วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

คารวะปู่ย่า ..ชาวนานักปฏิวัติ

                                                                   คารวะปู่ย่า  ..ชาวนานักปฏิวัติ

                 ฉันเป็นหนึ่งในสิบห้าคนของสหายในเมืองเขตภูซางที่มีความรักกับสหายชาวนา  มีทั้งจากนักเรียนนักศึกษาปัญญาชนและกรรมกร  มีเก้าคนที่แต่งงานในป่าและอีกสองคนมาแต่งงานกันในเมือง    โดยมีแปดคู่ที่มีลูกและได้มาอยู่ในเมืองด้วยกัน     บางคู่ต้องจากกันไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางการเมือง และชีวิตจริงรอบตัว    แต่ก็เป็นการจากด้วยความเข้าใจที่ดีและยังผูกพันกันฉันสหาย
   มีคู่หนึ่งที่สหายต่างชื่นชม   แม่ไม่เคยปิดบังลูกเรื่องพ่อ   บางครั้งก็พาลูกมาเยี่ยมครอบครัวใหม่ของพ่อในชนบท  หรือพาลูกมาพบพ่อเมื่อสหายชนบทมาร่วมงาน14 ตุลาหรือ 6 ตุลาที่กรุงเทพฯ    และพาลูกมางานสถูปภูซางบางปี   แต่ก็มีสองคู่ที่สหายชายทั้งปัญญาชนและชาวนาไม่รับผิดชอบต่อลูก   อันสะท้อนความเป็นจริงหนึ่งของผู้หญิงคือ   ไม่ว่าเป็นนักเรียน  หรือสหายชาวนา     แม่รับผิดชอบต่อลูกเสมอ   ไม่ว่าจะยากลำบากเพียงใดก็ตาม   [1]
                    มีหลายคู่ที่เสนอต่อจัดตั้งเพียงแค่ขั้นตอนของความรัก    และได้ลาจากกันเมื่อถึงยุคแห่งความสับสนที่สุดของการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในช่วงปี 2524     การใช้นโยบายการเมืองนำการทหารของรัฐบาล  ก็ช่วยเปิดโอกาสให้สหายกลับบ้านได้ง่ายขึ้น  แต่ก็ยังเป็นสหายที่ดีต่อกัน  อาจมีบ้างบางรายเท่านั้นที่รู้สึกเจ็บปวดและขออยู่ห่างจากความหลังช่วงนี้  
ด้วยการอยู่อย่างสงบเงียบ ...
                  
                   เขตภูซางนี้แม้จะมีคู่ที่แต่งข้ามชนชั้นไม่น้อย   แต่จัดตั้งไม่ได้โน้มน้าวจูงใจแต่อย่างใด   โดยเฉพาะลุงทุ่ง มีแต่เป็นห่วงและถามทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ตัดสินใจให้รอบคอบ  เกรงจะมีปัญหาต่อไปได้       ชาวนาปัญญาชนมีภูมิหลังที่ต่างกัน   วิธีคิดวิธีทำงานต่างกัน   แม้จะร่วมทุกข์ร่วมสุขในการปฏิวัติร่วมกัน    แต่ก็ต้องประเมินตนเองให้สอดคล้องที่สุด    เพื่อมิให้เกิดความเจ็บปวดทั้งสองฝ่ายในอนาคต
                   มีหลายคนถามว่าทำไมฉันจึงอยู่กับสหายชาวนาได้นาน?    ฉันคิดว่าสภาพการณ์ที่น้องๆต้องเผชิญต่างจากฉันมาก  สหายนักเรียนนักศึกษาหญิงเมื่อกลับไป   ครอบครัวต่างต้องการให้กลับไปเรียนต่อ   เมื่อต้องไปอยู่กับครอบครัว  ต้องอาศัยการช่วยเหลือดูแลค่าใช้จ่ายจากทางบ้าน  ขณะที่สามีเป็นสหายชาวนา  กว่าจะปรับตัวทั้งภาษา การใช้ชีวิตในเมืองและการมีงานทำที่ช่วยให้มั่นใจและภูมิใจในตนเองในการที่จะรับผิดชอบดูแลลูกร่วมกัน   ขณะที่ภรรยาต้องไปเรียนต่อและมีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง   แม้ครอบครัวสหายจะพยายามเข้าใจและ ช่วยหางานให้ทำ   แต่ก็เป็นงานที่ไม่กลมกลืนกับชีวิตของภรรยาและครอบครัวนัก   เพราะสหายชาวนามีความรู้ที่จำกัด       
                       ช่องว่างในความรู้สึกเหล่านี้มันหดหู่พอสมควร     สหายชาวนาบางคนจึงเป็นฝ่ายขอแยกทางกลับบ้านเสียเอง 
     
