วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของแม่...วีรสตรีของลูก...การต่อสู้ของผู้หญิงชาวบ้าน


                                                                   เรื่องของแม่...วีรสตรีของลูก


                  ชีวิตของแม่ที่เปี่ยมด้วยความรักและเสียสละเพื่อลูก  ท่ามกลางการเผชิญกับความเจ็บปวดของชีวิตคู่    เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่ง   ซึ่งเป็นคนเล็กๆในซอกหลืบของสังคมที่ไม่มีใครสนใจรับรู้และเกี่ยวข้องด้วย   แต่ก็เป็นการต่อสู้ที่ทรหดอดทน  ไม่มีวันยอมแพ้   และสามารถสร้างผลยิ่งใหญ่ต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของฉันและพี่สาวพี่ชาย   โดยไม่ต้องรอการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างของสังคม       แต่ก็ช่วยพัฒนาจิตสำนึกให้เรียนรู้คำว่า    ‘เรื่องส่วนตัวคือเรื่องการเมือง’  ในเวลาต่อมาได้ง่ายขึ้น ....

                ฉันเพิ่งมารู้ตอนหลังกลับจากเขตป่าเขานี้เอง   ว่าความทุกข์ใจทั้งหลายในครอบครัวที่แม่ต้องเผชิญจนก่อนที่จะหย่านั้น    แม่ไม่เคยปริปากเล่าให้ก๋งกับยายฟังเลย   เพราะไม่อยากให้ก๋งกับยายเป็นห่วงและไม่สบายใจ   ยายมารู้ก็ต่อเมื่อแม่หย่าแล้วนั่นเอง
                 ที่เสียดายมากที่สุด    คือการที่แม่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือทั้งที่ก๋งมีฐานะพอส่งเสียได้      เพียงเพราะแม่เป็นลูกผู้หญิง    ฉันเชื่อว่าแม่จะเรียนได้เก่งทีเดียว   เพราะแม่ชอบอ่านหนังสือมาก     ตอนพวกเราอยู่โคราช   จำได้ว่าสามคนพี่น้องจะไปขลุกอยู่ในห้องสมุดประชาชนที่อยู่ใกล้บ้าน   นั่งอ่านหนังสือกันเป็นบ้าเป็นหลัง   รวมทั้งขอยืมกลับมาให้แม่อ่านด้วย    ....
                 

