คำประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน
ในวาระ ๑๐๔ ปี
วันสตรีสากล ๘ มีนาคม ๒๕๕๘
ขบวนผู้หญิงเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และเครือข่ายสตรีทุกชนเผ่า ทุกศาสนา
ทุกภาคทั่วประเทศ
และเครือข่ายผู้หลากหลายทางเพศ เครือข่ายสตรีผู้พิการ ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน
ในการผลักดันต่อสู้ให้เกิดความเสมอระหว่างเพศในสังคมไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่มีมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ ต้องมีสัดส่วนหญิงชายในการตัดสินใจทุกมิติ
ทุกระดับ ในสัดส่วน ๕๐ : ๕๐
ประเทศไทยมีประชากรประมาณ ๖๕ ล้านคน โดยผู้หญิงคือประชาชนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศ
มีมากกว่าเพศชายเกือบ ๒ ล้านคน แนวทางการปฏิรูปประเทศ ระบอบการเมือง
โครงสร้างทางกฎหมาย และนโยบายการบริหารประเทศย่อมส่งผลต่อประชากรเพศหญิงอย่างสำคัญ
ปัจจุบัน ผู้หญิงไม่เพียงแต่ต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ และความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับผู้ชาย
และทุกเพศสภาพ เช่น ความยากจน ค่าแรงและสวัสดิการในการทำงานต่ำ
ไม่มั่นคงในการทำงาน การไม่มีที่ดินทำกิน ปัญหาการถูกแย่งชิงฐานทรัพยากรจาก นโยบายและโครงการต่างๆของรัฐ
การถูกลิดรอนสิทธิชุมชน การไม่มีส่วนร่วมในการจัดการ และการตัดสินใจ
การรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าต่างๆ การเข้าไม่ถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
และความไม่ปลอดภัยจากความรุนแรงในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้
ขณะเดียวกันผู้หญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาค่านิยม
ความเชื่อดั้งเดิม อคติทางเพศ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ
การค้ามนุษย์ และ การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม การปิดกั้นโอกาสที่เท่าเทียมบนหลักการ ความเสมอภาคระหว่างเพศ
ทั้งยังขาดมาตรการที่ปฏิบัติได้จริงในการส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับในทางการเมือง
การบริหาร และ การกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาประเทศทุกมิติทุกระดับ
ทั้งที่ประเทศไทยมีข้อผูกพันในฐานะเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
ดังนั้น ประเทศไทยต้องยึดหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศในทุกมิติิ
ดังนี้
๑.
ต้องยึดหลัก “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค การไม่เลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรม
ความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายและทุกเพศสภาพ ”
๒.รัฐต้องกำหนดมาตรการพิเศษเพื่อขจัดอุปสรรคหรือเพื่อส่งเสริมให้เกิดกลไกกระบวนการที่ทำให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศได้อย่างแท้จริง
ยั่งยืน
๓.
ยึดหลักพันธกรณีและกติการะหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ
(CEDAW)
ปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี
และหลักการยอกยาการ์ตา
ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ
๔. เนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ต้องไม่ด้อยกว่ารัฐธรรมนูญฯ ปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐
ในหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งหมด และต้องคงไว้ซึ่งองค์กรอิสระ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยไม่ควบรวมกับองค์กรใดๆ
เพื่อเป็นหลักประกันการคุ้มครองสิทธิ ความเสมอภาค
รวมทั้งทุกมาตราที่บัญญัติรับรองสิทธิผู้หญิงและทุกเพศสภาพไว้เป็นการเฉพาะ
๕.กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งหญิงและชายในทุกกลุ่ม ทุกขั้นตอน
อย่างกว้างขวาง เปิดโอกาสให้สะท้อนความเสมอภาค อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
๖.ในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับ
ทุกมิติ โดยรวมถึงโครงสร้างในการพิจารณากฎหมาย
โครงสร้างทางการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น องค์กรอิสระ และคณะกรรมการใดๆของรัฐ
ต้องมีสัดส่วนหญิงชาย ๕๐ : ๕๐
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย
(WeMove) และกลุ่มองค์กรผู้หญิงทั่วประเทศ
เชื่อมั่นว่าทิศทางและกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยที่ชอบธรรมและสามารถสร้างความปรองดองได้นั้น
ต้องให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน หลักธรรมาภิบาล
การบริหารจัดการที่เน้นการกระจายอำนาจ หลักความเสมอภาคระหว่างเพศ และการส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน
และต้องกำหนดให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศ การร่างรัฐธรรมนูญ
การออกกฎหมาย ในสัดส่วนที่สะท้อนฐานจำนวนประชากรหญิงที่เป็นจริง เท่านั้น จึงจะเป็นหลักประกันให้ทั้งหญิงชาย
และทุกเพศสภาพ รวมทั้งกลุ่มเปราะบางที่หลากหลายได้เข้าร่วมคิด ร่วมกำหนดทิศทางและตัดสินใจในการปฏิรูปประเทศ
เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศที่สมดุล ยั่งยืน และเกิดประโยชน์สุขต่อประชาชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคโดยแท้จริง
ในวาระ ๑๐๔ ปี วันสตรีสากล ๘ มีนา
ที่ทั่วโลกต่างเฉลิมฉลองและต่อสู้ผลักดันให้เกิดความเสมอภาคระหว่างเพศ
ที่ต้องควบคู่กับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน
และประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ขบวนผู้หญิงจึงขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะต่อสู้ฝ่าฟันให้เกิดผลเป็นจริงอย่างไม่หยุดยั้ง อย่างเข้มแข็ง และสามัคคีหญิงชาย
ทุกเพศสภาพ
ทุกเครือข่ายประชาชนที่กำลังต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมอยู่
ณ ขณะนี้
วัน ๘ มีนา เป็นวันแห่งพลังสามัคคีในการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคระหว่างเพศให้ปรากฏเป็นจริง...
...สัดส่วนหญิงชายในรัฐธรรมนูญ
ต้อง ๕๐: ๕๐
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย
(WeMove)
กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
เครือข่ายสตรีภาคเหนือ
เครือข่ายสตรีชนเผ่า
เครือข่ายองค์กรสตรี ๑๔ จังหวัดภาคใต้
เครือข่ายสตรีสามจังหวัดชายแดนใต้
เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
เครือข่ายผู้หลากหลายทางเพศ
เครือข่ายสตรีพิการ
๘ มีนา ๒๕๕๘
ขอบคุณภาพจากผู้หญิงภาคประชาสังคม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น