สุนี ไชยรส
ผอ.ศูนย์ส่งเสริมความเสมอภาคและความเป็นธรรม วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต
ผู้ประสานงานร่วมขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย WeMove
ผู้ประสานงานร่วมขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย WeMove
ร่างรัฐธรรมนูญ กับมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ
ขบวนผู้หญิงในหลากชื่อ หลายองค์กร ขับเคลื่อนเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศในรัฐธรรมนูญ หลายฉบับมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีบทเรียนที่ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่ส่งผลต่อการรื้อ ปรับปรุง กฎหมายเก่า กฎ ระเบียบ กระทั่งนโยบายของรัฐ รวมทั้งการออกกฎหมายใหม่ที่เอื้อต่อสิทธิเสรีภาพ ของประชาชนและความเสมอภาคระหว่างเพศยิ่งขึ้น โดยมีความเชื่อมโยงควบคู่และส่งผลต่อกันระหว่าง ความเสมอภาคระหว่างเพศ ประชาธิปไตย กับสิทธิมนุษยชน
หลังจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๑๗ ได้ปรากฎข้อความสำคัญที่ปูพื้นฐานเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศในรัฐธรรมนูญไทยคือ “หญิงและชาย มีสิทธิเท่าเทียมกัน” และมีบทเฉพาะกาลให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ขัดต่อมาตรานี้ภายใน ๒ ปี ซึ่งส่งผลให้ผู้หญิง สามารถดำรงตำแหน่งที่ผู้หญิงเคยถูกปิดกั้น เช่น เป็นอัยการ และผู้พิพากษา รวมทั้งความเสมอภาคของหญิงมีสามีหลายประเด็น
การแก้ไขกฎหมายไม่ได้จบลงภายในสองปีตามที่กำหนด เมื่อมีการล้อมปราบในเหตุการณ์ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ ฉีกรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๑๗ ทำให้ประเด็นนี้หยุดชะงักลงไปช่วงหนึ่ง ต่อมามีประชาธิปไตยสลับกับ เผด็จการ แต่ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่บัญญัติว่า “หญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน”อีก จนมาถึงหลังเหตุการณ์ พฤษภา ปี ๒๕๓๕ ที่มีกระแสการปฏิรูปการเมืองอย่างเข้มแข็งจนเกิดรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ ที่ได้รับการกล่าว ขวัญ ว่าเป็นฉบับประชาชนในด้านสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค
รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ นำข้อความนี้กลับมาอีกในมาตรา ๓๐ และขยายความให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมกับ ห้ามการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่าง ๑๑ ประการ ที่มีคำว่า”เพศ สถานะของบุคคล” ..รวมอยู่ด้วย โดยมีวรรค ๔ เป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ : “มาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมให้บุคคลสามารถ ใช้สิทธิได้เสมอบุคคลอื่น ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ” และรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ได้เพิ่ม “ความพิการ”ในเหตุแห่ง ความแตกต่าง
ในสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทยในการก้าวผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และต้องการรัฐธรรมนูญอัน เป็นกฎหมายสูงสุด เป็นหลักประกันในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน องค์กรผู้หญิง จำนวนมากได้รวมตัวกันเป็นขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove) ขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรภาคประชา สังคมวิเคราะห์ และเกาะติดการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนายบวรศักดิ์ฯ และฉบับปัจจุบันของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ และรับฟังความคิดเห็นจัดทำข้อเสนอแนะในสิทมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งยืนยันว่า ต้องให้ดีกว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับ ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove) ได้จัดเวทีระดับชาติจากทั่วประเทศในวันที่ ๓๐ และ ๓๑ มกราคม ๕๙ ที่รัฐสภา หลังการแถลงร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมาจัดเวทีภาค เหนือและภาคอีสานในเดือนกุมภาพันธ์ โดยได้มีข้อเสนอเบื้องต้นต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสาธารณะ ในประเด็นหลักดังนี้
๑) ในบททั่วไป มาตรา ๔ :“ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน”นั้น เสนอให้ใช้ : “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” ตามรธน.ฯ๔๐ และ ๕๐ ซึ่งประชาชนและสถาบันต่างๆในสังคมไทยได้มีกระบวนการเรียนรู้ความหมายของการเคารพศักดิ์ศรีความ เป็นมนุษย์ จนมีพัฒนาการที่หยั่งรากลึกเป็นจิตวิญญาณ เป็นวัฒนธรรม และได้ดูแลบุคคลทุกกลุ่ม ที่อยู่ในประเทศไทยโดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทย
๒) การมีบทบัญญัติถึงความผูกพันของประเทศไทยต่อกติกาและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทย เป็นภาคี แต่ในร่างฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติดังกล่าว
๓) ต้องมีหลักประกันในการคุ้มครองการใช้สิทธิและเสรีภาพ รวมทั้งในการตรากฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ
