วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คปก.เสนอแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม แนะต้องปฏิรูปทั้งระบบ

คปก.เสนอแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม แนะต้องปฏิรูปทั้งระบบ
30 มกราคม 2558 – คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดยคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเรื่อง “กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานในระบบศาลคู่” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงานรวมทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างเข้าร่วมอภิปรายอาทิ ตุลากาศาลปกครองสูงสุด ประธานและกรรมการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เป็นต้น ทั้งนี้ คปก.โดยศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ยื่นข้อเสนอกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อนายกรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานนั้นคปก.เสนอให้มีการแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับที่มีการแยกศาลปกครองออกจากศาลยุติธรรมตามระบบศาลคู่ของประเทศไทย
ศาสตราจารย์ ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นำเสนอแนวคิดเรื่อง การแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรมที่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้ผู้พิพากษาศาลแรงงานมีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาคดีแรงงานที่มีลักษณะคดีแตกต่างจากคดีในศาลยุติธรรมทั่วไป อีกทั้งจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงานให้ผู้พิพากษาศาลแรงงานลงมาตรวจสอบค้นหาความจริงให้ได้มากที่สุด เนื่องจากคำพิพากษาคดีแรงงานมีความสำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยจะต้องวางแนวทางให้ศาลชั้นต้นมีลักษณะเป็นศาลพิจารณา (Trial Court) ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ข้อเท็จจริงยุติที่ศาลชั้นต้น
ด้าน นางสาวฉันทนา เจริญศักดิ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพรบ.เกี่ยวกับระบบการอุทธรณ์และฎีการวม 9 ฉบับ ซึ่งรวมถึง ร่างพรบ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พ.ศ….และร่างพรบ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่..) พ.ศ….(แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) โดยมีสาระสำคัญเป็นการจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณคดีแรงงานที่ค้างอยู่เป็นจำนวนมากในศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาคดีไว้เพื่อลดปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวยังเปิดช่องให้มีการฎีกาคดีแรงงานได้โดยการ “ขออนุญาต” ในกรณีที่เป็นคดีสำคัญ
การประชุมในครั้งนี้ ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ได้นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “การพัฒนากระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงานในระบบไต่สวน” โดยมีข้อเสนอว่าหากจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในศาลแรงงานปัจจุบันจะต้องมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงกระบวนวิธีพิจารณาคดีแรงงานที่จะต้องแตกต่างจากศาลยุติธรรม ซึ่งรวมถึงคุณสมบัติของผู้พิพากษาศาลแรงงานและจัดให้มีความเชี่ยวชาญในคดีแรงงานอย่างแท้จริง และอยู่กับศาลแรงงานได้โดยไม่ต้องโยกย้ายไปศาลอื่น
ศาสตราจารย์ ดร.ไพศิษฎ์ พิพัฒนกุล ประธานคณะกรรมการกฤษฎีการคณะที่ 9 กล่าวว่า มีส่วนในการยกร่างพรบ.จัดตั้งของศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 โดยคำนึงถึงประเด็นว่าทำอย่างให้ลูกจ้างได้รับความเป็นธรรมรวมถึงความรู้ความเชี่ยวชาญด้านแรงงานของผู้พิพากษา โดยพยายามเสนอให้แยกเป็นศาลแรงงานออกมาต่างหากแต่แพ้มติในสภา ทั้งนี้ คดีที่เกิดขึ้นในศาลแรงงานเกิดจากความไม่เป็นธรรมและปัญหาที่ไม่ลงรอยกันแต่ก็มุ่งให้คู่กรณีทำงานร่วมกันต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับการตั้งผู้ประนอมนอกศาล    
นายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด แสดงความเห็นว่า ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณาในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีแรงงานนั้นจะต้องพิจารณาว่าเมื่อแก้ไขแล้วจะอำนวยให้เกิดความยุติธรรมในสังคมได้หรือไม่ และสิ่งที่ศาลยุติธรรมเสนอตั้งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษนั้นจะไม่สามารถตอบโจทย์กระบวนยุติธรรมทางด้านแรงงานทั้งระบบ ทั้งนี้มองว่าโครงสร้างของศาลยุติธรรมในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษานั้นไม่อำนวยต่อการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้กับผู้พิพากษาศาลแรงงาน และการจะนำกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้กับคดีแรงงานควรมีขอบเขตและคำนึงถึงความสอดคล้องกับลักษณะของคดีแรงงานด้วย ทั้งนี้ เห็นด้วยกับการแยกศาลแรงงานออกมา ซึ่งสามารถทำได้ 2 แนวทางคือแยกเป็นศาลคู่ หรือเป็นแท่งเฉพาะอยู่ในโครงสร้างของศาลยุติธรรม
ด้านศาสตราจารย์เกษมสันต์ วิลาวรรณ กรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 9 และอดีตผู้พิพากษาอาวุโส ศาลแรงงานกลาง เปิดเผยว่า ความพยายามแรกเริ่มในการจัดตั้งศาลแรงงานสมัยอ.นิคม จันทรวิทุรคือต้องการให้เป็นศาลที่มีความแตกต่างจากศาลยุติธรรม โดยเสนอแนวคิดแบบศาลคู่ และไม่ยึดติดการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกับคดีแรงงาน โดยวางระบบให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทั้งวิธีพิจารณาคดีและระบบของผู้พิพากษา แต่ต่อมากลับบัญญัติให้ศาลแรงงานเป็นศาลชั้นต้น ซึ่งไม่เหมาะสมเนื่องจากทำให้ผู้พิพากษาถูกโยกย้ายเวียนไป จึงเห็นด้วยต่อข้อเสนอในการแยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรมเช่นที่ศาลปกครองแยกออกมาเป็นอึกศาลหนึ่งตามระบบศาลคู่ อย่างไรก็ตาม หากจะทำให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัตินั้นอาจเป็นไปได้ยาก สิ่งสำคัญคือต้องเข้าไปดูในเนื้อหาสาระการปฏิบัติของศาลแรงงานให้ยึดในระบบไต่สวนแม้ไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนในกฎหมาย เนื่องจากเป็นระบบที่เหมาะสมกับวิธีพิจารณาคดีแรงงานในการทำให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่มากกว่าและเป็นประโยชน์กว่าระบบกล่าวหา ซึ่งศาลแรงงานเองก็ได้มีความพยายามที่จะให้ผู้พิพากษาเป็นผู้ดำเนินการตรวจพยานหลักฐานต่างๆ โดยแก้ไขข้อกำหนดศาลแรงงานหลายประเด็นตามแนวทางที่คปก.เสนอไปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การวางแนวทางแยกศาลแรงงานนั้นเห็นว่าหากบัญญัติได้ในระดับรัฐธรรมนูญจะเป็นการดี

ทางภาคเอกชนนั้น นายชัยปิติ ม่วงกูล กรรมการกฎหมายสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากจะมีการปฏิรูปกระบวนการแรงงานนั้นควรมองเชื่อมโยงในเรื่องเศรษฐกิจและการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ด้วย เนื่องจากในทางการค้าระหว่างประเทศนั้นหากมีคดีแรงงานเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ในอนาคตคาดว่าปัญหาคดีแรงงานจะมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วย จึงอยากให้มีการพัฒนาระบบที่จะช่วยลดคดีขึ้นสู่ศาล และกังวลว่าการตั้งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษอาจไม่ได้แก้ปัญหาที่ดำรงอยู่
นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้อำนวยการมูลนิธิ อารมณ์ พงศ์พงัน มีความเห็นว่า ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาโครงสร้างและปรับแก้ไขระบบงานภายในของศาลมากกว่า แต่ไม่ตอบโจทย์หลักการของศาลแรงงานที่ให้มีวิธีการพิจารณาที่ประหยัด รวดเร็วเป็นธรรมและเสมอภาค ซึ่งเหมาะกับลักษณะของคดีแรงงานและเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่เสนอให้แยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม
ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เสนอว่า ปัญหาที่ผู้ใช้แรงงานประสบนั้นมีทั้งปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาคดี ซึ่งลูกจ้างไม่ต้องการมีคดีในศาลเลย อย่างไรก็ตาม มีความเห็นว่าการไกล่เกลี่ยในศาลแรงงานควรเป็นไปเพื่อให้เกิดการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างบนหลักการที่ไม่ทำให้ลูกจ้างได้รับสิทธิที่น้อยลง และเห็นว่าการจัดตั้งศาลแรงงานโดยเฉพาะนั้นยังคงมีความสำคัญ
ทั้งนี้ นางสุนี ไชยรส ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานสรุปว่า จะรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้นำไปประมวลผลตามทิศทางของข้อเสนอคปก.ต่อกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้เสนอไปแล้วในการให้แยกศาลแรงงานออกจากศาลยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น