วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

สหภาพแรงงาน-นักวิชาการ หารือทักท้วงร่างกม.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับก.แรงงานไม่สอดคล้องมาตรฐานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ ๘๗-๙๘ เสนอให้ชะลอมาปรับปรุงให้ดีขึ้น ชี้เหตุเป็นหน้าตาของประเทศ
(ชมคลิปการเสวนาที่ http://new.livestream.com/lrct/events/2713312)

คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) โดย คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงานจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ทิศทางการพัฒนากฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของประเทศไทย” ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๘ โดยมีผู้เข้าร่วมอาทิ กรรมาธิการแรงงานจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมและการแรงงาน จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างฯ สหพันธ์แรงงานต่างๆ องค์กรเอกชนด้านแรงงาน สภานายจ้าง องค์กรแรงงานระหว่างประเทศประจำประเทศไทย (ไอแอลโอ) ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ องค์กรภาคประชาสังคม



ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาองค์กรแรงงาน และภาคประชาสังคมได้มีการผลักดันอย่างต่อเนื่องให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๘ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และสอดคล้องกับสถานการณ์การจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป และได้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. .... ฉบับบูรณาการแรงงานแต่ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณาและเกิดยุบสภาจึงทำให้กฏหมายตกไปในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และต่อมาได้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อครม.สนช.และสปช. อย่างไรก็ตาม ปรากฎว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และร่างกฎหมายแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ....ต่อคณะรัฐมนตรี และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เตรียมเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยไม่มีการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและไม่เปิดเผยร่างกฎหมายทั้งสองฉบับต่อสาธารณะ

ร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ทั้งสองฉบับมีความสำคัญและจะส่งผลกระทบต่อแรงงานในประเทศไทยเป็นอย่างมาก คปก.จึงจัดให้กระทรวงแรงงานมานำเสนอสาระสำคัญของร่างกฎหมายทั้งสองฉบับและให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเตรียมจัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อคปก.เสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร่งด่วน

นายณรงค์ฤทธิ์ วรรณโส ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกล่าวสรุปถึงร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์และแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ว่า กฎหมายทั้งสองฉบับมีหลักการที่มุ่งพัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์และเตรียมพร้อมการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ ๘๗,๙๘ ว่าด้วยเรื่องสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองโดยนำประเด็นจากแรงงานที่มีการเสนอมาปรับปรุงด้วย

ทางด้านนายชาลี ลอยสูง คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เปิดเผยว่า หลักการในร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับที่เสนอโดยประชาชน (ฉบับบูรณาการ) เมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๕ นั้นมีหลักการสำคัญเช่น คนทำงานมีเสรีภาพในการรวมตัว ตั้งองค์การลดการแทรกแซงของรัฐ ในการ ปลด ยุบสหภาพแรงงาน ผู้จ้างงานต้องส่งเสริมไม่ขัดขวางการรวมตัวของคนทำงาน ครอบคลุมแรงงานทั้งหมด รวมข้าราชการ มีการแก้ไขนิยามของนายจ้าง-ลูกจ้าง เปลี่ยนเป็น “ผู้จ้างงาน”-“คนทำงาน” เพื่อให้เกิดทัศนคติใหม่ว่าผู้จ้างงานและคนทำงานเป็นหุ้นส่วนกัน ต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันที่ดีและพัฒนางานให้ก้าวหน้าต่อไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติในเรื่องการนัดหยุดงาน-ปิดงาน หลักการคุ้มครองสิทธิเจรจาต่อรอง ที่สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาไอแอลโอมีบทบัญญัติให้คนทำงาน ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถานประกอบการเท่านั้น อีกทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่ม การเปิดเผยข้อมูล ส่งเสริมการจ้างงานและการเคารพสิทธิการทำงาน-งานที่มีคุณค่า มีบทส่งเสริมให้รัฐพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ จึงถือว่าร่างกฎหมายแรงงานฉบับประชาชนเป็นฉบับที่มีหลักการที่ก้าวหน้า ขณะที่กฎหมายแรงงานของภาครัฐยังคงแบ่งแยกเหมือนเดิม ปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาคนทำงานที่ไม่มีนายจ้างไม่อยู่ในความคุ้มครองของร่างพรบ.แรงงานสัมพันธ์
ด้านนายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระ แสดงความเห็นว่า ร่างกฎหมายแรงงานฉบับกระทรวงแรงงานทั้งสองฉบับยังมีหลายส่วนที่ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา (ไอแอลโอ) ฉบับที่ ๘๗,๙๘ เช่น ความเป็นอิสระของลูกจ้าง ที่ยังมีการต้อง “ขอ” และผ่านการรับรอง จากรัฐ ถือเป็นการแทรกแซงอย่างหนึ่ง ควรเปลี่ยนหลักการให้เสริมลูกจ้างที่อ่อนแอกว่ามีเสียงมากขึ้นในการเข้าเจรจากับนายจ้าง นอกจากนี้ทัศนคติที่นายจ้างมีต่อลูกจ้างยังคงเหมือนเดิมคือเป็นลักษณะนาย-บ่าว ความอ่อนแอของลูกจ้างควรจะต้องได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายให้มาก และเห็นว่าไม่ควรมีการแบ่งแยกแรงงานรัฐวิสาหกิจออกไปเป็นกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ นอกจากนี้ ในสมัยก่อนมีรูปแบบการรวมตัวกันที่หลากหลายของกลุ่มแรงงาน แต่ปัจจุบันการรวมกลุ่มของคนงานในประเทศไทยเกิดขึ้นน้อยมาก กฎหมายจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้กลุ่มแรงงานสามารถรวมตัวกันได้ ซึ่งจะทำให้กลุ่มแรงงานมีพลัง และเมื่อนั้นความยุติธรรมจะตามมา

