วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

มุมมองนักสังคมนิยมเรื่องผู้หญิง :ศรีบูรพา จิตร ภูมิศักดิ์ และ ซีโมน เดอโบวัวร์ การหลอมรวมอุดมการณ์ เฟมินิสต์ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ตอน๒ (มาร่วมเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี วันสตรีสากล)










  มุมมองเรื่องผู้หญิงของนักสังคมนิยม : ศรีบูรพา  จิตร ภูมิศักดิ์ และ ซีโมนเดอโบวัวร์
นับแต่คริสตศตวรรษที่ 18 และ 19    ที่เริ่มเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมและการผลิตแบบทุนนิยม     ผู้หญิงถูกผลักดันจากชนบทเข้าสู่ระบบการผลิตและภาคบริการ     ถูกกดขี่ขูดรีดแรงงานราคาถูก    ถูกกีดกันจากการมีสิทธิเลือกตั้ง   ถูกข่มเหงทางเพศในภาวะสงคราม   และการถูกขูดรีดทางเพศในการค้าหญิงและเด็ก  ประสบปัญหาสุขภาพอนามัย   ขาดสิทธิในการศึกษา  และสิทธิตามกฎหมายต่างๆ ที่ไม่เท่าเทียมกับผู้ชาย    ซึ่งการที่ผู้หญิงมีโอกาสทำงานนอกบ้าน  มีเงื่อนไขการรวมกลุ่ม   บางส่วนมีโอกาสได้ศึกษาและทำงานระดับสูงขึ้น  ทำให้ก่อเกิดขบวนการรณรงค์เพื่อสิทธิผู้หญิง    ที่มีหลากหลายเนื้อหาและพัฒนารูปแบบต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง    รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงเพื่อการมีส่วนมีเสียงในการร่วมตัดสินใจในกฎหมายและ นโยบายภาครัฐ      เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสมอภาค  และเสรีภาพของผู้หญิงทั้งมวลอย่างแท้จริง...
ฉันย้อนกลับไปอ่านกลุ่มงานเขียนที่มีแนวคิดสังคมนิยมชัดเจน     และมีอิทธิพลต่อกลุ่มเฟมินิสต์  14  ตุลา   พบว่าในประเด็นการต่อสู้ทางชนชั้นและความเป็นธรรมมีอยู่จำนวนมาก  โดยเฉพาะงานเขียนรุ่นเก่าช่วง พ.ศ.2500  ที่ได้รับการรื้อฟ้นมาตีพิมพ์ใหม่ช่วงก่อนและหลัง 14 ตุลา  โดยถือเป็นแบบอย่างแห่งวีรชนนักต่อสู้เผด็จการ     งานที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นผู้หญิงมีไม่มากนักแต่ก็มีอิทธิพลในยุคนั้นและช่วยปลุกเร้าใจให้ผู้หญิงตระหนักถึงพลังของตนเอง   และภาระหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม   รวมทั้งการปลดปล่อยผู้หญิง  [1]   
ที่เด่นๆ เช่น 
กุหลาบ สายประดิษฐ์  ใน กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติและระเบียบสังคมของมนุษย์ (กุหลาบ: 2523 ) และปาฐกถาเรื่อง  “ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์” เมื่อ 7 มิถุนายน 2495  ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง( กุหลาบ: 2519 )     ที่กุหลาบอิงจากการวิเคราะห์ของเองเกลส์เป็นหลัก   ในปาฐกถาได้คัดค้านคำอ้างที่ว่า   สตรีได้ตกเป็นทาสของบุรุษมาตั้งแต่เริ่มมีสังคมมนุษย์     โดยชี้ว่าในยุคที่มนุษย์เป็นคนป่าและในยุคที่เป็นอนารยชนในตอนกลาง   สตรีดำรงฐานะที่เป็นอิสระและยังได้รับความยกย่องอย่างสูงจากบุรุษ( น.18)     และเมื่อมีการเลิกล้างสิทธิทางมารดา   ก่อตั้งสิทธิทางบิดาขึ้นแทนที่    เป็นผลให้ผู้ชายได้เข้าถืออำนาจการปกครองในบ้าน    ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติประหนึ่งเป็นทาสสำหรับบำเรอราคะของผู้ชาย(น.30)   และ