ในมาตรา ๒๕ และมาตรา ๒๖ ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังมีความไม่ชัดเจน ควรนำมาตรา ๒๘ เดิมมาบัญญัติเพิ่มเติม
“มาตรา ๒๘ บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศิลธรรมอันดีของประชาชน
บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรอไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามหมวดนี้”
๓.๒) ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้นำเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคล และ ชุมชน ไปบัญญัติไว้ในหมวด ๕ “หน้าที่ของรัฐ” แต่ประชาชนต้องการให้บัญญัติเป็นสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้เกิดความคุ้มครองและมีผลผูกพันโดยตรง ต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐ ในการตรากฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง และเป็นหลักประกันให้ประชาชนสามารถ อ้างสิทธิต่างๆ นี้ให้เกิดการปฏิบัติตามสิทธิ
ดังนั้น จึงควรที่จะนำบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐ มาอยู่ใน หมวดสิทธิเสรีภาพ และปรับปรุงเนื้อหาให้ดีกว่าเดิม โดยอาจบัญญัติควบคู่เป็นหน้าที่ของรัฐ หรือแนวนโยบาย พื้นฐานแห่งรัฐด้วย
๓.๓) ในหมวด ๖ แนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา ๖๐ ที่บัญญัติว่า... “เป็นแนวทางให้รัฐดำเนินการ ตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องรัฐ” มีผลให้หมวดแนว นโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไม่มีนัยสำคัญใดๆที่ผูกพันรัฐ จึงขอเสนอให้ใช้ตามรัฐธรรมนูญเดิม :
“มาตรา ๘๕...ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องชี้แจง ต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่า จะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐาน แห่งรัฐ และต้องจัดทำรายงานแสดงผลการดำเนินการ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค เสนอต่อรัฐสภาปีละหนึ่งครั้ง”
๔) ประเด็นห่วงใยในมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ และความเสมอภาคด้านอื่น ซึ่งเป็นหลักการที่ปรากฏ อยู่ในรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ และได้ขาดหายไป เช่น ๔.๑)ความเสมอภาคและการไม่ถูกเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในมาตรา ๒๗ ซึ่งตัดทอนเหตุแห่งความแตกต่าง ๑๒ ประการในมาตรา ๓๐ เดิม ซึ่งเป็นมาตราหลักที่สำคัญเรื่องความเสมอภาคของคนหลากหลายกลุ่ม จึงควรที่จะ บัญญัติตามเดิม และควรเพิ่ม“การคุ้มครองสิทธิของบุคคลทุกเพศสภาพ” นอกจากนี้ มาตรการที่รัฐกำหนด ขึ้นเพื่อ ขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น จะมีความหมายกว้างไปถึง ทุกกลุ่มมากกว่าการกำหนดเฉพาะเจาะจง “...ให้แก่เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ...” จึงขอเสนอดังนี้:
“บุคคลย่อมเสมอกันตามกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน หญิง ชาย และบุคคลทุกเพศสภาพ มีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม”
๔.๘) หลักความเสมอภาคระหว่างเพศซึ่งเป็นการจัดสรรปันส่วนอำนาจเพื่อความเสมอภาค ต่อ เจ้าของอำนาจอธิปไตย ในฐานะที่ผู้หญิงมีจำนวนมากกว่าผู้ชายถึง ๒ ล้านคน ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) ได้เสนอให้มีสัดส่วนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกันในการตัดสินใจในทุกมิติทุกระดับมาอย่าง ต่อเนื่อง และให้บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งในการส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง การกำหนด ผู้บริหารในองค์กรปกครองท้องถิ่น การสรรหากรรมการองค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรต่างๆ คณะกรรมการระดับต่างๆของรัฐ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา ๘๗(เดิม)ในรัฐธรรมนูญ๒๕๕๐ ที่ให้มีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นการตัดสินใจทางการเมือง การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ฯลฯ โดยบัญญัติว่า “การมีส่วนร่วมของประชาชนตามมาตรานี้ต้องคำนึงถึงสัดส่วนของหญิงและชายที่ใกล้เคียงกัน”
นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณที่เป็นเครื่องมือสำคัญนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรและบริหารงานภาครัฐ อย่างเสมอภาคและเป็นธรรมในสังคม ต้องคำนึงถึงหลักความเสมอภาคระหว่างเพศ( Gender Budgeting )และความ เสมอภาคด้านอื่น อันเป็นหลักการสากลที่มีการดำเนินการในหลายประเทศ เพื่อสร้างความสมดุลและเป็นการป้องกัน ปัญหาความไม่เท่าเทียม
บทสรุป ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove) มุ่งหวังให้เกิดตระหนักร่วมกันในสังคมไทย ถึงความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคระหว่างเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับ และการขจัดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็น ธรรมในสังคม เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และทิศทางการปฏิรูปประเทศเพื่อประโยชน์สุข ของประชาชนต่อไป
นสพ.ไทยโพสต์ ๑๗ กุมภาพันธ์๒๕๕๙
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น