วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

การปฏิรูปกฎหมายแรงงานไทยรองรับประชาคมอาเซียน


การปฏิรูปกฎหมายแรงงานไทย
รองรับประชาคมอาเซียน                                                                      
                                                สุนี ไชยรส                                                                                                                   รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย    (บทความในงานวันนิคม จันทรวิทุร ปี๒๕๕๖ วันที่ ๓๑ ตค.๕๖ ที่กระทรวงแรงงาน)

   
         การสร้างและพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมให้ทุกคนในสังคมมีหลักประกันพื้นฐานในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเพื่อให้คนทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ดังนั้นการส่งเสริมและคุ้มครองระบบการดูแลคนวัยทำงานจึงเป็นข้อต่อสำคัญที่สุดของทุกคนและทุกครอบครัว ในการทำงานเพื่อดูแลตัวเอง ลูกหลาน พ่อแม่ญาติพี่น้อง นั่นคือการพัฒนาสร้างฐานแห่งชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงชราภาพ ในเรื่องค่าตอบแทนและสวัสดิการ สุขภาพอนามัย ความปลอดภัยในชีวิตการทำงาน  หรือแม้แต่ในยามที่พิการ  หรือต้องจากไป ซึ่งเป็นการลดภาระของรัฐในการแก้ปัญหาระยะยาวอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับความต้องการของคนทำงาน
                  จากการศึกษาและรับฟังปัญหากฎหมายแรงงานของไทยที่มีอยู่ พบว่า แม้กฎหมายแรงงานของไทยจะก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ  แต่ก็ยังมีปัญหาดำรงอยู่ในเชิงเนื้อหาสาระ และกลไกการบังคับใช้ในภาพรวมยังมีความลักลั่น เช่น คำนิยามของลูกจ้าง และนายจ้างที่ต่างกัน  เป็นช่องว่างสำคัญให้คนทำงานจำนวนมากไม่ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายต่างๆ ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน การประกันสังคม ที่สำคัญมีข้อจำกัดในกลไกคุ้มครองการรวมกลุ่ม  การเจรจาต่อรองร่วมในกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ อีกทั้งมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย  รวมถึงปัญหาจากกฎหมายลำดับรอง  การเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในกลไกเชิงบริหารของรัฐ และกระบวนวิธีการพิจารณาของศาลแรงงาน
                  เมื่อประกอบกับโครงสร้างสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างสูง มีช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนอย่างมาก  ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังขาดปัจจัยการผลิต  ทั้งที่ดินทำกินและอยู่อาศัย  มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินทุน  การไม่มีกลุ่มแรงงานที่เข้มแข็งจึงทำให้มีอำนาจต่อรองต่ำ ส่งผลต่อระบบค่าจ้างและสวัสดิการในการทำงานที่ต่ำและส่งผลให้ระบบสวัสดิการสังคมอ่อนแอ  คนทำงานโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงานทั่วไปทั้งในและนอกระบบ  จึงยิ่งประสบความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม ไม่มั่นคงในชีวิตทั้งของตนเองและครอบครัว ทั้งแรงงานไทยในประเทศ และแรงงานไทยไปต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยด้วย แม้กฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทยจะยึดหลักคุ้มครองแรงงานข้ามชาติเท่าเทียมกับแรงงานไทย


                  ยุคแห่งโลกาภิวัฒน์ที่ผ่านมา  มีการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสร้างคุณค่าให้ประเทศอื่นๆอย่างกว้างขวางทั่วโลก  เมื่อมีการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ยิ่งมีแนวโน้มที่จะมีการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริการมากยิ่งขึ้น  ความต้องการแรงงานและการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนก็จะมากขึ้น แต่กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานของแต่ละประเทศสมาชิกยังคุ้มครองและส่งเสริมไม่เท่าเทียมกัน  ทำให้มีปัญหาความไม่เป็นธรรม และไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลของสหประชาชาติและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งมาตรฐานเบื้องต้นของอาเซียนเอง เช่น ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและการส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ปฏิญญาเซบู) ทำให้แรงงานในแต่ละประเทศ ทั้งแรงงานชาตินั้นๆแรงงานข้ามชาติในแต่ละประเทศ ยังขาดการคุ้มครองดูแลตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น 

               ในการก่อตั้งประชาคมอาเซียนเน้นถึงความสำคัญของการร่วมมือกันโดยแบ่งเป็นการพัฒนา ๓ เสาหลักควบคู่กัน คือ ประชาคมด้านเศรษฐกิจอาเซียน  ประชาคมด้านความมั่นคงและการเมือง  และประชาคมด้านสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน  แต่กระแสของประเทศสมาชิกอาเซียน อาเซียนและรัฐบาลไทยเอง  ยังให้ความสำคัญเน้นหนักแต่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน   ทำให้ละเลยต่อการตระเตรียมพัฒนาทั้งนโยบายและกฎหมายด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม  สิทธิมนุษยชน และ การให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตามเสาหลักที่ ๓ ที่เน้นถึง..
            ...การเคารพ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน เคารพเสรีภาพ มีความเสมอภาคระหว่างเพศ  
            ...เคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรม และภาษา
            ...การพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชนรุ่นปัจจุบันและอนาคต
            ...ให้เป็นประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง  โดยทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์