ควรเป็นที่เข้าใจว่า    การที่ผู้ชายคนหนึ่งรวบรวมเอาผู้หญิงจำนวนหนึ่ง   มารวมไว้เป็น ภรรยาหรือนางบำเรอของตนโดยเฉพาะนั้น    มนุษย์จำพวกคนป่าหาได้กระทำไม่    สิ่งที่มนุษย์คนป่าปฏิบัติต่อกันนั้นคือ     ความเสมอภาคระหว่างชายหญิงที่จะมีภรรยาและสามีพร้อมกันได้หลายๆคน (น.33)    
กุหลาบวิจารณ์สถานภาพที่ตกต่ำของผู้หญิงในสังคมไทย  และเรียกร้องให้สังคมยอมรับความเท่าเทียมของชายและหญิง   วิพากษ์วิจารณ์ทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิง  เช่น  เป็นเพศอ่อนแอ   เป็นช้างเท้าหลัง  และการยอมรับให้ชายมีภรรยาหลายคนได้     ทั้งนี้กุหลาบเสนอให้แก้ไขความไม่เป็นธรรมที่ต้นเหตุคือการครอบครองอำนาจทางเศรษฐกิจของบุรุษไว้เพียงผู้เดียวโดยเน้นว่า
  ’ตราบใดที่สตรีไม่พยายามจะยืนขึ้นด้วยเท้าของตนเอง       และไม่คิดจะพึ่งตนเองด้วย
  การทำงานด้วยความสำนึกอันแน่วแน่แล้ว        ก็เป็นการไร้ประโยชน์ที่สตรีจะเรียกร้อง
   ความเสมอภาคระหว่างเพศ     การเรียกร้องที่ปราศจากความสำนึกในอันจะพึ่งกำลัง
   ของตนเอง   ในอันจะสลัดความรู้สึกต่ำต้อยออกไปให้หมดนั้น   หากจะได้มาซึ่งความ
   เสมอภาค     ก็จะเป็นความเสมอภาคที่ผู้ชายเขาจะเขียนไว้ให้เธอแต่บนแผ่นกระดาษ
   เท่านั้น(น.52)และ ‘ ท่านสตรีทั้งหลาย   จงออกมายืนเรียงเคียงไหล่กับบุรุษเถิด    จง
   ก้าวออกมาจากฐานะของช้างเท้าหลัง      มาเป็นเท้าหนึ่งของสองเท้าหน้าด้วยกันเถิด
    แล้วเราจักก้าวไปข้างหน้าเคียงบ่าเคียงไหล่กันไป’   (น.53)



          ในส่วนของ จิตร  ภูมิศักดิ์  ที่คนเดือนตุลาและประชาชนจำนวนมาก  ผูกพันและประทับใจในชีวิตการต่อสู้ของเขาอย่างสูง   มีงานเขียนเรื่องผู้หญิงจำนวนหนึ่ง    ที่ถูกอ้างถึงมากคือ’ อดีต  ปัจจุบัน  และอนาคตของสตรีไทย’   เมื่อ พ.ศ.2500        ในนามปากกาสมชาย  ปรีชาเจริญ  (จิตร :2519)  โดยวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพของผู้หญิง กับวิถีการผลิตที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุค   และแสดงให้เห็นว่าสถานภาพที่ตกต่ำของผู้หญิงไทยเกิดจากการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ  การเมือง   การควบคุมทางสังคมของคนเพียงกลุ่มเดียว   ที่โดดเด่นคือ     การวิพากษ์วิจารณ์ระบอบศักดินา ที่เหยียบย่ำและลดคุณค่าผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุบำบัดความใคร่และทาสรับใช้ในเรือนที่ซื่อสัตย์ของชาย  เห็นผู้หญิงเป็นเพียงดอกไม้และเครื่องประดับบารมี  โดยวิจารณ์วรรณคดียุคศักดินาที่มอมเมาผู้หญิงให้รับใช้สามี    และอดทนต่อการทารุณกรรมใดๆ    เพราะต้องพึ่งพิงสามี    จึงเป็นการรัดรึงด้วยโซ่ตรวนแห่งประเพณีถอยหลังเข้าคลอง 
 จิตรยกย่องการต่อสู้ที่คัดค้านการคลุมถุงชนในยุคศักดินา  เล่าอย่างละเอียดถึงอำแดงเหมือน   ที่จิตรถือเป็นวีรสตรีน้อยๆ ที่การต่อสู้ของเธอได้ช่วยยกระดับฐานะของหญิงไทยทั้งมวล... 
