สามประสาน :นักศึกษา กรรมกร ชาวนา
หลัง14 ตุลา ฉัน กลุ่มผู้หญิงและกลุ่มอิสระต่างโลดแล่นไปกับกิจกรรมรณรงค์ประชาธิปไตยในต่างจังหวัดกันทั่วประเทศ และเริ่มเรียนรู้การประสานกับกรรมกร ชาวนา หาบเร่ ที่ได้รับผลจากบรรยากาศประชาธิปไตย ทำให้มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ในขอบเขตทั่วประเทศหลัง 14 ตุลา เพียงไม่กี่เดือนมีการประท้วงของกรรมกรในปี 2516 ถึง 501ครั้ง กรรมกรเข้าร่วม 177,887 คน จากปี 2515 ที่มีการประท้วงเพียง 34 ครั้ง กรรมกรเข้าร่วม 7,803 คน และต่อเนื่องไปถึงปี 2519 ก่อน 6 ตุลา ก่อเกิดการเริ่มต้นบรรยากาศสามประสาน ที่โดดเด่นจากการชุมนุมของกรรมกร 7 วัน 7 คืนที่สนามหลวง
ในการสัมมนายุทธศาสตร์แรงงานสตรีข้ามกาลสมัย ณ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย[1] ซึ่งกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 46 เชิญผู้นำกรรมกรหญิงหลายรุ่น รวมทั้งฉันและวนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ในฐานะนักศึกษาปัญญาชนที่ทำงานกรรมกรในช่วงก่อน 6 ตุลา ฉันช่วยประสานงานเชิญ ป้าเลื่อน แถวเที่ยง ผู้นำกรรมกรหญิงรุ่นบุกเบิกจากสหภาพแรงงานทอผ้ากรุงเทพที่โด่งดังในยุคปี 2500 พี่แตงอ่อน เกาฎีระ(พี่น้อย) และ พี่สงวนศรี จาก สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าสมุทรสาคร (อ้อมน้อย)ซึ่งเป็นแกนหลักในช่วงหลัง14 ตุลา
ในวันนั้นพี่แตงอ่อน เชื่อมโยงถึงการต่อสู้ไปถึงสมัยป้าเลื่อน และช่วยให้ภาพที่เห็นพลังของกรรมกรหญิงชัดเจนว่า...
“ เข้าไปทำงานปี 2498 ที่โรงงานทอผ้าบางซ่อน ปี 2499มีการสไตร๊ค์ครั้งใหญ่ ไปชุมนุม กันที่สนามหลวงสมัยจอมพลป. ในนามสหภาพแรงงานทอผ้ากรุงเทพ ตอนนั้นสู้เรื่องเวลาทำงาน เพราะเราทำงานกันวันละ12 ชั่วโมงถูกขูดรีดมาก ไม่มีวันหยุดเลยนะ ทานข้าว 5 นาที... สู้เรื่องระบบ สาม-แปดให้มันเหลือ 8 ชั่วโมง จากเข้า 6โมงเช้าออก 6โมงเย็น เข้า 6 โมงเย็นก็ต้องไปออก 6 โมงเช้า ลาก็ไม่ได้ หยุดตัดเงินลาตัดเงิน ทำงานเหมาเนี่ยเค้าบีบบังคับมาก และพอคนท้องเค้าให้ออกเลยนะ ...พอยุคจอมพลสฤษดิ์ เราทำอะไรไม่ค่อยได้มากใช่ไหม คนงานเราก็ไม่ค่อยเข้าใจปัญหาการต่อสู้ ก็ย้ายกันไปเรื่อยๆเพราะโรงงานเกิดขึ้นมาเยอะ ย้ายไปที่ไหนก็ไปเจอเพื่อนเก่า ๆ ไปที่ไหนเค้าสไตร๊ค์ทุกที่ พอไปทำงานที่อ้อมน้อยก็เหมือนกัน ทำงานแบบเหมาค่าแรงมีแต่ลดไม่มีเพิ่ม ถ้าเค้าขายของได้ไม่ดีเค้าก็ไม่จ่ายค่าแรงให้นะ ค่าแรงเราก็ไม่มีแล้วเราเอาอะไรกินล่ะ เค้าให้ข้าวเปล่ากินอย่างเดียวไม่มีกับข้าว มันรู้สึกอึดอัดมากคนงานเค้าก็รวมตัวกัน เอาไงก็เอาซิทีนี้ ถ้าเค้าสู้เราก็สู้ ถึงยังไงก็ตายด้วยกันไม่ยอมถอย ถ้าได้สู้ขึ้นมาแล้วผู้ใช้แรงงานจะเป็นแบบนี้ ต่อมาเราก็ยื่นข้อเรียกร้อง 12 ข้อ ประเด็นหลักคือค่าแรงขั้นต่ำ ตอนนั้นมันแค่ 12-13 บาทเท่านั้น