                        ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)ที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐ มาตรา ๘๑(๓) ให้มีองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการที่เป็นอิสระ เพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ  รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ  โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย...และมี พ.ร.บ.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๓   ที่กำหนดยุทธศาสตร์เร่งด่วนที่สำคัญประการหนึ่งคือ การพัฒนาระบบกฎหมายด้านสวัสดิการสังคม   จึงให้ความ  สำคัญในการศึกษาและพัฒนามาตรฐานแรงงานร่วมของอาเซียน ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน  คู่ขนานกับการปฏิรูปปรับปรุงกฎหมายแรงงานของประเทศไทย  โดยมีคณะอนุกรรมการสามชุดที่ศึกษาและพัฒนาเรื่องนี้โดยตรงคือ คณะกรรมการเฉพาะเรื่องพิจารณาและปรับปรุงกฎหมายด้านสวัสดิการสังคม  คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายแรงงาน และคณะอนุกรรมการด้านประชาคมอาเซียน


พัฒนากฎหมายแรงงานไทย สู่มาตรฐานแรงงานร่วมของอาเซียน 

...บนฐานมาตรฐานสากล


                        กฎหมายแรงงานไทย จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาให้เป็นไปตามมาตรฐานระหว่างประเทศ  ทั้งของสหประชาชาติ หลักการทำงานที่มีคุณค่า และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นแบบอย่างและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามาตรฐานแรงงานร่วมในอาเซียน  และร่วมมือกันรักษาผลประโยชน์ของแรงงานทุกชาติร่วมกัน   ตามเจตนารมณ์ที่ให้ถือประชาชนในอาเซียนเป็นศูนย์กลาง  เพราะประเทศไทยเป็นทั้งประเทศผู้รับแรงงานข้ามชาติจำนวนมากมาสร้างคุณค่าให้เศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศผู้ส่งคนงานไทยไปต่างประเทศ ที่นำรายได้มหาศาล กลับมาครอบครัวและประเทศโดยรวมมายาวนาน   ในขณะที่ยังมีข้อท้วงติงจำนวน ไม่น้อยต่อการปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติในไทย กระทั่งเป็นปัญหาล่อแหลมต่อการค้ามนุษย์ในหลายประเด็น  และแรงงานไทยไปต่างประเทศก็ยังไม่ได้รับการ คุ้มครองดูแลทั้งจากต้นทางในไทย จนถึงในประเทศปลายทาง  รวมถึงปัญหาของกฎหมายต่อแรงงานไทยโดยรวมด้วย                  
                      
             ในเบื้องต้นที่ทาง คปก.กำลังศึกษาและยกร่างนี้ เน้นการอิงหลักมาตรฐานทางสากล ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน  เพื่อให้มีเกณฑ์กลางในการประกันสิทธิสำหรับคนทำงานทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติและการเข้าเมือง เพื่อให้ทุกรัฐปฏิบัติต่อคนทำงานทุกคนอย่างเสมอภาค  ซึ่งควบคู่กับการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายแรงงานของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานของอาเซียนดังกล่าวด้วย โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาสังคม และขบวนแรงงาน ทั้งในประเทศไทย และประเทศสมาชิกของอาเซียนไปด้วย

การปฏิรูปกฎหมายแรงงานของประเทศไทย
            ประเทศไทยถือว่าได้เปรียบหลายๆประเทศ  เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และเป็นภาคีอนุสัญญาหลักที่สำคัญ และมีผลบังคับใช้แล้ว  เช่น

                   - อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก มีผลปี ๒๕๓๕     
            ¬ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ มีผลปี ๒๕๒๘
            - กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มีผลปี ๒๕๓๙
            - กติกาฯ ว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม มีผลปี ๒๕๔๒
            - อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ  อนุสัญญาว่าด้วยคนพิการ ปี๒๕๕๑ ฯลฯ   ประเทศไทยจึงมีข้อผูกพันที่จะต้องดำเนินการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ภายในประเทศให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่างๆ ซึ่งเป็นฐานที่ดีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
            นอกจากนี้ ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งใน ๔๒ สมาชิกผู้ก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ( ILO) ในปี พ.ศ.๒๔๖๒  (ค.ศ.๑๙๑๙) ซึ่งมีอนุสัญญาที่ยังมีผลบังคับ ๗๗ ฉบับ และ ๘๒ ข้อแนะ โดยประเทศไทยให้การรับรอง   ๑๔ ฉบับ  คิดเป็น ๑๕ เปอร์เซ็นต์(ระหว่างปี ๒๕๑๒ ถึง ๒๕๔๒)  แต่ยังมีข้อจำกัดที่ต่ำกว่าการรับรองเฉลี่ยของประเทศกลุ่มอาเซียนที่ ๑๗.๖  ฉบับ  และต่ำกว่าประเทศทั่วโลกซึ่งรับรองเฉลี่ยที่ ๔๒ฉบับ

