‘เรารักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้เรารักประชาชน’ :
กิจกรรมของกลุ่มอิสระ กลุ่มผู้หญิง พรรคพลังธรรม องค์การนักศึกษาทั้งองค์การบริหารและสภานักศึกษา ล้วนมีทิศทางร่วมกันในการเคลื่อนไหวพัฒนาจิตสำนึกทางการเมืองของขบวนนักเรียนนักศึกษาประชาชน หนังสือก้าวหน้าและแนวคิดมาร์กซิสต์ หรือสังคมนิยม จึงได้รับความสนใจอย่างยิ่ง เป็นช่วงที่งานเขียนเก่าๆของนักต่อสู้ยุค พ.ศ. 2500 ซึ่งถูกปราบปรามในยุคเผด็จการ ทั้งทฤษฎีและวรรณกรรมถูกนำมาพิมพ์ใหม่จำนวนมาก ควบคู่กับการสร้างงานเขียนและวรรณกรรมของคนรุ่นใหม่ ฉันและเพื่อนๆล้วนแต่เป็นนักอ่านนักซื้อหนังสือกันทั้งสิ้น เรายังมีการศึกษาเป็นกลุ่มๆกันอย่างขะมักเขม้นด้วย
คำขวัญของธรรมศาสตร์ที่พวกเราภูมิใจ คือ‘เรารักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้เรารักประชาชน’
ผู้หญิง กับ 14 ตุลาคม 2516
การจับกุมกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 13 คนในข้อหากบฏในวันที่ 6 ตุลาคม 2516 แม้จะมีการติดโปสเตอร์ แถลงการณ์โจมตีการกระทำของรัฐบาลเต็มไปหมดในหลายสถาบัน แต่ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยมีมติให้สอบเสร็จก่อน เพราะเป็นช่วงกำลังสอบของมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มอิสระในธรรมศาสตร์รวมทั้งกลุ่มผู้หญิง มีการหารือลับอย่างเร่งด่วนร่วมกับองค์การบริหาร อ.ม.ธ. ซึ่งมีทั้งฝ่ายบริหารและสมาชิกสภานักศึกษาร่วมอยู่ด้วยในเย็นวันที่ 9 ตุลาคม มีการประเมินสถานการณ์ร่วมกันซึ่งมีความเห็นต่างกัน ระหว่างรอให้สอบเสร็จ เพื่อมีพลังนักศึกษาจำนวนมากมาร่วมการเคลื่อนไหว กับงดสอบทันทีเพื่อชุมนุมแสดงพลัง มิให้อำนาจเผด็จการฉวยโอกาสปราบปรามครั้งใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นได้ถ้าประเมินว่าพลังฝ่ายนักศึกษาประชาชนอ่อนแอ
ตัวแทนกลุ่มผู้หญิงมี อาทิ นงลักษณ์ ฉัน สุภาพร สุลณีย์ กัลยาณา สลิลยา สุทธิพันธ์ รัชนี ไพพร สุภรณ์ และเราร่วมปฏิบัติการต่อเนื่องจนถึง 14 ตุลา
ความรู้สึกของฉันและเพื่อนๆตรงกัน แรงกดดันจากระบอบเผด็จการ ความเดือดร้อนของกรรมกรและพี่น้องประชาชน รวมทั้งความเป็นห่วงผู้ถูกจับ ทำให้ทุกคนคิดว่า ถ้ายอมให้ใช้อำนาจป่าเถื่อนครั้งนี้ได้ ครั้งหน้าประชาชนจะโงหัวลุกขึ้นมาเรียกร้องอะไรได้อีกเล่า ประกอบกับบทเรียนของพวกเราหลายครั้งในสองสามปีที่ผ่านมา ไม่ว่าการคัดค้าน ปว.299 และกรณีล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่ ถ้าไม่รวมพลังต่อสู้อย่างจริงจัง ก็ไม่มีทางที่เผด็จการจะยอมตามข้อเสนอใดๆของเรา
