วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

โซ่ตรวนของผู้หญิง ต้องฝ่าด่านตั้งแต่บ้าน(หอพัก) และ การแต่งกาย: การหลอมรวมอุดมการณ์ เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ตอน ๖ ร่วมเฉิมฉลอง ๑๐๐ ปีวันสตรีสากล


โซ่ตรวนของผู้หญิง  :ต้องฝ่าด่านตั้งแต่บ้าน(หอพัก) และ  การแต่งกาย




ลูกๆของเรากำลังก้าวเดินไปบนเส้นทางแห่งสัจจธรรมและเหตุผล,    นำความรักมาสู่จิตใจของมนุษย์เผยให้เห็นสวรรค์ใหม่  และจุดดวงไฟใหม่ขึ้นในโลก ไฟอันไม่อาจดับมอดได้แห่งดวงวิญญาณ.  จากเปลวปลาบของไฟนี้     ชีวิตกำลังงอกงามแตกหน่อขึ้น,        มันเกิดจากความรักของลูกๆของเราที่มีต่อมวลมนุษยชาติ.   ใครเล่าจะดับระงับความรักนี้ได้?    ใครหน้าไหน?    พลังอะไรเล่าจะสามารถทำลายมันได้?       พลังอะไรหรือที่จะขัดขวางมันได้?     โลกได้ให้กำเนิดมันแล้ว,           และชีวิตเองทีเดียวที่พร่ำเพรียกปรารถนาชัยชนะของมัน,    ชีวิตนั้นเอง
                                                              เปลาเกยา   นินอฟนา
แม่    โดย   แม็กซิม  กอร์กี้     (จิตร  ภูมิศักดิ์  แปล)

แต่ความรักมีความหมายมากกว่านั้น    ความรักที่เป็นเพียงความสุข    หรือไม่ก็ความใคร่ของคนคนหนึ่ง   หรืออย่างมากที่สุดสองคนเท่านั้น    เป็นความรักอย่างแคบ   ความรักของคนเราควรจะขยายกว้างออกไปถึงชีวิตอื่น  ถึงประชาชนทั้งหลายด้วย    ชีวิตของคนเราจึงจะมีคุณค่าและมีความหมายไม่เสียทีที่เกิดมา    ดิฉันจึงว่า    หากชีวิตเรามีความรัก    และความรักนั้นสามารถผลักดันชีวิตของคนเราให้สูงส่งยิ่งขึ้นกว่าชีวิตของสิ่งอื่น  นกมันอาจจะร้องเพลงได้เมื่อมันนึกอยากจะร้อง  โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของชีวิตนกอื่น   แต่คนเราไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น                                                                                                                                                                                                                                                  วัลยา
                                                                                                   ใน  ความรักของวัลยา