(ตารางที่ ๑ และ ๒ ข้างล่างนี้ จากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  ณ วันที่ ๑ 
พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่มีสมาชิก ๑๘๕ ประเทศ​)   




            ที่มีนัยสำคัญ คืออนุสัญญา ๘ ฉบับหลัก ซึ่งประเทศอาเซียนรับรองต่างกัน (ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ)  ซึ่งขบวนแรงงานไทยและภาคประชาสังคมต่างเรียกร้องและผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองมายาวนาน โดยเฉพาะฉบับที่ ๘๗ และ ๙๘ว่าด้วยเสรีภาพการรวมตัวและการต่อรองร่วม  และมีข้อตกลงกับขบวนแรงงานล่าสุดว่า  รัฐบาลจะดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนตุลาคม ๒๕๕๖ และจะให้เสร็จสิ้นภายในเดือน พฤษภาคม ๒๕๕๗

บทบาทร่วมและสนับสนุนของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก) 
              คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.)  มีหน้าที่พัฒนากฎหมายทั้งระบบ ทั้งกฎหมายเสนอใหม่  กฎหมายลำดับรอง และการบังคับใช้ บนฐานสิทธิมนุษยชน  การพัฒนาองค์ความรู้ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  การทำงานร่วมกับเครือข่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนร่าง กฎหมาย เข้าชื่อของประชาชนตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ  และเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอต่อสาธารณะ ซึ่ง คปก. มีการศึกษาวิจัยไปหลายฉบับ จัดเวทีรับฟังเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน รวมทั้งขบวนแรงงาน  และองค์กรระหว่างประเทศ คปก.จึงมีบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ ในด้านกฎหมายแรงงาน ไปแล้ว ดังนี้
              ๑) ร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่.. พ.ศ. …. ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม มีผลต่อคนทำงานทั้งในและนอกระบบ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ หลายสิบล้านคน  แต่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการ ทำให้ร่างนี้ไม่ได้รับการพิจารณา และภาคประชาชนที่เสนอร่างกฎหมายไม่สามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่จะได้เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างนี้ด้วย  ซึ่ง คปก.ได้มีบันทึกความเห็นถึงคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาไปแล้วสองฉบับ  คือการเสนอทักท้วงการลงมติไม่รับหลักการร่างกม.เข้าชื่อของประชาชน  ว่าไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ   และจะส่งผลสำคัญต่อร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน รวมทั้งกฎหมายด้านแรงงานอีกหลายฉบับ เช่น ร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับที่.. พ.ศ…..  ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ….    
        ส่วนบันทึกความเห็นของ คปก.อีกฉบับหนึ่ง ว่าด้วยข้อเสนอแนะต่อเนื้อหาในร่างกฎหมายประกันสังคม  ที่อยู่ในวาระที่ ๒ ของสภาผู้แทนราษฎร และยังมีหลายประเด็นที่พลาดโอกาสการปฏิรูปกฎหมายสำคัญฉบับนี้อย่างน่าเสียดาย
            ๒) ข้อเสนอแนะต่อกฎหมายลำดับรอง  และการบังคับใช้กฎหมาย เช่น
            ..การเร่งรัดและเนื้อหาสาระบางประการ ต่อการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม
            …ความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้านแรงงาน และร่างข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีด้านแรงงาน พ.ศ. …. เสนอต่ออธิบดีศาลแรงงาน
            …ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี และกระทรวงแรงงาน เรื่องให้ชะลอการประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยแรงงานประมงทะเล และให้นำมารับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนใหม่ (รวมทั้งได้ร่วมกับกระทรงแรงงาน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รับฟังและกำลังจัดทำข้อเสนอแนะอีกครั้งหนึ่ง)
            …ความเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.๒๕๕๕
            …ความเห็นและข้อเสนอแนะ ต่อ การบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๔
           ๓) การศึกษาและจัดทำแนวทางของประมวลกฎหมายแรงงาน  เนื่องจากกฎหมายแรงงานมีหลายฉบับ มีความลักลั่น และทับซ้อนกัน  เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
            ๔) การศึกษาและจัดทำแนวทางของมาตรฐานแรงงานร่วมของอาเซียน ร่วมกับสถาบันวิชาการ ภาครัฐ และกลไกของอาเซียน รวมกับภาคประชาสังคม

ก้าวต่อไปร่วมกันเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอาเซียน และสวัสดิการสังคมที่ดีของแรงงานไทย
            คปก.พร้อมจะศึกษา เรียนรู้ และร่วมมือกับเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการติดตามผลักดัน และรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ในการปฏิรูปกฎหมาย และอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชน  สร้างประสิทธิภาพของภาครัฐ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทั้งสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และเกิดผลที่ดีต่อประชาชนของอาเซียนโดยรวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น