พอปี 17 เรามาชุมนุมกันที่สนามหลวง เรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำจากกฎหมายกำหนด 16 บาทเป็น 25 บาท แล้วก็มีทางนครปฐมมาร่วมด้วย พระประแดง ดาวคะนอง มากันเยอะเต็มสนามหลวง ตอนแรกชุมนุมกันที่อ้อมน้อย 1 คืน เจ้าของที่เค้ามาไล่ เค้ากลัวมาก เราก็ย้ายโดยเดินขบวนจากอ้อมน้อยไปถึงพระประแดงไปค้างที่วัดครุ 1 คืน ไปรอคนงานลัคกี้เทกซ์ไทล์ที่เค้าเสนอว่าจะไปร่วมต่อสู้ด้วย แล้วก็พากันเดินมา ค้างที่กรมแรงงาน 1 คืน แล้วก็เห็นท่าไม่ดีกลัวเค้ามาไล่อีก ก็ออกมาที่สนามหลวงเพราะเห็นว่ามันใกล้ธรรมศาสตร์ พวกนักศึกษาก็จะออกมาช่วย เราสู้จากอ้อมน้อย 1 คืน วัดครุ 1คืน กรมแรงงานอีก 1 คืนเป็น3 คืนแล้วนะ แล้วก็สนามหลวงอีก 8วัน 7 คืน เราก็ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ20 บาท ต่อมาอีกปีหนึ่งค่อยได้ 25บาท ..พวกเราร้องไห้ก็มีนะตอนนั้น อยู่มาตั้งนานเค้ายังไม่ยอมสักที.... ตอนนั้นมาในนามสหภาพฯนะ โชคดีมากเลยที่ฝนไม่ตก อยู่กันกลางสนามหลวงไม่ได้ไปไหนเลย ฉันก็ไม่กล้าไปไหนห่วงเพื่อนๆกลัวเค้าไม่เห็นเราเค้าจะใจเสีย อยู่กองกลางก็มีนักศึกษามาช่วย พอเงินไม่มีก็เข้าไปยืมที่สหพันธ์นักศึกษาในธรรมศาสตร์ ก็ไปซื้อข้าวมา สู้กันเสร็จแล้วก็กลับ เงินที่เหลือเราก็ให้ทางนักศึกษาไป....”
พี่สงวนศรี ประธานสหภาพฯทอผ้าสมุทรสาครในปี2518 ก็เรียนรู้จากโรงงานทอผ้าบางซ่อน กว่าจะมาถึงการชุมนุมครั้งนี้ และอยู่ในสถานการณ์ที่เข้มข้นต่อมา :
“ ทำงานปี 2495 ก็ร่วมขบวนการกับพี่เลื่อนที่บางซ่อน ... ตอนบางซ่อนสไตร๊ค์ยังจำได้
ติดหูติดตาเลย ตอนนั้นมีนายตำรวจ ณรงค์ มหานนท์ มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น มาขู่นะ ว่าเด็กๆต้องเข้าไปทำงาน ไม่เข้าไปจะจับนะ เราก็บอกไม่กลัวออกไปยืนเถียงกับตำรวจ
จนถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ พวกพี่ก็โดนไล่ออก แตกกระจายกันไปพักหนึ่งก็ไม่ได้เจอกัน... ไปอยู่ไทยเกรียงได้ ๑๐ เดือน ก็ไปอยู่เพชรเกษม(โรงงานทอผ้าที่อ้อมน้อย) ต่อมาร่วมกันทำงานสหภาพฯกับคุณประสิทธิ์ ไชโย จนมีการมาชุมนุมที่สนามหลวงมิถุนายน17คนเป็นหมื่นๆ หุงข้าวกันวันหนึ่งสามลูก สมัยนั้นข้าวสารก็หายากต้องไปเข้าแถวต่อคิว
ใครมีทองติดตัวต้องเอาออกจำนำกันหมดเลย เอาไปซื้อกับข้าว มีคนถามว่าพี่เอาทองให้เขาทำไม ก็มันไม่มีเงินซื้อแล้วเพื่อนๆเราจะกินอะไรกัน ชุมนุมกันเต็มสนามหล แล้วเด็กเค้าก็มาช่วยด้วยใจ ไม่มีการศึกษา รู้อย่างเดียวว่ามาต่อสู้แล้วมันจะได้ของตัวเองและพวกพ้อง ก็มากันโดยไม่รู้ว่าจะอยู่ซักกี่คืนกี่วัน
แต่พอ9 วันสำเร็จ พวกเราก็น้ำตานองหน้า พอจากนั้นมันก็มีอะไรให้สู้ตลอด.".