ภาพนักเรียนนักศึกษาหญิงชุมนุมค้างวันค้างคืนในธรรมศาสตร์   หรือบนถนนราชดำเนิน  ที่ดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในยุคนี้       แต่ฉันลองย้อนรำลึกก้าวเดินของผู้หญิงแต่ละคน   รู้ดีว่ามีความยากลำบากอย่างมากในการทำความเข้าใจกับพ่อแม่ย่ายาย  ที่ล้วนแต่ไม่เห็นด้วย   ในการไปค้างบ้านเพื่อน   ค้างในการชุมนุม  กระทั่งการออกไปค่ายพัฒนาชนบท   เป็นภาพสะท้อนความจริงของสังคม  ที่ถ่วงรั้งผู้หญิงในการมีโอกาสที่เท่าเทียมกับชายในการศึกษาเรียนรู้   โอกาสทำงานเพื่อแสดงศักยภาพของตนเองและทำงานรับใช้สังคม           
    สุชีลา  ตันชัยนันท์  ประธานกลุ่มผู้หญิงสิบสถาบัน และ นักโทษหญิงตอน ๖ ตุลา  ล่าถึงความแตกต่างในการเลี้ยงลูกสาวกับลูกชายว่า    เธอต้องเข้าครัวช่วยแม่ทำอาหารทุกวันหลังจากทำการบ้านเรียบร้อย     ขณะที่เด็กผู้ชายอิสระจากงานในครัวเรือน    พ่อก็เห็นดีเห็นงามให้ลูกสาวเป็นแม่ศรีเรือน  ไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ไปเที่ยวนอกบ้านกับเพื่อนๆ     ถ้าจะไปไหนพ่อจะไปรับไปส่ง   และไม่ได้รับอนุญาตให้หัดขับรถด้วย    เธอต้องแอบไปหัดขับกับพี่ชาย   แอบไปเล่นลูกหิน  ลูกข่าง  หัดว่ายน้ำคลอง   และช่วยพี่ชายทำงานฝีมือของโรงเรียนแบบผู้ชาย  เช่น  แกะสลักไม้  (สุชีลา,2546 : 35-46)
เมื่อจะออกค่ายอาสาพัฒนาครั้งแรกที่โคราช    เธอเกือบต้องดับเครื่องชน  เมื่อพ่อไม่อนุญาต แต่พี่ชายอาสาเข้ามารับผิดชอบเต็มที่    พ่อจึงมีท่าทีอ่อนลง     ซึ่งการออกค่ายครั้งนี้ทำให้สุชีลาได้เปลี่ยนแปลงทางความคิดครั้งใหญ่  โดยมีนักศึกษาหญิงเพียงห้าคนเท่านั้นที่ฝ่าด่านของครอบครัวไปค่ายได้...  เมื่อจะต้องไปค้างบ้านเพื่อนเนื่องจากกิจกรรมเข้มข้นขึ้น   แม้พ่อจะไม่ห้ามแล้ว   แต่ย่ายังบ่นว่า 
การที่ผู้หญิงไปนอนค้างที่อื่นแม้เพียงคืนเดียว    ถ้าผู้ชายรู้เข้าเขาจะยกขบวน ขันหมากกลับบ้านเลย     เพราะถือว่าผู้หญิงเสื่อมเสียชื่อเสียงไปแล้ว...(สุชีลา :.84)

    กัญญา  ลีลาลัย (ฤดี  เริงชัย)   เล่าไว้ในหยดหนึ่งแห่งกระแสธารว่า ...ที่บ้านไม่เคยอนุญาตให้ลูกสาวไปค้างคืนที่อื่น    ทำให้ในการประท้วงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299    เมื่อปลายปี 2515 เธอไปชุมนุมได้เฉพาะกลางวัน    แต่ตอนปิดเทอมจะมีค่ายของกลุ่มยุวชนสยามที่เธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนหนึ่ง     จะจัดค่ายอาสาพัฒนาฝึกกำลังคน    ซึ่งเป็นค่ายผสมผสานระหว่างค่ายอาสาพัฒนากับค่ายประชุมสัมมนา     แม่ไม่อนุญาตทำให้เธอประท้วงต่างๆนานา    พี่สาวต้องเข้าไปช่วยพูดกับแม่ให้เข้าใจจิตวิทยาของวัยรุ่น    ที่ต้องการเป็นตัวของตัวเอง    สุดท้ายแม่อนุญาตให้เข้าไปค่ายได้   บนเงื่อนไขที่ว่าจะต้องกลับบ้านก่อนที่พ่อจะกลับจากต่างจังหวัด     เพราะแม่ไม่กล้าบอกให้พ่อรู้แต่เธอกลับไม่ทัน  ...(ฤดี  ,2538 : 117-8
    เมื่อกลับบ้าน  คิดว่าต้องถูกพ่อทำโทษเป็นแน่   แต่พ่อวางเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น   ฉันอึดอัดมากในที่สุดฉันก็ทนไม่ได้   ต้องเปิดฉากพูดกับพ่อให้รู้เรื่องว่าพ่อคิดอย่างไรกันแน่     พ่อมองหน้าฉันเต็มตา    พูดอย่างเต็มปากเต็มคำ    ‘ทำไมป๋าต้องถามว่าหนูไปทำอะไรมานอกลู่นอกทางหรือเปล่า   ในเมื่อป๋ารู้ว่าหนูเป็นคนมีเกียรติ’     ฉันรู้สึกตื้นขึ้นมาในลำคอ   และตั้งใจในบัดดลว่า  ชั่วชีวิตนี้ฉันจะไม่ทำให้พ่อแม่ผิดหวังเป็นอันขาด    (ฤดี : 119)