ที่ประชุมมีมติให้งดสอบ โดยแบ่งกำลังกันไปปฏิบัติการ เช่น เอาโซ่ล่ามประตู เอาปูนปลาสเตอร์อุดรูกุญแจประตู ห้ามเข้าห้องสอบ ชักธงดำครึ่งเสาเหนือยอดโดม เอาผ้าดำปิดป้ายมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ทำโปสเตอร์งดสอบ และออกแถลงการณ์แจกพรุ่งนี้เช้า ประสานกลุ่มอิสระมหาวิทยาลัยต่างๆ ติดต่อคณะอาจารย์
ที่สำคัญคือ พรุ่งนี้ต้องมีการจัดประชุมวาระเร่งด่วนของสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อลงมติรับรองการงดสอบในครั้งนี้ ฉันและเพื่อนสมาชิกสภานักศึกษามีหน้าที่ต้องไปพูดคุยกับเพื่อนส.ส. ทุกชั้นปี เพื่อประกันให้มติวันรุ่งขึ้นสนับสนุนแผนงานนี้
ทุกอย่างเป็นไปตามที่ตั้งใจ วันรุ่งขึ้นนักศึกษาเข้าห้องสอบไม่ได้ มีการชุมนุมโดยเริ่มต้นการปราศรัยที่ลานโพธิ์นั่นเอง ฉันร่วมประชุมสภานักศึกษาฯ ที่เปิดประชุมวาระฉุกเฉินกลางลานโพธิ์ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปราย ซึ่งสภานักศึกษาฯ ลงมติเอกฉันท์ :
1) ทำหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คนอย่างไม่มีเงื่อนไข
2)ทำหนังสือถึงอธิการบดีขอให้เลื่อนการสอบภาคแรก จนกว่าการเรียกร้องจะได้ผล
ทางมหาวิทยาลัยขอให้พวกเราปลดธงดำ ชักธงชาติขึ้นแทน และเอาผ้าดำที่คลุมป้ายชื่อมหาวิทยาลัยออก ซึ่งพวกเราก็ยินยอม ตอนบ่ายมหาวิทยาลัยก็ได้ออกประกาศเลื่อนเวลาสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าเหตุการณ์จะคืนสู่ภาวะปกติ พอคนเริ่มทยอยมาชุมนุมมากขึ้น เวทีก็เข้ารูปเข้ารอย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เสาวนีย์ ลิมมานนท์ ปลุกเร้านักศึกษาอย่างมีพลัง เป็นอันว่าธรรมศาสตร์เป็นหัวหอกในการงดสอบและชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว 13 กบฏรัฐธรรมนูญ
อ.ม.ธ. ดูแลเวทีจนถึงวันที่ 11 ตุลาคม ศูนย์กลางนิสิตฯก็มีมติเข้าร่วมการชุมนุม และเข้ามาเป็นแกนนำการชุมนุม แต่อย่างไรก็ตามเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ยังบัญชาการขบวนอยู่นั่นเอง และทีมงานข่าวที่กองอำนวยการในธรรมศาสตร์ยังเป็นหลัก เนื่องจากภารกิจที่ยังติดพัน ฉันและเพื่อนกลุ่มอิสระทั้งหญิงชาย ช่วยงานในกองอำนวยการชั่วคราวคือชั้นสองของตึกโดมในส่วนที่เป็นสภานักศึกษาตั้งแต่เริ่มต้น และประสานงานกันอยู่รอบนอกของเวทีเพื่อสนับสนุนการชุมนุม