วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2558

บทความโดย สุนี ไชยรส"ถึงเวลาทบทวนตรวจสอบนโยบายทวงคืนผืนป่า เสียที



                      ชวนอ่าน"ถึงเวลาต้องทบทวนยุทธการทวงคืนผืนป่าเสียที..โดย สุนี ไชยรส
คอลัมน์”ผีเสื้อกระพือปีก” ใน สยามรัฐ...

                     ถ้าพูดถึงการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ ป่าต้นน้ำ ใครๆก็อยากสนับสนุน เพราะพื้นที่ป่าของไทยลดลงอย่างรวดเร็ว มีภูเขาหัวโล้นเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ เมื่อรัฐบาล ยุค คสช.ประกาศนโยบาย”ทวงคืนผืนป่า” พร้อมออกคำสั่ง คสช.ที่ ๖๔/๒๕๕๗ ให้ปฏิบัติการเด็ดขาด คนก็คาดหวังว่าจะจัดการกับนายทุนใหญ่ๆและผู้มีอิทธิพลที่บุกรุกป่า พร้อมกับสนับสนุนให้มีการจัดการดูแลป่าโดยชุมชนอย่างจริงจัง และยั่งยืนเสียที 

                    แต่เกือบปีมานี้ มีข่าวสะเทือนใจมากมายเรื่องการจับกุมคนยากจน และชนเผ่าที่มีวิถีชีวิตยาวนานอยู่กับป่า จนถึงขั้นติดคุก และบางส่วนถูกฟ้องคดีโลกร้อนในราคามหาโหดจากรัฐนับล้านๆบาท รวมทั้งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ หลายฝ่ายหลายร้อยคนบุกตะลุยตัดฟันต้นยาง พืชผลชาวบ้านอย่างไม่มีการตรวจสอบและฟังคำทักท้วงใดๆ ถ้าชาวบ้านมาขวางหรือมาแสดงตัวก็จะถูกจับไปด้วย จึงมีข่าวการตัดฟันพืชผลมากมายที่ไม่มีคนมาแสดงตัวเป็น เจ้าของเพราะกลัวถูกจับ จนมีภาพชาวบ้านน้ำตาท่วมจอข่าวเต็มไปหมด
  
                  ทำไมชาวบ้านจึงดูเหมือนดื้อรั้น บุกรุกป่าแล้วไม่ยอมออก ยอมเสี่ยงติดคุก? 

                 แน่นอนว่ามีนายทุน นักการเมืองและข้าราชการที่มีอิทธิพลบุกรุกป่า และเป็นความจริงที่ชาวบ้านบางส่วน ก็บุกรุกป่าจากนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ไม่ว่าข้าวโพด ยาง ปาล์มฯลฯ แต่ความเป็นจริงอีกข้อที่สังคม ไทยก็ผ่านการตระหนักเรียนรู้มายาวนานแล้วเช่นกัน คือปัญหารากเหง้าที่สำคัญมา จากการที่รัฐออกกฎหมาย ประกาศ เขตป่าสารพัดแบบ ที่ขีดวงตามใจรัฐโดยไปทับซ้อนที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชุมชนทั่วประเทศ มีข้อเท็จจริงชี้ชัดว่ากรณีจำนวนมากในพื้นที่“ทวงคืนผืนป่า”ได้ผ่านการร้องทุกข์ต่อรัฐมาหลายสิบปีเกือบทั้งนั้น ขอให้รัฐหลายยุคหลายสมัยแก้ปัญหา“ป่าประกาศทับซ้อนที่ดินชุมชน” กระทั่งเคยมีมติ ค.ร.ม.หลายฉบับ ให้ผ่อนผันทำกินเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่การแก้ไขปัญหาของรัฐไม่เสร็จสิ้นเสียที และตราบใดที่ชาวบ้าน ยังถูกตราหน้าว่าทำผิดกฎหมายป่าไม้ ก็จะมีการกวาดจับ การยึดคืนป่า แม้กระทั่งถูกศาลตัดสินว่าผิดกฎหมาย และติดคุกมาแล้วมากมาย