ส่วน วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ ที่ปรึกษาในการต่อสู้ของกรรมกรฮาร่า ที่ยืดเยื้อและเจ็บปวด สุดท้ายได้ยึดโรงงานมาทำการผลิตเองอยู่ช่วงหนึ่งเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของกรรมกรไทย ก่อนที่จะถูกจับกุม เธอสรุปบทเรียนว่า...
“เป็นนักศึกษาปี 1 เข้าไปก็ทำงานกับมวลชน ครั้งแรกไปร่วมสไตร๊ค์กับกรรมกรรถเมล์ ตอนชุมนุมเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ไปร่วมด้วย ชาวนาก็มาเรื่องค่าเช่านา จำได้ว่ามีพี่น้องกรรมกรหรือชาวนาเข้าไปอยู่ในทำเนียบ ประท้วงกันอยู่ในทำเนียบเลย ทำกับข้าวในนั้น ตัวเองก็เข้าไปช่วยชาวบ้านอยู่ในนั้นนั่นแหละ...
กรรมกรฮาร่าอายุสูงสุดประมาณ 20 ปี เฉลี่ย 15 ปี ที่สู้เป็นผู้หญิงทั้งหมด สมัยนั้นไม่ใช่สไตร๊ค์กันได้ง่ายๆ บางทีนายจ้างก็ให้อันธพาลยกพวกมาเล่นงาน ส่วนใหญ่การนัดหยุดงานก็จะใช้วิธีปิดเครื่องจักรยึดโรงงานเอาไว้ ไม่ใช่ว่ามาอยู่นอกโรงงาน... กรรมกรฮาร่าเล่าว่า เวลามีเจ้าหน้าที่มาตรวจคนงานก็จะไปซ่อนในโอ่ง เพราะอายุมันน้อยผิดกฎหมาย แล้วก็ทำหน้าที่คนรับใช้ไปในตัว ขณะที่สินค้าของฮาร่ามีชื่อเสียง ไปซื้อลิขสิทธิ์มาแล้วก็ขยายโรงงาน...
ฮาร่าทางฝั่งตรอกจันทร์หยุดงานและยึดเครื่องจักรเอาไว้ หยุดงานวันแรก นายจ้างก็เอาอันธพาลเข้าไปตีเลย คนงานหญิงก็สู้ สไตรค๊ยืดเยื้อ หลังจาก 3 เดือนมันทนกันไม่ไหวลำบากไม่มีจะกินกันแล้ว เป็นลูกหลานคนจีนส่วนใหญ่ คนจีนที่ยากจนเป็นกรรมกรก็เยอะ เถ้าแก่ก็เป็นนายทุนมาจากไต้หวัน มีการคุกคามตลอดเวลา คนงานผู้หญิงจะต้องถือไม้เฝ้าโรงงานนะ พอฝ่ายโน้นมาก็ตีกัน สมัยก่อนกระทิงแดงเห็นมีสไตร๊ค์ที่ไหนก็เอาระเบิดพลาสติกไปขว้าง ข่มขู่คนงานให้กลัวทุกคืน ฮาร่าก็โดน หลังจากนั้นก็ตัดสินใจว่าคนทำงานควรจะได้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ก็เลยยึดโรงงาน...กรรมกรเอาผ้าที่กองอยู่ในโรงงานเยอะๆเย็บเป็นเสื้อผ้ามาขายเลย คนมาซื้อถึงโรงงานตั้งแต่ตีห้า เพราะเราขายถูกไง แต่ก่อนหน้านั้นเราก็ไปติดโปสเตอร์ทั่วเมือง ประกาศว่าต้นทุนกางเกงฮาร่าไม่กี่สตางค์ ต้นทุนแรงงานยิ่งเหลือตัวหนึ่งตกไม่ถึงห้าสิบตังค์ เพราะฉะนั้นไอ้ที่ขายน่ะขูดรีดทั้งนั้น เราก็ขายในราคาร้อยกว่าบาท ขณะที่นายทุนขาย 400-500 บาท ขายได้เงินมาก็มาแบ่งกันเป็นค่ากับข้าวค่าอะไร ปรากฏว่าได้มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ก็ทำอย่างนี้อยู่ประมาณสองเดือนก็ถูกสลายการชุมนุม” [2] .
