ฉันตัดสินใจไม่ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ และปฏิบัติการไปเรียบร้อยแล้ว.เมื่อ ๒๖ มกราคม ๕๗ พร้อมรับการเสียสิทธิตามกฎหมายโดยไม่แจ้งเหตุ..เพราะฉันแจ้งจดทะเบียนเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด ซึ่งต้องไปใช้สิทธิเมื่อ ๒๖ มกราคม ... สิทธิไปหรือไม่ไปเลือกตั้งเป็นสิทธิส่วนตัวของฉัน เป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย
เหตุผลสำคัญคือมองไม่เห็นความหวังในอนาคตที่ดีของสังคมและประชาชนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ มองไม่เห็นว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงจากปัญหาที่กระหน่ำทับปชช.และสังคมอย่างหนักหน่วงจากนโยบาย จากโครงสร้างของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาจากกฎหมาย ปัญหาจากการเข้าใจผิดว่า เมื่อรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง มีเสียงข้างมากในสภา ไม่ต้องฟังเสียงประชาชน
เมื่อชัดเจนว่ารัฐบาลที่จะเกิดขึ้น ไม่ยอมรับความผิดพลาดในนโยบายมากมายที่กระทบต่อประชาชน ...ไม่มีการชี้แจงว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ประชาชนคัดค้านวิพากษ์ และไม่ยอมรับทางออกที่สังคมเสนอกันกว้างขวางให้มีการตกลงกติกาเพื่อเตรียมการปฏิรูปการเมืองก่อน โดยยอมเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ...โดยที่ไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง ...เพียงแต่ผู้คนไม่เชื่อมั่นว่าเลือกตั้งไปแล้ว จะดำเนินการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังได้ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลไม่รับฟังความเห็นปชช. อ้างแต่การมาจากการเลือกตั้ง อ้างแต่เสียงข้างมากในสภา...ดำเนินการตามใจชอบอย่างไม่มีใครคาดคิด....
... เช่น ปัญหาโครงการจัดการน้ำ ๓๕๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
โครงการกู้เงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท
นโยบายเรื่องพลังงาน เรื่องแร่และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ . รัฐบาลมีนโยบายเข้าข้างกลุ่มทุน การไม่แก้ไขปัญหาที่ดิน จนผู้คนถูกจับถูกติดคุกมากมาย ..
การไม่สนใจรับฟังความเห็นปชช.และเคารพสิทธิตามรัฐธรรมนูญของการเสนอร่างกม.เข้าชื่อฉบับประชาชน อาทิ การคว่ำร่างกม.ประกันสังคมที่เป็นกฎหมายเข้าชื่อของขบวนแรงงานและเป็นประโยชน์ต่อแรงงานหลายสิบล้านคน ...
อีกทั้งร่างกฎหมายสำคัญของประชาชนถูกถ่วงเวลาหลายปี เช่น องค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค และร่างกม.เข้าชื่อ ๑๒ ฉบับ ที่นายกฯไม่ยอมรับรองทางการเงินค้างเติ่งมาหลายปี เช่น กม.องค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ
นอกจากนั้นยังเร่งรัดหักดิบให้ออกกม.นิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๙๐...ฯลฯ
เมื่อรัฐบาลไม่เปิดทางเลือกให้ประชาชนที่ต้องการมีความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปในทุกด้านและสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย.....ฉันจึงไม่ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้
การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ได้หมายถึงการคัดค้านระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นสิทธิการตัดสินใจของแต่ละคน ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต้องหมายถึงการมีสิทธิเสียงตัดสินใจของประชาชน ที่เลือกตั้งตัวแทนมาทำหน้าที่บริหาร..บนหลักการให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิมีเสียงต่อไปหลังการเลือกตั้งที่สามารถร่วมจัดการฐานทรัพยากรเพื่อคุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมของชุมชนตนเอง และสามารถตรวจสอบรัฐบาล นักการเมืองได้
ฉันยังเชื่อมั่นว่าอนาคตของสังคมไทย อนาคตของประชาชนยังมีความหวังเสมอ
สุนี ไชยรส,๓๐ มกราคม ๕๗
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น