สังคมไทยควรได้รับบทเรียนจากอดีต   ตั้งคำถามว่าทำไมต้องใช้ความรุนแรง   ใช้อาวุธ   แล้วทำไมนักเรียนนักศึกษา กรรมกร ชาวนา  ต้องเข้าป่า  แล้วอยู่ได้นานพอสมควร  มันต้องมีเหตุผล  ที่สำคัญมันเป็นบทเรียนแก่สังคมไทยว่า    ต้องยอมรับความแตกต่างทางความคิด    ต้องเปิดโอกาสให้คนหลากหลายได้พูด      การตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์มันง่ายไป

                เรื่องราวของสหายที่เสียสละประทับอยู่ในความทรงจำของสหาย  นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม  และมวลชนปฏิวัติทุกคน  

              การเสียสละที่ใหญ่หลวงที่สุดคือการเสียสละชีวิต...แม้เราแต่ละคนจะผ่านเรื่องร้ายแรงมากมาย   แต่เรายัง 
             มีชีวิตอยู่...   ขณะที่เส้นทางประชาธิปไตยที่คลี่คลายในสังคม   เป็นผลจากการเสียสละของวีรชนจำนวน 
               มหาศาลทั่วประเทศ    รวมทั้งสหายของเรา  
              ความรักความอาลัย  ความมุ่งมั่นที่จะสืบทอดเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้ของสหาย   แสดงถึงอารมณ์รักทางชนชั้นต่อสหายและอุดมการณ์เพื่อคนจนตลอดไป...

              ตัวอย่างเช่น ใน’ตำนานนักปฏิวัติภูซาง’   มีการเขียนรำลึกการเสียสละของสหายหลายคน  อาทิ:



                                                        พริ้มเพรา...เธอยังไม่ตายจากเรา  
               เช้าวันหนึ่งหลังจากฉลองวันสตรีสากล   8 มีนาคม 2522     ทุกคนภายในทับหมอได้มายืนตั้งแถวเพื่อส่งสหายแยกย้ายกันไปปฏิบัติหน้าที่    พริ้มเพราหรือส.งานได้ลงหน่วยงานเข ต   99   ...ไม่กี่วันต่อมา  เราก็ได้ข่าวว่าขบวนของสหายที่จะกลับไปเขตงาน 99  ที่อยู่เกือบติดริมโขงถูกซุ่มตี      ระหว่างเดินทางจากหุบห้วยขึ้นเนินไปยังสันภู...  ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า  พริ้มเพราถูกกระสุนบาดเจ็บที่ท้อง   สหายที่เหลือพยายามช่วยเธอ  แต่เธอก็ได้ผลักดันให้รีบถอยออกไปเสียก่อน   เพื่อจะได้ไม่ต้องสูญเสียมากกว่านี้...    จากการตรวจสนามรบก็พบแต่ร่างไร้วิญญาณของเธอซ่อนตัวอยู่แต่ในพุ่มไม้      มีร่องรอยของการปฐมพยาบาลตัวเองอย่างสุดความสามารถ และพยายามหักกิ่งไม้มาพรางตัวจากฝ่ายตรงกันข้าม   ศัตรูไม่ได้ศพเธอไป  แต่เราก็ได้เพียงเถ้ากระดูกของเธอกลับมา  ท่ามกลางความเศร้าอาลัยอย่างสุดซึ้งของเพื่อนๆและสหาย.  จากเพื่อนพยาบาลรามาฯ( กลุ่มภูซาง:80-81)