     มีสหายชายชาวนาบางคนปรับตัวได้ดี   เป็นหมอจากจีนที่ได้รับการยอมรับจากชุมชนมากและทำงานหมอจนถึงปัจจุบัน    ครอบครัวฝ่ายหญิงก็รัก แต่เมื่อสหายหญิงเรียนต่อถึงปริญญาโท และอยู่คนละภาค   ช่องว่างที่อธิบายได้ยากเหล่านี้จึงยิ่งมากขึ้นไปอีก ...บางรายสหายหญิงเป็นชาวนาที่ปรับตัวได้ดีมาก  เรียนต่อ มีงานทำ  แต่สหายปัญญาชนทอดทิ้งไม่รับผิดชอบเธอและลูก...
                     หลายคู่ที่อยู่ด้วยกันราบรื่น  เช่น สหายหญิงเป็นกรรมกร    ออกไปช่วยกันค้าขายทำสวนทำไร่ด้วยกัน ,สหายชายชาวนาเป็นหมอจากจีนมีโอกาสได้ใช้ความรู้เรื่องหมอทำงาน  ขณะที่สหายหญิงเป็นนักเรียนที่ไม่ได้กลับไปเรียนต่อ   บางคู่เป็นคนอีสานทั้งคู่สหายหญิงเป็นชาวนา  สหายชายเป็นนักเรียนไปเรียนต่อจนจบทำงานเลี้ยงตัวเองได้  การปรับตัวอาจไม่ซับซ้อนเท่าเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ
        สำหรับฉันจบมหาวิทยาลัยแล้วไม่มีความจำเป็นต้องกลับไปเรียนต่อ     ส.ฝ้ายพี่สาวก็กลับจากจีนแล้ว[2]   พี่ชายก็เริ่มลงตัว  แม่ก็พออยู่ได้  ฉันจึงไม่ต้องกังวลที่จะกลับบ้าน   ฉันตัดสินใจอยู่ที่ชนบทกับส.ชน    ดังนั้นเมื่อสหายทุกคนได้กลับบ้านเรียบร้อยหมดแล้วประมาณปี 2526       เช้าวันหนึ่ง   พ่อ  แม่ และน้องของเขาก็ได้พบฉันที่เถียงนาในฐานะลูกสะใภ้   โดยไม่รู้ตัวมาก่อน  แถมยังเป็นคนในเมืองอีกด้วย 
      ครอบครัวส.ชนเป็นชาวนาปฏิวัติที่ผูกพันรักใคร่สหาย  รักใคร่ดูแลฉันอย่างดีมาก  รวมทั้งญาติพี่น้องทุกคน    พ่อใหญ่อำคา  ไชยรส  เคยถูกจับ  ถูกซ้อมอย่างทารุณพร้อมกับผู้ชายเกือบทั้งหมู่บ้าน  แม่ใหญ่ยัน  ไชยรส มีลูก 9 คน   ต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ   ในยุคนั้น    แต่พวกผู้หญิงก็กล้าหาญ และคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
   
       เราพักอยู่เถียงนา   ฉันไม่ต้องปรับตัวมากนักเพราะเคยอยู่กับสหายชาวนามานาน  เคยช่วยมวลชนทำนาแถวผาโขงผายา  ทำไร่ในป่า  หาหน่อไม้ และทำงานหนักมาสารพัด    เมื่อมาอยู่กับครอบครัวชาวนา  ฉันก็ช่วยทำสวนทำนา  เกี่ยวข้าวและตีข้าวเท่าที่ทำได้    หัดหาแมงดาในนา    ทำปูดอง   ผักดอง  ทำกับข้าวแบบอีสาน    แม้ทุกคนจะพยายามบอกฉันว่า  ไม่ต้องทำก็ได้    ด้วยความเป็นห่วงว่าเป็นปัญญาชนจากในเมือง  

   เมื่อพ่อส.ชนเสียชีวิตเมื่อสามปีก่อน  ฉันเขียนคำไว้อาลัยงานศพพ่อใหญ่อำคา  ไชยรส   เพื่อเป็นแบบอย่างให้งานศพชาวบ้านคนหนึ่ง   ที่มีคุณูปการต่อครอบครัวและต่อชุมชนเช่นกัน

      พ่อใหญ่อำคาและครอบครัวบุกเบิกป่าดงเป็นไร่นา เป็นแบบอย่างของครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว  และช่วยเหลือยามภรรยามีลูกอ่อน  ทั้งช่วยงานบ้านและไม่ให้ไปไร่นา   เมื่อถูกกล่าวหาว่าส่งข้าวให้คอมมิวนิสต์ปี 2510   พ่อใหญ่ถูกจับกุมพร้อมชาวบ้านโนนทันผู้ชายเกือบทั้งหมด    พ่อถูกจับฝังหลุมเหลือแต่คอและถูกซ้อมอย่างทารุณ   เมื่อถูกขังอยู่อ.หนองบัวลำภูถึง 8 เดือน   ด้วยความเป็นห่วงครอบครัว   ก็อาศัยฝีมือจักสานที่มีอยู่หารายได้เล็กๆน้อย   ส่งเงินมาช่วยภรรยาได้ 70 บาท      ต่อมาก็ย้ายมาคุก จ.อุดรธานี    แม่ใหญ่ยัน  ไชยรส และภรรยาผู้ถูกจับ ที่มีลูกอ่อนเกือบทุกคน   ได้พากันไปร้องขอความเห็นใจ     จึงได้รับการปลดปล่อยเวลาต่อมา