 อำแดงเหมือนเกิดที่แขวงจังหวัดนนทบุรี   เมื่อพ.ศ.2308 มีอายุ 22ปี  ถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานกับนายภู   จึงหนีไปอยู่กับชายคนรักชื่อนายริด    เจ้าเมืองและตุลาการพยายามให้เธอยอมรับว่าเป็นภรรยาของนายภูแล้ว   เพื่อจะตัดสินให้นายริดแพ้ความถือเป็นชายชู้     เมื่อเธอไม่ยินยอมก็ถูกคุมขังไว้ในตารางเสมือนนักโทษและให้ทำงานหนัก     เธอหลบหนีเข้ามาถึงกรุงเทพฯแล้วทำฎีการ้องเรียนขอความเป็นธรรม   รัชกาลที่ 4 จึงได้ตัดสินให้อำแดงเหมือนสมรสกับนายริด... เพราะหญิงนั้นอายุ 20 เศษแล้ว  ควรจะเลือกหาผัวตามใจชอบตัวได้ (น.108)   และต่อมา  รัชกาลที่ 4  ได้ออกพระราชบัญญัติใหม่ให้ชายหญิงเลือกคู่ครองได้ตามความพอใจ (น.109)       
จิตรวิเคราะห์ว่า  จากที่ให้มีการเลือกคู่ครองโดยสมัครใจ   ผู้หญิงยังถูกกดขี่ทั้งทางชนชั้นและทางเพศ    โดยถ้าหญิงเป็นคนในตระกูลต่ำ  ชายเป็นคนในตระกูลสูง     เมื่อเกิดการลักพาให้ตุลาการตัดสินตามความสมัครใจของชายหญิงนั้น   แต่ถ้าหากเป็นหญิงในตระกูลสูง  ชายตระกูลต่ำ  ให้สุดแท้แต่พ่อแม่ของหญิงเป็นเกณฑ์  
นอกจากนี้  รัชกาลที่ 4 ได้แก้ไขกฎหมายหย่า  จากเดิมชายเท่านั้นมีสิทธิฟ้องหย่าหญิงได้หญิงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าชายโดยเด็ดขาด    แต่จิตรกล่าวถึงการตัดสินคดีหย่าว่า   ยังคงตั้งบนพื้นฐานของการกดขี่ทั้งทางชนชั้นและทางเพศเช่นเดิม   เช่น  การแบ่งลูก   ลูกชายให้เป็นสมบัติของแม่   ลูกหญิงให้เป็นสมบัติของพ่อ  แต่ใช้เฉพาะไพร่และข้าราชการที่มีศักดินาต่ำกว่า 400 ไร่เท่านั้น  ถ้าพ่อมีศักดินาสูงกว่า  400  ไร่แล้ว   ให้ถือความประสงค์ของพ่อเป็นเกณฑ์   แต่ถ้าหากหญิงบรรดาศักดิ์สูงได้ผัวไพร่    เมื่อมีลูกด้วยกัน   ลูกจะต้องเป็นสมบัติของหญิงทั้งหมด  (น.110-111)
จิตรชี้ว่า  หญิงไทยมิได้อ่อนแอ  ไร้สมรรถภาพ  แต่การศึกษาอบรมที่ได้รับ  มีแต่สอนว่าเป็นเพศอ่อนแอ  ต้องพึ่งพิงสามี  และสอนให้ไปเป็นทาสรับใช้ในครัวเรือนเท่านั้น   ในยุคทุนนิยมกึ่งศักดินา   จิตรมองว่าชนบทที่เริ่มล้มละลาย  ทำให้หญิงชายต้องมาขายแรงงาน   แต่ไม่มีงานเพียงพอ   ต้องกลายเป็นโสเภณี  หรือยอมเป็นเมียเก็บ  และบางส่วนเข้าสู่เวทีประกวดนางงามที่กลายเป็นอีกแหล่งหนึ่งของการถูกกว้านเข้าฮาเร็มโดยผู้มีอำนาจ

ภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ จิตร เรียกร้องต่อหญิงไทยมีสองส่วน (น.147-148)คือ 