                                                                           แด่..สหายแก้ว ผู้เสียสละ  
          “แหม่ม” (ส.แก้ว) นักเรียนร.ร.เตรียมอุดม      ก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัยมหิดลในสถานะ นศ. แพทย์รามาธิบดี    แหม่มสมัครเข้าทำกิจกรรมในชมรมพุทธ...    หลัง 6 ตุลา แหม่มบอก “เราจะเข้าป่าด้วย”   และเล่าให้ฟังถึงความพร้อมของตนเองเพื่อรับกับสภาพความยากลำบากในป่า      ตั้งแต่นอนบนพื้นกระดานแข็ง  กินแต่น้ำเปล่า     (ตอนนั้น  แหม่มอยู่ในคฤหาสน์หลังใหญ่)    แหม่มยอมสละจุดยืนทางชนชั้นนายทุนชาติ  และสถานะทางสังคมของนักศึกษาแพทย์   ทราบข่าวในภายหลังว่า  แก้วเป็นตับอักเสบจากเชื้อไวรัส(เอ)   ซึ่งโดยทั่วไปถือว่ารุนแรงน้อยกว่าไวรัสบี     โรคนี้รุนแรงถึงขั้นตายได้    แต่ก็สามารถหายได้   หากมีการพักผ่อนเพียงพอและควบคุมอาหารที่ดี    อย่างไรก็ตาม   ได้รับรู้ในเวลาต่อมาว่าแก้วไม่ยอมพักผ่อนเลย      แถมยังใช้แรงงานอย่างหนักด้วย    ร่างกายที่บอบบางอยู่แล้ว   กลับอ่อนแอหนักไปอีก...โดย ‘ สหายอาทิตย์   ‘(กลุ่มภูซาง: 77-78 )



                                                                   การยืนหยัดต่อสู้  และดัดแปลงตนเอง 
             ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก   สหายหญิงชายทุกคนทั้งในเมืองและชนบท    ต่างอดทนและพยายามฟันฝ่า   ฉันยอมรับว่า   สหายทั้งหญิงชายมีความรักทางชนชั้นต่อสหายในเมืองอย่างมาก   พวกเขาพยายามเข้าใจ   ให้เวลาปรับตัว   และไม่เรียกร้องให้ทำงานหนักเท่ากันแบบเฉลี่ยสัมบูรณ์       
              สหายหญิงในเมืองจะมีการบันทึกอารมณ์ความรู้สึกช่วงอยู่ป่าไว้มากเช่น  บันทึกของ ส.เข็ม  ผู้นำนักศึกษาครู :        
       
            “เราไปงานติดฝนหนักกลับทับไม่ทันก่อนเช้า....พ่อสมหมายหันมากระซิบ  ส.เข็ม ระวังเสียงและร่องรอยนะ  
             เราต้องคลานแล้ว  ข้าวโพดไร่ข้างหน้าสูงแค่เข่า  มีมวลชนมา  
                หยอดข้าวโพดอยู่ใกล้ๆนี้  ถ้าเสียลับจะอันตรายมาก  เราอยู่ห่างจากชายป่าไกลเกินไป... 
                             ฉันยังจำความรู้สึกในวันนั้นได้ดี   คิดถึงบ้าน คิดถึงคนที่ฉันรักและรักฉันขึ้นมาอย่างจับใจ   
               พวกเขาจะห่วงหาอาทรสักเพียงใด   ถ้ารู้ว่าฉันต้องมาตกอยู่ในสภาพเช่นนี้...   เนื้อตัวถูกใบข้าวโพดบาดจนแสบไปหมด                       แถมยังถูกตอไม้ขนาดเท่าตะเกียบตำเข้าที่กลางเท้าขวา   ปวดขัดเสียจนตัวสั่น 
                                ฉันกัดฟันคลานตามพ่อสมหมายข้ามเนินไร่ข้าวโพดอยู่ราวสองชั่วโมง    พยายามคิดถึงสิ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังใจได้                   และปลอบตัวเองว่า   เดี๋ยวก็ได้นอนเปลอุ่นสบาย แล้วคืนนี้ ... ถึงอย่างไรก็ยังดีกว่าวันที่ถูกเขาเอาปืนจี้     จิกหัวให้คลานลงมาจากโบสถ์วัดมหาธาตุ  ผ่านถนนที่กำลังซ่อมซึ่งเกลื่อนไปด้วยทรายร้อนๆ  และก้อนกรวดคมๆเมื่อวันที่ ตุลา 2519..(กลุ่มภูซาง ,:152-153)
                    สหายนักเรียนนักศึกษาที่ต้องใส่แว่นตาหนาๆ เป็นคนที่น่าเห็นใจที่สุด   เช่น   ส.ประดิษฐ์(เหน่ง)    ส.กุหลาบ (วิมล  หวังกิตติพร)    ส.ป้อม      ต่อมาเธอและสหายหลายคนพยายามฝึกถอดแว่นเมื่อขึ้นมาอยู่บนภู   และมองต้นไม้เขียวๆสดชื่นแทน    ว่ากันว่าจะช่วยให้สายตาดีขึ้น    เยาวชนเหล่านี้ตั้งแต่อยู่ในเมืองก็มีความเร่าร้อนที่จะดัดแปลงตนเอง    ในการใช้แรงงาน   เรียกร้องตนเองในการรับใช้ประชาชน  และเรียนรู้    มีความรู้สึกประทับใจในอุดมการณ์    และความใฝ่ฝันที่ได้เรียนรู้  