                ในการจัดเสวนา 30 ปี 14ตุลา ย้อนรอยพลังหญิง  โดย องค์กรผู้หญิง   เมื่อ  24 สิงหาคม 2546  ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย   ช่วยให้เห็นภาพการต่อสู้ในมิติของผู้หญิงที่ลึกลงไปจากภาพด้านหน้าของประวัติศาสตร์   มีเรื่องราวเล็กๆแต่น่าประทับใจไม่น้อย...   
 มาลีรัตน์  แก้วก่า   อดีตประธานนักศึกษาหญิงมหาวิทยาลัยขอนแก่น    เล่าถึงบรรยากาศของนักศึกษาหญิงในหอพักมหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อน 14 ตุลาว่า  :
    ...มีนักศึกษาหญิงที่ตื่นตัวมาทำกิจกรรมร่วมกัน  ทั้งที่ขอนแก่นและมาร่วมกับนักศึกษาที่กรุงเทพฯ ประมาณสี่สิบคน    ที่ออกโรงด้านกว้างมีอย่างน้อยแปดคน   และมีอีกประมาณสิบคนคอยคิดคอยเขียนคอยแนะนำอะไรๆให้อยู่เสมอ    ไม่ใช่แต่เขียนให้ผู้หญิง  เขียนให้ผู้ชายด้วย        กลุ่มผู้หญิงขอนแก่นก่อรูปขึ้นตอนมีการชุมนุมประท้วง การปลดนักศึกษารามคำแหง 9 คนกรณีทุ่งใหญ่... เราเริ่มรณรงค์อย่างง่ายๆเรื่องให้ผู้หญิงนุ่งกางเกงเข้าตึกเรียนได้     เพราะสภาพการเรียนการทำกิจกรรมของผู้หญิงควรต้องคล่องตัวกว่านุ่งกระโปรงอย่างเดียวตามระเบียบ    ก็ เริ่มจากตนเองนุ่งกางเกงตอนมีเรียนสองทุ่ม   พอเริ่มหนึ่งคนมันก็ไปเรื่อยๆ   หลังจากนั้นก็รณรงค์อย่างเปิดเผย          ตอนลงสมัครประธานนักศึกษาหญิงที่ต้องเลือกตั้งทั้งมหาวิทยาลัยช่วงปลายปี2516   ผู้ชายก็มีสิทธิเลือกด้วย   ก็ถือเรื่องนี้เป็นคำขวัญเรื่องหนึ่ง..  ...ให้ผู้หญิงนุ่งกางเกงเข้าตึกเรียนได้!’ “
  
รัชฎาภรณ์  แก้วสนิท   สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ซึ่งจบในปี 2516    ก่อน 14  ตุลา    ก็เล่าถึงความยากลำบากในการที่นักศึกษาหญิงจะออกมาทำกิจกรรมว่า...       
    ช่วงนั้นมีหนังสือวลัญชทัศน์ ฉบับภัยเขียว  ของเชียงใหม่ วิจารณ์ระบอบเผด็จการทหารอย่างรุนแรง   นักศึกษาถูกจับตามอง ต้องเคลื่อนไหวแบบลับๆ  ดิฉันเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ปีนหอหญิงได้ทุกหอ   เวลาจะแจกใบปลิวมันเดินแจกไม่ได้   ต้องแจกตามหอ  เวลาสามทุ่มหอปิดแล้วทุกคนก็เข้าห้อง  เราก็เอาไปสอดไว้ใต้ประตู   กว่าจะกลับถึงหอตัวเองสว่างพอดี...