ชีวิตกรรมกรทอผ้า : สามเดือนก็ซาบซึ้ง
อีกหนึ่งเดือนหลัง 8 มีนา 2517 ฉันก็จบมหาวิทยาลัย กลุ่มผู้หญิงและ ผู้หญิงรุ่น 14 ตุลาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าสู่ขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนในรูปแบบต่างๆกัน บ้างไปเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์รายวันรายสัปดาห์ บางรายไปทำงานธนาคาร เป็นข้าราชการ แต่เราก็ยังเกี่ยวข้องกับงานของผู้หญิงในมิติต่างๆ วนเวียนพบเจอกันแถวธรรมศาสตร์และการชุมนุมต่างๆเป็นประจำ รวมทั้งในการประท้วงของกรรมกรชาวนา และการคัดค้านฐานทัพอเมริกันฉันเป็นนักข่าวนสพ.มหาชน รายสัปดาห์ของคุณปีย์ มาลากุล ที่เพิ่งเปิดใหม่ มีรัศมี(พี่ป้อม) เผ่าเหลืองทอง เป็นบรรณาธิการ ส่วนใหญ่ทำข่าวการประท้วงของนักศึกษากรรมกรชาวนา แต่นสพ.อยู่ได้ประมาณ 1ปีก็ยุติลง พี่สาวสุกัญญา พัฒนไพบูลย์ เป็นนักข่าวที่ นสพ.เสียงใหม่กับปราโมทย์ พิพัฒนาศัย ปฏินันท์ สันติเมทนีดล และ กัญญา ลีลาลัย (ฤดี) ทุกคนทำงานด้วยอุดมคติมีเงินเดือนเพียง 900บาทแต่งานหนักมาก ฉันทำนสพ.มหาชนยังได้ 1,500 บาท ยุคนั้นยังมีนสพ.ประชาธิปไตยรายวันที่มีธีรนุช ตั้งสัจจพจน์ อัมพา เลี่ยวชวลิต (สันติเมทนีดล)จากวารสารศาสตร์ ต่อมาหลังจากเสียงใหม่ยุติบทบาทลง พี่สาวและเพื่อนๆหลายคนก็ไปสมทบที่นสพ.ประชาธิปไตย
กระแสเรียกร้องให้นักศึกษาประสานกรรมกรชาวนา ทำให้นักเรียนนักศึกษาปัญญาชนทั้งหญิงชาย ต่างโถมตัวเข้าไปในรูปแบบต่างๆ ฉันตัดสินใจเข้าไปเรียนรู้ชีวิตกรรมกรทอผ้าที่โรงงานเทยิ่นดอนเมืองซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ประมาณสองพันคน ส่วนใหญ่ผู้หญิง ฉันใช้วุฒิ ม.6 เข้าไปสมัครเป็นคนงานคุมเครื่องทอและนอนในหอพักโรงงาน ได้ค่าแรงประมาณเดือนละ 600 บาท
ชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยของคนงานทอผ้าที่อ่านในหนังสือหรือฟังจากคนงาน ก็ยังไม่ซาบซึ้งเท่ากับชีวิตจริงที่ต้องเผชิญด้วยตัวเอง ฉันคุมเครื่องทอหกเครื่อง ต้องคอยเติมให้กระสวยด้ายพุ่งในเครื่องทอที่เร็วจี๋นั้น ให้ทอผ้าต่อเนื่องสม่ำเสมอ ที่สำคัญคือต้องไม่มีรอยยุ่งเหยิงของด้ายที่ทอไม่เรียบเกิดขึ้นบนผืนผ้า เท่ากับว่าฉันต้องเดินเร็วๆอยู่ตลอดเวลาการทำงานแปดชั่วโมงในกะๆหนึ่ง หยุดไม่ได้ เพราะเครื่องทอเร็วมาก กระสวยด้ายหมดอยู่ตลอดเวลา ตาของฉันก็ต้องคอยจ้องมองจังหวะของการทอ ไม่ให้ด้ายยุ่ง เมื่อเห็นปุ๊บต้องรีบปิดเครื่องนั้นและแก้ไขด้ายที่พันกันอย่างรวดเร็วที่สุด โอ้เอ้ไม่ได้ เพราะปิดได้เครื่องเดียว เครื่องที่เหลือไม่ได้หยุดรอฉันด้วย กระสวยเดินหน้าต่อไปอย่างรวดเร็วเช่นเดิม...