โคราชมีห้องสมุด  มีสวนสาธารณะและอนุสาวรีย์ย่าโม  กับกำแพงเมืองที่เป็นแหล่งวิ่งเล่นและเรียนรู้ของเราอย่างสนุกสนาน   แต่ในขณะเดียวกัน  โคราชมีสนามม้าทุกเสาร์-อาทิตย์    พ่อซึ่งชอบเล่นการพนันอยู่แล้ว   กลายเป็นทาสม้าแข่ง   เงินเดือนไม่เคยเหลือมาให้แม่เลย  กระทั่งยามหน้ามืดต้องการเงิน    ยังมาบีบคั้นเอาจากแม่    ซึ่งเก็บออมเงินจากการขายผักและการเย็บเสื้อโหลไว้     ในช่วงนั้นแม่ทนดูความขาดแคลนไม่ไหว  โดยเฉพาะเพื่อให้ลูกสามคนมีเงินไปโรงเรียน    แม่เคยเย็บผ้าเป็นบ้าง   จึงพยายามไปซื้อจักรเก่าๆมาหนึ่งตัวรับจ้างเย็บเสื้อโหล   ซึ่งราคาถูกมาก  ตัวละไม่ถึงบาท   แม่เย็บทั้งวันจนดึกได้สิบกว่าบาทก็มี   บางครั้งแม่ไม่มีให้   พ่อก็เอาหัวจักรของแม่ไปจำนำ   และแม่ก็ต้องกัดฟันไปหาเงินไถ่ออกมาอีก
ในยามว่างพี่สาวของฉันคอยช่วยแม่กรีดชิ้นส่วนผ้าให้พร้อมจะเย็บเป็นตัว เพื่อให้แม่เย็บได้เร็วขึ้น  พี่ชายมีหน้าที่ทำกับข้าว   ฉันในฐานะลูกคนเล็กก็ช่วยถูบ้านล้างชามเท่านั้น   โรงเรียนเราอยู่หน้าบ้านจึงทำให้สะดวกขึ้น    พี่ชายพี่สาวได้ที่หนึ่งตลอด    ฉันก็ได้บ้างบางครั้ง   แม่พยายามให้เราได้ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ   จำได้ว่าเรายังได้ใส่ชุดสวยๆรำหงส์เหิน   รำไทยใหญ่ในงานโรงเรียน
สภาพการณ์หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ    พ่อติดทั้งม้าแข่ง  การพนันอื่นและเหล้า พ่อหาเรื่องระรานแม่บ่อยครั้งขึ้น   การเงินยิ่งยอบแยบลงทุกขณะ  พ่อเป็นหนี้เป็นสินหนัก  แม้แต่เราทั้งสามคนก็ไม่มีค่าเทอม    เพราะพ่อไปขอเบิกราชการล่วงหน้ามาหมดแล้ว   พอจะหมดเวลาที่โรงเรียนผ่อนผันแต่ละครั้ง    คุณครูซึ่งเอ็นดูพวกเราทั้งสามก็จะคอยเตือน       แม่ไม่มีทางออกอื่นใดนอกจากพาเราทั้งสามบากหน้าไปขอความช่วยเหลือจากป้าลุง    ญาติทางพ่อที่จ.นครนายกที่พอมีฐานะและรักพ่อในฐานะน้องชายคนเล็ก     แม้ว่าเราจะพอหาเงินมาจ่ายค่าเทอมได้ทุกครั้งเมื่อจำเป็น    แต่เราทุกคนก็เศร้าและหดหู่ใจมาก   กว่าจะได้เงินมาแต่ละครั้งมันเจ็บปวดเหลือเกิน       แต่แม่จะคอยให้กำลังใจให้อดทน     เพื่อจะเรียนไปให้สูงสุดเท่าที่จะทำได้  ...
แม่ร้องไห้บ่อยครั้ง   ทำงานหนักยิ่งขึ้น   พ่อก็ติดการพนันและเหล้าหนัก     กระทั่งไม่อายใคร    อาละวาดด่าทอแม่และพวกเรามากยิ่งขึ้นเช่นกัน  จนบางครั้งแม่ทนไม่ไหว   หนีไปอยู่กับเพื่อนสนิทที่นครนายก     พ่อก็จะไปตามกลับมาอีก     แม่ห่วงพวกเราจึงกลับมาทุกครั้ง  

..พวกเราเริ่มถามแม่ว่า  ทำไมไม่พาพวกเราหนีไปจากพ่อ? แม่จะทนสภาพเช่นนี้ไปทำไม? แม่จะร้องไห้  บอกให้พวกเราอดทน   แม่บอกว่าแม่ไม่สามารถส่งเสียพวกเราเรียนหนังสือได้ถ้าไปอยู่ตามลำพังแม่ต้องการให้เราเรียนหนังสือสูงที่สุดที่จะทำได้ก่อน       เรากับพ่อห่างเหินกันยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
      ช่วงเวลาเหล่านี้เองที่ฉันได้เรียนรู้ชีวิตของผู้หญิงเมียเช่า ตามสวนสาธารณะ     อันเป็นผลจากการมีฐานทัพอเมริกัน  ทหารอเมริกันในโคราช   เรื่องราวผู้หญิงปากแดงทำงานบาร์ใกล้บ้าน      ชีวิตเมียน้อย   ควบคู่กับชีวิตรันทดของแม่และพวกเราเอง       เราก็ยิ่งดื่มด่ำกับการอ่านหนังสือมากขึ้น    ทำให้ฉันซึมซับเรื่องราวปัญหาสังคมและการลุกขึ้นสู้ได้อย่างง่ายดาย     ทั้งเรื่องของผู้หญิงและการคัดค้านรัฐบาลเผด็จการกับจักรพรรดินิยมในเวลาต่อมา    โดยเฉพาะเมื่อได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ...

             แม่เขียนบันทึกช่วงเวลานี้ไว้ว่า...
   ตั้งแต่แม่เริ่มทำงานที่รังสิต   พ่อของลูกไม่เคยช่วยเหลือครอบครัวเลยแม้แต่บาทเดียว         มาอยู่ปทุมธานีได้สองปี   พ่อของลูกก็ลาออกจากราชการ  ไปทำงานรัฐวิสาหกิจ  โดยรับเงินบำเหน็จแล้วไปซื้อบ้านหลังเล็กๆในสวนอยู่ที่หน้าวัดเขมาภิรตาราม   แม่ก็ไปทำงานที่จ.นนทบุรี  ส่วนพ่อของลูกไปทำงานอยู่ไม่ถึงสองปีก็ไม่ยอมไป  หนีไปเฉยๆ หาว่างานหนักมากไม่เหมือนราชการ   ตอนนี้ก็เอาแต่เที่ยวแล้วก็เล่นการพนัน    เสร็จแล้วก็มาระรานทางบ้านจนถึงขั้นแตกหัก   แล้วเราก็ไปหย่ากัน   
   ก่อนไปหย่าก็ตกลงกันว่าแม่รับผิดชอบลูกทั้งสามแต่เพียงผู้เดียว       แต่แม่ขออยู่บ้านนั้นก่อนจนกว่าลูกจะสอบไล่ปลายปีเสร็จ ... 

