วันเสาร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2557

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช) และ ครม.กับ บทบาทสานต่อร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และ ครม..กับ 

บทบาทสานต่อเจตนารมณ์ร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน 

                                                                                                              สุนี ไชยรส
                                                                                          กรรมการปฏิรูปกฎหมาย

                                         
                       คำถามท้าทายและจับตาดูของสังคมไทยคือ  สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และคณะรัฐมนตรี  จะวางบทบาทตนเองอย่างไรต่อเจตนารมณ์และร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๖ และรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗
                       กลุ่มที่ ๑ ร่างกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการของรัฐสภา ก่อนยุบสภาเดือนธ.ค.๒๕๕๖
                       กลุ่มที่ ๒ ร่างกฎหมายใหม่ๆที่ประชาชนกำลังเตรียมการเข้าชื่อเสนอต่อสภา...ในปัจจุบัน





เจตนารมณ์ สิทธิ เสรีภาพ และประเพณีการปกครองต่อเนื่องในรัฐธรรมนูญ                   

                       รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐  ได้รับการยอมรับในภาพรวมว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน   มีการบัญญัติให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลิอกตั้ง ๕๐,๐๐๐ ชื่อ  มีสิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา   และมี "พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๒"   รับรองไว้
                        แม้มีความพยายามเสนอร่างกฎหมายของประชาชนหลายฉบับ  แต่มีเรื่องป่่าชุมชนฉบับเดียวที่ผ่านกระบวนการสภาผู้แทน วุฒิสภา คณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา จนมีมติเห็นชอบ...ซึ่งภาคประชาชนเห็นว่า ยังไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชนนัก   และในที่สุด...ร่างกฎหมายป่าชุมชนก็มีอันตกไป จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ที่องค์ประชุมของสภาฯไม่ครบ 

                      อย่างไรก็ตาม  เจตนารมณ์และความต้องการหลักประกันแห่งสิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการเสนอร่างกฎหมายของประชาชน  ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐  ยังเป็นที่คาดหวังต้องการ .... แม้มีรัฐประหารปี ๒๕๔๙  ก็มีการผลักดันอย่างต่อเนื่องในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐  และมีการแก้ไขให้ดีขึ้นจากเดิม
                     .....มาตรา ๑๖๓   ....ลดจำนวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อเหลือเพียง ๑๐,๐๐๐ ชื่อ  และกำหนดให้มีกรรมาธิการวิสามัญที่มาจากภาคประชาชนที่เสนอร่างกฎหมายไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ ของคณะกรรมาธิการวิสามัญทั้งหมด  ..นั่นคือประชาชนสามารถไปแลกเปลี่ยนถกเถียงเนื้อหากฎหมายร่วมกับ ส.ส.ในสภาผู้แทนด้วยตัวเอง

                     มีความพยายามในการเสนอกฎหมายเข้าชื่อของประชาชนอีกมากมายในช่วงหลังรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐...แต่ก่อนยุบสภาวันที่ ๙  ธันวาคม ๒๕๕๖  ก็มีร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชนสามารถผ่านการพิจารณาของรัฐสภา และมีผลบังคับใช้เพียง ๗ ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ......ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน พ.ศ..       ที่สำคัญมีร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชน  พ.ศ....ที่เสนอเข้าไป ๒ ฉบับ ไปร่วมพิจารณากับร่างของรัฐบาล...และผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนยุบสภาฯมาอย่างเฉียดฉิว  เมื่อ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

                    กรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อสภาผู้แทนฯชุดก่อนยุบสภา คือการที่สภาผู้แทนฯนำร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ....ฉบับประชาชน เข้าพิจารณาวาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการพร้อมร่างรัฐบาล และร่าง ส.ส.อีก ๒ ฉบับ   แต่กลับใช้มติเสียงข้างมากของสภาฯ "ไม่รับหลักการ"  อย่างไม่เคารพต่อเจตนารมณ์และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ    รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.๒๕๔๒ ...ทำให้ร่างกฎหมายของประชาชนไม่ได้เข้าพิจารณาในสภาด้วย

สถานะของร่างกฎหมายเข้าชื่อประชาชน หลังยุบสภาฯ
                 ข้อมูลที่รวบรวมโดยสำนักงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมและพัฒนาเครือข่าย สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย /คปก.)   มีดังนี้
                 กลุ่มที่ ๑..ร่างกฎหมายที่รอการพิจารณาของสภาผู้แทนรอบสุดท้ายเท่านั้น ๑ ฉบับ คือ ร่างกฎหมายองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๑  .ที่เสนอโดยคุณสารี อ๋องสมหวังและคณะ (๑๑,๔๓๔ คน)  ตั้งแต่ ๑๙ ก.พ.๒๕๕๒ ..โดยผ่านสภาผู้แทนฯ วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภา  และวุฒิสภามีมติเห็นชอบแล้ว   บรรจุวาระรอการพิจารณารอบสุดท้ายของสภาผู้แทนฯในวันที่ ๒๑ ธ.ค.๒๕๕๖