เรืองรวี  พิชัยกุล  เกตุผล    นักเรียนม.ศ.5  ตอน 14  ตุลา เล่าถึงการไปชุมนุมว่า:
    หนีกันทั้งชั้น  ปิดโรงเรียนเหมือนกัน   สมัยนั้นยังอ่านหนังสือทมยันตีกันอยู่เลย  ยังสายลมแสงแดดมากๆ    แล้วก็มีคำถามตลอดเวลาแต่ไม่มีใครตอบให้เลยไปหาอ่านในหนังสือ   หลังจากที่ได้ยินข่าวก็เข้ามาตรวจสอบเองว่าเกิดอะไรขึ้นที่ธรรมศาสตร์    การได้ฟังพี่ๆไฮด์ปาร์กไม่กี่ชั่วโมงไม่น่าเชื่อว่าลืมไปหมดเลยนิยายร้อยๆเล่มที่อ่าน  มันไร้สาระไปโดยสิ้นเชิง    นี่คือการจุดประกายว่าสาระสำคัญในการเกิดมามีชีวิตนี้คืออะไร  หลังจากนั้นวันที่ 13 ก็มาอยู่กันทั้งวัน   กลับบ้านวันที่ 14  เนื่องจากเสื้อผ้าสกปรกและเหนื่อยอ่อนมาก  พยายามกลับบ้าน  ความรู้สึกกลัวพ่อแม่อย่างสุดขีดเหมือนกัน  วันนั้นพ่อถาม แกอยู่ที่ไหน 13-14 ตุลา ถ้าแกไม่อยู่ที่ธรรมศาสตร์  แกไม่ใช่ลูกของพ่อ     ตั้งแต่นั้นมาสบายมาก   กิจกรรมอย่างนี้พ่อเห็นด้วย     พ่อเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์มาก่อน...

