลาการ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภานักศึกษาที่จะพิจารณาข้อขัดแย้งระหว่างนักศึกษา และการกระทำผิดใดๆที่ไม่ถึงขั้นที่บัญญัติไว้ในข้อบังคับว่าด้วยวินัยนักศึกษา สภานักศึกษาลงมติไม่ไว้วางใจคณะกรรมการบริหารได้ แต่ไม่มีบทกำหนดให้คณะกรรมการบริหารยุบสภานักศึกษา และให้สภานักศึกษามีอำนาจออกระเบียบได้
หลัง6 ตุลา 19 บรรยากาศประชาธิปไตยที่มีการปกครองตนเองของนักศึกษา การมี
ส่วนร่วมกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมถึงในทุกสถาบัน ก็ยุติลงโดยสิ้นเชิง กว่าจะค่อยๆเริ่มต้นขอขยับนับก้าวที่หนึ่งใหม่ ขอให้มีตัวแทนนักศึกษาก็จนถึงปี 2522 แต่ก็ไม่สมบูรณ์แบบเหมือนช่วงปี 2516-19
[2] ในจุลสารได้นำเสนอนโยบายของพรรคพลังธรรมคือ 1)เรียกร้องและร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการพัฒนาสังคม 2)เสริมสร้างบรรยากาศทางวิชาการในมหาวิทยาลัย 3) เรียกร้องและส่งเสริมให้มีสวัสดิการนักศึกษามากขึ้น 4) ค้ำประกัน ต่อสู้ และรักษาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของนักศึกษา 5) กระทำการที่เป็นไปเพื่อความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม 6)จะดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ฉบับแรก ลงบทกวีชื่อ ‘พลังธรรม’ ของ รวี โดมพระจันทร์ :
...จงมุ่งผดุงสร้าง กำหนดทางด้วยสองมือ
สมภาพควรยึดถือ ค้ำประกันสิทธิ์เสรี
ชูเชิดพลังธรรม อย่ายอคำคนกาลี
ต่อสู้อย่ารู้หนี ย่อมพ้นภัยที่กรายมา
พลังธรรมอันจำรัส จะชี้ชัดชัยประชา
เคียงคู่อยู่คู่ฟ้า และเรืองโรจน์นิรันดร , 24 ก.พ.16
รวี โดมพระจันทร์ หรือยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ เป็นรุ่นพี่คณะเศรษฐศาสตร์ที่มีผลงานบทกวีแห่งการต่อสู้ที่โดดเด่นแห่งยุคสมัยคนหนึ่ง โดยเฉพาะบทที่เขียนว่า
“ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
หอกดาบกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา...
โถมคลื่นของมวลชน กระหน่ำจนศัตรูพ่าย
ยืนหยัดปานมัดหวาย กระหน่ำให้มันได้คิด”
รวี อยู่ในเขตป่าเขากับพี่สาวของฉัน เมื่อฉันออกจากคุก พี่สาวพาไปเยี่ยมรวี กับครอบครัวที่ชลบุรี เขากำลังป่วยและไม่นานหลังจากนั้น ทุกคนต่างเศร้าสลดใจและอาลัยรักที่เขาต้องจากไปในวัยที่ยังเต็มเปี่ยมด้วยพลังและความใฝ่ฝัน
รวี เป็นประธานนศ.เศรษฐ ฯปี 15 ไปวางพวงหรีดประท้วงตอนจอมพลถนอมปฏิวัติตนเองปี 14 อ่าน เพิ่มเติม ใน เกษียร เตชะพีระ, ‘รวี โดมพระจันทร์’ บันทึกปากคำประวัติศาสตร์ของเสรีชน ชีวิต,งาน, การปฏิวัติ และความฝัน, ในธรรมศาสตร์วิทยา : 61 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2538)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น