                กลุ่มที่ ๒ ..ร่างกฎหมายที่ผ่านคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนฯแล้ว รอเข้าพิจารณาวาระที่ ๒ ของสภาผู้แทนฯ   มี ๒ ฉบับ คือ
                ...ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ...เสนอโดยคุณสวรรค์ แสงบัลลังก์และคณะ(๑๑,๕๑๐ คน) เมื่อ ๕ เม.ย.๒๕๕๕
               ....ร่างพ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้าสรรค์ พ.ศ...เสนอโดย คุณเข็มพร วิรุณราพันธ์และคณะ(๑๒,๐๔๖ คน) เมื่อ ๑๗ ส.ค.๒๕๕๕
           
              กลุ่มที่ ๓..ร่างกฎหมายที่ผ่านการตรวจสอบทั้งหมด  บรรจุไว้ในระเบียบวาระของสภาผู้แทนฯแล้ว  ...รอเข้าพิจารณาวาระที่ ๑ ของสภาผู้แทนฯ ...มี ๕ ฉบับ  คือ

              ....ร่าง พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่..) พ.ศ...เสนอตั้งแต่ ๗ พค.๒๕๕๓ โดยคุณสุธีรา วิจิตรานนท์และคณะ(๔๐,๕๔๒ คน)
             ....ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ...เสนอ ๕ มิ.ย.๒๕๕๒ โดยคุณสารี อ๋องสมหวังและคณะ(๑๐,๖๓๑ คน)
            ...ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดฝาง พ.ศ...เสนอ ๑๖ มิ.ย.๒๕๕๒ โดยคุณบดินทร์ กินาวงศ์และคณะ(๑๐,๗๕๓ คน)
             ...ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธาธารณสุข พ.ศ. เสนอเมื่่่อ ๙ ก.ย.๒๕๕๓
โดยคุณหมออรพรรณ์ เมธาดิลก และคณะ(๑๐,๙๙๔ คน)
            ...ร่างพ.ร.บ.วิทยุคมนาคม(ฉบับที่..)พ.ศ... เสนอ ๒๘ มี.ค.๒๕๕๖ โดยศ.รัตนา ศิริพานิช และคณะ((๑๗,๓๓๖ คน)

           กลุ่มที่ ๔ ..ร่างกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงิน ต้องรอนายกรัฐมนตรีรับรองก่อน มี ๑๒ ฉบับ
           - ร่าง พ.ร.บ.สมุนไพรแห่งชาติ พ.ศ...เสนอเมื่อ ๗ ก.ย.๕๕ โดยคุณอร่าม อามระดิษฐและคณะ(๑๑,๐๖๖ คน)
           -ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ...เสนอ ๑๙ ม.ค.๕๕ โดย ผศ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลีและคณะ(๑๐,๒๕๔ คน)
           - ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ... เสนอ ๒๒ ก.พ.๕๕ โดย คุณสุนทรี เซ่งกิิ่ง และคณะ(๑๑,๐๙๕ คน)
          - ร่าง พ.ร.บ.โคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ..เสนอ ๑๙ มิย.๕๕ โดย คุณสมชาย ดำทะมิสและคณะ(๑๐,๐๘๖ คน)
          -ร่างพ.ร.บ.ข้าวชาวนาไทย พ.ศ.. เสนอ ๒๐ มิ.ย.๕๕ โดยคุณภาณุพงศ์ ภัทรคนงามและคณะ(๑๑,๘๙๘คน)
          -ร่างพ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบัวใหญ่ พ.ศ...เสนอ๑๗ก.ค.๕๕ โดยคุณอรุณ อัครปรีดีและคณะ(๑๔,๖๔๕ คน)
          -ร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการสาธารณสุขและบุคลากร พ.ศ...เสนอ ๗ ส.ค.๕๕โดยนายธงชัย ซึงถาวรและคณะ(๑๓,๑๓๖ คน)
             -ร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ....เสนอ ๒๒ ส.ค.๕๕ โดยคุณชาลี ลอยสูงกับคณะ(๑๒,๑๓๐ คน)
             -ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ...เสนอ ๒๒ ส.ค.๕๕  โดยคุณพิพัฒน์ วรสิทธิดำรงกับคณะ(๑๐,๒๓๕ คน)
             -ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ พ.ศ...เสนอ ๓๑ ตค.๕๕ โดยคุณอุษา เลิศศรีสันทัดกับคณะ(๑๔,๙๕๓ คน)
             -ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่..) พ.ศ...เสนอ ๒๖ ธ.ค.๕๕ โดยคุณมนัส โกศลกับคณะ(๑๐,๑๑๒ คน)
             -ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ...เสนอ ๓๑ ม.ค.๒๕๕๖ โดยคุณนิคม บุญวิเศษกับคณะ(๑๒,๓๓๗คน)

              นอกจากนี้ มีร่างกฎหมายที่อยู่ในกระบวนการตรวจสอบเอกสารของสภาฯอีก ๙ ฉบับ เช่น ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร พ.ศ...เสนอ ๒๖ ต.ค.๕๖ โดยคุณชำนาญ จันทร์เรืองกับคณะ

            กระบวนการตามประเพณีที่ผ่านมาของรัฐธรรมนูญ​ ๒๕๕๐ คือ เมื่อมีการยุบสภา  ต้องให้คณะรัฐมนตรีมีมติว่า จะเสนอให้ยืนยันร่างกฎหมายหรือไม่ยืนยันร่างกฎหมายฉบับใด  (รวมทั้งร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชน)   และเสนอให้รัฐสภาเห็นชอบภายใน ๖๐ วันหลังมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรก  ร่างกฎหมายต่างๆก็จะดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนที่ค้างอยู่ หรือไม่ก็ตกไปเลย...