อาทิตย์แรกฉันปวดเมื่อยไปทั้งตัว ตาก็แสบระริก ต่อมาฉันก็คงเหมือนกรรมกรหญิงคนอื่นๆคือเริ่มชินและถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ฉันเข้าใจแล้วว่าทำไมคนงานหญิงโรงงานทอผ้ามักต้องใส่แว่นสายตา แสงไฟที่สะท้อนใส่ผ้าที่ทอ และการต้องเพ่งตลอดเวลา ทำให้สายตาเสียง่ายมาก ยังมีฝุ่นฝ้ายที่กระจายซ่อนเร้นอยู่ในทุกอณูของอากาศ ที่ทำให้คนงานทอผ้าเป็นโรคปอดได้ง่ายเราเปลี่ยนกะหมุนเวียนกันทุกอาทิตย์ เพราะเครื่องจักรทำงานยี่สิบสี่ชั่วโมง ฉันพักอยู่กับกรรมกรหญิงคนหนึ่งที่นิสัยดีมาก คอยแนะนำช่วยเหลือ กรรมกรหญิงรอบตัวทุกคนก็สนิทสนมกับฉันดี เวลาออกกะเราก็ไปกินข้าวด้วยกันในโรงอาหาร มีข้าวเปล่าให้แต่ซื้อกับข้าวกินเอง ปัญหาหนักที่สุดก็คือ เวลาจะไปเข้าห้องน้ำ เราต้องรีบเร่งอย่างที่สุดแม้จะไม่มีใครมาคุมก็ตาม เพราะห่วงด้ายจะยุ่งช่วงเราไม่อยู่ กลับมาเราอาจจะดูไม่ทัน ถ้าส่งไปแล้วผ้ามีตำหนิ จะโดนหัวหน้าว่าและอาจจะหักค่าแรงได้ กรรมกรจึงทุ่มโถมพลังของตนอย่างสุดฤทธิ์ เพื่อแลกกับเงินวันละ 20-25 บาทนั้น โรงงานนี้ร่วมทุนญี่ปุ่นกับคนไทย ถือว่าเป็นโรงงานทันสมัยมากแห่งหนึ่ง ตอนฉันไปทำงานกับกรรมกรที่อ้อมน้อย โรงงานทอผ้าแถบนั้นยังให้กรรมกรคุมเครื่องทอเพียงสองเครื่องเท่านั้น ยังเป็นเครื่องรุ่นเก่าอยู่
ทำงานได้สักสามเดือน คืนหนึ่งก็มีเสียงประกาศตามสายให้ฉันไปพบหัวหน้างาน ซึ่งบอกว่า ผู้จัดการใหญ่ให้ฉันไปพบที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทที่หลานหลวง พรุ่งนี้จะมีรถมารับตอนออกกะ ฉันนึกในใจว่าสงสัยโรงงานจะรู้ว่าฉันเป็นใครกระมัง... เพราะคนงานตัวเล็กๆคนหนึ่งคงไม่มีเรื่องให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ต้องพบเป็นแน่ แต่ฉันก็ไม่นึกกลัวอะไรแม้ว่าจะต้องเดินทางไปคนเดียวก็ตาม วันรุ่งขึ้นฉันนั่งรถของโรงงานไปสำนักงานที่หลานหลวงในชุดเสื้อสีฟ้า กางเกงสีกรมท่าซึ่งเป็นชุดของคนงาน ฉันถูกพาไปพบคุณเดช บุญหลง กรรมการผู้จัดการใหญ่ คุณเดชถามว่าจบธรรมศาสตร์แล้วทำไมจึงมาเป็นกรรมกร ฉันหัวเราะขณะที่ตอบว่าฉันเรียนเศรษฐศาสตร์ ฉันต้องการรู้ชีวิตจริงในโรงงานจึงลองมาทำดู คุณเดชท่าทางไม่เชื่อ แต่ก็พูดจาด้วยดี บอกว่าต่อไปนี้ให้มาทำที่สำนักงานใหญ่นี้จะหางานที่เหมาะสมให้ทำ ไม่ต้องไปเป็นกรรมกรอีก...[3]