ฉันเองค่อนข้างมีอิสระกว่าหลายๆคน   พี่สาวอยู่หอพักข้างนอกก็คล่องตัวเช่นกัน   แม่ก็เชื่อมั่นในตัวเราว่าจะไม่ทำตัวเหลวไหล   แม้จะไม่ค่อยเข้าห้องเรียน   แต่วิชาที่เลือกเป็นวิชาที่สนใจ    อาจารย์มักจะให้ตอบคำถามแบบวิเคราะห์ปัญหาและทางออก   ประสบการณ์นอกห้องเรียนจึงเป็นประโยชน์ในการวิจารณ์โครงสร้างเศรษฐกิจสังคม  การเมือง  ปัญหาชนบท  รวมทั้งนำเสนอทางออกต่างๆได้ชัดเจนขึ้น    ถ้าฉันไม่ได้   เอฟ วิชาหนึ่งที่คณะรัฐศาสตร์   เพราะส่งรายงานไม่ทันตอนที่เข้าร่วมการชุมนุมประท้วง ฉันจะได้เกียรตินิยมด้วย    ส่วนใหญ่นักกิจกรรมเดือนตุลาจะเรียนดีกันทั้งนั้น    รวมถึงเยาวชนนักเรียนรุ่นต่อๆมาด้วย
ฉันยังจำวันที่ฉันกับเพื่อนๆนักศึกษาหญิงสองสามคน   พากันไปที่บ้านของนักศึกษาหญิงรุ่นน้องคนหนึ่ง     เพื่อช่วยกันขออนุญาตให้เธอได้ไปออกค่ายเยาวชนชนบทด้วยกัน     เราพยายามอธิบายว่าเราไปด้วยกันเป็นกลุ่มใหญ่    จะคอยดูแลช่วยเหลือกัน    แม่ของรุ่นน้องมองหน้าพวกเรา      คำตอบของแม่ทำให้พวกเราขยาดเหมือนกัน    แม่บอกว่า  ‘ดูแลตัวเองกันให้ได้เสียก่อนเถอะ      ฉันนึกภาพตัวเองและเพื่อนๆแล้วก็ยังนึกขำมาจนทุกวันนี้     ยุคนั้นพวกเราแต่งตัวกันตามสไตล์  ‘5 ย. ของนักกิจกรรมทั้งหลาย    ผมยาว  สะพายย่าม   กางเกงยีน   เสื้อยับ    รองเท้ายาง... แม้ว่าจะไม่ครบสูตรทั้งหมดและคงสะอาดสะอ้านกว่าพวกผู้ชายอยู่มาก      แต่ในสายตาของพ่อแม่ที่ห่วงใยลูกสาว   มันคงไม่น่าเชื่อถือเสียเลย    แต่ก็มีบางรายที่ประสบความสำเร็จอยู่บ้าง   สลิลยา  มีโภคี  ขอแม่ไปค่ายที่ขอนแก่นกับฉันไม่ได้   ก็มาชวนฉันไปพบแม่   เธอย้อนรำลึกวันนั้นว่า ในที่สุดแม่ก็ยอมให้ไปค่ายได้   ...อาจจะเพราะพูดไม่ทันพวกเราก็ได้...
อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้บรรยากาศการออกมาทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการค้างคืน    หรือไปค่ายชนบทราบรื่นขึ้น    สำหรับนักเรียนนักศึกษาหญิงช่วงนั้นคือ   ผลัดกันไปนอนตามบ้านเพื่อนหรือรุ่นพี่   เพื่อทำให้พ่อแม่สบายใจเมื่อเห็นหน้าซื่อๆใสๆของเพื่อนของลูก     ที่ดูไม่มีพิษภัยอะไร   ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเรียนเก่ง  ไม่มีท่าทีเกเร    บ้านวิมล หวังกิตติพร และไพรินทร์ พลายแก้ว  ก็เป็นบ้านที่มีเพื่อนๆไปนอนกันบ่อย
ความอึดอัดของพวกเราผู้หญิงที่มีกิจกรรมมากมายต้องทำ  ทั้งพยายามไปเรียนหรือเข้าห้องสมุดซึ่งต้องแต่งเครื่องแบบนักศึกษา   ทำให้ไม่สะดวกอย่างมากต่างจากนักศึกษาชายที่แต่งกายได้ค่อนข้างสบาย   เมื่อฉันเป็นสมาชิกสภานักศึกษา ปี 4 รุ่นแรก ปีการศึกษา 2516ในนามพรรคพลังธรรมซึ่งมีเสียงข้างมาก   และสภานักศึกษาสามารถออกระเบียบได้เอง    ฉันจึงเสนอให้สภาฯเปลี่ยนแปลงระเบียบการแต่งกายนักศึกษาหญิง     ให้สามารถแต่งกายแบบสุภาพและนุ่งกางเกงได้        ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบนักศึกษาหญิงเวลาเข้าเรียน   ยกเว้นเฉพาะเวลาเข้าสอบ และงานพิธีต่างๆ    
ข้อเสนอของฉันได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิกสภาฯทั้งชายหญิงอย่างเป็นเอกฉันท์    ทำให้นักศึกษาหญิงธรรมศาสตร์สามารถมีอิสระที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง      ว่าเลือกที่จะแต่งเครื่องแบบนักศึกษาหรือแต่งกายแบบสุภาพ    จนมาถึงปัจจุบัน   ยกเว้นเวลาเข้าสอบและงานพิธีการ
ปฏินันท์  สันติเมทนีดล  ซึ่งขณะนั้นเป็นรองประธานสภาฯเล่าความรู้สึกว่า  ช่วงนั้นพวกเราส่วนใหญ่หัวก้าวหน้ากัน   คิดว่าต้องดูคนที่ความคิด  หัวสมอง  มากกว่ามาติดใจเรื่องเครื่องแบบหรือการแต่งตัวต้องการให้นักศึกษาหญิงทำกิจกรรมได้สะดวกขึ้น   โดยไม่ต้องทิ้งการเข้าเรียน จึงสนับสนุนกันเต็มที่
ฉันได้เรียนรู้ความหมายของคำว่า การให้สิทธิผู้หญิงตัดสินใจเลือกด้วยตัวผู้หญิงเอง’      จากเรื่องนี้เองในเบื้องต้น    แม้ระเบียบจะเปิดโอกาสให้มีสิทธิ     ซึ่งฉันและเพื่อนๆน้องๆผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเลือกการแต่งกายแบบตามสบายแต่สุภาพเป็นหลัก     แต่นักศึกษาหญิงส่วนใหญ่ก็ยังเลือกจะแต่งเครื่องแบบนักศึกษาทุกวัน  ซึ่งเป็นการเลือกของแต่ละคน   ขอแต่เพียงให้สิทธิในการตัดสินใจที่จะเลือกด้วยตัวเอง   มิใช่การบังคับอย่างตายตัวเพราะเป็นผู้หญิง     ด้วยทัศนคติที่จำกัดและเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง  นี่แหละคือความเสมอภาคในโอกาส     ที่เป็นความหมายสำคัญที่สุดสำหรับการเรียกร้องความเสมอภาคหญิงชายจนถึงยุคปัจจุบัน     มิใช่ว่าผู้หญิงจะเรียกร้องความเท่าเทียมกันในทุกด้าน    หรือต้องทำตัวเหมือนอย่างชายในทุกเรื่อง    ดังที่คนมักจะสับสนกัน