ตั้งแต่การไปขอบริจาคอาหาร ช่วยดูแลน้องๆทีมงาน การทำแถลงการณ์ การติดตามและประเมินข่าว การคอยส่งข่าวประสานกับโฆษกบนเวที และเมื่อคนมาชุมนุมแออัดมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เสนอให้ย้ายกองบัญชาการชุมนุมไปอยู่ที่สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ตอนแรกลังเลกันอยู่บ้างกลัวว่าคนจะน้อย แต่เป็นจังหวะที่นักเรียนนักศึกษาและประชาชน ทยอยกันมาสมทบมากขึ้นเรื่อยๆ เวทีจึงดำเนินไปอย่างมีพลัง
ในที่สุดก็ต้องเคลื่อนขบวนออกเดินในวันที่ 13 ตุลาคม เนื่องจากผู้คนนับแสนและการชุมนุมที่ยืดเยื้อมาหลายวันหลายคืน ทำให้กองบัญชาการตัดสินใจเริ่มเคลื่อนไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าอยู่ในบทบาทใดในการต่อสู้ ถือเป็นฟันเพืองตัวหนึ่งแห่งการสร้างสรรค์พลังและการต่อสู้ของขบวนผู้หญิง ทุกบทบาทและศักยภาพของผู้หญิงแม้คนหนึ่งก็คือพลัง
เมื่อจัดวางกำลังในการเคลื่อนขบวน กำหนดให้เยาวชนหญิงเป็นแถวหน้าของการเดินออกจากสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ พร้อมธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ด้วยความคาดหวังว่าจะเป็นการปลุกเร้าใจประชาชน ที่แม้แต่ผู้หญิงตัวเล็กๆก็ไม่หวั่นไหวในการต่อสู้ ขณะเดียวกันก็หวังว่า ถ้ารัฐบาลคิดจะใช้ความรุนแรง ก็อาจจะเปลี่ยนใจได้บ้างเมื่อเผชิญหน้ากับขบวนผู้หญิงพร้อมด้วยสัญญลักษณ์ที่ผู้คนเคารพสูงสุด
ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ทุกคนรู้ดีว่า มีโอกาสถูกปราบปรามได้ แต่เมื่อประกาศขออาสาสมัครหญิง เยาวชนนักเรียนนักศึกษาหญิงจำนวนมากอาสาเป็นกองหน้าของขบวนแถวอย่างวีรอาจหาญ เยาวชนชายนักเรียนอาชีวะก็จัดตั้งกำลังคุ้มกันขบวนแถวอย่างองอาจเช่นกัน
ในคนเรือนแสนนั้นมีผู้หญิงเคียงบ่าเคียงไหล่เป็นภาพที่เด่นชัด ซึ่งองค์กรผู้หญิงได้นำรูปขบวนแถวหน้า 14 ตุลาของเยาวชนหญิงนี้มาจัดทำเสื้อยืดในโอกาส 30 ปี 14 ตุลา
ในการจัดเสวนา 30 ปี 14 ตุลา ย้อนรอยพลังหญิง อรุณี ศรีโต ผู้นำกรรมกรหญิงมายาวนานจนถึงปัจจุบันอีกคนหนึ่ง ก็ช่วยเสริมให้ภาพการชุมนุมในครั้งนี้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น...
“ อายุ 17 ปีทำบัตรประชาชนได้ก็มาสมัครทำงานที่ไทยเกรียง ที่พระประแดงตอนปี 14สมัครวันนี้เขาให้ทำงานพรุ่งนี้เลย นุ่งผ้าถุงนะมาจากชนบทสมัยนั้นเขามีหอพักให้แถมเลี้ยงข้าวสามมื้อ ได้วันละ10บาท พอปี 16 คนงานไทยเกรียงมีเกือบสองพันคนมีผู้ชายประมาณสองร้อยคน...
