ด่วนที่สุด
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี
เรื่อง ขอให้ตรวจสอบสารอันตราย ขยะอันตราย ก่อนการสูบน้ำเพื่อกู้นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด
ข้าพเจ้าผู้มีรายนามท้ายนี้ มีข้อเสนอเร่งด่วนที่สุดเสนอ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ในเรื่องการฟื้นฟู
กู้นิคมอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้
1. ทุกฝ่ายเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการกู้นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดที่ถูกน้ำท่วม เพื่อให้แรงงานมีงานทำและสร้างความเชื่อมั่นต่อต่างประเทศ
2. เนื่องจากในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งมีโรงงานที่มีสารเคมีและขยะอันตราย ทั้งที่เก็บสำรองและอยู่ระหว่างการดำเนินการผลิตจำนวนมากขณะที่น้ำท่วมมาอย่างฉับพลัน รวมทั้งของเสียที่อยู่ในกระบวนการบำบัด ดังนั้นก่อนการสูบน้ำออกสู่ชุมชน รัฐบาลจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อมูลและมีกระบวนการตรวจสอบความเป็นอันตรายในทางวิชาการอย่างครบถ้วนชัดเจน รวมถึงมีการจัดการก่อนปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ทั้งนี้โดยอาศัยข้อมูลสารอันตรายที่ใช้อยู่ในแต่ละโรงงานของแต่ละนิคมประกอบในการประเมินความเสี่ยงและติดตามตรวจสอบ
3. ให้มีนักวิชาการและภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อประเมินข้อมูลและประเมินผลตรวจสอบในแต่ละนิคม เพื่อป้องกันผลเสียต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน
4. ในระหว่างรอการฟื้นฟูนิคมฯ ขอให้รัฐบาลรับผิดชอบดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม
5. ให้รัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจนในการดูแลชุมชนที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการเก็บกู้ของเสียอันตราย (ขยะอุตสาหกรรม) ที่หลุดรอดออกมาก่อนหน้านี้
6. สำหรับโรงงานที่อยู่ในและนอกนิคมอุตสาหกรรม และศูนย์บำบัดของเสียอันตราย ที่อาจถูกน้ำท่วม ขอให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีและของเสียอันตรายอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ
ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีธนชาติ นายกสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย
ดร.สุมล ประวิตรานนท์ ที่ปรึกษาสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย
น.ส.ขวัญยืน ศรีเปารยะ สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย
นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ดร.ถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มูลนิธิบูรณะนิเวศ
9 พฤศจิกายน 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น