คดีคอมมิวนิสต์อ้อมน้อย : การปราบนักศึกษาประชาชนอย่างต่อเนื่อง
การต่อสู้ของกรรมกรชาวนา การเดินขบวนคัดค้านฐานทัพอเมริกัน และการคัดค้านการจะกลับมาของถนอม-ประภาส ทำให้ขบวนการต่อสู้ของประชาชนดุเดือดแหลมคมยิ่งขึ้นทุกขณะ เริ่มมีกระแสขวาพิฆาตซ้าย มีการขว้างระเบิดใส่ที่ชุมนุม โดยเฉพาะในการคัดค้านฐานทัพอเมริกันวันที่ 21มี.ค.19 ซึ่งแม่ของฉัน แม่วรรณา(แม่ของวิชัย บำรุงฤทธิ์) และบรรดาแม่ๆของนักกิจกรรมทั้งหลายก็มาเดินขบวนกันด้วย ระเบิดตกไม่ห่างจากแม่ๆมากนักตรงย่านสยามสแควร์ มีคนตายถึง 4 คน บาดเจ็บกว่า 100 คน นี่เป็นบรรยากาศหลัง14 ตุลาซึ่งพวกเรามักจะชวนพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวมาร่วมกิจกรรมกันด้วย ทำให้เกิดพ่อแม่ของประชาชนจำนวนมาก การชุมนุมของกรรมกรถูกก่อกวนคุกคาม มีการเสียชีวิตที่มีเงื่อนงำมากมายและไม่เคยจับใครได้ ตั้งแต่นิสิต จิรโสภณ แสง ร่งนิรันดรกุล บุญสนอง บุณโยทยาน ผู้นำชาวนาถูกลอบฆ่านับสิบคน กรรมกรหญิงชื่อ สำราญ คำกลั่น ก็ถูกยิงเสียชีวิต ขบวนนักเรียนนักศึกษาที่ไปชนบททั่วไปก็โดนขัดขวางก่อกวนในพื้นที่ [4]
ในที่สุดแกนหลักของศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติ เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เทิดภูมิ ใจดี ประสิทธิ์ ไชโย(เขตอ้อมน้อย)และอดีตผู้นำนักศึกษาหลายคน ก็ตัดสินใจไปเข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตชนบท โดยเดินทางออกนอกประเทศไปก่อนที่จะย้อนกลับเข้ามาในประเทศ เพราะประเมินสถานการณ์แล้วคงจะโดนปราบปรามแน่นอน [5]
สหภาพฯอ้อมน้อยเป็นกำลังหลักและมีการต่อสู้ที่ดุเดือดในขณะนั้น พี่สุภาพ (แป๊ะ) พิสิฐพัฒนเสรี (บัง) จากศูนย์ประสานงานกรรมกรเป็นที่ปรึกษาอยู่ ฉันก็อยู่ในศูนย์ฯเมื่อไม่ได้เป็นกรรมกรแล้วจึงไปเป็นที่ปรึกษาสมทบด้วย พี่สงวนศรีเป็นแกนนำแทนประสิทธิ์ ไชโย โดยมีสงวนศรี เบญจางจารุ(เหน่ง) นักศึกษาปี1จากศูนย์ศึกษาปัญหากรรมกร เกษตรศาสตร์ไปร่วมด้วย
ช่วงนี้ทางครอบครัวฉันตัดสินใจมาเช่าตึกหน้าหอสมุดแห่งชาติที่เทเวศร์ เปิดเป็นร้านขายหนังสือ เพื่อให้แม่ไม่ต้องไปเย็บผ้าอีก ฉันช่วยขายบ้าง แปลหนังสือได้เงินบ้าง เวลาไปอ้อมน้อยก็ไปครั้งละหลายวัน คนงานจะหุงข้าวเลี้ยงพวกเรา ซึ่ง กินอยู่กันอย่างง่ายๆ ถ้าจำเป็นจริงๆฉันก็เคยขอเงินค่ารถกลับบ้านจากบรรดาพี่ๆแกนนำสหภาพเหมือนกัน
