วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

คารวะรำลึกวีรชนพฤษภา...ปูทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ๒๕๔๐ โดย สุนี ไชยรส(ไทยโพสต์๑๖ พค.๕๙)

คารวะรำลึกวีรชนพฤษภา...ปูทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ๒๕๔๐ (ไทยโพสต์ ๑๖ พ.ค.๕๙
คารวะรำลึกวีรชนพฤษภา...ปูทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ๒๕๔๐
สุนี ไชยรส อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
ในวาระ ๒๔ ปีแห่งการต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม ๒๕๓๕ ขอสดุดีจิตใจกล้าหาญของวีรชน ผู้พิการและผู้สูญหายที่ยังไม่มีคำตอบจนทุกวันนี้ และขอคารวะรำลึกเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่มุ่งสู่การสร้างความเป็นธรรม และสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน บนฐานสามประสาน นักศึกษา กรรมกร ชาวนา


ผลยิ่งใหญ่แห่งการเสียสละครั้งนี้สะสมพัฒนาร่วมกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเป็นธรรม กรณี ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ โดยได้รวมทุกฝ่ายในทุกการต่อสู้มาเข้าร่วมในเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ ผลเป็นรูปธรรมคือ ทำให้เกิดกระแสผลักดันในสังคมไทยอย่างกว้างขวางทั่วประเทศให้เกิดการปฏิรูปการเมืองก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองของประชาชนไทย คือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่มีตัวแทนจากทุกฝ่ายทั่วประเทศ กำหนดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวาง ทำให้รัฐธรรมนูญ๒๕๔๐ แม้จะไม่สมบูรณ์ทั้งหมด แต่ได้รับการยอมรับว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ส่งเสริมคุ้มครองหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุด คือ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพของบุคคลและสิทธิชุมชน และความเสมอภาค
รัฐธรรมนูญ๒๕๔๐ ประชาชนรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของตั้งแต่กระบวนการร่าง จนถึงการผลักดันให้รัฐสภามีมติยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ
เมื่อเกิดการรัฐประหารอีกครั้งปี ๒๕๔๙ กระแสเติบโตเรื่องประชาธิปไตย แบบมีส่วนร่วมของประชาชนได้พัฒนาจนไม่อาจย้อนกลับไปเริ่มต้นแบบล้าหลังได้ ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ แม้จะมีปัญหาที่สำคัญถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น เช่น โครงสร้างการเมืองและที่มาขององค์กรอิสระ แต่ในหมวดสิทธิเสรีภาพ ทั้งสิทธิบุคคลสิทธิชุมชน การกระจายอำนาจ และความเสมอภาค ไม่ได้ลิดรอนหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กระทั่งมีการพัฒนาบางเรื่องดีขึ้น โดยมีการทำประชามติทั่วประเทศ ที่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันมากทีเดียว
วันนี้สังคมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายว่า ทุกฝ่ายจะสรุปบทเรียนจากอดีต ไม่แก้ปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง และเราจะฝ่าด่านหลังการรัฐประหารปี ๒๕๕๗ ให้ดีที่สุดได้อย่างไร เพื่อนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ที่ทุกฝ่ายยอมรับ และเพื่อพัฒนาให้เกิดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญหลากหลายประเด็น ความพยายามที่จะทำให้สังคมไทยยอมรับร่างรัฐธรรมนูญผ่านการประชามติดูเป็นหนทางที่น่าจะดี แต่การมีประชามติเรื่องสำคัญอย่างยิ่งและซับซ้อน เพราะต้องเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับครั้งนี้ จำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการทำความเข้าใจเนื้อหาทุกหมวด และในภาพรวม และเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวางที่สุด เพื่อทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นเท่าที่จะทำได้ และมีโอกาสพัฒนาแก้ไขความขัดแย้งในอนาคต
แต่เป็นที่น่าเสียดาย เมื่อมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๙ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๙ เพื่อควบคุมดูแลการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ นั้น ปรากฏว่ากฎหมายฉบับนี้มีเนื้อหาขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗ อย่างชัดแจ้ง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖๑ วรรคสองว่า
"ผู้ใดดําเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย"
ความผิดตามมาตรานี้มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้ และหากเป็นกรณีที่เป็นการกระทําความผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดสิบปี
หากมีผู้ใดเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นใดก็จำเป็นที่จะต้องมีเสรีภาพในการเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นต่อสาธารณะ รวมทั้งเสรีภาพที่จะรณรงค์สนับสนุนหรือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สาธารณชนได้เรียนรู้เข้าใจข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญก่อนร่วมกันลงเสียงประชามติ แต่บทลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้ไม่เอื้อประชาชนทุกกลุ่ม นอกจากหน่วยงานของรัฐ
สังคมไทยเริ่มจะเรียนรู้จากการร่างรัฐธรรมนูญหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเหตุการณ์ พฤษภาฯ ๒๕๓๕ ว่า รัฐธรรมนูญต้องไม่อยู่ในมือของนักกฎหมาย หรือใครคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นผลให้เกิดการมี ส.ส.ร. และ ร่าง รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐
สังคมไทยต้องมองรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องผลักดันให้ดีที่สุด สร้างการเรียนรู้ และเปิดพื้นที่ของภาคประชาชนให้มาก อย่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ ผลพวงจากพฤษภาประชาธรรม๒๕๓๕ สร้างผลสะเทือนจากที่รัฐธรรมนูญเคยกระจุกตัวอยู่กับวงเล็กๆ ของนักกฎหมายไม่กี่คนกลายเป็นผู้คนหันถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการตื่นตัวและใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นวัฒนธรรมใหม่ ส่วนเรื่องประชามตินั้น เป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้าและทำให้ทุกฝ่ายต้องยอมรับจึงจะเป็นขั้นตอนแรกที่เป็นประโยชน์มากที่สุด และทำให้การประชามติมีความชอบธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น