                      ถ้าย้อนดูความขัดแย้ง”คนอยู่กับป่า” มีจำนวนมากที่ร้องเรียนผ่านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมีรายงานการตรวจสอบที่เสนอต่อรัฐบาลหลายยุคมาแล้วว่า ต้องแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิ หรือไม่เป็นธรรม ต่อชุมชนจำนวนมาก จนมีหลายกรณีรัฐต้องจัดที่ทำกินให้ใหม่ เพราะพวกเขาอยู่ก่อนประกาศเขตป่า เช่น กะเหรี่ยงป่าผาก จ.สุพรรณบุรี(แต่ไม่มีการชดใช้ความเสียหายยาวนานที่เกิดขึ้น) หรือมีการชดใช้ค่าเสียหาย หลายร้อยล้านบาทให้ชาวม้งบ้านป่ากลาง จ.น่าน จากการที่นำกำลังจำนวนมากไปตัดฟันต้นลิ้นจี่และขับไล่ พวกเขาออกจากที่ทำกิน( แต่พวกเขาก็ไม่ได้ที่ดินคืน ) แต่ส่วนใหญ่รัฐเพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหา เปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐมนตรี เปลี่ยนอธิบดี เปลี่ยนผู้ว่าฯ ชาวบ้านก็มาร้องทุกข์ซ้ำซาก ซึ่งตรวจสอบง่ายๆโดยย้อนดูที่หน่วยรับร้องทุกข์ของ ครม.ทุกสมัยได้

                     ชุมชนอีกกลุ่มใหญ่ทั่วประเทศคือชาวบ้านที่พยายามช่วยรัฐหาทางออกที่ยั่งยืน คือการเสนอหลักการ และแนวคิดของ “โฉนดชุมชน” เพื่อจัดการเรื่องคนอยู่กับที่ดินของรัฐโดยเฉพาะป่า ทั้งมีที่ดินทำกิน ทั้งรักษาป่า ชุมชน ระบบนิเวศ และที่สำคัญคือปักหลักให้ที่ดินอยู่ในมือของชุมชน ไม่ให้มีการขายให้นายทุนภายนอก โดยไม่ขอเอกสารสิทธิรายบุคคล แต่ให้เป็นของชุมชนร่วมกัน ที่สามารถทำกินได้ชั่วลูกชั่วหลาน จนกระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชน และมีคณะกรรมการชุดต่างๆตรวจสอบ ตั้งกฎเกณฑ์ และเตรียมการเป็นโฉนดชุมชนอย่างกว้างขวางนับร้อยชุมชนในทั่วประเทศ แต่รัฐบาลเพิ่งมอบไปเพียงสองชุมชน ก็เปลี่ยนแปลงรัฐบาล และทุกอย่างหยุดชะงักมาสู่ภาวะการเผชิญหน้าและเสี่ยงต่อการถูกจับกุมเช่นเดิมในปัจจุบัน

                      ตัวอย่างที่อ้างมานี้เพื่อชี้ถึงรากฐานของปัญหา”คนกับป่า” และความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของ ชุมชน จำนวนไม่น้อยเป็นกรณีที่ผ่านการร้องเรียน มีข้อเท็จจริงที่จับต้องได้มากมาย ถ้ารัฐบาลที่ผ่านมาแก้ไขให้ ก็จะจบปัญหามานานแล้ว แต่โดยทั่วไปสถานการณ์การจับกุมก็ไม่กว้างขวางรุนแรง ส่วนใหญ่ชาวบ้านพยายาม เจรจาต่อรอง ทำให้กรณีจำนวนมากอยู่ในภาวะ “กำลังอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหา” “รอการตรวจสอบ” “รอการแก้กฎหมาย” 

                    แต่คำสั่ง คสช.และนโยบายเร่งรัดของรัฐบาล ได้กระหน่ำเป็นพายุที่รุนแรงให้เกิดการทวงคืนผืนป่า การขับไล่ออกจากที่ทำกิน การสนธิกำลังจำนวนมากมายตัดฟันต้นยาง พืชผล ของชุมชน โดยไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง และไม่ยอมรับรู้ถึงเรื่องราวที่ชาวบ้านร้องทุกข์มายาวนาน