                     เมื่อกลับออกมาครอบครัวลำบากอย่างแสนสาหัส   พ่อใหญ่อำคามุมานะทำงานรับจ้างค่าแรงวันละ 5 บาทหรือรับจ้างถางไร่ๆละ 20 บาทรวมทั้งบุกเบิกไร่นาตนเองอย่างไม่ย่อท้อ    ขณะที่มีลูกเล็กๆหลายคน   อย่างไรก็ตาม   การปราบปรามของเผด็จการยังไม่ยุติ   ปี 2514 มีการจับกุมคุมขังและซ้อมชาวบ้านอย่างทารุณครั้งใหญ่อีก   มีครอบครัวจำนวนไม่น้อยหลบภัยเข้าป่าดง    และคนหนุ่มแถบนั้นจำนวนมากหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ทหาร  เพื่อไม่ต้องมาปราบปรามพ่อแม่พี่น้องและเพื่อนฝูงกันเอง   ลูกชายคนโตสองคนของพ่อใหญ่   ก็เข้าสู่เขตป่าเขาตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาคม   (ส.เพลิง และ ส.ชน)    เมื่อขาดลูกชายคนโตสองคนที่เป็นกำลังช่วยสำคัญ   ยังมีลูกเล็กๆอีก6 คน  ครอบครัวก็ลำบากมาก    
               
                     จนกระทั่งบ้านเมืองสงบ   ลูกชายคนโตสองคนก็กลับมาอยู่บ้าน ..     พ่อใหญ่อำคาเคยป่วยโรคตับอักเสบ   โรคกระเพาะอาหาร และเป็นไส้เลื่อน   แต่ก็ได้รักษาเป็นระยะๆจนแข็งแรงไม่มีอาการป่วยใดๆปรากฏอีก  จนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543  ยังไปไร่นาอยู่   เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและฉับพลัน    ลูกๆนำส่งโรงพยาบาลหนองบัวลำภู   แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคลำไส้อักเสบจำเป็นต้องผ่าตัด     แต่เมื่อผ่าตัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น  เสียชีวิตเมื่อเวลาตีสอง วันที่  17 กุมภาพันธ์ 2543   ท่ามกลางความเศร้าสลดของครอบครัว   ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง  ชาวบ้านทั่วไป

ฉันให้สัมภาษณ์นิตยสารหญิงไทย ฉบับตุลาคม 2540 ว่า สามีเป็นชาวนา   จะว่ามีช่องว่างมั้ยก็มีเหมือนกัน   อาจจะเนื่องจากตัวเราเองด้วย    พ่อแม่เค้าน่ารักมาก  เป็นชาวนา      เดี๋ยวนี้ดิฉันก็ยังอยู่กับพ่อแม่เค้า   จะว่าไม่มีปัญหาเสียเลยก็ไม่ใช่    ก็มีบ้าง     มันจะมีมุมมองอะไรที่แตกต่างกันนะคะ   แต่ว่าเค้าเป็นคนดี   รักลูกรักครอบครัว  ทำให้อยู่ด้วยกันมาจนถึงวันนี้.. เราใช้ชีวิตอยู่ที่โน่น  อยู่แบบชาวนาเลย คือเราไม่ต้องกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมอีก  ทำให้เค้าก็ไม่ต้องปรับตัวมาก   แล้วชาวนาที่เข้าป่าจะไม่เหมือนชาวนาทั่วๆไป   เค้าได้เรียนรู้ทางสังคม        ชาวนาที่อยู่ในป่าจะได้เรียนหนังสือโดยทางอ้อม    เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คน   อยู่กับนักศึกษา    อยู่กับปัญญาชน  เรียนรู้ทางการเมือง    มีการฝึกพูดฝึกออกความคิดเห็นในการสัมมนา...

                     วันนี้ย่ายัน ไชยรสก็ยังอยู่เป็นหลักให้ลูกหลานอยู่บ้านโนนทัน  และใส่บาตรตอนเช้าทุกวันๆ
                     ในวันสงกรานต์นี้  ขอให้ย่ายัน  สุขภาพแข็งแรงค่ะ...





   [1] ส.เทียน  เป็นนักศึกษาพยาบาล  ที่มีคนรักแล้ว  แต่ส.วิทยาเสียสละ   เธอตัดสินใจแต่งงานกับส.ยอดซึ่งเป็นหมอจบจากจีน   

      [2] ส.ฝ้ายกลับจากแนวหลังที่จีนพร้อมกับ  อนุช  -สมัย  อาภาภิรม     กัญญา  ลีลาลัย(ฤดี  เริงชัย)   ยุทธพงศ์  ภูริสัมบรรณ (รวี  โดมพระจันทร์)        เป็นทีมที่ไปอยู่กับสหายฝ่ายนำกลุ่มหนึ่งที่ ส.ป.ท.   จากการช่วยประสานงานของคุณอาณัติ  อาภาภิรม   แม่ฉันดีใจมากไปรับถึงฮ่องกง    

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น