   แม่เขียนถึงการหย่าอย่างแสนจะเป็นเรื่องที่ง่ายดายและธรรมดาเสียนี่กระไร      เมื่อฉันทบทวนย้อนหลังในชีวิตของพวกเรา       ฉันได้เรียนรู้ปัญหาที่ใหญ่ยิ่งและยืดเยื้อยาวนานสำหรับการตัดสินใจของผู้หญิงคนหนึ่ง   กว่าแม่จะฝ่าด่านนี้มาได้      ทำให้ฉันเข้าใจปัญหาการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของผู้หญิงในเรื่องความรักและครอบครัวอย่างลึกซึ้ง...

เมื่อแม่มีรายได้มากขึ้นตอนมาเย็บผ้าที่รังสิต    ความมั่นใจที่จะเลี้ยงดูลูกสามคนด้วยตนเองตามลำพังชัดเจนขึ้น   เพราะความเป็นจริงแม่ก็เป็นคนหาเงินเลี้ยงเองอยู่แล้ว   แถมยังต้องให้พ่ออีกด้วย   การที่ผู้หญิงจะต้องพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจให้ได้    เป็นปมเงื่อนสำคัญให้ผู้หญิงมีอิสระในการตัดสินใจและมีทางเลือกในชีวิตของตนเอง     จึงซาบซึ้งแก่ฉันอย่างมากจากชีวิตของแม่       และทำให้ฉันอ่านทฤษฎีของมาร์กซิสต์ที่พูดถึงผู้หญิงในเรื่องนี้อย่างเข้าใจและชื่นชม

เราสามคนพูดคุยกับแม่เรื่องการหย่าหลายครั้ง     แต่มาติดอยู่สองปัญหาที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเรา    และไม่รู้จะไปปรึกษาใคร...

ข้อแรก   พ่อเคยพูดแล้วว่าจะไม่ยอมหย่า    แม่ถามคนพอมีความรู้มาว่าถ้าเป็นเช่นนี้ต้องไปฟ้องหย่า     แต่จะทำอย่างไรที่จะหาค่าทนายและเรื่องกฎหมายที่เราไม่มีความรู้พอ    
ข้อที่สองน่ากลัวกว่าข้อแรกอีก ...แม่รู้มาว่า   ถ้าหย่ากัน  เนื่องจากพ่อมีความรู้   มีบ้าน   เคยเป็นข้าราชการมาก่อน และในฐานะ.  พ่อ      พ่อจะมีสิทธิเลือกเอาลูกไปเลี้ยงมากกว่าแม่ที่เป็นคนเลี้ยงดูตอนนี้เสียอีก       ซึ่งพอพูดถึงเรื่องนี้พวกเราก็หัวหด   เปลี่ยนใจที่จะสนับสนุนให้แม่ขอหย่ากันหมด   เพราะไม่มีใครอยากไปอยู่กับพ่อสักคน
ดังนั้น  ชีวิตครอบครัวจึงลุ่มๆดอนๆเช่นนี้ต่อมาจนถึงปี 2513...

อีกสองเดือนพี่ชายจะจบปี 3 เทคนิคซึ่งสามารถเรียนต่อได้อีกจนจบชั้นสูง    ส่วนฉันกับพี่สาวกำลังจะจบชั้นม.ศ. 5 เตรียมเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งการเรียนของเราทั้งสองก็พอมีสิทธิลุ้นแข่งขัน

แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่พลิกผันชีวิตเรา   ซึ่งในสายตาของบางกลุ่มอาจถือเป็นความล้มเหลวและเป็นปัญหาครอบครัว    แต่สำหรับพวกเรา ... ถือเป็นชัยชนะ     เป็นการปลดปล่อยที่ยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตของแม่และเราเองทั้งสามคน
 การมีพ่อแม่ลูกเพื่อภาพว่าครอบครัวอบอุ่นนั้นไม่ใช่คำตอบที่ตายตัว   ถ้าเด็กและผู้หญิงต้องทนอยู่กับครอบครัวที่เต็มไปด้วยความทุกข์   เราคงจะต้องเป็นเด็กมีปัญหามากกว่า    ขอเพียงแต่สังคมเข้าใจและช่วยหาทางออก    ทั้งกฎหมายและวิถีชีวิตที่จะพึ่งตนเองได้ดีและมั่นคงต่อไป     ผู้หญิงและเด็กก็จะฝ่าฟันชะตากรรมเหล่านั้นไปได้อย่างมีพลัง     โดยไม่ถูกคิดอย่างเหมารวมว่า    ครอบครัวแตกแยกทำให้เด็กมีปัญหา!     
  
คืนนั้น  พ่อกลับเข้าบ้านด้วยอารมณ์โมโหสุดขีด    เพราะเสียการพนันหมดตัว    แม่กำลังนั่งม้วนผมอยู่หน้าโต๊ะเครื่องแป้ง   เราสามคนนั่งทำการบ้านอยู่บริเวณนั้น  พ่อมาถึงก็ผลักเก้าอี้ที่แม่นั่งล้มลงอย่างแรงท่ามกลางความตื่นตระหนกของพวกเรา     ปากก็ร้องด่าว่าที่แม่ทักห้ามพ่อไปเล่นการพนันเมื่อเช้า ... ทำให้ซวย!...    พร้อมกับตามเข้าไปเหมือนจะทำร้ายแม่ที่กำลังพยายามลุกขึ้น
พี่ชายฉันพุ่งเข้าจับตัวพ่อแล้วดึงออกมาจากแม่     เมื่อพ่อเอะอะดิ้นรนและด่าว่าเป็นลูกอกตัญญู   พี่ชายจึงดึงแกมลากพ่อไปอีกห้องหนึ่งแล้วปิดประตูไม่ให้ออกมา      ปล่อยให้พ่อด่าทอโวยวายอยู่ในห้องทั้งคืน  ขณะที่พวกเรานั่งร้องไห้กับแม่เกือบทั้งคืนเช่นกัน
                 แล้วสิ่งที่พวกเราไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น    ด้วยความโกรธอย่างมาก  ในตอนเช้าเมื่อพี่ชายเปิดประตูให้พ่อออกมา   พ่อก็ประกาศ ไปหย่ากันที่อำเภอเดี๋ยวนี้กูไม่เอาลูกสักคน...     ความฝันของพวกเราก็เป็นจริง    พ่อหย่าให้โดยดีและไม่เอาลูกสักคนจริงๆ       พวกเราสุดแสนจะยินดีปรีดาเป็นที่สุด     แม้ว่าพ่อกลับจากอำเภอมาจะผิดสัญญากับแม่    ที่จะให้พวกเราอยู่จนสอบไล่เสร็จก่อน  โดยไล่พวกเราทุกคนออกจากบ้าน   จำได้ว่าพวกเราก็ไม่เสียใจ  ไม่ตกใจ       พร้อมจะเผชิญกับชะตากรรมเอาดาบหน้า  เก็บข้าวของที่จำเป็นโดยเฉพาะหนังสือเรียนและชุดนักเรียน      แล้วแม่ก็พาพวกเราไปที่บ้านน้าติ่มน้องชายของแม่แถวพรานนก  เพื่อฝากฝังให้อยู่จนสอบไล่เสร็จก่อน   และแม่ก็ไปหางานทำใหม่แถวสามแยกไฟฉายด้วย


เรื่องนี้พ่อไปบ่นว่าพวกเราให้ญาติพี่น้องฟัง    โดยเฉพาะพี่ชายว่าเป็นคนอกตัญญู     กล่าวหาว่าแม่มีชู้    แต่เราไม่สะดุ้งสะเทือนอะไร      ฉันรู้ดีว่าพี่ชายต้องเจ็บปวดเพียงใดกับการที่ต้องทำเช่นนี้   พี่ชายเคยตั้งท่าจะเข้าไปช่วยแม่หลายครั้งแล้ว   แต่ความที่เกรงว่าเป็นพ่อ   จึงไม่กล้าขัดขวางพ่อ   ต้องขอบคุณพี่ชายที่ตัดสินใจปกป้องแม่  และทำให้เราแก้ปัญหาเรื้อรังในชีวิตได้       ญาติพี่น้องทางพ่อเข้าใจเรื่องราวกันดี    ทำให้พวกเรากับญาติทางพ่อยังคงมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน



เมื่อฉันเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว    พ่อเคยมาตามขอคืนดีกับแม่   พวกเราบอกว่าแล้วแต่แม่    แต่แม่ยืนยันด้วยท่าทีสงบนิ่ง   ขอให้เลิกจากกันไปด้วยดี    และทุกวันนี้แม่ก็มีความสุขกับชีวิตที่ตัดสินใจเช่นนี้อย่างไม่เคยเสียใจกับอดีตอีก ต่อมาพ่อมีภรรยาใหม่  และได้บวชนับสิบปีแล้ว   (หลวงพ่อมรณภาพไปเมื่อหลายปีก่อน...พวกเราและแม่ไปเป็นเจ้าภาพจัดงานศพร่วมกับญาติพี่น้องและภรรยาใหม่ของพ่ออย่างแข็งขัน)  
พี่ชายฉันเป็นคนที่ไปเยี่ยมเยียนดูแลมากที่สุดในบรรดาพวกเรา

           แม้จะฝ่าด่านการหย่า  การมีสิทธิดูแลลูกได้แล้ว เรายังได้เรียนรู้ความอยุติธรรมต่อผู้หญิงที่ลึกซึ้งอีกขั้นหนึ่งในกฎหมายการใช้นามสกุล      นั่นคือ แม่มีสิทธิกลับไปใช้นามสกุลแสงจันทร์ของแม่ได้ทันทีหลังหย่า   แต่พวกเราซึ่งเป็นลูกที่อยู่กับแม่  แม่เลี้ยงดูตามลำพัง และแถมมีบันทึกข้อตกลงบนอำเภอว่าเป็นผู้เลี้ยงดูลูก  แต่ลูกๆไม่สามารถขอใช้นามสกุลแสงจันทร์ของแม่ได้เลย   ต้องใช้ นามสกุลของพ่อเท่านั้น     นอกจากเมื่ออายุ 20  ปีจึงจะมีสิทธิขอตั้งนามสกุลใหม่    หรือเปลี่ยนเมื่อไปจดทะเบียนสมรสกับผู้ชายคนอื่น

ทุกคนรู้สึกไม่ชอบใจกฎหมายนามสกุลที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงและเด็ก    เรารู้สึกอยากต่อต้านเมื่อไม่สามารถต่อสู้เอาชนะทางกฎหมายขณะนั้นได้   เราก็พากันเลิกใช้นามสกุลเดิม  โดยพี่ชายอายุครบ  20 ปี  ก็ไปยื่นขอตั้งนามสกุลใหม่  เป็น เกียรติจรัส    และเปลี่ยนชื่อจาก สันต์ เป็น พิจักษณ์’   ส่วนฉันกับพี่สาวเมื่อแต่งงานก็เปลี่ยนนามสกุลไปตามสามีทั้งสองคน     และฉันก็เปลี่ยนชื่อจาก นิภาพรรณเป็น สุนีอีกด้วยตอนจดทะเบียนสมรส

การร่วมเผชิญปัญหาและเข้าร่วมกับการต่อสู้ของแม่  เสมือนหนึ่งเป็นชีวิตของฉันนั่นเอง   ทำให้เราตระหนักถึงปัญหาที่ลึกซึ้งของความรุนแรงในครอบครัว   ที่กระทำต่อจิตใจของผู้หญิงหนักหน่วง    และต้องการความช่วยเหลือจริงๆจากสังคมและหน่วยงานของรัฐ   เพื่อมีทางออกในชีวิตแทนการอดทนอย่างเจ็บปวดอย่างเดียว      และมันส่งผลต่อลูกมากเหลือเกิน   ฉันนึกภาพตัวเองและพี่ไม่ออกเลยว่า   ถ้าเรายังอยู่ในสภาพเดิมต่อไป   ชีวิตฉันกับพี่ๆอาจตกต่ำกว่านี้มาก

ฉันได้เรียนรู้ปัญหาจากกฎหมายตั้งแต่ช่วงนั้นอย่างซาบซึ้ง   ทำให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องแก้ไขกฎหมายที่ไม่เสมอภาคต่อผู้หญิง   ประเด็นสำคัญคือ  การที่ผู้หญิงต้องได้มีโอกาสเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเอง  เพื่อสามารถพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจให้ได้   จึงจะเป็นเงื่อนไขที่กำหนดชะตาชีวิตตนเองได้



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น