เมื่อมาต่อสู้เรื่องสิทธิในการเลือกใช้นามสกุล     ที่ผู้หญิงเมื่อจดทะเบียนสมรสควรมีสิทธิ
จะตัดสินใจเลือกเองว่า   จะใช้นามสกุลพ่อแม่หรือนามสกุลสามีก็ได้  มิใช่บังคับตายตัวในกฎหมายว่าจะต้องใช้นามสกุลสามี   ที่ขบวนผู้หญิงต่อสู้เรียกร้องมาช้านาน    จนเพิ่งประสบความสำเร็จในปี  2546  จะเห็นได้ชัดเจนเช่นกันว่า    มีการวิจารณ์อย่างรุนแรงจากบางกลุ่ม    หาว่าขบวนผู้หญิงจะทำลายสถาบันครอบครัว  ทำให้ครอบครัวแตกแยก   แต่สิ่งที่ผู้หญิงเรียกร้องคือ  ขอสิทธิความเสมอภาคในโอกาสที่จะเลือกด้วยตนเอง    เพื่อความเหมาะสมที่สุดของตนและครอบครัว 
ผลกระทบที่หยั่งรากลึกของการไม่มีสิทธิตัดสินใจที่จะเลือกของผู้หญิง  ในเรื่องนามสกุลนี้เอง   ส่งผลหนักหน่วงกว่าที่จะพูดแต่เพียงว่าเป็น สิทธิ’   เพราะส่งผลต่อการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันระหว่างลูกสาว-ลูกชาย       เมื่อไม่สามารถสืบสกุลได้เช่นลูกชาย   พ่อแม่จึงให้ความสำคัญในการเลี้ยงดู  การส่งเข้าเรียน และการสนับสนุนการทำงาน    ต่อลูกชายมากกว่าลูกสาว
แม้วันนี้กฎหมายอนุญาตให้เลือกเองได้     ก็มิได้หมายความว่า    ผู้หญิงส่วนใหญ่จะหันเปลี่ยนกลับไปใช้นามสกุลพ่อแม่    แม้แต่ฉันหรือเพื่อนๆในขบวนผู้หญิงจำนวนมากก็มิได้เปลี่ยนนามสกุลจากสามีไปใช้นามสกุลเดิม       เราต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงโดยรวมมีสิทธิที่จะเลือก   ให้ผู้หญิงสามารถทำในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดของตน     มิใช่เพื่อเราในฐานะผู้รณรงค์โดยเฉพาะ
ความไม่เสมอภาคในโอกาสสำหรับหญิงชาย   จึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงถูกรัดรึงมายาวนานตั้งแต่ประเพณี   ค่านิยม   และทัศนคตินานัปการ    จนถึงกฎหมาย      การรวมกลุ่มผู้หญิงคือการเปิดโอกาสและทางเลือก    ให้ผู้หญิงคนหนึ่งได้มาเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆจากคนอื่น  และจากการทำงานเป็นกลุ่ม   แม้ว่าจะยังไม่พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือความเป็นธรรมใดๆก็ตาม   การตื่นตัวของผู้หญิงแต่ละคน    การมีจิตสำนึกที่จะก้าวพ้นทรรศนะแบบเก่าๆในเบื้องต้น    จึงเป็นการสร้างพลังให้ผู้หญิงคนนั้นเอง   เพราะจะไม่มีความหมายและประโยชน์อันใดที่จะไปต่อสู้เพื่อคนอื่น    โดยที่เธอไม่เข้าใจเรื่องราวของตนเอง   และไม่อาจก้าวพ้นข้อจำกัดที่อยู่ในความคิดของตนเอง    เพื่อไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน    ในการจะตัดสินใจของเธอเองในอนาคต
                       


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น