วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2558

คำรำลึกและสืบทอดเจตนารมย์พลังสามัคคีในการต่อสู้ของขบวนผู้หญิง ในวันสตรีสากล ๘ มีนา โดยนักต่อสู้เพื่อความเสมอภาครุ่นอาวุโส

คำรำลึกและสืบทอดเจตนารมย์พลังสามัคคีในการต่อสู้ของขบวนผู้หญิง  ในวันสตรีสากล ๘ มีนา โดยนักต่อสู้เพื่อความเสมอภาครุ่นอาวุโส






            ๘ มีนาคม ๒๕๔๔ เมื่อ ๑๐๔ ปีที่แล้ว คนงานหญิงในภาคอุตสาหกรรมหลายประเทศ พร้อมใจกันเดินขบวนแสดงพลัง  เรียกร้องค่าจ้างที่เป็นธรรม ลดชั่วโมงการทำงาน และ เพิ่มสวัสดิการ    เรียกร้องการทำงานระบบสามแปด  “ทำงาน ๘ ชั่วโมง พักผ่อน ๘ ชั่วโมง และแสวงหาความรู้ ๘ ชั่วโมง” เรียกร้องให้ค่าจ้างหญิงชายต้องเท่ากันในงานประเภทเดียวกัน ต้องคุ้มครองสวัสดิภาพผู้หญิงและเด็ก และเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของผู้หญิง  โดยมีการแสดงพลังต่อเนื่องในหลายประเทศ ผ่านความเจ็บปวดและยากลำบากนานัปการ  จนในที่สุดมีการรณรงค์ให้ ๘ มีนาเป็นวันสตรีสากล  และในที่สุดสหประชาชาติประกาศให้วันที่ ๘ มีนา เป็นวันสตรีสากล  และทั่วโลกต่างรำลึก เฉลิมฉลอง และรณรงค์ให้เกิดสิทธิสวัสดิการที่เป็นธรรมต่อผู้หญิงทำงานทั้งมวล 

            “๘ มีนา” จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของผู้หญิง และความเสมอภาคระหว่างเพศ  ซึ่งหมายรวมถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน สร้างสรรค์คุณค่าเพื่อสังคมและชุมชน  เคียงบ่าเคียงไหล่ชาย อุดมการณ์ของผู้หญิงจึงเป็นสิ่งดีงามเพื่อทุกคนในสังคม และควรได้รับการสนับสนุนจากผู้ชายและทุกภาคส่วนในสังคมทั่วโลก รวมทั้งการสนับสนุนส่งเสริมจากนโยบายและกฎหมายของรัฐ

            พวกเราขอคารวะและสืบทอดเจตนารมณ์การต่อสู้ที่เสียสละของผู้หญิงในสายธารประวัติศาสตร์จำนวนมาก ทั้งในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อสิทธิความเสมอภาคของผู้หญิง และสิทธิมนุษยชน

                     แต่วันนี้ ในสังคมไทย  ชีวิตจริงของผู้หญิงทำงานส่วนใหญ่ทุกกลุ่มอาชีพ ยังไม่สามารถ ทำงานในระบบสามแปดเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะค่าจ้างต่ำ  ค่าตอบแทนการทำงานยังไม่เป็นธรรม ไม่มีสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา รวมถึงการไม่ยอมรับส่งเสริมบทบาทที่สำคัญของผู้หญิงในการมีสิทธิมีส่วนร่วมตัดสินใจ ในทุกระดับทุกมิติ  ทั้งในการจัดการฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม  คุณภาพชีวิตของตน ครอบครัว  ชุมชน  และในโครงสร้างทางการเมืองทุกระดับ    ผู้หญิงทำงานทุกคนจึงสร้างคุณค่า และเป็นพลังฐานเศรษฐกิจที่สร้างความมั่งคั่งแก่สังคมไทย ตลอดมา                       
                   ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงทำหน้าที่ของแม่ ของลูกสาว และภรรยา เป็นผู้ดูแลความอยู่ดีมีสุขของทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก คนชรา คนพิการ และผู้ป่วย   แต่คุณค่าของผู้หญิงในฐานะคนทำงานที่มีศักดิ์ศรีของมนุษย์เท่าเทียมชาย และในฐานะแม่ที่ดูแลกล่อมเกลาอนาคตของชาติ ... กลับไม่มีหลักประกันสวัสดิการจากเกิดจนตาย และไม่มีแม้แต่ศูนย์เลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพ ราคาถูก กระจายเพียงพอทั่วประเทศ และสอดคล้องกับเวลาของผู้หญิงทำงาน นอกจากนี้ผู้หญิงจำนวนมากยังถูกกระทำจากความรุนแรง ตั้งแต่ในครอบครัว จนถึงการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน และพื้นที่สาธารณะ  ต้องประสบอันตราย และความเจ็บป่วยในการทำงาน  และที่สำคัญคือ มีส่วนร่วมในสัดส่วนน้อยมากในการตัดสินใจในทุกระดับทุกมิติ  โดยเฉพาะโครงสร้างทางการเมือง



                       ในโอกาส ๑๐๔ ปีวันสตรีสากล  ๘ มีนา ๒๕๕๘  พวกเราไม่ได้เพียงเฉลิมฉลองเป็นประเพณีทุกปี  แต่วันสตรีสากลคือวันแห่งการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของแรงงานหญิง  และสืบทอดเจตนารมณ์แห่งการรวมพลังต่อสู้    ผู้หญิงคือผู้สร้างสรรค์โลก เราเรียกร้องสิทธิสวัสดิการของคนทำงานหญิงทุกคน  สิทธิประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สิทธิชุมชน และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของผู้หญิง นั่นคือเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคนนั่นเอง
   

                     นอกจากนี้  ขบวนผู้หญิงที่ต่อสู้เพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศ  จำเป็นต้องเข้าร่วมและสนับสนุนการต่อสู้กับกลุ่มประชาธิปไตย ขบวนประชาสังคม และการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง  ในขณะเดียวกัน  ก็ต้องพยายามสร้างความตระหนักต่อกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนด้วยว่า  การต่อสู้เพื่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง  ความเสมอภาคในโอกาส  และการมีสัดส่วนของหญิงชายที่เท่าเทียมกันในการตัดสินใจทุกระดับ  ไม่ใช่ประเด็นการต่อสู้เฉพาะของผู้หญิงเท่านั้น  แต่เป็นภารกิจที่จำเป็นของนักประชาธิปไตย และนักสิทธิมนุษยชนด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น