ตอนจะไปชุมนุมก่อน 14 ตุลาคนงานก็ขานรับกันเป็นอย่างดี ตอนนั้นมีนักศึกษามาทำงานกรรมกรบ้างแล้ว คนงานวัยหนุ่มวัยสาวอยู่หอพักพอเราเป่านกหวีดก็ไปพร้อมกันหน้าโรงงานหมดไม่ต้องถามเยอะ เจ้าของโรงงานท่านก็อยู่ในโรงงานนะอยู่ท้ายๆหอพัก แต่วันแรกท่านตั้งหลักไม่ทัน พวกเราปิดเครื่องไปกันหมด ไปเป็นพันคนเลย แล้วก็ไปรวมกับคนงานลัคกี้ที่สามแยกพระประแดง บางส่วนก็ขึ้นรถเมล์สาย 82มาลงสะพานพุทธ เดินมาที่ธรรมศาสตร์ อยู่สองสามวันไม่ต้องอาบน้ำนะ แล้วมาเจอกรรมกรอ้อมน้อยเยอะกว่าพวกเราที่มาจากพระประแดงอีก แถมเดินมาจากอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ ก็ทำให้เรารู้จักคนงานอ้อมน้อย ที่รังสิตช่วงนั้นโรงงานไม่ค่อยเยอะ จะไปหนักทางนครปฐม สมุทรสาคร พระประแดง สมุทรปราการ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานทอผ้า เป็นคนงานหญิงเยอะ นุ่งกางเกงยืดขาเริ่มจะบานแล้ว มันมีความฮึกเหิมทางจิตใจ คือไปแล้วมีความรู้สึกว่าต้องให้ชนะเขา วันที่สองไปเกณฑ์กันมาอีก ตอนนี้ผู้จัดการโรงงานท่านตั้งหลักได้แล้ว ท่านมายืนหน้าโรงงานเลย...’ลื้อไม่ไปได้มั้ยอั๊วให้สองแรง’( 20 บาท)....แต่คนงานก็ไม่อยากได้ 20 บาทนะ ก็ไปกันหมด...ลัคกี้ก็มาเป็นพันคนเหมือนกัน..
เสาวนีย์ ลิมมานนท์ ซึ่งเป็นที่ชื่นชม ศรัทธาในความกล้าหาญ เป็นนักพูดที่ปลุกเร้าใจผู้คนได้อย่างยอดเยี่ยม ก็ช่วยพิสูจน์ถึงบทบาทของผู้หญิงให้สังคมยอมรับ แม้เธอเองจะบอกฉันว่า ‘เธอไม่ใช่เฟมินิสต์ ‘ เมื่อรู้ว่าฉันกำลังเขียนเรื่องนี้อยู่ ซึ่งสุชีลา ตันชัยนันท์ เล่าอย่างชื่นชมไว้ว่า ‘.. ผู้ที่ขึ้นไฮด์ปาร์คในคืนวันนั้นที่ผู้เขียนจำได้แม่นยำที่สุดคือ พี่เสาวนีย์ ลิมมานนท์ นักพูดขวัญใจคนจำนวนมาก ด้วยความเป็นนักกฎหมายและศิษย์เก่าของชมรมปาฐกถาโต้วาที กอปรกับลีลาการพูดที่มีลักษณะเฉพาะตัวเธอสะกดให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมนั่งฟังจนไม่รู้สึกอยากกลับบ้าน...
พ่อเหลือบมองดูนาฬิกาข้อมือ ตอนนั้นเป็นเวลาตีสองแล้ว พ่อจึงบอกให้ทุกคนเตรียมตัวกลับบ้านได้ เมื่อเราเดินมาถึงประตูหน้ามหาวิทยาลัย เสียงของพี่เสาวนีย์ได้ดังผ่านไมโครโฟนว่า ‘พี่น้องที่รักคะ ท่านจะรีบไปไหน ขอให้อยู่กับเราก่อนจนกว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวเพื่อนของเราทั้ง 13 คนอย่างไม่มีเงื่อนไข พี่น้องคะถ้าท่านกลับบ้านไปแล้วท่านจะนอนหลับหรือเปล่าในขณะที่เพื่อนๆของเรายังไม่ได้รับอิสรภาพ’ พ่อหันหน้ามาปรารภกับผู้เขียน ‘ผู้หญิงคนนี้ยอดจริงๆ’ (สุชีลา :56)
จิระนันท์ พิตรปรีชา มีบทบาทเป็นผู้นำศูนย์ปวงชนชาวไทยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในเย็นวันที่ 14 ตุลาก็ถือเป็นความอาจหาญเพราะการปราบปรามประชาชนยังไม่สงบ เธอเล่าว่า...
“หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสทางวิทยุโทรทัศน์ว่า อดีตนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอม กิตติขจรได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งแล้ว และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ...ขณะนั้นดิฉันดำรงตำแหน่งเลขานุการฝ่ายธุรการของศูนย์ จึงได้ออกตระเวณตามหาคณะกรรมการศูนย์ตามที่ต่างๆจนกระทั่งถึงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้เห็นผู้คนมากมายชุมนุมกันอยู่รอบๆบริเวณ แต่ไม่มีการปราศรัยหรือจัดหน่วยกำลังต่างๆเลย ฝูงชนกำลังระส่ำระสายเนื่องจากไม่มีผู้ควบคุม ดิฉันจึงพยายามเบียดเสียดขึ้นไปบนลานกลางอนุสาวรีย์ ...เมื่อคนกลุ่มนั้นเห็นดิฉันก็จำได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์จึงเข้ามาถาม และบอกว่าพวกเขานำเครื่องเสียงมาติดตั้งไว้คอยกรรมการศูนย์ฯ เพราะเห็นว่าคนกำลังวุ่นวาย...ดิฉันตอบว่าไม่สามารถติดต่อศูนย์ได้เลยและไม่ทราบนโยบายดำเนินการต่อไปด้วย ฉะนั้นถ้าเราอ้างชื่อศูนย์ฯแล้วปฏิบัติงานอย่างหนึ่งอย่างใดคงไม่เหมาะสมขอให้ช่วยกันจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จนกว่ากรรมการศูนย์ฯ คนอื่นๆจะมา....จุดมุ่งหมายอันฉุกเฉินในเวลานั้นคือ ต้องการรักษาความสงบและความปลอดภัย หาทางคลี่คลายความสงสัยของมวลชนโดยเร็วที่สุด... (อ.ม.ธ.,2516 : 205-206)
ฉันต้องขอคารวะต่อวีรชน ๑๔ ตุลาทุกคน ต้องขอศึกษาจิตใจหาญกล้าของผู้ที่ยืนหยัดต่อสู้ในสถานการณ์แห่งความโดดเดี่ยวและเต็มไปด้วยการสูญเสีย ณ เวลานั้น
เพลง’นกสีเหลือง’ ที่วินัย อุกฤษณ์ วิสา คัญทัพ แต่งให้ หงา คาราวาน ร้อง กินใจผู้คนตลอดกาล...ฉันฟังทีไรอดน้ำตาซึมไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังกลับจากป่า เพราะมีเรื่องราวของวีรชนนิรนามเพิ่มขึ้นในการรับรู้อีกมากเหลือเกิน นับแต่รุ่นอดีตที่ยาวนานโดยเฉพาะหลังปี 2500 ช่วง 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 วีรชนในเขตป่าเขาทั่วประเทศและในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นอกจากนี้ยังมี กรรมกรชาวนา ปัญญาชนมากมาย ที่เสียสละชีวิตท่ามกลางการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทั่วประเทศ รวมถึงผู้ตกเป็นเหยื่อแห่งการปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเหวี่ยงแหในอดีต
กางปีกหลีกบินจากเมือง เจ้านกสีเหลืองจากไป
เจ้าคือวิญญาณเสรี บัดนี้เจ้าชีวาวาย
เจ้าเหินไปสู่ห้วงหาว เมฆขาวถามเจ้าคือใคร
อาบปีกด้วยแสงตะวัน เจ้าฝันถึงโลกสีใด
เจ้าบินไปสู่เสรี ข้างหลังเขายังอาลัย..
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น