                     อาจมีบ้างที่ยามกระแสตกต่ำโดยเฉพาะตอนขบวนเคลื่อนกลับจากป่า   หลายคนอาจซึมเศร้า  หรือกระทั่งอยากลืมเลือนเรื่องราวเหล่านี้    แต่ฉันคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไม่ว่าใครก็ตาม   เมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเราราวขาวกับดำ  กลับไปกลับมาอย่างโหดร้าย  จากฮึกห้าวหลัง 14 ตุลา  มาถึงความเคียดแค้นเจ็บปวด   และเด็ดเดี่ยวที่จะเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมใหม่     แล้วต้องกลับมาสู่ความรู้สึกเจ็บปวดร้าวรานเหมือนผู้แพ้ในสงครามอีกครั้ง  เมื่อการปฏิวัติสับสน    พรรคคอมมิวนิสต์ประสบปัญหาวิกฤติศรัทธาอย่างหนัก     ในขณะที่ยังไม่สามารถก่อเกิดสังคมใหม่ที่ทุกคนวาดหวังได้เลย  ...   มันยากเหลือเกินที่จะฝ่าฟันความรู้สึกและความเศร้าสลดในใจได้

           พ่อใหญ่แม่ใหญ่หลายคนเข้ามาในฐานะครอบครัวปฏิวัติ  สละทรัพย์สินทั้งหมด  หอบลูกหอบหลานเข้าป่า  หลายคนเสียสละลูกสาวลูกชายในการปฏิวัติ   ในวันที่เราทะยอยส่งพวกเขากลับบ้านแต่ละคนด้วยความเจ็บปวดร่วมกัน     เป็นการจากกันด้วยความเศร้าสลด    ผู้เฒ่าหลายคนร้องไห้   เพราะไม่เคยคิดว่า  การทุ่มเทเข้าป่าไปทั้งครอบครัว ด้วยความเต็มใจและอดทนมายาวนาน      จะจบลงที่วันนี้ต้องเดินกลับบ้านไปรายงานตัวและไม่รู้ว่าชีวิตจะเผชิญกับอะไรอีกบ้าง    หลายคนไม่มีที่นาไม่มีบ้านแล้ว เพราะก่อนเข้ามาขายราคาถูกๆให้ญาติพี่น้อง  ตัดสินใจเด็ดเดี่ยวที่จะปฏิวัติ 

           ฉันได้ไปส่งพ่อใหญ่แสงทองออกจากป่ากลับบ้านเป็นคนแรก   ขณะนั้นสถานการณ์สับสนมาก     ฉันต้องเข้ากรุงเทพฯเป็นครั้งแรกเพื่อประสานกับฝ่ายนำบางคน   ฉันถือโอกาสนี้ไปส่งพ่อใหญ่แสงทองที่เข้าป่าทั้งครอบครัวและลูกชายคนหนึ่งเสียสละ พ่อใหญ่รักฉันเหมือนลูกสาว   ตอนนี้พ่อไม่ค่อยสบาย  อายุก็มากแล้ว  พ่อใหญ่มีลูกสาวคนหนึ่งที่กรุงเทพฯ  จึงควรเดินทางไปพร้อมฉันในครั้งนี้  สหายมาส่งเราที่ตีนภู  ให้นอนอยู่บ้านอ.ส.คนหนึ่ง   ตื่นเช้ามีรถพาเรามาส่งขึ้นรถทัวร์ที่อุดรเข้ากรุงเทพฯ   ฉันก็ตื่นเต้นเหมือนกัน    เพราะอยู่ป่ามานานหลายปีแล้ว  พ่อใหญ่ร้องไห้ตลอดทาง   ไม่อยากจากไป...      เมื่อสหายในเมืองจัดผ้าป่าจากกรุงเทพฯมาทอดร่วมกับสหายชนบทครั้งแรกที่รร.บ้านโนนทัน    และปีต่อมาที่รร.บ้านต่างแคน อ.สุวรรณคูหา  เชิงภูซาง  ที่พ่อใหญ่พาลูกสาวที่กรุงเทพฯกลับมาทำไร่อยู่ที่นี่อีก       พ่อใหญ่ไม่ค่อยสบายเช่นเคย      แต่เขียนจดหมายถึงฉันด้วยความดีใจที่สหายยังกลับมารวมกันและผูกพันต่อกัน          ฉันยังคงเก็บจดหมายพ่อไว้จนทุกวันนี้   เพื่อรำลึกถึงจิตใจปฏิวัติของพ่อใหญ่คนหนึ่ง    ที่วันนี้เสียสละไปแล้ว    และเราเก็บอัฐิของพ่อไว้ที่สถูปภูซางด้วย 