- สิทธิอันชอบธรรมในชีวิตสมรสอิสระ  เช่น  สิทธิในการเลือกคู่ครอง   สามีภรรยามีสิทธิเท่าเทียมกันในชีวิตครอบครัว  และมีสิทธิร้องขอหย่าขาดจากกัน     สิทธิในการทำนิติกรรมเป็นสิทธิร่วมกัน   เมื่อหย่าร้างต้องจัดสินสมรสเพื่อดูแลบุตรภรรยา  สิทธิในการมีคู่ครองระบอบผัวเดียวเมียเดียวต้องได้รับการประกันอย่างเคร่งครัด  ชายไม่มีสิทธิมีนางบำเรอ
- สิทธิในการทำงาน  เช่น  สิทธิในการมีงานทำและเลือกประเภทงานอย่างอิสระ   สิทธิในการได้ค่าตอบแทนเท่ากับชายในผลงานที่เท่ากัน    และสิทธิในการเลื่อนตำแหน่งงานเท่าเทียมชาย    สิทธิในการได้รับบริการทางสังคมทั้งมวลเท่าเทียมชาย   สิทธิชาวนาสตรีที่จะได้เป็นเจ้าของผืนนาที่ตนไถ  และที่สำคัญคือ    สิทธิในการได้รับการพิทักษ์แม่และเด็กจากรัฐ   ได้รับเงินอุดหนุนเพียงพอทั้งก่อนและหลังการคลอดบุตร    ได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลทั้งเมืองและชนบทอย่างทั่วถึง
เป็นที่น่าสังเกตว่า  ข้อเรียกร้องของจิตรมีทั้งแนวคิดแบบสังคมนิยม   สอดคล้องกับสตรีนิยมเสรีนิยม  รวมทั้งนักคิดสตรีนิยมอื่นๆในหลายประเด็น  นอกจากนี้   จิตรได้พูดถึงลักษณะพิเศษของผู้หญิงที่ต่างจากชายและเป็นพื้นฐานที่ดีในการต่อสู้ของผู้หญิง    เพื่อความก้าวหน้าและความผาสุกของชีวิตทั้งหลาย  ทั้งของเพศหญิง  ของลูก  และของมวลมนุษยชาติ  เช่น  ความละเอียดอ่อน  พลังของความอดทนต่อความทุกข์ยาก  ความรัก    ความผูกพันแม่ลูก    ซึ่งความรักที่มีต่อเด็กทำให้สตรีทั้งมวลสนใจพิทักษ์รักษาชีวิตและสิทธิของเด็ก  และในการคัดค้านสงคราม  พิทักษ์สันติภาพ
    สุชีลา  ตันชัยนันท์   วิเคราะห์ ผู้หญิงในทัศนะของจิตร  ภูมิศักดิ์ ว่า   จิตรได้นำแนวการศึกษาของมาร์กซ    มาใช้ประกอบการวิเคราะห์ของประวัติศาสตร์ไทยอย่างจริงจัง   รวมทั้งงานศึกษาด้านผู้หญิงไทยด้วย    โดยเน้นที่การวิเคราะห์บทความ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของสังคมไทยของจิตรว่า   เป็นการอธิบายสถานภาพที่ต่ำของหญิงไทย   โดยสัมพันธ์กับวิถีการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุค   และเกิดจากการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ  การเมือง  และการควบคุมทางสังคมของคนเพียงกลุ่มเดียว   ทำให้เกิดการกดขี่ทางชนชั้นและการกดขี่ทางเพศ โดยระบอบศักดินากำหนดให้ผู้หญิงเป็นวัตถุบำบัดความใคร่และทาสรับใช้ที่ซื่อสัตย์      ส่วนระบอบทุนนิยมกำหนดให้ผู้หญิงเป็นสินค้า   