                    ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมต้องไปตัดฟันต้นยางและพืชผล เปลืองทั้งกำลัง ทั้งงบประมาณ ต้องตรวจสอบ ก่อนสิว่า ที่มาที่ไปของแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร ต้องจำแนกชาวบ้านกับนายทุน ถ้าเป็นของนายทุนก็จัดการให้ ชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นดูแลพืชผล หรือทำเป็นป่าชุมชน แต่ถ้าเป็นของชาวบ้านที่กำลังอยู่ใน กระบวนการแก้ไขปัญหา ก็ควรชะลอและเร่งตรวจสอบก่อน จะตัดเมื่อไรก็ได้ประสาต้นยาง มันไม่หนีไปไหนหรอก แต่ถ้าตัดฟันผิดพลาด ใครจะรับผิดชอบต่อความสูญเสียมหาศาล และรัฐก็ไม่สามารถหนีปัญหาไปได้ ที่จะต้องมาแก้ไขปัญหาคนไม่มีที่อยู่ที่ทำกิน กระทั่งต้องจัดหาที่ดินให้ชาวบ้าน และต้องปฏิรูปที่ดินตามนโยบาย”ปฏิรูป”ครั้งใหญ่ด้วย ไม่ใช่หรือ

                 แม้กรณีศาลตัดสินว่าผิดแล้ว ก็ยังควรย้อนไปดูเรื่องราวแต่ละกรณี ก่อนบุกตัดฟันและในหลายๆกรณี รัฐบาลอาจจะต้องช่วยแก้ปัญหาที่ดินให้ด้วย... เพื่อการแก้ปัญหาอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนจริงๆ
                 ขอยกข่าวใหม่ๆจากศาลช่วงนี้สักเรื่องเป็นอุธาหรณ์ 

                 สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสานรายงานว่าวันที่ 19 ส.ค. 2558 ที่ศาลจังหวัดภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ศาลฎีกาพิพากษา คดีนายทอง และนายสมปอง กุลหงษ์ จำคุกคนละ 4 เดือน วางโทษปรับคนละ 6,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงสภาพความผิดรวมทั้งอายุ และด้วยเห็นว่าฏีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน จึงลดโทษให้ 1 ใน 4 โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี คงปรับ คนละ 4,000 บาท
คดีสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลัง 200 นายจับชาวบ้านที่ร้องเรียนมายาวนาน ว่าเดือดร้อนกรณีสวนป่าโคกยาว จำนวน 10 คน พร้อมแจ้งข้อหาบุกรุก แผ้วถาง ก่นสร้าง และทำประโยชน์ในพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 10 ราย 4 คดี

                     นางพัน กุลหงส์ วัย 74 ปี บอกว่า นายทอง กุลหงส์ อายุ 75 ปี (สามี) และลูกชายคือนายสมปอง กุลหงส์ อายุ 51 ปี อยู่ในส่วนของคดีที่ 2 เมื่อครั้งวันที่ 13 มิ.ย.55 ศาลชั้นต้นพิพากษา จำคุก 4 เดือน โดยคดีนี้ศาลได้เพิ่มวงเงิน ประกันจากรายละ 100,000 บาท เป็นรายละ 200,000 บาท เป็นเหตุให้เงินที่เตรียมไว้ต้องถูกรวมมาประกัน ได้เพียงรายเดียว สามีจึงต้องยอมเสียสละนอนอยู่ในคุกตามคำสั่งของศาล เพื่อให้ลูกชายที่มีอาการพิการทางสมอง เป็นโรคประสาท ได้รับการประกันตัวออกมาก่อน โดยเล่าว่า ครอบครัวของยายเข้ามาอยู่ในพื้นที่นับแต่ปี พ.ศ.2511 มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม เมื่อปี พ.ศ.2516 แต่ต้องถูกขับไล่ออก และจำเป็นต้องทำกินอยู่ในที่ดินเพราะไม่มีที่ดินอื่นอีกแล้ว กำลังเรียกร้องสิทธิกันอยู่ก็มาถูกจับ และวันที่ 6 มี.ค. 56 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยืนตามศาลชั้นต้นโดยไม่รอลงอาญา
(                      มีรูปประกอบ สามพ่อแม่ลูก)ตอนนี้แม้ไม่ต้องติดคุก แต่ก็จะไม่สามารถทำกินในที่เดิมได้อีก ยังไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป

                      ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องตรวจสอบและทบทวนคำสั่ง คสช.ที่ ๖๔/๒๕๕๗ และ นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า”อย่างเป็นธรรมและจริงจังได้แล้ว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น