            ความผูกพันระหว่างกรรมกรชาวนา   นักเรียนนักศึกษาปัญญาชน     ยังคงสืบสานต่อเนื่องในขอบเขตทั่วประเทศ   ในบรรยากาศแห่งการทำบุญทุกปีตามเขตงานต่างๆและการร่วมมือกัน    จิตสำนึกที่ตระหนักถึงปัญหาการกดขี่ขูดรีดทางชนชั้นต่อคนจน   และการใช้อำนาจเผด็จการอย่างโหดร้าย    ยังเตือนย้ำให้มีจิตสำนึกที่จะต้องต่อสู้เพื่อพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยมั่นคงยิ่งขึ้น
           จิตใจ ๗ สิงหา จงเจริญ

พระรูปที่สองคือ พระสหายปรับ จากทับ ๒๒ เดิม มาร่วมงานทุกปีจากนครพนม
สหายหลายเขตงานขึ้นไปทักทายพี่หงา และถ่ายรูปร่วมกัน หลังเลิกดนตรี ๒๔ น.
พี่หงา หน้าสถูปภูซาง
สหายเขตภูซาง ไปร่วมงานสหายเขตงานอีสานใต้
ส.อำไพ ในเขตจรยุทธ์ภูซาง เมื่อปี ๒๕๒๑
สหายเขตภูซางไปร่วมฉลองวันพรรคกับสหายเขตงานอุ้มผาง(ตาก)
สหายเขตงานภูซางไปร่วมรำลึกที่อนุสรณ์สหายเขต ๑๙๖ ที่จ.ชัยภูมิ
บรรดาลุงๆผู้อาวุโส จัดตั้งของสหายปฏิวัติเขตงานอุ้มผาง ที่หน้าอนุสรณ์สถานเขตงานตาก วัดบ้านหม่องกั๊วะร่วมกับเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร องค์กรทำงานโครงการจอมป่าในพื้นที่อย่างจริงจังในการศึกษาเรียนรู้และประสานงานกับสหายและมวลชน และ ส.อำไพ จากเขตงานภูซางที่ไปร่วมจัดงานวันพรรคในปีนั้น
สถูปภูซางยามค่ำ
หนังสือ ตำนานนักปฏิวัติเขตงานภูซาง และเทปเพลงของวงภูซาง๖๐ ประกอบด้วยคาราวาน โคมฉาย คุรุชน พงษ์เทพ และนักร้องสหายชาวนา ชุดนี้เป็นต้นฉบับอัดในป่าภูซาง เป็นการหาทุนสร้างสถูปภซาง หนังสือพิมพ์ครั้งที่ ๒ เพลงก็อัดเป็นซีดี ครั้งที่ ๒
พิธัวางพวงมาลาจากสหายเขตงานต่างๆ ในภาพ ส.นพและส.ฝ้าย จากแนวหลัง
เยาวชนเดินแถวธงก่อนเริ่มพิธีรำลึก
สหายหลายเขตงานถ่ายรูปร่วมกันที่สถูปอีสานใต้