 สุชีลา  เชื่อมโยงถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มสตรีนิยมต่อแนวการศึกษาของลัทธิมาร์กซว่า  มีขีดจำกัดในการอธิบายปัญหาของผู้หญิง    ซึ่งข้อเขียนของจิตรก็มีข้อจำกัดเช่นนั้นด้วย  โดยที่จำกัดอยู่แต่ในเรื่องของวิถีการผลิต   ยังขาดการพิจารณาและอธิบายให้เห็นถึงกลไกการทำงานและความสัมพันธ์   ระหว่างวิถีการผลิตกับระบบชายเป็นใหญ่ว่ามีส่วนเกื้อหนุนกันอย่างไร   นอกจากนี้จิตรยังมีความไม่ชัดเจนในการอธิบายปัญหาเพศธรรม (sexuality)     ว่าเหตุใดทั้งศักดินาและทุนนิยมจึงต้องควบคุมเพศและร่างกายของผู้หญิง   (สุชีลา : 2531)

ฉันยังจำความประทับใจจากนวนิยายเรื่อง “แม่”ของแม็กซิม  กอร์กี้     ซึ่งกุหลาบแปลได้เพียงภาค 1 จากในคุก   และต่อมา จิตร  ภูมิศักดิ์ ได้แปลเรื่องแม่นี้จบทั้งสองภาค   โดยสะท้อนภาพผู้หญิงที่ถูกกดขี่  และลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างกล้าหาญ   ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ช่วง 14 ตุลา     และยอมรับกันว่า   เป็นวรรณกรรมอมตะที่ปลุกเร้าใจทั้งหญิงและชายอย่างมาก 
 เฟมินิสต์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง  คือซีโมน เดอ โบวัวร์   ที่มักถูกอ้างอิงจากขบวนเฟมินิสต์ทั่วโลกจากหนังสือเพศที่สองว่า   เธอไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิง  แต่ถูกทำให้เป็นผู้หญิง’      ซึ่งมีบทสัมภาษณ์หลายตอนในหนังสือ ซีโมน เดอ โบวัวร์   ผู้หญิงที่ขบถ  (อมรสิริ - กนิษฐ์:2534 )  ที่เชื่อมั่นถึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการต่อสู้ทางชนชั้น   กับการต่อสู้ทางเพศ
 ต่อคำถามที่ว่า  กระแสเฟมินิสซึ่มกำลังฮิต  จนขบวนการสันติภาพในเยอรมันตะวันตกชูคำขวัญ แม่ผู้พิทักษ์ชีวิต’   ‘ผู้หญิงมีธรรมชาติรักสันติภาพมากกว่าผู้ชาย’    ซีโมนตอบว่า :
เหลวไหล    เพราะว่าผู้หญิงต้องต่อสู้เพื่อสันติภาพในฐานะที่เป็นมนุษยชาติ      ไม่ใช่เพราะเป็นผู้หญิง   เหตุผลแบบนี้ไร้สาระสิ้นดี .. . ถ้าผู้หญิงยังคงติดอยู่กับเรื่องที่ว่า    ผู้หญิงมีคุณสมบัติในการเลี้ยงดูลูก   หรือว่ามีคุณสมบัติพิเศษเหนือกว่าชาย     ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อที่ผิดๆต่อบทบาทของผู้หญิง (น.175-176)
 ทำไมเฟมินิสต์ไม่ยอมรับผู้ชายให้เข้าร่วมอยู่ภายในกลุ่ม?     เธอมีมุมมองว่า :