นางสาวจิตติมา ศรีสุขนาม ตัวแทนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) กล่าวว่า ควรแยกเรื่องการแก้กฎหมายภายในและการให้สัตยาบันออกจากกัน เนื่องจากการให้สัตยาบันของอนุสัญญานั้นไม่จำเป็นต้องรอให้กฎหมายภายในประเทศมีความพร้อมก่อน อีกทั้งอนุสัญญาฯเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งการให้สัตยาบันจะช่วยเปิดโอกาสให้ ไอแอลโอ กับประเทศสมาชิกทำงานร่วมกัน และประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งไอแอลโอ ที่ยังไม่ได้มีการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว

ด้านคุณปรีดา สิริสวัสดิ์ จากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (เอฟอีเอส) กล่าวว่า ร่างกฎหมายแรงงานทั้งสองฉบับของกระทรวงแรงงานยังไม่คุ้มครองครอบคลุมไปถึงลูกจ้างที่อยู่ในภาคธุรกิจหรือกิจการขนาดเล็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำตามมา พร้อมยกประเด็นแรงงานหญิงว่าควรกำหนดสัดส่วนให้เข้าผู้หญิงมามีส่วนร่วมในแรงงานสัมพันธ์ในส่วนข้อตกลงสภาพการจ้างงาน

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เสนอให้ เพิ่มเติมหลักการสำคัญในการแก้ไขร่างกฎหมายนี้ โดยนำหลักการในอนุสัญญาไอแอลโอฉบับที่ ๘๗,๙๘ ใส่ไว้ให้ชัดเจน
ผู้แทนแรงงานทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหิจเรียกร้องให้ถอนร่างทั้งสองฉบับมาปรับปรุงให้ดีก่อน เพื่อแก้ปัญหาได้ถูกจุดและส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ให้สามารถแก้ไขความขัดแย้งได้อย่างแท้จริง

ทางด้านนายปั้น วรรณพินิจ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพาณิชย์ อุตสาหกรรม แรงงาน ของ สนช.ได้เสนอให้ คปก.เร่งรัดการมีข้อเสนอแนะก่อนที่ สนช.จะรับหลักการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะของ คปก.ได้รับการนำไปพิจารณาประกอบก่อนรับหลักการ เพราะถ้ารับไปแล้วก็จะเจอปัญหาเช่นเดียวกับร่างกฎหมายประกันสังคม ที่แก้ไขอะไรได้ยาก เพราะเกินหลักการที่รับไปแล้ว

ทั้งนี้ ทางคณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านแรงงาน จะเร่งจัดทำข้อเสนอแนะต่อ คปก. เพื่อมีข้อเสนอจากคปก.เสนอต่อคณะรัฐมนตรี และต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
……………………………….

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น