ฉันและเหน่งเข้าไปสอนกฎหมายแรงงานในโรงงานเพชรเกษม เวลาที่คนงานออกกะ เรากลมกลืนไปกับคนงานจนไม่มีใครสงสัย มีการประท้วงเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สหภาพฯต้องเข้าไปเป็นที่ปรึกษา ฉัน พี่แป๊ะ บังและเหน่ง ก็ไปร่วมด้วยบางครั้ง วงดนตรีกรรมาชนของมหิดลมาเล่นให้คนงานที่ประท้วงบ่อยๆ เป็นจังหวะดนตรีและบทเพลงที่ปลุกเร้าใจกรรมกรมาก คาราวานก็เป็นวงโปรดของพวกเรามากเช่นกัน เวลาขากลับดึกๆพวกเราต้องระวังตัวกันมาก[6]
เจ้าของบ้านเช่าที่สหภาพฯอ้อมน้อยอยู่มานานถูกข่มขู่ จนขอให้พวกเราย้ายออกไป สหภาพฯไปหาที่เช่าใหม่ไม่ไกลจากนั้นแต่อยู่ในเขตอ้อมใหญ่ เย็นนั้นพวกเรากลับจากการไปร่วมชุมนุมประท้วงของคนงาน ก็เลยไปนอนเฝ้าที่ทำการใหม่ของสหภาพฯ ข้าวของเครื่องใช้ยังเกะกะเต็มไปหมด ฉัน เหน่ง บังและพี่แป๊ะ นอนหลับด้วยความเหนื่อยเพลีย... ไม่รู้ตัวกันเลยว่า เช้าวันรุ่งขึ้นจะถูกจับคดีคอมมิวนิสต์ พร้อมกับกรรมกรอีก 5 คน ที่ถูกจับในเวลาเช้ามืดวันเดียวกันที่อำเภอกระทุ่มแบน คือวิมุตติ์ ซึมรัมย์ วันทา รุ่งฟ้า ทองเหลือ มงคลอาจ พรหมา นานอก นรินทร์ อาภรณ์รัมย์ ในข้อหาคดีเดียวกับเรา[7]
ขบวนนักศึกษาประชาชน กรรมกร คณาจารย์และผู้รักความเป็นธรรม ต่างติดตามมาเยี่ยมเยียน และให้สัมภาษณ์วิจารณ์การจับกุมครั้งนี้เป็นจำนวนมาก อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า: “ การจับในข้อหาความผิดอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือกบฏภายในนั้น กินความกว้างเกินไปหากว่าใช้หนังสือเป็นหลักฐาน เพราะจะนำอะไรไปวัดได้ว่า หนังสือเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการกบฏ และย้ำว่าการที่นศ.ออกไปช่วยกรรมกรเป็นสิทธิของนักศึกษา การต่อสู้แต่ละครั้งกรรมกรก็หวังพึ่งนักศึกษา...” (ประชาชาติธุรกิจ 31มี.ค.19)
นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อคิด ... อย่าขังลืม ... “ ผลเสียของการตั้งข้อหาตามพรบ.คอมฯที่ผ่านมาคือในตอนจะไปจับ จะอ้างว่ามีหลักฐานพร้อมและชัดเจนทุกราย แต่ตอนที่จะส่งฟ้องศาล กลับอ้างว่าหลักฐานยังไม่พร้อม ยังต้องสอบสวนเพิ่มเติม ขอถามว่านี่มันเป็นเพราะอะไร..”(ประชาธิปไตย 2 เม.ย.19)[8]