 ‘แนวโน้มของฉันก็คือ    ต้องการเชื่อมโยงการปลดปล่อยทางเพศให้เข้ากับการต่อสู้ทางชนชั้น   ฉันหวังว่าการต่อสู้ของผู้หญิงในรูปแบบที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับใครนั้น   จะสัมพันธ์กับการต่อสู้ที่พวกผู้หญิงต้องทำร่วมกับผู้ชาย. (น.79)
โดยเธอเน้นว่าควรเป็นเพียงขั้นตอนผ่าน    เพราะผู้ชายชอบออกคำสั่งด้วยความเคยชินและผู้หญิงยังมักคิดว่าตนเองด้อยกว่า    ฉะนั้นจึงทำเพื่อไม่ให้ผู้หญิงต้องมัวพะวงกับคำวิพากษ์วิจารณ์และทำให้การแลกเปลี่ยนความคิดในกลุ่มผู้หญิงมีความจริงใจและตรงไปตรงมา  เธอย้ำว่า
 เราต้องสู้ที่ระบบ และขณะเดียวกันผู้หญิงก็ต้องไม่ไว้ใจผู้ชาย    แม้จะไม่ถึงกับต้องเป็น
   ศัตรูด้วย    ก็จะต้องระมัดระวังเพื่อที่ผู้ชายจะได้ไม่เข้ามาก้าวก่ายกิจกรรมภายในกลุ่ม
   หรือเข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของเรา...  แม้แต่ผู้ชายที่เป็นเฟมินิสต์เราก็ต้องไม่ไว้ใจ
   และต้องคอยระมัดระวังกับความคิดที่มีชายเป็นใหญ่     พวกเราไม่ต้องการรับความ
   เสมอภาคที่คนอื่นยื่นมาให้    แต่เราต้องการได้มันมาด้วยมือของเราเอง (น.80)
   นอกจากนี้ซีโมนย้ำวิธีปลดปล่อยผู้หญิง คือ   ผู้หญิงต้องทำงานนอกบ้าน    เพราะเป็นเงื่อนไขแรกของความเป็นอิสระ   และ ต้องให้ผู้หญิงมีอิสระในการตัดสินใจที่จะมีลูก    สนับสนุนให้มีการคุมกำเนิด     และให้ผู้หญิงที่ไม่ปรารถนามีลูกทำแท้งได้        ช่วยแบกรับภาระการเป็นแม่ของผู้หญิง   ด้วยการสนับสนุนให้มีสถานเลี้ยงเด็ก



[1]กุหลาบ สายประดิษฐ์, ฐานะของสตรีตามที่เป็นมาในประวัติศาสตร์  ,2519   สมชาย  ปรีชาเจริญ(นามแฝงของจิตร  ภูมิศักดิ์), อดีต  ปัจจุบัน และอนาคตของสตรีไทย,   พิมพ์ครั้งที่ 1   สารเสรี 2501,พิมพ์ครั้งที่สอง  บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินาของจิตร  ภูมิศักดิ์    สำนักพิมพ์แสงตะวัน 2517, พิมพ์ครั้งที่สาม  สำนักพิมพ์แสงตะวัน 2518 และต่อมาพิมพ์ครั้งที่ 4 ใน ประวัติศาสตร์สตรีไทย  ชมรมหนังสือแสงดาว 2522   และอ่านบทวิเคราะห์เพิ่มเติมใน สุชีลา  ตันชัยนันท์,ผู้หญิงในทัศนะของจิตร  ภูมิศักดิ์ ในวารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง, ตุลาคม  2531


https://www.facebook.com/photo.php?fbid=205622969476966&set=a.205622512810345.49912.100000877944482&type=3&theater

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น