             วันนี้ไม่มีรัฐธรรมนูญ​๒๕๕๐..แต่ยังมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.​ ๒๕๕๖ และรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.๒๕๕๗

                 ความเชื่อมั่นและคาดหวังของผู้เสนอร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชนทุกฉบับ  คือการที่ ครม.จะนำร่างกฎหมายของประชาชน เสนอต่อ สนช.  เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป  ...และกลุ่มที่เตรียมเสนอร่างกฎหมายใหม่ๆโดยจะเสนอต่อประธานรัฐสภา ...คือประธาน สนช.

               แต่ยังไม่ทันที่จะมี ครม.เกิดขึ้น  ปรากฎว่า คสช.ที่ทำหน้าที่แทน ครม.ปัจจุบันได้เร่งรัดเสนอร่างกฎหมายเร่งด่วนต่อ สนช.  ๓๘ ฉบับ
               ในจำนวนนี้ตรงกับชื่อร่างกฎหมายของประชาชน ๓ ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ.... ที่อยู่ขั้นตอนจะเข้าวาระที่ ๒ สภาผู้แทนฯ  ร่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ....ที่รอนายกรัฐมนตรีรับรอง และ ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ...ที่สภาฯไม่รับหลักการ

               เท่าที่มีข้อมูลเบื้องต้น  ร่างของครม.(โดย คสช.) ที่เสนอต่อ สนช.เป็นร่างของหน่วยงานของรัฐ...  ไม่ได้มีการพิจารณานำเอาร่างกฎหมายประชาชนมาเสนอเข้า สนช.  และไม่มีท่าที จาก ครม. หรือ สนช.ที่จะเปิดช่องทางให้กับร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชนที่ค้างอยู่เดิมแต่อย่างใด  รวมทั้งช่องทางการเสนอร่างกฎหมายใหม่ๆที่ประชาชน กำลังเตรียมเสนอต่อสภาฯไม่ต่ำกว่า ๒๐ ฉบับ...
              นี่จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนเจตนารมณ์และกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อของประชาชน โดยเร่งด่วน  ...ต้องเชื่อมั่นว่า ทั้งครม. และสนช.  สามารถดำเนินการต่อเนื่องไปได้ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ต่อเนื่องของการรับรองสิทธิประชาธิปไตยทางตรงในการร่วมร่างกฎหมาย ดังนี้
           
             ๑)จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.๒๕๕๗ ที่ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗
               -มาตรา ๒...ที่ใดในบทบัญญัติดังกล่าวอ้างถึงรัฐสภาหรือประธานรัฐสภา ให้หมายถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญนี้  แล้วแต่กรณี
               - มาตรา ๓ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
               - มาตรา ๔ ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้  ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีัระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว  ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้
              -มาตรา ๕ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข    แต่ประเพณีีการปกครองดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้      
              ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยกรณีใดตามความในวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด หรือเมื่อมีกรณีที่เกิดขึ้นนอกวงงานของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ   คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี ศาลฏีกา หรือศาลปกครองสูงสุด จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดก็ได้...
 
             นอกจากนี้   ในกรณีจะเสนอร่างกฎหมายเข้าชื่อใหม่ๆ   ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.๒๕๕๖   บัญญัติชัดเจนในมาตรา ๖  กำหนดให้มีผู้ริเริ่มไม่น้อยกว่า ​๒๐ คนเสนอร่างกฎหมายต่อประธานรัฐสภา  และ มาตรา ๘  .บัญญัติว่า   ต้องเป็นร่างกฎหมายที่มีหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

            ดังนั้น  ถ้าคณะรัฐมนตรี หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาตีความหรือวินิจฉัยโดยอิงเจตนารมณ์และประเพณีการปกครองที่ต่อเนื่องมา  ประกอบกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอกฎหมายของประชาชน พ.ศ. ๒๕๕๖และรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)ดังกล่าว... ช่องทางการพิจารณาเสนอร่างกฎหมายเข้าชื่อของประชาชนส่วนที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ และร่างกฎหมายเข้าชื่อที่จะเสนอใหม่  ก็จะสามารถเดินต่อไปได้

                                   เขียน ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๗ .
                                 .เผยแพร่ผ่านนสพ.โพสต์ทูเดย์ สองตอน ในวันที่ ๒๐ และ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๗



                 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น