[1] ฉันได้บันทึกการถอดเทปโดยละเอียดซึ่งตอนท้าย ป้าเลื่อนได้กล่าวสรุปอย่างน่าประทับใจไว้ว่า..“ภาระหน้าที่ของเราผู้ใช้แรงงานมีเกียรติแต่ว่ายากลำบากยาวนาน ถ้าเราดูจากอดีตถึงปัจจุบัน ก็นับว่าการต่อสู้ของแรงงานโดยเฉพาะสตรีไม่ได้หยุด ทั้งในการต่อสู้ก็ได้รับชัยชนะมาเป็นขั้นๆเหมือนกัน ถ้าเราดูในทางการเมืองนะ เราต่อสู้ในยุคเผด็จการ มาสู่ยุคประชาธิปไตย เดี๋ยวนี้เรายังอยู่ในยุคปฏิรูปการเมือง จะพิสูจน์ว่าประชาชนได้อะไรอย่างแท้จริงหรือไม่...แต่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ส.ส.ต้องจบปริญญาตรี นี่คือการกีดกันประชาชนผู้ใช้แรงงาน.. การเลือกตั้งแต่ละครั้งฉันยังเสียใจนะ ประชาชนผ่านการต่อสู้มามาก กรรมกรก็มีการจัดตั้งอย่างกว้างขวาง แต่เลือกผู้แทนแต่ละครั้ง ทำไมได้แต่พวกที่เป็นพรรคการเมืองที่เป็นชนชั้นนายทุน
...เรามีสิทธิตั้งสหภาพแรงงานก็นับว่าดีกว่าแต่ก่อนที่ไม่มีสิทธิ แต่เราจะใช้สหภาพอย่างไรนี้เป็นปัญหาที่ต้องค้นคว้า ใช้ยังไงให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน บางคนเข้าสหภาพฯ บางคนไม่เข้าฯ เกิดขัดแย้งกันเอง พวกที่ไม่ได้เข้าก็ว่าเป็นพวกนายจ้าง เราต้องเข้าใจนะว่า นายจ้างจะใช้นโยบายการแบ่งแยกแล้วปกครอง คือทำให้เราขัดแย้งและแตกแยกกันเอง ไม่สามัคคีกัน เราต้องใช้นโยบายสามัคคีกันให้เหนียวแน่นสู้กับเขา.....การเป็นผู้นำถ้าไม่มีอุดมการณ์นะ การขายตัวง่าย เพราะไปเป็นผู้นำมีพลัง นายทุนซื้อผู้นำแล้วก็แล้วเลย ผู้นำก็ไปหลอกกรรรมกร เราจะทำให้สหภาพฯเกิดประโยชน์ที่สุด ต้องมีอุดมการณ์.”..
[2] วนิดา (มด) เล่าเพิ่มเติมว่า... “การหยุดงานครั้งแรกไปหยุดที่นครปฐมก่อน นัดหยุดงานกันหมดเลย 200-300 คนและยึดโรงงานไว้ พอ ไม่มีการเจรจา7-8วัน ก็เอาเสื้อผ้า ฮาร่าไม่ว่าเป็นเสื้อ กางเกง ตอนนั้นเสื้อตัวละ100-200บาท กางเกง 400-500บาท ถือว่าแพงมาก โยนออกมาจากโรงงานเลยกองไว้...หลังจากนั้นโรงงานก็ปิด แล้วก็ลอยแพคนงานชุดนั้นหมด 200 คน ซึ่งมีจากตรอกจันทน์มาร่วมด้วย... มันมีกลยุทธ์นี้ด้วย พอสไตร๊ค์ปุ๊บ สั่งปิดโรงงานแล้วก็รับคนงานใหม่เข้ามาทำงาน จะถือโอกาสประกาศไล่คนงานเก่าออก ถ้ าไม่ออกจะผิดกฎหมาย ตำรวจก็จะมาใช้เงื่อนไขนี้มาเคลียร์คนงานเก่าออกจากโรงงาน วิธีตั้งแถวก็ตำรวจถือโล่ถือกระบองอยู่ข้างหน้า คนงานใหม่ก็อยู่ข้างหลังคือมาเปิดทางให้ เหมือนกรณี คนงานสแตนดาร์ดฯถูกปราบ แล้วผู้หญิงเกือบทั้งหมดก็ไม่ยอมก็ไปยืนขวางกัน เป็นการปะทะกันครั้งแรก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น